Skip to main content

 

ฉันเล่าให้เพื่อนฟังอย่างฉุนเฉียวถึงนักเขียนหนุ่มคนหนึ่งที่ได้พบ “เขาตอบคำถามธรรมดา ๆ ไม่ได้หรือ ทำไมจะต้อง “เยอะ” ทำให้คำถามง่าย ๆ กลายเป็นเรื่องยากเย็นที่จะตอบแบบตรงไปตรงมา” ฉันถามเขาถึงหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจ แทนที่เขาจะตอบชื่อหนังสือ เขากลับย้อนมาอภิปรายถึงคำถามของฉัน “ไม่ชอบคำว่าแรงบันดาลใจ เพราะว่า...” ต่อด้วยการอภิปรายถึงการอ่านหนังสือว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะแนะนำหนังสือให้ใครอ่าน ถ้าเขาไม่อยากอ่าน...” ตกลงว่าฉันต้องรีดเค้นอยู่หลายประโยคเพื่อให้ได้ชื่อหนังสือมาสามเล่ม ซึ่งกว่าจะได้มาฉันก็เลิกสนใจรายชื่อหนังสือพวกนั้นแล้ว 

“เพื่อนเธอคนนี้แปลกประหลาด”  ฉันสรุปในตอนท้ายก่อนจะเปลี่ยนมาเล่าเรื่องตลกของตัวเอง

ฉันเล่าถึงการสัมมนาแห่งหนึ่งที่ไปร่วมเมื่อราวสิบปีก่อน ทุกคนแนะนำตัวว่าเป็นศิษย์เก่ารุ่นที่...ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น และยินดีที่ได้กลับมาเยือนอีกครั้ง ก่อนจะพูดเข้าเนื้อหาที่เตรียมมา เมื่อถึงช่วงที่ฉันต้องขึ้นนำเสนอบ้างในขณะที่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากผู้คนที่แวดล้อมอยู่ถึงขีดสุด ฉันแนะนำตัวว่า “สวัสดีค่ะ ฉันไม่ได้เป็นศิษย์เก่าที่นี่ ไม่ได้เรียนจบด้านนี้ แต่ฉันอยากจะลองพูดเรื่องนี้” ทุกคนในห้องประชุมอึ้ง บางคนยิ้มน้อย ๆ และมีอีกคนหนึ่งถึงกับพลิกหาประวัติสั้น ๆ ของฉันที่แนบมากับเอกสาร ฉันไม่ชอบการอ้างอิงตนเองกับสถาบันใด ๆ อย่างมาก และแน่นอนที่ฉันตั้งใจอย่างยิ่งที่จะกวนประสาทผู้ฟังและผู้ที่นำเสนอก่อนหน้านี้ คำแนะนำตัวของฉันประสบผลที่ตั้งใจไว้อย่างไม่ต้องสงสัยและฉันรู้สึกสะใจ 

“เรื่องของเธอที่เล่ามา ต่างอะไรกับเรื่องของนักเขียนคนนั้น”  เพื่อนคนหนึ่งโพล่งขึ้นมาทันทีที่ฉันเล่าจบ “เธอก็แปลกประหลาดไม่ต่างกับเขานั่นแหละ”  ฉันนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ  ก่อนที่พวกเราจะระเบิดเสียงหัวเราะออกมาพร้อม ๆ กัน

มิวายที่ฉันจะถามเพื่อนซ้ำว่า “จริงเหรอ ฉันประหลาดจริง ๆ เหรอ ฉันว่าฉันปกติที่สุดแล้วนะ คนอื่นสิประหลาด” 

เพื่อนยืนยันหนักแน่นว่า “ไม่จริง เธอไม่ปกติ เธอนั่นแหละประหลาด” แล้วเราก็หัวเราะกันอีก

ความปกติ-ความประหลาด เป็นหนึ่งในประเด็นที่พวกเราชอบใช้หยอกล้อกัน พวกเราชอบนินทาใครหลายคนว่า “พวกเขาแปลก ๆ”  แต่ความจริงพวกเราตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าพวกเราเองนี่แหละที่แปลกประหลาด มองโลกไม่เหมือนคนอื่น เลือกทางชีวิตที่แปลกกว่าคนอื่น และต่างแปลกประหลาดต่อกันและกัน

พวกเราแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย มีอาชีพคนละอย่าง มีทางชีวิตคนละแบบ ชอบดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ  มีกิจกรรมในชีวิตแตกต่างกัน  แม้กระทั่งการจัดสรรเวลาให้ “ว่าง” เหมือนกันเพื่อมาพบกันและทำกิจกรรมเดียวกันบ่อยครั้งยังไม่ใช่เรื่องง่าย ในเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวฉันว่าพวกเราเห็นต่างมากกว่าเห็นพ้อง คุยกันคนละเรื่อง เล่า ถาม แย้ง แต่ก็แทบจะไม่เคยโต้เถียงกัน พวกเรารู้จักและคบหากันท่ามกลางความแปลกแตกต่างอย่างมาก นี่ยิ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด

ไม่ใช่ความเหมือนหรือการเห็นพ้อง ไม่ใช่การอยู่ร่วมหรือมีเวลามากพอที่จะเรียนรู้กันจึงทำให้พวกเราคบหากันได้ แต่เป็นความตระหนักและยอมรับในความแปลกประหลาดของกันและกันต่างหากที่ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเราคงอยู่มานานปี

หากมีมาตรฐานของ “ความปกติ” อยู่หนึ่งแบบ ฉันว่าโลกนี้คงมีคนแปลกประหลาดเต็มไปหมด เอาเข้าจริงผู้คนหลายร้อยหลายพันล้านในโลกนี้ไม่มีใครเลยที่เหมือนกัน   “คนเหมือนคน แต่คนไม่เหมือนกัน” ฉันเคยได้ยินใครก็ไม่รู้กล่าวไว้

ฉันว่าปัญหาในการอยู่ร่วมกันของผู้คนในโลก ไม่ได้เป็นเพราะว่าใครไม่ปกติ หรือใครแปลกประหลาดกว่าใคร แต่เป็นเพราะว่าเรากำลังยึดเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานของ “ความปกติ” เพื่อที่จะได้ชี้หน้าผู้คนที่คิดเห็นแตกต่างจากเราว่า “ผิดปกติ”

ไม่ใช่เพราะความปกติ-ไม่ปกติ หรือคุณค่าถูก-ผิด ดี-เลว อะไรเลย ที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ยาก แต่เป็นเพราะว่าเรากำลังใช้คุณค่าพวกนี้มาสร้างมาตรวัดเพื่อกีดกันคนที่แตกต่างจากเราไม่ให้มีพื้นที่เหยียบยืนในสังคมนี้ต่างหาก 

คนที่เราเห็นว่าเขา “แปลก ๆ” นั้นความจริงเขาอาจไม่เคยคุกคามสร้างความเดือดร้อนให้ใครเลย แต่เราเองต่างหากที่กำลังบอกว่าเขาเป็น “ปัญหา” เพื่อที่จะยัดเยียดปัญหาและความเดือดร้อนให้กับเขา

เรากำลังใช้มาตรวัดที่สร้างขึ้นจากตัวเองไปบอกว่าคนที่ต่างจากเราไม่สมควรจะอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน

---

แด่ บัณฑิต อานียา ผู้อาวุโสคนหนึ่งที่ถูกบอกว่า “แปลก” และถูกทำให้ “ป่วย” เมื่อมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากคนอื่น
ฉันไม่รู้จักเขาเลย แต่เชื่อว่าเขา “แปลก”  เพราะฉันคิดว่าทุกคนในโลกนี้ต่างก็ “แปลก” และทุกคนควรมีสิทธิที่จะแปลกและแตกต่างบนทางที่เขาเลือกเอง

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ความในใจของหนึ่งในสองสิ่งมีชีวิตที่ถูกจำกัดให้อยู่ร่วมกับความแปลกหน้าที่เลื่อนไหลไปบนผิวทางอันไม่ราบเรียบของเมืองหลวง
"ไม่มีชื่อ"
“ทำอะไรขาย ใคร ๆ ก็หวังรวยกันทั้งนั้น แต่เกษตรยั่งยืนไม่เคยตอบคำถามชาวบ้านว่าจะรวยแน่ไหม ไม่มีใครบอกมาสักคนว่าขายข้าวอินทรีย์แล้วจะรวยเป็นล้าน ไม่มีใครบอกว่าจะพาชาวบ้านรวย”    --------------------------
"ไม่มีชื่อ"
สำหรับคนอีกจำนวนมาก ระดับการศึกษาอาจช่วยให้ชีวิตดีขึ้นก็จริง แต่ไม่มีวันที่พวกเขาจะทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ได้เลย เพราะต้นทุนชีวิตในด้านอื่นมีไม่มากพอที่จะเป็นบุญหนุนส่งได้
"ไม่มีชื่อ"
เราอาจรู้สึกถึงเรื่องศักดิ์ศรี จากการมีหรือไม่มีอำนาจในการเลือกหรือปฏิเสธเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน 
"ไม่มีชื่อ"
 หากคุณได้รับโอกาสให้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ราวฟ้ากับเหว  ชีวิตใหม่ของคุณควรจะเป็นของใคร เยาวชนจากประเทศพม่าถูกเรียกร้องให้ทำเพื่อ “ชาติ” และประชาชนของกองกำลังกู้ชาติ ขณะที่พวกเขามีชีวิตของตนเอง มีครอบครัว และญาติพี่น้องที่ต้องดูแล
"ไม่มีชื่อ"
นักท่องเที่ยวหลายคนก็คงเป็นแบบฉัน ไปเที่ยวบ้านของเขา แต่กลับมองไม่เห็นคนที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งเราได้เหยียบย่างเข้าไป
"ไม่มีชื่อ"
คนไทยจำนวนมากจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงหงสาวดีที่ย้อนไปไกลกว่าสามศตวรรษตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเรายังไม่เกิด และโดยที่พวกเรายังไม่เคยเดินทางมาถึง “บะโก” คนไทยจำนวนมากมีอคติกับ “คนพม่า” เพราะเจ็บจำกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ราวกับว่าคนพม่าและกรุงหงสาวดียังแช่แข็งอยู่ดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักมักจี่หรือแม้แต่พูดคุยกับ “คนพม่า” เลยสักครั้ง
"ไม่มีชื่อ"
วัยชราเป็นวัยปริศนาที่เข้าใจได้ยากไม่แพ้วัยอื่น ๆ ที่สำคัญมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดการได้ยาก เราจัดการคนอื่นไม่ค่อยได้ พอ ๆ กับที่เราไม่ชอบและไม่ยอมให้ใครมาจัดการตัวเรา
"ไม่มีชื่อ"
เหตุผลเหล่านั้นก็ยังไม่อันตรายเท่ากับเหตุผลที่ว่าเรา “ชินชา” เพราะตกอยู่ภายใต้สภาวะของการถูกควบคุมนานเกินไปจนกระทั่งไม่อาจรู้สึกอีกต่อไปว่าเรากำลังถูกควบคุม  ยิ่งไปกว่านั้นเรายังอาจเห็นดีเห็นงามกับการควบคุม และกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้ระบบการควบคุมแบบนั้นทำงานได้อย่างทรงพลังมากขึ้น
"ไม่มีชื่อ"
การปลูกฝังและยึดมั่นถือมั่นกับค่านิยมย้อนยุคจนเกินพอดีกลายเป็นการสร้างปัญหาครอบครัว เพิ่มช่องว่างระหว่างคนต่างวัยที่เติบโตมาต่างยุคสมัย และทำให้วัยรุ่นวัยเรียนมีปัญหาชีวิตจนเกินความจำเป็น
"ไม่มีชื่อ"
เหตุใดการทำงานพัฒนาตามแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น “องค์รวม” หรือมีลักษณะบูรณาการ  จึงละเว้นที่จะทำความเข้าใจความคิดและชีวิตทางการเมืองของชาวบ้านผู้เป็น “ศูนย์กลาง” ของการพัฒนา