Skip to main content

วันนี้ขอสลับพูดถึงคำขวัญของประเทศอินโดนีเซียนะคะ สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการติดตามคำภาษามลายู อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายคำภาษาไทยในพจนานุกรมฉบับมติชนไม่ต้องกังวลนะคะ จะทยอยนำเสนอต่อไปค่ะ และก็ท่านที่คิดว่า...โอ้ย...จะรออ่านจนครบ ฮ เมื่อไหร่เนี่ย ... มันไม่ได้ยาวขนาดนั้นค่ะ คิดว่าซักห้าหกครั้งก็จบพอดีค่ะ

 “เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย” หรือ Unity in Diversity ที่เราๆ ท่านๆ ได้ยินกันบ่อยๆ เมื่อเราพูดถึงความหลากหลายทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง, การพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนสังคมวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้น วลีดังกล่าวนี้เป็นคำขวัญของประเทศอินโดนีเซียด้วย

อินโดนีเซียเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มศาสนา มีภาษากลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 250 ภาษา อินโดนีเซียปัจจุบัน (2012) มีประชากรประมาณ 240 ล้านคน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มชวาประมาณ 45-50 % ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควบคุมและครอบงำระบบราชการ, ทหารและตำรวจของรัฐ ประธานาธิบดีเกือบทั้งหมดเป็นคนชวา การตัดสินใจเรื่องตำแหน่งในกองทัพอินโดนีเซียตกอยู่ในมือของคนชวาถึงประมาณ 75% มาตุภูมิของคนชวาอยู่ในตอนกลางและทางตะวันออกของเกาะชวา แม้ว่าจะมีคนซุนดาอาศัยอยู่ในเกาะชวา แต่มีจำนวนเพียง 14.5 % ของประชากรทั้งหมด

เกาะรอบนอกชวาเป็นที่อยู่ของชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น Makassarese-Buginese (3.68%), Batak (2.4%), Balinese (1.88%), Achenese (1.4%) และอื่นๆ ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ตั้งรกรอกอยู่ในพื้นที่ที่สามารถจะระบุได้ ส่วนกลุ่มคนจีนซึ่งมีอยู่ประมาณ 2.8 % นั้นอาศัยอยู่ทั่วไปกระจายทั่วทั้งประเทศ โดยส่วนมากมักจะอาศัยอยู่ในเมือง อาจจะกล่าวได้ว่าสังคมอินโดนีเซียเป็นสังคมชนบท เนื่องจากว่าประมาณ 80% ของประชากรอาศัยอยู่ในชนบท ส่วนอีก 20% อาศัยอยู่ในเมือง [1]

สิ่งสำคัญที่ควรจะกล่าวถึงคือเกาะชวานั้นมีขนาด 7% ของดินแดนทั้งหมด แต่เป็นที่อาศัยของประชากรประมาณ 65 % ของประชากรทั้งหมด เกาะชวาจึงกลายเป็นผู้บริโภครายได้ของรัฐรายใหญ่ที่สุด ในขณะที่เกาะรอบนอกชวาเป็นผู้ผลิต การเมืองของอินโดนีเซียจึงเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องบทบาทผู้ครอบงำของชวากับการกระจายผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมระหว่างชวากับที่อื่นๆ ซึ่งชวานั้นเป็นศูนย์กลางของด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางอำนาจ, การปกครอง, เศรษฐกิจ และอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นอื่นทางการเมืองอินโดนีเซียที่มีความสำคัญคือ ประเด็นเรื่องทางศาสนาซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อินโดนีเซียมีศาสนาที่เป็นทางการที่เป็นที่ยอมรับและรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งชาติ 5 ศาสนาได้แก่ อิสลาม, คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์, คริสต์นิกายโรมันคาทอลิค, ฮินดู และพุทธ โดยศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดประมาณ 90% ของประชากรทั้งหมด

มุสลิมอินโดนีเซียสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ สาย abangan และ สาย santri [2] กลุ่ม abangan เป็นกลุ่มที่ประสานเอาหลักการทางศาสนาเข้ามาเป็นความเชื่อของตน และมักจะถูกเรียกว่า “เป็นมุสลิมแต่เพียงในนาม” [3] เนื่องจากในวิถีปฏิบัติทางศาสนามีการรับเอาพื้นฐานของศาสนาฮินดูและชวาเข้ามาผสมผสานกันด้วย กลุ่ม abangan เชื่อในพระอัลเลาะห์ แต่ก็เคารพและบูชาเทพเจ้าของฮินดูด้วย และยังเชื่อในเรื่องเวทย์มนต์และไสยศาสตร์ต่างๆ รวมถึงมีแบบแผนการปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่า Selamatan ซึ่งหมายถึงพิธีกรรมการเซ่นสังเวยวิญญาณด้วยอาหารและเครื่องเซ่นต่างๆ ซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความสงบ ปลอดภัยหรือความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ในรูปแบบความสัมพันธ์จะเป็น “ครอบครัว” ไม่ใช่ “ชุมชนอิสลาม” เหมือนอย่าง santri

กลุ่ม santri เป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในเรื่องความเชื่อและปฏิเสธรากฐานของความเชื่อต่างๆ ในชวาก่อนหน้าการเข้ามาของอิสลาม นอกจากนี้ยังปรารถนาที่จะ “ทำศาสนาชวาให้บริสุทธิ์” เพื่อที่จะสอดคล้องกับแนวคิดของพวกตน พวก santri เชื่อว่าตัวเองเป็นมุสลิมที่ “บริสุทธิ์” กว่าพวก abangan และมองว่าการรับเอาจารีตประเพณีที่ไม่ใช่อิสลามไปปฏิบัติของพวก abangan ว่าเป็นการกลับไปสู่รูปแบบโบราณ

กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มศาสนาต่างๆ ถูกทำให้รวมกันโดยดัทช์ภายใต้ Dutch East Indies ประสบการณ์จากช่วงอาณานิคมทำให้กลุ่มต่างๆ รวมกันภายใต้ขบวนการชาตินิยมซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะทำลายระบบอาณานิคมลงและสถาปนารัฐชาติขึ้นโดยใช้เขตแดนของอดีตอาณานิคม หมายความว่าอินโดนีเซียไม่ได้มีความเป็น “ชาติ” ก่อนหน้าเป็นเอกราช หรือแม้ว่าจะมีอยู่ในความรู้สึกของนักชาตินิยม แต่ก็ไม่ได้เป็นชาติที่มีความเข้มแข็ง ยุคสร้างชาติและก่อรูปชาติอินโดนีเซียเกิดขึ้นหลังจากที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการจากดัทช์ [4]

ในช่วงก่อนการประกาศเอกราชของอินโดนีเซียในปี 1945 ได้มีการประชุมระหว่างผู้นำชาตินิยมต่างๆ ถึงอนาคตของ “รัฐอินโดนีเซีย” ที่จะเกิดขึ้นใหม่ มีผู้เสนอว่าควรจะเป็นรูปแบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย, รัฐอำนาจนิยม, ตลอดจนรัฐอิสลาม และได้มีการอภิปรายกันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของประเทศราวกลางปี 1945 พรรคมัสยูมี (Musyumi) ได้เรียกร้องให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งซูการ์โนได้พยายามที่จะประนีประนอมด้วยการเอ่ยถึง “หลักปัญจศีลา” เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1945 ซึ่งตัวเขาเองเห็นว่า “อินโดนีเซียไม่ควรเป็นรัฐอิสลาม และไม่ควรเป็นรัฐทางศาสนาด้วย แต่ควรมีหลักปรัชญาทางศาสนาของรัฐที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวตามแต่ละศาสนา ซูการ์โนได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันทั้งจากผู้สนับสนุนเสรีประชาธิปไตยและรัฐอำนาจนิยม เนื่องจากเกรงว่ารัฐอิสลามจะแยกตัวออกไปก่อนที่จะเป็นเอกราช

แต่พวก santri หัวก้าวหน้าปฏิเสธที่จะประนีประนอมกับแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตามพรรคมัสยูมีและ พวก santri ล้มเหลวในการที่จะเรียกร้องให้อิสลามเป็นพื้นฐานของรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งสำหรับพรรคมัสยูมีและ พวก santri ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อให้อิสลามครอบครองตำแหน่งที่เด่นชัดขึ้นในสังคมอินโดนีเซีย
หลังจากการประกาศเอกราช อินโดนีเซียต้องทำสงครามกู้เอกราชจากเจ้าอาณานิคมที่ไม่ยอมปลดปล่อยอินโดนีเซียโดยง่าย การต่อสู้ของชนพื้นเมืองดำเนินทั้งในวิธีทางการทูตและการใช้กองกำลัง ซึ่งกลุ่มมุสลิมได้มีบทบาททั้งสองด้านดังกล่าว กองทัพอินโดนีเซียที่เริ่มต้นเมื่อปี 1945 โดยการเกณฑ์ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Pembela Tanah Air (Peta) ซึ่งหมายความว่ากองกำลังรักษาแผ่นดินเกิด ประกอบด้วยพวก priyayi ชั้นล่าง และพวก abangan ซึ่งมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจพวก santri ร่วมกันอยู่ แต่ญี่ปุ่นก็ได้จัดตั้งและฝึกฝนกองกำลังของพวก santri ขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งรู้จักกันในนาม Hizbullah ซึ่งแปลว่ากองทัพของพระ Allah และได้ต่อสู้กับดัตช์ตั้งแต่ปี 1945-1949 และในช่วงที่มีการเจรจาหยุดยิงทางการทูต กองทัพ Hizbullah ก็ยังคงต่อสู้โดยวิธีสงครามแบบกองโจรต่อไป ซึ่งกองกำลังนี้ได้พัฒนามาเป็นขบวนการดารุล อิสลาม (Darul Islam) ซึ่งส่งผลที่สำคัญมากต่อชาวมุสลิมอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบัน

ก่อนที่ดัตช์จะปล่อยมือจากอินโดนีเซีย ดัตช์ได้พยายามเสนอให้มีการจัดตั้งอินโดนีเซียเป็นสมาพันธรัฐหรือสหรัฐแห่งอินโดนีเซีย (United States of Indonesia) โดยประกอบด้วย 15 รัฐ แต่ซูการ์โนและผู้นำคนอื่นๆ ปฏิเสธแผนการนี้ อย่างไรก็ตามได้เกิดความพยายามจะปฏิวัติแยกตัวออกไปใน Moluccas ในปี 1950 เพื่อจะก่อตั้งเป็น “Republic of the South Molucca” แต่รัฐบาลปราบปรามได้ และอีกกลุ่มที่ทำการกบฎและส่งผลกระทบที่สำคัญคือขบวนการดารุลอิสลาม

ขบวนการดารุล อิสลาม (Darul Islam)
ในปี 1947 กองกำลังแบบกองโจรได้เปลี่ยนชื่อเป็นดารุล อิสลาม ขบวนการดารุล อิสลามนำโดย Sekar Madji Kartosuwiryo (1905-1962) เขาเคยเป็นสมาชิกพรรคเซรากัตอิสลาม (Partai Sarekat Islam Indonesia) แต่ภายหลังถูกขับออกเนื่องจากความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนโยบาย ในปี 1940 เขาได้ก่อตั้งสถาบัน Suffah ในเมืองการุต เขตชวาตะวันตก ต่อมาญี่ปุ่นได้ปิดสถาบันดังกล่าว แต่ว่า Kartosuwiryo ยังคงมีความสัมพันธ์กับพื้นที่นั้นและเป็นหัวหน้ากองกำลัง Hizbullah (กองทัพของพระ Allah) ต่อมาเขาได้มีบทบาทในพรรคมัสยูมี (Musyumi) เขาไม่ชอบแนวคิดของพวกฝ่ายซ้ายและไม่ไว้ใจผู้สนับสนุนสาธารณรัฐทั้งหลาย

Kartosuwiryo รู้สึกว่าชวาตะวันตกถูกทอดทิ้งโดยสาธารณรัฐ ดังนั้นเขาจึงตอบสนองด้วยการประกาศตัวเองว่าเป็น “อิหม่าม” หรือหัวหน้าของรัฐใหม่ที่ชื่อว่า “รัฐอิสลามอินโดนีเซีย” (Negara Islam Indonesia) ในเดือนพฤษภาคม 1948 ซึ่งนับเป็นการกบฏต่อต้านสาธารณรัฐอินโดนีเซียแห่งแรก รัฐบาลของดารุลอิสลามมีพื้นฐานอยู่บนหลักของศาสนาอิสลาม เมื่อเวลาผ่านไปขบวนการดารุลอิสลามมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และมีความสำคัญมากกว่าจะเป็นแค่กลุ่มกองโจรหรือการก่อการร้ายธรรมดา แต่ดารุลอิสลามมีสถานะเป็นการกบฏของภูมิภาค ซึ่งควบคุมพื้นที่เขตชวาตะวันตกเป็นบริเวณกว้าง

ขบวนการดารุลอิสลามได้ส่งอิทธิพลไปยังภูมิภาคอื่นๆ ได้ การกบฏของดารุลอิสลามได้สนับสนุนให้เกิดการต่อต้านรัฐในอาเจะห์และต่อมาได้เกิดขบวนการดารุลอิสลามในสุลาเวสีใต้ กาลิมันตันและพื้นที่อื่นๆ ด้วย
รัฐบาลได้ใช้กองกำลังเข้าปราบปรามขบวนการดารุลอิสลาม หลังการทำสงครามถึง 14 ปีกลุ่มกบฎถูกปราบปรามลงโดยกองกำลังและผู้นำถูกประหารชีวิต หลังจากที่กบฏถูกปราบปรามลง การเคลื่อนไหวจึงกลายเป็นการเคลื่อนไหวใต้ดินแทน และการก่อการกบฎโดยมีอิสลามเป็นฐานยังเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้งเช่นในอาเจะห์ รวมถึงขบวนการที่เกิดขึ้นในภายหลังต่างอ้างว่ามีความผูกพันธ์หรือเป็นส่วนหนึ่ง (หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ) ของขบวนการดารุลอิสลามเช่นกลุ่ม Jemaah Islamiyah [5] เป็นต้น

การสร้างเอกภาพและอัตลักษณ์แห่งชาติ
หลังได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการจากเจ้าอาณานิคมดัตช์ รัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซียได้ดำเนินนโยบายบูรณาการแห่งชาติเพื่อที่จะจัดการกับพหุสังคมและความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และตระหนักถึงอันตรายจากการปฏิวัติของดินแดนต่างๆ นโยบายบูรณาการแห่งชาติจึงเป็นความจำเป็นที่ต้องเร่งกระทำเพื่อสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ ซึ่งรวมถึงการบูรณาการทางการเมืองและดินแดนด้วย และการสร้างวัฒนธรรมอินโดนีเซียก็เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการบูรณาการแห่งชาติดังกล่าว

ภาษาและการศึกษาแห่งชาติ
นโยบายภาษาแห่งชาติเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างความเป็นเอกภาพและอัตลักษณ์แห่งชาติของอินโดนีเซีย อินโดนีเซียอาจจะเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับเอาภาษาของชนกลุ่มน้อยเป็นภาษาประจำชาติ ภาษาอินโดนีเซียนั้นมีรากฐานมาจากภาษามาเลย์ ซึ่งเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยในปาเล็มบัง (Palembang) เกาะสุมาตราในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ต่อมาได้กลายเป็นภาษาในการติดต่อทางการค้าระหว่างชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับคนต่างชาติ เมื่อดัทช์เข้ามาปกครองอาณานิคมดัทช์อีสอินดีสต์ได้กำหนดให้ใช้ภาษามาเลย์ในระบบราชการและธุรกรรมต่างๆ และนักชาตินิยมก่อนหน้าเป็นเอกราชก็รับเอาภาษามาเลย์นี้เป็นภาษาประจำชาติ เนื่องจากว่าเป็นภาษาที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์สามารถจะยอมรับได้ เหตุที่ภาษาชวาไม่ถูกพิจารณานำมาเป็นภาษาประจำชาติ เนื่องจากว่าภาษาชวาเป็นภาษาที่ซับซ้อนและมีระดับของภาษาถึง 3 ระดับคือภาษาชวาระดับสูง, กลางและล่าง และเป็นภาษาที่คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่ได้ใช้ การรับเอาภาษามาเลย์เป็นภาษาประจำชาติถือเป็นการมองการณ์ไกลของผู้นำชาตินิยม ที่เป็นการยืดหยุ่นกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ชวา ดังนั้นอินโดนีเซียไม่มีปัญหาเรื่องภาษาหลังจากได้รับเอกราช

ภาษาแห่งชาติอินโดนีเซียถูกทำให้เป็นที่รู้จักในสื่อของขบวนการชาตินิยมในช่วงขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช และแพร่กระจายไปมากขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดนีเซีย สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์, วิทยุและโทรทัศน์ใช้ภาษาอินโดนีเซีย หนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 1965-1967 ทั้งสิ้น 358 ฉบับ มีเพียง 3 ฉบับที่ตีพิมพ์โดยภาษากลุ่มชาติพันธุ์ [6]

หลังจากได้รับเอกราช โรงเรียนของรัฐบาลทุกแห่งต้องใช้ภาษาประจำชาติ โดยภาษากลุ่มชาติพันธุ์สามารถจะสอนในโรงเรียนท้องถิ่นได้จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังจากนั้นต้องเรียนเป็นภาษาอินโดนีเซียทั้งหมด แม้ว่าจะมีการทำให้ภาษาอินโดนีเซียแพร่หลายและใช้อย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปแทนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ การใช้ภาษาอินโดนีเซียเป็นที่นิยมและเขตเมืองมากกว่าชนบท ในเขตเมืองคนส่วนมากพูดสองภาษา คือภาษาอินโดนีเซียกับภาษากลุ่มชาติพันธุ์ของตน ในขณะที่ในชนบทภาษากลุ่มชาติพันธุ์ถูกใช้มากกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพัฒนาประเทศพร้อมๆ กับการขยายตัวของการศึกษา ภาษาอินโดนีเซียได้แพร่ไปทั่วประเทศและกลายเป็นภาษาประจำชาติที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์สามารถใช้ในการสื่อสารระหว่างกันและถือเป็นอัตลักษณ์แห่งชาติร่วมกัน

สัญลักษณ์แห่งชาติ
การรับเอาภาษาอินโดนีเซียโดยกลุ่มผู้นำชาตินิยมก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สองช่วยพัฒนาภาษาอินโดนีเซียให้เป็นภาษาหนึ่งเดียว ในเวลานั้นคำว่า “ภาษาแห่งชาติ” ยังไม่ได้หมายถึง “ภาษาอินโดนีเซีย” ในการประชุมสภาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่สองที่จาการ์ตา กลุ่ม “คนหนุ่ม” (pemuda) นักชาตินิยมจากหลายภูมิภาคได้ประสบความสำเร็จในการประกาศสิ่งที่เรียกว่า “การสาบานของคนหนุ่ม” (sumpah pemuda) ซึ่งปราะกาศว่า พวกเขาเป็นคนอินโดนีเซีย, มีภาษาเดียวกัน ซึ่งคือภาษาอินโดนีเซีย และมาตุภูมิเดียวกัน คือแผ่นดินอินโดนีเซีย หลังจากนี้ได้มีการใช้ธงและเพลงประจำชาติ

กลุ่มองค์กรอิสลามบางกลุ่มปฏิเสธสัญลักษณ์ของ “การสาบานของคนหนุ่ม” เนื่องจากว่าขบวนการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยผู้นำชาตินิยมที่ไม่ใช่ผู้นำทางศาสนา อย่างไรก็ตาม หลังสงครามกู้เอกราชกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้ยอมรับสัญลักษณ์แห่งชาตินี้อย่างเงียบๆ ยกเว้นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่พยายามจะจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น

ปัญจศีลา (Pancasila)
ปัญจศีลาหมายถึง “หลัก 5 ประการ” ประกอบด้วย
1. เชื่อในพระเจ้า
2. ประชาชนที่มีอารยธรรมและความยุติธรรม
3. เอกภาพของอินโดนีเซีย
4. ประชาธิปไตยโดยเห็นพ้องต้องกันผ่านตัวแทน
5. สังคมที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน

หลักปัญจศีลาถูกประกาศใช้ครั้งแรกโดยประธานาธิบดีซูการ์โน และในสมัยซูการ์โนปัญจศีลาเป็นวิชาหนึ่งในโรงเรียน หลักปัญจศีลาถูกคาดหวังว่าจะใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในอินโดนีเซียทุกกลุ่ม เมื่อซูการ์โนหมดอำนาจ การสอนปัญจศีลาในโรงเรียนมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในปี 1978 รัฐบาลได้ตั้งองค์กรเพื่อที่จะปลูกฝังอุดมการณ์ปัญจศีลา เปลี่ยนอุดมการณ์ปัญจศีลาจากหลักปรัชญามาเป็น “อุดมการณ์แห่งชาติ”

สรุป
นโยบายบูรณาการของอินโดนีเซียต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในการสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติประสบผลสำเร็จในเมืองมากกว่าชนบท อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อินโดนีเซียสูญสลายไป ตรงกันข้ามในบางแห่งอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มีความเข้มแข็งมาก สภาพความเป็นหมู่เกาะของอินโดนีเซียเป็นอุปสรรคสำคัญของการบูรณาการแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่นับกรณีการแยกตัวออกไปของติมอร์ตะวันออกที่ประสบความสำเร็จแล้ว (ซึ่งกรณีของติมอร์ตะวันออกนี้ถือว่าเป็นกรณีที่พิเศษ เนื่องจากว่าติมอร์ตะวันออกไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของดัตช์เฉกเช่นดินแดนอินโดนีเซียอื่นๆ) อาจกล่าวได้ว่าด้านหนึ่งอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการสร้างเอกภาพแห่งชาติท่ามกลางความหลากหลายขึ้น เพราะเมื่ออินโดนีเซียได้รับเอกราชใหม่ๆ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองต่างคาดว่าอินโดนีเซียจะไม่สามารถรักษาความเป็นเอกภาพหรือความเป็นรัฐเดียวไว้ได้ แต่อินโดนีเซียก็สามารถทำได้สำเร็จโดยการใช้นโยบายทั้งทางด้านภาษา, การศึกษา, หลักปัญจศีลา ตลอดจนการใช้กองกำลังทหาร แต่อย่างไรก็ตามความต้องการแยกตัวของดินแดนต่างๆ ก็มีให้เห็นอย่างเช่น กรณีของอาเจะห์ [7] และอิเรียนจายา เป็นต้น

เชิงอรรถ

[1] Leo Suryadinata, Pribumi Indonesians, The Chinese Minority and China: A Study of Perceptions and Policies, Heinemann: 1986, 2nd, p. 95.

[2] ผู้ที่เริ่มต้นทฤษฏีนี้คือ Clifford Geertz แม้ว่าจะมีผู้แย้งว่าการแบ่งกลุ่มมุสลิมในอินโดนีเซียมีความซับซ้อนและไม่สามารถแบ่งได้เด็ดขาดขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ก็ถูกใช้อย่างกว้างขวางในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมมุสลิมในอินโดนีเซีย

[3] Leo Suryadinata, “Government Policy and National Integration in Indonesia,” Southeast Asian Journal of Social Science, Vol. 16, No. 2 (1988), p. 112.

[4] อินโดนีเซียประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945 แต่ว่าดัทช์ไม่ยอมรับการประกาศนั้น ทำให้ต้องทำสงครามกู้เอกราชช่วงปี 1945-1949 จนดัทช์รับรองฐานะความเป็นเอกราชของอินโดนีเซียในปี 1949

[5] http://www.intell.rtaf.mi.th/News/ReadNews.asp?Id=4648

[6] Roger Paget, “Indonesian Newspaper 1965-1967,” Indonesia No. 4 (October 1967), pp. 170-210.

[7] ปัจจุบันอาเจะห์กับรัฐบาลอินโดนีเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในปี 2005 ซึ่งได้ยุติการสู้รบที่ดำเนินมายาวนานกว่าสามทศวรรษ และอาเจะห์ได้รับสิทธิพิเศษในการเป็นจังหวัดที่ปกครองตัวเอง มีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของตัวเอง รวมถึงการจัดการนโยบายต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

หมายเหตุ: ขออธิบายที่มาของภาพโลโก้ประจำบล็อกของดิฉันสักนิดนะคะ ดิฉันนำภาพนี้มาจากสกรีนลายเสื้อที่นิสิตหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ซึ่งดิฉันได้รับเชิญให้ไปสอนวิชาเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินโดนีเซีย พวกเค้าได้ออกแบบและนำไปทำเป็นเสื้อยืดเพื่อมอบให้ดิฉันเป็นของขวัญ โดยได้บรรจุคำขวัญของอินโดนีเซียไว้ในภาพด้วย ต้องขอขอบคุณนิสิตหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 

บล็อกของ onanong

onanong
  คราวนี้จะขอพูดถึงคำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนะคะ คำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนั้นมีอยู่มากมายเพราะเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นและมรรยาทมากเหมือนของไทย การแทนตัวผู้พูดกับผู้ฟังจะขึ้นอยู่กับวัยวุฒิ และสถานะของคนที่เราพูดด้วย
onanong
 มาเรียนภาษาอินโดนีเซียกันต่อนะคะ คราวนี้จะเป็นพยัญชนะและสระประสมนะคะ และแถมด้วยคำที่ออกเสียงใกล้ๆ กันแต่ความหมายไปคนละเรื่องเลยค่ะ
onanong
ตามสัญญานะคะ คราวนี้จะเป็นการสอนภาษาอินโดนีเซียเบื้องต้นง่ายๆ สำหรับผู้สนใจเรียนภาษาอินโดนีเซียที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน วันนี้ขอเริ่มด้วยการออกเสียงพยัญชนะ และสระนะคะ สำหรับผู้ที่ต้องการให้สอนภาษาอินโดนีเซียในระดับที่ยากขึ้นไป อดใจรอหน่อยนะคะ จะค่อยๆ เพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
onanong
คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย, ชวาในพจนานุกรมฉบับมติชน พ-ม
onanong
วันที่ 28 ตุลาคมถือเป็นวันกำเนิดภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งมีที่มานั้นน่าสนใจยิ่งว่ามาจากการประกาศ“ คำสาบานของเยาวชน” ประธานของสโมสรนักเรียนอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 1928
onanong
“Indonesia Mengajar” เป็นโครงการที่ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็น่าจะประมาณ “ครูอาสาอินโดนีเซีย” ซึ่งความสำเร็จของมันอาจหมายถึงการทำให้คนอินโดนีเซียหวนคิดถึงยุคสมัยแห่งการสร้างชาติ, คิดถึงชาติที่ unity แต่ในมุมกลับก็มีคำถามบางอย่างเช่นกัน
onanong
ต่อค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน ดิฉันต้องขอชี้แจง (อีกครั้ง-เผื่อท่านที่เพิ่งจะเข้ามาอ่าน) ว่า คำต่างๆ ที่ดิฉันค้นคว้ามานี้ มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บาง
onanong
นานมาแล้วมีลูกศิษย์ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ขอให้ช่วยสอนคำทักทายภาษาอินโดง่ายๆ เพราะที่นั่นเขามีเพื่อนชาวอินโดอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วเขาอยากจะทักทายเพื่อนๆ เป็นภาษาอินโดบ้าง ดิฉันก็เลยจัดให้ และยังเก็บไฟล์ไว้ เลยคิดว่าเผื่อจะมีท่านที่สนใจอยากทราบบ้างค่ะ
onanong
มาแล้วค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บางคำเราก็รับมาโดยตรงผ่านวรรณกรรม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมบ้าง แต่บางคำก็รับผ่านภาษาบาลี สันสกฤต ทั้งเราและเขา บางคำก็ออกเสียงคล้ายกัน และแปลเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมายค่ะ
onanong
วันนี้ขอสลับพูดถึงคำขวัญของประเทศอินโดนีเซียนะคะ สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการติดตามคำภาษามลายู อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายคำภาษาไทยในพจนานุกรมฉบับมติชนไม่ต้องกังวลนะคะ จะทยอยนำเสนอต่อไปค่ะ และก็ท่านที่คิดว่า...โอ้ย...จะรออ่านจนครบ ฮ เมื่อไหร่เนี่ย ... มันไม่ได้ยาวขนาดนั้นค่ะ คิดว่าซักห้าหกครั้งก็จบพอดีค่ะ