Skip to main content

                วันที่ 30 กันยายน 2013 เป็นวันครบรอบ 48 ปี ของเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 หรือ Gerakan September Tigapuluh หรือเรียกโดยย่อว่าเหตุการณ์เกสตาปู (Gestapu) คือเหตุการณ์ที่มีกองกำลังที่นำโดยพันโทอุนตุง (Untung) จากกองกำลังดีโปเนอกอรอ (Diponegoro) ได้จับตัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและลูกน้องรวมทั้งสิ้น 7 คนไป และได้ประกาศว่าต้องการจะทำการปฏิวัติโดยจะตั้งสภาปฏิวัติขึ้น โดยกองกำลังนี้มีฐานอยู่ที่ฐานทัพอากาศฮาลิม กูซูมา (Halim Kusuma) ต่อมาผู้ที่ถูกจับตัวไปทั้งหมดได้ถูกสังหารโดยศพถูกโยนทิ้งในบ่อน้ำร้าง ภายในบริเวณที่เรียกว่าลูบัง บัวยา (Lubang Buaya) ซึ่งเป็นเขตฐานทัพอากาศของอินโดนีเซีย หลังจากนั้นภายใต้การนำของพลตรีซูฮาร์โต กองกำลังสำรองช่วยรบ (Komando Strategis Cadangan Angkatan Darat) ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ภายในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง  โดยมีการระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia) หรือเรียกย่อๆ ว่า PKI เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพยายามก่อการกบฏที่อุกอาจนี้

เหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายพลตรีซูฮาร์โตที่ทำรัฐประหารซ้อนได้สำเร็จ และเขายังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจในการฟื้นฟูและดูแลความสงบเรียบร้อยแห่งชาติในขณะนั้น และได้มีการประกาศยุบ PKI และกระบวนการกวาดล้างสมาชิก PKI ได้เริ่มขึ้นอย่างบ้าคลั่ง เหตุการณ์เกสตาปูที่จบลงด้วยการใช้ความรุนแรงต่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร การทรมาน การจับกุมคุมขัง ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการกวาดล้างดังกล่าวจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเท่าใดกันแน่ มีการคาดคะเนกันว่าอยู่ระหว่าง 500,000 จนถึง 2,000,000 คน) นับเป็นเหตุการณ์ที่ดำมืดที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซียร่วมสมัย และสิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูฮาร์โตกระทำก็คือการสร้างความทรงจำให้แก่คนอินโดนีเซียว่าเหตุการณ์เกสตาปูนั้นเป็นการพยายามทำการรัฐประหารโดย PKI โดยการใช้งานเขียนทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือทั้งในรูปหนังสือประวัติศาสตร์, แบบเรียนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังสร้างความทรงจำผ่านสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวหนังสือ ได้แก่ภาพยนตร์ อนุสาวรีย์ วันสำคัญ และพิธีกรรมอีกด้วย

คำถามคือว่ามีพื้นที่ให้กับความทรงจำแบบอื่น ความทรงจำของผู้ที่ถูกสังหาร ถูกทรมาน ถูกจับกุมคุมขังบ้างหรือไม่? จากปี 1965 จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเวลาผ่านไปถึง 48 ปี แต่ก็ยังคงหลงเหลือผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงปี 1965-1966 ได้ดี แต่ความทรงจำของผู้คนเหล่านี้เป็นความทรงจำที่ไม่สามารถบอกเล่าได้ ไม่สามารถถ่ายทอดได้ เป็นความทรงจำที่ต้องถูกเก็บงำเอาไว้ เนื่องจากว่าเป็นความทรงจำคนละชุดคนละแบบกับที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองต้องการ                

“ความทรงจำ” กับ “ประวัติศาสตร์” ดูเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก ความทรงจำเป็นส่วนสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์หรืออดีตร่วมกันของคนในสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าอดีตทุกเรื่องที่ผู้คนในสังคมจดจำได้จะถูกนำมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์ทั้งหมด อดีตที่จะยังดำรงอยู่หรือถูกจดจดได้ก็ต่อเมื่อมันมีประโยชน์ต่อปัจจุบันเท่านั้น[1] เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์เกสตาปู ที่ความทรงจำแบบเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์

เมื่อยุคระเบียบใหม่สิ้นสุดลง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1998 การถกเถียงถึงเหตุการณ์เกสตาปูเป็นไปอย่างเปิดเผยและกว้างขวาง ผู้ที่รอดชีวิตและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์เกสตาปูเริ่มกล้าที่จะพูดถึงความทรงจำของตัวเองและเริ่มกล้าที่จะส่งเสียงที่ถูกบังคับให้ต้องเงียบมากว่าสามทศวรรษ

 

การพยายามต่อสู้แย่งชิงการอธิบาย/ตีความเหตุการณ์เกสตาปู

            เหตุการณ์เกสตาปูเป็นเหตุการณ์ที่ถูกแย่งชิงการอธิบายและตีความทั้งจากรัฐบาลในยุคระเบียบใหม่และนักวิชาการ (โดยเฉพาะภายนอกประเทศอินโดนีเซีย) มาตลอด ประวัติศาสตร์ฉบับทางการเช่นที่ปรากฏในแบบเรียนประวัติศาสตร์เป็นดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าประวัติศาสตร์ฉบับรัฐบาลนั้น PKI เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว และรัฐบาลได้ใช้วิธีการสร้างความทรงจำให้คนในอินโดนีเซียผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการทำให้ประวัติศาสตร์ฉบับนี้ฝังรากลึกในความทรงจำของผู้คน เพราะคนอินโดนีเซียที่ผ่านการศึกษาในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทุกคนต้องเคยผ่านแบบเรียนนี้มาแล้วทั้งสิ้น

            นอกจากนี้รัฐบาลซูฮาร์โตยังได้ให้นักประวัติศาสตร์คนสำคัญคือนูโกรโฮ (Nugroho) ร่วมกับคณะทำงานเรียบเรียงตำราประวัติศาสตร์เพื่อใช้เป็นหนังสืออ้างอิงทางประวัติศาสตร์อินโดนีเซียที่สมบูรณ์ที่สุดขึ้นมาหนึ่งชุด ชื่อว่า Sejarah Nasional Indonesia (ประวัติศาสตร์แห่งชาติอินโดนีเซีย) ประกอบด้วย 6 เล่ม ซึ่งเป็นตำราประวัติศาสตร์ที่อื้อฉาวมากในอินโดนีเซีย เนื่องจากในระหว่างการทำงานได้มีนักประวัติศาสตร์หลายคนถอนตัวออกจากโครงการนี้ เนื่องจากต้องการยึดมั่นในหลักการทางวิชาการมากกว่าทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมือง[2]  ในหนังสือประวัติศาสตร์ชุดนี้ก็ให้ข้อมูลว่า PKI เป็นผู้ก่อเหตุในขบวนการ 30 กันยายน 1965

            หนังสือที่ถือว่าเป็นผลงานเขียนชิ้นสำคัญของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตเรื่อง Soeharto: Pikiran, Ucapan, dan Tindakan Saya: Otobiografi, seperti dipaparkan kepada G. Dwipayana dan Ramadhan K.H. (ซูฮาร์โต: ความคิด, คำพูด, และการกระทำของฉัน: อัตตชีวประวัติที่อธิบายแก่ดวีปายานารามาดัน)[3] ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพยายามสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 หนังสือเล่มนี้ของซูฮาร์โตเป็นเหมือนบันทึกประจำวันของซูฮาร์โตเอง โดยจะเป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติของซูฮาร์โต, เหตุการณ์ต่างๆ ที่เขาเข้าไปมีบทบาทและมีการแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกของเขาในเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย เหตุการณ์ต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้รวมทั้งสิ้น 102 เรื่อง หัวข้อที่ 18 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ขบวนการ 30 กันยายน 1965 โดยมีชื่อหัวเรื่องว่า Mengatasi “G.30.S./PKI” ซึ่งหมายความว่า “จัดการกับขบวนการ 30 กันยายน 1965/PKI ได้สำเร็จ” จะสังเกตได้ว่าซูฮาร์โตวางคำว่า PKI หลังคำว่าขบวนการ 30 กันยายน 1965 ในทุกครั้งที่เขียนถึง โดยมีความหมายว่า PKI เป็นผู้ก่อเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันในแบบเรียนประวัติศาสตร์หลักสูตรปี 2004 จนนำไปสู่การเพิกถอนแบบเรียนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

            ซูฮาร์โตได้อธิบายว่า “อุนตุงผู้นำในขบวนการ 30 กันยายนนั้นเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและแนบแน่นกับ PKI และยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นลูกศิษย์ของอาลีมิน (Alimin) ผู้นำ PKI[4] และการเคลื่อนไหวของอุนตุงแน่นอนว่าได้รับการหนุนหลังจาก PKI ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ขบวนการ 30 กันยายน 1965[5]” ซูฮาร์โตย้ำอยู่หลายครั้งในหนังสือเล่มนี้ว่าอุนตุงนั้นเป็นลูกศิษย์ของอาลีมิน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ PKI มาก การอธิบายเหตุการณ์เกสตาปูของซูฮาร์โตเช่นนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการเขียนประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นทางการว่า PKI ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์เกสตาปู และสร้างความชอบธรรมให้กับการกวาดล้าง PKI ด้วยความรุนแรงในตอนต้นของยุคระเบียบใหม่ ซูฮาร์โตอธิบายในตอนหนึ่งของหนังสือว่า “ขบวนการ 30 กันยายน 1965 ที่นำโดยอุนตุงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ขบวนการที่ต้องการเผชิญหน้ากับกองทัพบกด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อปกป้องประธานาธิบดีซูการ์โนเท่านั้น แต่ขบวนการของอุนตุงนั้นมีจุดมุ่งหมายที่ไกลกว่านั้นคือ ตัองการยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีการบังคับและรัฐประหาร”[6]

            นอกจากสร้างความทรงจำผ่านตัวอักษรในแบบเรียนและหนังสือประวัติศาสตร์แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังสร้างความทรงจำเรื่องเหตุการณ์เกสตาปูผ่านภาพเคลื่อนไหวด้วย โดยบริษัทภาพยนตร์แห่งชาติ (Perusahaan Film Nasional – PFN) ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Penghianatan G30S (การทรยศในเหตุการณ์ 30 กันยายน 1965) ขึ้นในปี 1981 โดยมี Arifin C. Noor เป็นผู้กำกับ[7] ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อว่า PKI เป็นผู้ทรยศที่อยู่เบื้องหลังขบวนการ 30 กันยายน 1965 คนอินโดนีเซียทุกคนที่ผ่านระบบการศึกษาภาคบังคับต้องเคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากว่ารัฐบาลจะกำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยที่นักเรียนเป็นผู้เสียค่าชมเอง ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนของชาติได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน1965 จากมุมมองที่เป็นทางการของรัฐบาล นอกจากนี้ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปียังมีการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลในช่วงเวลาหลังข่าวซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ชมมากที่สุดอีกด้วย

            แม้ว่าหลังจากสิ้นยุคระเบียบใหม่ จะได้มีการยกเลิกการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ขึ้นมาแทนชื่อว่า Bukan Sekadar Kenangan (ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความทรงจำ) ในปี 1998 ก็ตาม แต่ทว่าน้ำเสียงต่อ PKI ก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เล่าถึงชีวิตของหญิงสาวผู้หนึ่งที่งานแต่งงานของเธอต้องถูกล้มเลิกไปเนื่องจากว่าพ่อของเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ ป้าของว่าที่เจ้าบ่าวของเธอเสียสติเนื่องจากว่าเห็นสามีของเธอถูกทรมานจนตายโดยพวกคอมมิวนิสต์ โครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หยิบยกสองประเด็นที่อ่อนไหวมานำเสนอสองประเด็นได้แก่ประเด็นแรก กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ของยุคซูฮาร์โตและการสังหารหมู่ในปี 1965 และประเด็นที่สองคือปัญหาเรื่องประสบการณ์ความทุกข์ระทมของเหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรง [8]

            เมื่อยุคระเบียบใหม่สิ้นสุดลง บรรยากาศเปิดกว้างทางการเมืองและกระแสเสรีประชาธิปไตยเบ่งบาน ทำให้หลายกลุ่มมีความหวังว่าประวัติศาสตร์ที่เคยถูกปิด บิดเบือน อำพรางมาตลอดกว่าสามทศวรรษ จะได้รับการชำระ หรือเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ก่อนหน้านี้ เปิดเผยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเหตุการณ์เกสตาปูที่ถูกผูกขาดการอธิบายโดยทางการมาตลอด 32 ปีในยุคระเบียบใหม่

            ความพยายามดังกล่าวที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ หลังการสิ้นสุดอำนาจของซูฮาร์โตมีการตีพิมพ์หนังสือฝ่ายซ้ายออกมาเผยแพร่จำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นหนังสือต้องห้าม รวมถึงงานเขียนต้องห้ามของปรามูเดีย อนันตา ตูร์ด้วย และยังมีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเกสตาปูออกมามากมายทั้งโดยนักวิชาการหรือนักเขียนสมัครเล่น ตัวอย่างเช่น

            ในวันที่ 4 ตุลาคม 2004 มีการเปิดตัวหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 30 กันยายน 1965 โดยหนังสือมีชื่อว่า “Gerakan 30 Septermber 1965, Kesaksian Letkol Heru Atmodjo” แฮรู อัตโมโจ (Heru Atmodjo) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ต้องการทำความจริงให้กระจ่าง เพราะคนส่วนใหญ่มองเหตุการณ์เกสตาปู/PKI แบบขาดๆ วิ่นๆ เป็นท่อนๆ  และการเขียนหนังสือเล่มนี้เกี่ยวพันกับทฤษฎีของ Coen Holtzappel ที่อ้างว่าแฮรู อัตโมโจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เกสตาปู ซึ่งมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ใช้ข้อมูลของ Coen Holtzappel ในการเขียนถึงเหตุการณ์เกสตาปู

            อัสฟี วาร์มัน อาดัมได้แสดงความเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจเพราะแฮรู เป็นผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่  อัสฟี วาร์มันเป็นผู้ที่ผลักดันให้แฮรูเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซีย ผ่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ[9] ที่ได้ริเริ่มโครงการชำระประวัติศาสตร์และได้ร่างโครงการเพื่อวิจัยประวัติศาสตร์ปี 1965 ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.เตาฟิก อับดุลละห์ (Taufik Abdulah) เป็นประธาน

            ข้อสรุปจากหนังสือเล่มนี้คือ แฮรูอ้างว่าเขาไม่เคยประชุมร่วมกับ PKI และไม่เคยรู้จักกับผู้นำ PKI แม้แต่คนเดียว ดังนั้นการพยายามสร้างทฤษฎีว่าเขามีส่วนร่วมในเหตุการณ์เกสตาปูเป็นการบิดเบือนอย่างยิ่ง นอกจากนี้อัสฟี วาร์มันยังเพิ่มเติมว่าเวอร์ชั่นการอธิบายเหตุการณ์เกสตาปู/PKI ที่ดีและครอบคลุมที่สุดคือการอธิบายของประธานาธิบดีซูการ์โนในสุนทรพจน์นาวักซารา (Pidato Nawaksara) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 1967 ที่สรุปว่า “เหตุการณ์ (เกสตาปู) นั้นเกิดจากการออกนอกลู่นอกทางของผู้นำ PKI, ความเก่งกาจของลัทธิอาณานิคมใหม่และมีบุคคลผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์”[10]

            ส่วนงานวิชาการจากนักวิชาการต่างประเทศที่พยายามอธิบายเหตุการณ์เกสตาปูที่สำคัญและน่าสนใจได้แก่งานของเบนเนดิก แอนเดอร์สัน และรูธแม็คเวย์ เรื่อง A Preliminary Analysis of the October 1, 1965,Coup in Indonesia ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วก่อนหน้านี้ และเพิ่งมีการแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียและเผยแพร่ได้อย่างถูกกฎหมายหลังยุคระเบียบใหม่

            หนังสือเรื่อง Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present[11] ตีพิมพ์เมื่อปี 2005 มี Mary S. Zurbuchen เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความจากนักวิชาการที่หลากหลายซึ่งเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เคยดำมืดในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย  มีบทความที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูที่น่าสนใจคือเรื่อง “Lubang Buaya: Histories of Trauma and Sites of Memory” โดย Klaus H. Schreiner

           

ในปี 2006 ได้มีหนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูออกมาเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างยิ่งดีในหมู่นักวิชาการด้านอินโดนีเซียศึกษาและคนที่สนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปู เนื่องจากว่าหนังสือเล่มนี้ได้ใช้หลักฐานชั้นต้นและเอกสารที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน นั่นคืองานของ John Roosa เรื่อง Pretext for mass murder: the September 30th Movement and Suharto's Coup d’état in Indonesia และได้ถูกแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียในชื่อว่า Dalih Pembunuhan Massal: Gerakan 30 September dan Kudeta Suharto[12]

ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ Roosa ได้นำเสนอว่า[13]

สำหรับนักประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ประวัติศาสตร์ที่เป็นปริศนามากที่สุดเรื่องหนึ่งคือเหตุการณ์เกสตาปู ความยากลำบากประการหนึ่งที่จะเข้าใจเหตุกาณ์เกสตาปูก็คือขบวนการดังกล่าวได้พ่ายแพ้ไปก่อนที่คนอินโดนีเซียจำนวนมากจะได้รับรู้ถึงการเกิดขึ้นของขบวนการเอง แม้ว่าเกสตาปูจะมีอายุสั้นอย่างยิ่ง แต่มีผลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูการ์โน พร้อมๆ กับการขึ้นอยู่อำนาจของซูฮาร์โต

ซูฮาร์โตใช้เหตุการณ์เกสตาปูเป็นข้ออ้างในการกัดเซาะความชอบธรรมของซูการ์โน พร้อมกับดันตัวเองขึ้นสู่เก้าอี้ประธานาธิบดี การช่วงชิงอำนาจโดยซูฮาร์โตอย่างเป็นขั้นเป็นตอนถูกกระทำภายใต้ความพยายามที่จะป้องกันการทำรัฐประหาร สำหรับประธานาธิบดีซูการ์โตเองนั้นเรียกความพยายามก่อรัฐประหารของขบวนการ 30 กันยายนว่าเป็น “ระลอกคลื่นเล็กๆ ท่ามกลางมหาสมุทรใหญ่ของการปฏิวัติ (แห่งชาติอินโดนีเซีย)” หมายความว่าเป็นเพียงเหตุการณ์เล็กๆ ที่สามารถจัดการได้ด้วยความสงบโดยที่ไม่ต้องกระทบกระเทือนโครงสร้างอำนาจ  สำหรับซูฮาร์โตนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนสึนามิของความทรยศและความเลวร้ายที่เผยให้เห็นถึงความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของรัฐบาลซูการ์โน

ซูฮาร์โตกล่าวหาว่า PKI อยู่เบื้องหลังเกสตาปู และได้เตรียมแผนการกวาดล้างต่อบรรดาผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคนั้นเป็นลำดับต่อไป ทหารของซูฮาร์โตจับกุมคนมากกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเกสตาปู  ในเหตุการณ์การนองเลือดที่โหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 20 คนจำนวนกว่าแสนคนถูกสังหารโดยกองทัพบกและทหารบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พื้นที่ชวากลาง, ชวาตะวันออก และบากี (Baki) จากปลายปี 1965 ถึงกลางปี 1966

สำหรับวงการนักประวัติศาสตร์ เกสตาปูยังคงเป็นปริศนา ประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการเวอร์ชั่นของซูฮาร์โตที่บอกว่าเกสตาปูเป็นการพยายามทำการรัฐประหารโดย PKI ไม่เพียงพอที่จะชวนให้เชื่อเช่นนั้น เพราะว่ายากที่จะเชื่อว่าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นพลเรือนจู่ๆ จะสามารถนำปฏิบัติการทางทหารได้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนธรรมดาจะสามารถสั่งการกองกำลังทหารให้ทำตามความประสงค์ของพวกตนได้? จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งซึ่งมีการจัดตั้งองค์การอย่างดี และได้รับการยกย่องว่าเป็นพรรคที่มีวินัยสูง จะวางแผนปฏิบัติการแบบมือสมัครเล่นเช่นนั้น? ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยหลักการปฏิบัติแบบเลนินต้องการสมรู้ร่วมคิดในการทำรัฐประการกับกองกำลังทหาร? ทำไมพรรคการเมืองที่กำลังเติบโตอย่างเข้มแข็งในเวทีการเมืองแบบเปิดเผยจึงเลือกยุทธวิธีแบบ konspirasi? ค่อนข้างจะไม่มีเหตุผลที่จะสนับสนุนให้เชื่อในทางนั้น

ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยากที่จะเชื่อเช่นกันว่าเกสตาปู ดังเช่นที่แถลงในการกระจายเสียงทางวิทยุครั้งแรกว่าเป็นกลุ่มปฏิบัติการลับในกองทัพบก เพราะว่าจริงๆ แล้วก็มีผู้นำ PKI บางคนเข้าร่วมเป็นแกนนำในเกสตาปูอย่างชัดเจนร่วมกับผู้นำทหารบางคน ตั้งแต่วันแรกๆ ของเดือนตุลาคม 1965 ปัญหาว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีข้อยุติ  นายทหารชั้นสัญญาบัตรกระทำการเองอย่างที่แถลงหรือไม่, และหลังจากนั้นได้เชิญหรือล่อลวงบรรดาผู้นำ PKI ให้ช่วยเหลือพวกเขาใช่หรือไม่? หรือทว่า PKI นั่นเองที่ใช้นายทหารเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามแผนการของพวกเขาเฉกเช่นที่ซูฮาร์โตกล่าว? หรือว่ามี modus Vivendi ระหว่างบรรดานายทหารกับ PKI?

นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างซูฮาร์โตกับเกสตาปู หลักฐานแม้จะไม่โดยตรงแต่ก็ให้ความรู้สึกว่าผู้วางแผนเกสตาปูอย่างน้อยที่สุดหวังว่าจะสนับสนุนซูฮาร์โต ได้แก่การที่พวกเขาไม่ระบุชื่อซูฮาร์โตในลิสต์รายชื่อนายพลที่จะถูกลักพาตัว และก็ไม่ได้วางกองกำลังไว้รอบๆ กองบัญชาการของซูฮาร์โต นายทหารสองคนในหมู่ผู้นำเกสตาปูเป็นเพื่อนรักของซูฮาร์โต หนึ่งในนั้นได้แก่พันเอกอับดุล ลาตีฟ (Abdul Latief) ได้ยอมรับว่าเขาแจ้งซูฮาร์โตเกี่ยวกับเกสตาปูก่อนหน้านั้น และซูฮาร์โตให้การสนับสนุนอย่างเงียบๆ 

จริงหรือไม่ที่ซูฮาร์โตได้รับการแจ้งข่าวก่อนหน้านั้น? ข้อมูลอะไรที่ถูกให้แก่ซูฮาร์โตเกี่ยวกับเกสตาปู, ซูฮาร์โตคิดอย่างไรต่อข้อมูลดังกล่าว? เขาสัญญาจะสนับสนุนหรือไปไกลกว่านั้นด้วยการช่วยวางแผนปฏิบัติการเกสตาปูหรือเปล่า? Apakah ia dengan licik menelikung G30S agar dapat naik ke tampuk kekuasaan? จนถึงปัจจุบันเอกสารหลักที่ขบวนการเกสตาปูทิ้งไว้มีเพียงแค่แถลงการณ์สี่ฉบับที่เผยแพร่กระจายเสียงผ่านสถานทีวิทยุแห่งชาติอินโดนีเซียในตอนเช้าและกลางวันของวันที่ 1 ตุลาคม 1965 เท่านั้น แถลงการณ์ดังกล่าวเปิดเผยโฉมหน้าขบวนการเกสตาปูต่อสาธารณะและแน่นอนว่าไม่ได้เอ่ยถึงการจัดตั้งขบวนการและจุดมุ่งหมายของขบวนการ

 

ข้อเสนอที่น่าสนใจของ Roosa ซึ่งแตกต่างจากการอธิบายเหตุการณ์เกสตาปูที่มีมาก่อนหน้านี้ทั้งหมดคือว่า การพูดถึงบทบาทของชัมหัวหน้าหน่วยงานพิเศษของ PKI  จุดอ่อนหลักของเกสตาปูคือการขาดผู้นำหลัก ขบวนการมีผู้นำสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มทหาร ซึ่งนำโดยอุนตุง, ลาตีฟ และซูโจโน ในขณะที่อีกกลุ่มที่นำโดยหน่วยปฏิบัติราชการลับของ PKI นำโดยชัม, โปโน โดยมีไอดิตอยู่เบื้องหลัง ชัมเล่นบทตรงกลางเพราะเขาเป็นผู้ประสานระหว่างสองกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อความพยายามนี้นอกจากจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีซูการ์โนแล้ว ยังถูกขอร้องให้ยุติอีกด้วย จึงเกิดความสับสนขึ้น ทั้งสองกลุ่มนี้จึงแตกแยก กลุ่มทหารต้องการเชื่อฟังประธานาธิบดี ในขณะที่ฝ่ายหน่วยปฏิบัติราชการลับของ PKI ต้องการดำเนินการตามแผนต่อไป นี่จึงเป็นการอธิบายว่าทำไมแถลงการณ์ฉบับแรก, ฉบับที่สองและฉบับที่สามถึงเว้นช่วงเวลาถึงห้าชั่วโมง ในตอนเช้าพวกเขาแถลงว่าประธานาธิบดีอยู่ในความปลอดภัย  แถลงการณ์ฉบับที่สองในตอนเที่ยงมีเนื้อหาที่เปลี่ยนเป็นรุนแรงขึ้น นั่นคือการตั้งสภาปฏิวัติและประกาศยุบคณะรัฐมนตรี (แห่งชาติ)

เอกสารของซูปาร์โจกล่าวว่าทำไมขบวนการเกสตาปูนั้นถึงล้มเหลว ความสับสนระหว่าง “การอารักขาประธานาธิบดีซูการ์โน” กับ “การพยายามทำรัฐประหาร” ซึ่งถูกอธิบายอย่างชัดเจนด้วยการประกาศยุบคณะคณะรัฐมนตรี   เป็นเวลานานก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือดนั้น อเมริกาได้อภิปรายเกี่ยวกับมาตรการทั้งหมดที่จำเป็นจะต้องกระทำเพื่อผลักดันให้ PKI ลงมือก่อน เพื่อว่าจะได้ถูกตอบโต้จากกองทัพบก และไอดิตก็ติดกับ  ซูฮาร์โตนั้นรู้ล่วงหน้าว่าเหตุการณ์จะเกิด ทำให้ซูฮาร์โตเป็นผู้ที่พร้อมที่สุดในวันที่ 1 ตุลาคม 1965 ในขณะที่คนอื่นๆ ยังคงสับสน นอกจากนั้นชื่อของซูฮาร์โตเองไม่ได้ถูกลิสต์ในรายชื่อของนายทหารที่จะถูกลักพาตัว

ในหนังสือของ Roosa กล่าวว่าเหตุการณ์เกสตาปูน่าจะถูกเรียกว่า “การเคลื่อนไหว” มากกว่าจะเป็น “ขบวนการ” เนื่องจากว่าเหตุการณ์นี้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในจาการ์ตาและชวากลางที่ถูกปราบปรามลงในเวลาเพียงหนึ่งถึงสองวัน อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวนี้ซึ่งเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตของหกนายพล ได้ถูกซูฮาร์โตและพวกพ้องนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการกำจัด PKI จนถึงรากถึงโคน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้เกิดการสังหารหมู่ที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อมากกว่าครึ่งล้านคนเป็นอย่างน้อย

หากว่าบรรรดานายพลที่ถูกลักพาตัวไปนั้นไม่เสียชีวิต บางทีหน้าประวัติศาสตร์อินโดนีเซียอาจจะเปลี่ยนไป มวลชน PKI อาจจะออกไปชุมนุมที่ถนนเรียกร้องให้ปลดบรรดานายพลเหล่านั้น ประธานาธิบดีจะถูกบีบให้ต้องมอบตำแหน่งรัฐมนตรีให้แก่กลุ่มฝ่ายซ้าย เพราะว่าจนถึงปี 1965 ประธานาธิบดีซูการ์โนไม่เคยมอบหมายให้ผู้นำคอมมิวนิสต์เป็นรัฐมนตรีเลย

คำอธิบายเหตุการณ์เกสตาปูของ Roosa ได้รื้อสร้างคำอธิบายแบบเก่าและสร้างคำอธิบายแบบใหม่ขึ้นมาด้วยการใช้เอกสารชั้นต้นซึ่งเป็นของหน่วยปฏิบัติราชการลับของ PKI  ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่, ระเบียบวิธีแบบใหม่ และมุมมองแบบใหม่ ด้วยการอธิบายว่าเกสตาปูเป็นการเคลื่อนไหวไม่ใช่ขบวนการที่มีการวางแผนอย่าดีหรือการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

PKI หลังยุคระเบียบใหม่

                แม้ยุคระเบียบใหม่ภายใต้การนำของซูฮาร์โตจะสิ้นสุดลงไปแล้ว และได้เกิดสงครามประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การผูกขาดการเขียนประวัติศาสตร์ที่นำโดยรัฐมาตลอดระยะเวลาสามทศวรรษ แต่อย่างไรก็ตาม สถานภาพของ PKI ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก แม้ว่ามีความพยายามที่จะพูดถึงการกระทำต่อ PKI อย่างโหดเหี้ยมอันเนื่องมาจากเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 อย่างเปิดเผยได้เป็นครั้งแรก รวมไปถึงมีการตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวกันแน่ แต่ภาพลักษณ์ของ PKI ในฐานะปิศาจร้ายก็ยากที่จะสลัดออกจากจินตนาการของคนอินโดนีเซียได้              

            การเคลื่อนไหวในหน่วยงานของส่วนราชการที่น่าสนใจ คือในวันที่ 12 เมษายน 2001 นายพอล เปอร์มาดี (Paul Permadi), รองผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติอินโดนีเซียฝ่ายพัฒนาเอกสารหอสมุดและบริการสารสนเทศได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หอสมุดแห่งชาติได้ทำการรวบรวมหนังสือ, หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์หรือที่มักจะถูกเรียกว่าฝ่ายซ้ายที่เคยถูกห้ามเผยแพร่ในสมัยระเบียบใหม่ โดยมีการจัดเป็นห้องพิเศษเฉพาะหนังสือฝ่ายซ้ายขึ้น หนังสือฝ่ายซ้ายที่ถูกรวบรวม อาทิเช่น ผลงานของคาร์ล มาร์กซ, นิยายและงานเขียนของปรามูเดีย อนันตา ตูร์ ทั้งก่อนถูกจับและขณะที่ถูกจำคุกที่เกาะบูรู และหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่พิมพ์โดย PKI ก่อนหน้าปี 1965[14]  อย่างไรก็ตามห้องพิเศษสำหรับหนังสือหรือเอกสารฝ่ายซ้ายนี้ไม่ใช่ของใหม่ ก่อนหน้านี้ห้องดังกล่าวเป็นที่เก็บรวบรวมหนังสือและเอกสารที่ทางอัยการสูงสุดและหน่วยราชการลับตัดสินว่าต้องห้าม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม หรืองานเขียนของนักเขียนอย่างเช่นปรามูเดีย เป็นต้น หนังสือและเอกสารจะถูกส่งมาเก็บไว้ที่ห้องดังกล่าว โดยจะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้ได้ จากคำสั่งของอัยการสูงสุดที่ระบุชัดเจนว่าห้ามการอ่านและเข้าถึงหนังสือและเอกสารดังกล่าว

            บทความเรื่อง “The Battle for History After Suharto” ของ Gerry van Klinken ในหนังสือ Mary S. Zurbuchen (ed.), Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present [15] ได้อภิปรายปรากฏการณ์สงครามการเขียนประวัติศาสตร์หลังยุคซูฮาร์โตไว้อย่างน่าสนใจ ว่าได้เกิดงานเขียนประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง ท้าทายและขัดแย้งกับงานประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการสมัยซูฮาร์โต หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่มีการโต้แย้งกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมอินโดนีเซียหลังยุคซูฮาร์โต คือประวัติศาสตร์ว่าด้วย PKI โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบทบาทของ PKI ในเหตุการณ์เกสตาปู นอกเหนือจากบทความชิ้นนี้แล้วบทความอื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กันในการเขียนประวัติศาสตร์อินโดนีเซียแบบใหม่ อธิบายเหตุการณ์ที่ถูกจงใจให้จำและให้ลืมในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย

            นอกจากความเคลื่อนไหวในแวดวงนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่คึกคักในการออกมาโต้เถียงในประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาในประวัติศาสตร์แล้ว ความเคลื่อนไหวในวงการสื่อและตลาดหนังสือก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน มีการตีพิมพ์หนังสือที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามในสมัยซูฮาร์โตออกมามากมาย อาทิเช่น งานของปรามูเดีย อนันตา ตูร์, งานเกี่ยวกับ PKI ตลอดจนงานเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ เป็นต้น ส่งผลให้คนทั่วๆ ไปสามารถเข้าถึงงานแบบนี้ได้ไม่ยากนักผ่านหนังสือพิมพ์หรือหนังสือที่สามารถซื้อหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป

งานฝ่ายซ้ายเริ่มถูกตีพิมพ์ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 โดยในปี 1989 ได้มีตั้งสำนักพิมพ์ Teplok Press Publishing พิมพ์ Das Kapital (Capital) และเมื่อสิ้นยุคระเบียบใหม่ได้มีการตีพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เช่น งานของเหมาเจ๋อตุง, เช กูวารา, ตัน มะละกา และงานเขียนของปรามูเดีย อนันตา ตรู เป็นต้น ซึ่งงานทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นงานเขียนต้องห้ามในสมัยซูฮาร์โต นอกจากนี้ยังมีการออกวารสารแนวซ้ายๆ เช่น Majalah Kerja Budaya, Majalah Kiri, Majalah Kritik เป็นต้น

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่ออกมาโต้แย้งประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่ความทรงจำหรือสถานภาพของ PKI ก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดนักในความรู้สึกของคนอินโดนีเซียส่วนใหญ่ เป็นเวลากว่าสามทศวรรษที่ PKI ถูกสร้างภาพว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทรยศหักหลังประเทศชาติ ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบเรียน, หนังสือประวัติศาสตร์, อนุสาวรีย์, การจัดงานรำลึกครบรอบวันสำคัญต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้นการรื้อฟื้นเรื่อง PKI หนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึงการสังหารสมาชิก PKI อย่างโหดเหี้ยมและไร้เหตุผล ที่ผู้ร่วมกระทำการนั้นไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งนี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเขียนประวัติศาสตร์ PKI แบบใหม่ที่ไม่เหมือนกับฉบับทางการสมัยซูฮาร์โตได้รับการต่อต้านอย่างมากจากกลุ่มต่างๆ

กลุ่มที่มีบทบาทมากๆ คือกลุ่มทหารที่ยังคงมีอำนาจเพียงพอที่จะปราบปรามงานเขียนประวัติศาสตร์ที่ไม่สอดคล้องหรือเป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์ของกองทัพ เมื่อซูบันดรีโอ (Subandrio) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสมัยซูการ์โนซึ่งถูกจำคุกโดยซูฮาร์โตเป็นเวลา 30 ปีได้เขียนบันทึกส่วนตัวเพื่อจะตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวจากความทรงจำของเขา ปรากฏว่าทางสำนักพิมพ์ได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการนี้และทำลายหนังสือกว่า 10,000 เล่มที่พิมพ์เสร็จพร้อมจะทำการเปิดตัวในปลายปี 2000[16]

            ต่อมาราวเดือนพฤษภาคม 2001 มีกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์เผาทำลายหนังสือ “ฝ่ายซ้าย” จำนวนมาก ส่งผลให้ร้านหนังสือชั้นนำหลายแห่งต้องเอาหนังสือของปรามูเดีย อนันตา ตูร์ออกจากชั้นวางขาย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การออกคำสั่งเพิกถอนแบบเรียนประวัติศาสตร์หลักสูตร 2004 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

 

โรคกลัวคอมมิวนิสต์

การสร้างภาพและความทรงจำเกี่ยวกับขบวนการและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียภายใต้การนำของซูฮาร์โตในยุคระเบียบใหม่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการทำให้สังคมอินโดนีเซียเป็นสังคมที่หวาดกลัวและเกลียดชังคอมมิวนิสต์ ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดก็คือการแบนแบบเรียนประวัติศาสตร์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

หลังการสิ้นสุดของยุคระเบียบใหม่ นิตยสาร Tempo ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเมืองใหญ่ๆ จำนวน 1,000 คน โดย 57 % ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าไม่ควรมีการสอนเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ในโรงเรียน, ประมาณ 60 % ไม่เห็นด้วยกับการพิมพ์เผยแพร่หนังสือที่เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดนีเซีย, 97 % ตอบว่าการรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูมาจากการสอนของครูอาจารย์และแบบเรียน และมากกว่า 80 % เห็นว่าภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูที่ผลิตภายใต้ยุคระเบียบใหม่เป็นเรื่องจริง[17]

วันที่ 13 มีนาคม 2000 ประธานาธิบดีอับดูรระห์มันวาฮิดได้ออกมากล่าวขอโทษผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกสังหาร ทรมาณ และจับกุมในเหตุการณ์ต่อต้านและสังหารคอมมิวนิสต์ในปี 1965  และได้เสนอว่าควรจะมีการนำเรื่องกฏหมายห้ามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์รวมถึงการห้ามเผยแพร่แนวคิดมาร์กซิส-เลนินนิสต์ขึ้นมาพิจารณากันใหม่ ปรากฏว่าก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านการกล่าวขอโทษของวาฮิดอย่างดุเดือดจากผู้นำศาสนาและผู้นำทางการเมืองของกลุ่มมุสลิม และนักวิชาการสภาอิสลามแห่งชาติก็ออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกับผู้นำศาสนาอิสลาม ต่อมาราวต้นเดือนเมษายน 2000 ได้มีกลุ่มมุสลิมนับพันคนออกมาชุมนุมประท้วงวาฮิดและทำการเผาธงและสัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย[18]  และแม้แต่กลุ่มสมาชิก NU ซึ่งเป็นฐานเสียงของวาฮิดเองก็ไม่ได้สนับสนุนเขาในประเด็นนี้

ความรู้สึกเกลียดกลัวชิงชังคอมมิวนิสต์ได้ยกระดับอีกขั้น โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่าพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Aliansi Anti Komunis-AAK) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรที่เป็นทางการ 33 แห่ง ได้ทำการบุกยึดหนังสือที่ออกแนวซ้ายๆ ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ กลางเมือง และมีการเผาหนังสือซ้ายๆ นั้นจำนวนมาก และแม้ว่าวาฮิดจะออกมาประณามและตำรวจได้ออกมาขู่ว่าจะจัดการกับผู้ที่กระทำการดังกล่าวก็มิได้ทำให้กลุ่มพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์เปลี่ยนท่าทีต่อการกระทำของกลุ่มตนแต่อย่างใด

จากกรณีเผาหนังสือฝ่ายซ้าย  นิตยสาร Tempo จึงได้ทำแบบสอบถามประชาชนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งผลการสำรวจพบว่าสำหรับประชาชนทั่วๆ ไป คำว่า “หนังสือฝ่ายซ้าย” ไม่ใช่ของแปลกใหม่ไม่คุ้นหู แม้ว่าจะมีน้อยรายที่เป็นเจ้าของหนังสือฝ่ายซ้าย แต่อย่างไรก็ตามผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกล่าวว่าพวกเขาเคยอ่านหนังสือฝ่ายซ้ายจากห้องสมุดและร้านหนังสือต่างๆ และเห็นว่าการเผาหนังสือฝ่ายซ้ายนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากความกลัวเกรงว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์กำลังจะฟื้นคืนชีพขึ้นมา จากการที่มีการก่อตั้งพรรค Partai Rakyat Demokratik  (PRD) โดยอดีตกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่ประกาศเจตนารมย์อย่างชัดเจนว่าพรรค PRD ชูแนวคิดสังคมนิยม[19]

พรรค PRD ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1996 ณ สำนักงาน LBHJ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ท้าทายระบอบซูฮาร์โตอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าขณะนั้นยังมีกฎหมายห้ามก่อตั้งพรรคการเมืองโดยปราศจากการอนุญาตโดยรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลให้แก่คนที่ถูกถือว่าเป็นศัตรูของระบอบซูฮาร์โต นั่นคือปรามูเดีย อนันตา ตูร์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Tempo หลังจากนั้นในวันที่ 9 สิงหาคม 1996 รัฐบาลตั้งข้อหาว่าพรรค PRD มีการกระทำอันเป็นกบฎ และบูดีมัน ซูจัตมีโก (Budiman Sujatmiko) ถูกจับและถูกตัดสินจำคุก 13 ปี การปราบปรามการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายของระบอบระเบียบใหม่นี้ถือว่าเป็นความผิดพลาด เพราะทำให้แนวคิดของพวกฝ่ายซ้ายพัฒนาในทางอื่นนอกจากเป็นแนวคิดทางการเมือง กลายเป็นเครื่องหมายของความกล้าหาญท่ามกลางคนหนุ่มคนสาว อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1999 พรรค PRD ได้รับเลือกตั้งในจำนวนที่น้อยมากคือได้ 78,730 คะแนน[20] ซึ่งส่งผลให้ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียวในสภา

ปฏิกิริยาของกลุ่มพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ทำการบุกยึดและเผาหนังสือฝ่ายซ้ายอย่างอุกอาจนั้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลสมัยซูฮาร์โตทำการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ, แบบเรียนและหนังสือประวัติศาสตร์ ตลอดจนการสร้างความทรงจำผ่านอนุสาวรีย์และวันสำคัญต่างๆ มาเป็นระยะเวลากว่าสามทศวรรษว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยอันร้ายแรงยิ่งที่คุกคามต่อความสงบเรียบร้อยของชาติ และแม้ว่ายุคระเบียบใหม่จะสิ้นสลายไปแล้ว แต่ผลของการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องคอมมิวนิสต์ยังดำรงอยู่และฝังรากลึกในสังคมอินโดนีเซีย และเมื่อประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมือง โรคกลัวคอมมิวนิสต์ก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

 

สรุป

            แม้ว่ายุคระเบียบจะพังทลายลงไปพร้อมกับการสิ้นอำนาจของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ คาดหวังว่าจะเป็นรุ่งอรุณของการปลดแอกจากการกดขี่ ควบคุม เซ็นเซอร์และปราบปรามในทุกๆ ด้านของชีวิตสังคมและการเมือง แต่ทว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกลับไม่ได้เป็นประจักษ์พยานของความสำเร็จที่จะทำภารกิจนั้น แม้ว่าหลังยุคระเบียบใหม่จะมีการเปล่งเสียงของบรรดาผู้คนที่ถูกบังคับให้ต้องเงียบมากว่า 3 ทศวรรษ นำไปสู่การตีพิมพ์แบบเรียนและหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีน้ำเสียงการเล่าเรื่องต่างไปจากประวัติศาสตร์ฉบับทางการของรัฐบาล รวมไปถึงมีการตีพิมพ์หนังสือฝ่ายซ้ายจำนวนมากออกมาสู่สาธารณะ

            แต่การเผาหนังสือฝ่ายซ้ายเมื่อปี 2001 โดยกลุ่มประชาชนที่ยังคงโกรธแค้น PKI หรือการออกคำสั่งเพิกถอนแบบเรียนประวัติศาสตร์หลักสูตร 2004 เนื่องจากไม่ระบุว่า PKI เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ขบวนการ 30 กันยายน 1965 เป็นการส่งสัญญาณว่าความทรงจำเกี่ยวกับ PKI ที่ถูกสร้างขึ้นตลอดยุคสมัยของซูฮาร์โตยังฝังรากลึกในสังคมอินโดนีเซีย และเป็นการถอยหลังเข้าคลองของระบบการศึกษาของอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการศึกษาอินโดนีเซียเท่านั้นที่กำลังถอยหลังเข้าคลอง หากแต่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยในอินโดนีเซียทั้งกระบิด้วย

การควบคุมประวัติศาสตร์และไม่เปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงแนวความคิดประวัติศาสตร์ที่อาจมีความแตกต่างหลากหลาย อาจจะส่งผลในด้านกลับ เมื่อเรื่องใดที่พูดหรือถกเถียงในที่สาธารณะไม่ได้ แล้วต้องลงไปถกเถียงในพื้นที่ “ใต้ดิน” แทนนั้น จะยิ่งเป็นอันตราย (ต่อผู้ต้องการควบคุมประวัติศาสตร์) และควบคุมไม่ได้มากกว่าการอนุญาตให้ถกเถียงอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะหลายเท่านัก

 



[1] Patrick H. Hutton, History as an Art of Memory, Hanover and London: University Press of New England, 1993, p. 17.

[2] Bersihar Lubis, “Monopoli Sejarah yang Sia-sia (การผูกขาดประวัติศาสตร์ที่ไร้ประโยชน์)” http://riaupos.com/baru/content/view/4397/40/ (28 April 2007)

[3] Soeharto, Soeharto: Pikiran, Ucapan, dan Tindakan Saya: Otobiografi, seperti dipaparkan kepada G. Dwipayana dan Ramadhan K.H. (ซูฮาร์โต: ความคิด, คำพูด, และการกระทำของฉัน: อัตตชีวประวัติที่อธิบายแก่ดวีปายานาและรามาดัน), Jakarta: Citra Lamtoro Gung Persada, 1989.

[4] Ibid, p. 119.

[5] Ibid., p. 120.

[6] Ibid., p. 123.

[7] Krishna Sen, Indonesian Cinema: Framing the New Order, London and New Jersey: Zed Books Ltd., 1994, p. 81.

[8] Klaus H. Schreiner, “Histories of Trauma and Sites of Memory” in Mary S. Zurbuchen (ed.), Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present, Seattle: Singapore University Press in association with University of Washington Press, 2005, pp. 263-265.

[9] ศาสตราจารย์ ดร. อับดุล มาลิก ฟาจาร์ (Abdul Malik Fadjar)  เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในคณะรัฐมนตรีชุด Gotong Royong ของรัฐบาลเมกาวตี ซูการ์โนบุตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2001-2004

[10] Sutarto, “Letkol Heru Atmodjo Luncurkan Buku Soal G30S/PKI (พันโทแฮรู อัตโมโจเปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับขบวนการ 30 กันยายน 1965/PKI)”, http://www.tempointeraktif.com/hg/nasional/2004/10/04/brk,20041004-34,id.html (4 October 2004)

[11] ดูรายละเอียดใน Mary S. Zurbuchen (ed.), Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present, Seattle: Singapore University Press in association with University of Washington Press, 2005.

[12] John Roosa, Dalih Pembunuhan Massal: Gerakan 30 September dan Kudeta Suharto (ข้ออ้างสำหรับการสังหารหมู่: ขบวนการ 30 กันยายน และการรัฐประหารของซูฮาร์โต), Jakarta: Institut Sejarah Indonesia dan Hasta Mitra, 2008.

[13] Ibid., pp. 3-41.

[14] “Perpustakaan Nasional Simpan Buku-buku “Kiri” di Ruang Khusus (หอสมุดแห่งชาติเก็บหนังสือ “ฝ่ายซ้าย” ที่ห้องเฉพาะ)”, http://www.tempointeraktif.com/hg/nasional/2001/04/12/brk,20010412-09,id.html (12 April 2001)

[15] ดูรายละเอียดใน Gerry van Klinken, ““The Battle for History After Suharto” in Mary S. Zurbuchen (ed.), Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present, Seattle: Singapore University Press in association with University of Washington Press, 2005, pp. 233-258.

[16] Ibid., p. 242.

[17] Tempo, 8 October 2000, p. 14.

[18] Media Indonesia, 8 April 2000.

[19] Arif Zulkifli, Kiri atau Kanan, Tak Boleh Dibakar (ซ้ายหรือขวา, ก็ไม่ควรจะถูกเผา), Tempo 21 May 2001, http://majalah.tempointeraktif.com/id/arsip/2001/05/21/MON/mbm.20010521.MON98976.id.html

[20] “Hasil Pemilu Indonesia Sepanjang Sejarah (1955s/d2004) (ผลการเลือกตั้งทั่วไปในอินโดนีเซียตลอดช่วงประวัติศาสตร์ (1955 ถึง 2004)” http://ijrsh.files.wordpress.com/2008/06/hasil-pemilu-indonesia-sepanjang-sejarah.pdf

 

บล็อกของ onanong

onanong
  คราวนี้จะขอพูดถึงคำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนะคะ คำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนั้นมีอยู่มากมายเพราะเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นและมรรยาทมากเหมือนของไทย การแทนตัวผู้พูดกับผู้ฟังจะขึ้นอยู่กับวัยวุฒิ และสถานะของคนที่เราพูดด้วย
onanong
 มาเรียนภาษาอินโดนีเซียกันต่อนะคะ คราวนี้จะเป็นพยัญชนะและสระประสมนะคะ และแถมด้วยคำที่ออกเสียงใกล้ๆ กันแต่ความหมายไปคนละเรื่องเลยค่ะ
onanong
ตามสัญญานะคะ คราวนี้จะเป็นการสอนภาษาอินโดนีเซียเบื้องต้นง่ายๆ สำหรับผู้สนใจเรียนภาษาอินโดนีเซียที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน วันนี้ขอเริ่มด้วยการออกเสียงพยัญชนะ และสระนะคะ สำหรับผู้ที่ต้องการให้สอนภาษาอินโดนีเซียในระดับที่ยากขึ้นไป อดใจรอหน่อยนะคะ จะค่อยๆ เพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
onanong
คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย, ชวาในพจนานุกรมฉบับมติชน พ-ม
onanong
วันที่ 28 ตุลาคมถือเป็นวันกำเนิดภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งมีที่มานั้นน่าสนใจยิ่งว่ามาจากการประกาศ“ คำสาบานของเยาวชน” ประธานของสโมสรนักเรียนอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 1928
onanong
“Indonesia Mengajar” เป็นโครงการที่ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็น่าจะประมาณ “ครูอาสาอินโดนีเซีย” ซึ่งความสำเร็จของมันอาจหมายถึงการทำให้คนอินโดนีเซียหวนคิดถึงยุคสมัยแห่งการสร้างชาติ, คิดถึงชาติที่ unity แต่ในมุมกลับก็มีคำถามบางอย่างเช่นกัน
onanong
ต่อค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน ดิฉันต้องขอชี้แจง (อีกครั้ง-เผื่อท่านที่เพิ่งจะเข้ามาอ่าน) ว่า คำต่างๆ ที่ดิฉันค้นคว้ามานี้ มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บาง
onanong
นานมาแล้วมีลูกศิษย์ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ขอให้ช่วยสอนคำทักทายภาษาอินโดง่ายๆ เพราะที่นั่นเขามีเพื่อนชาวอินโดอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วเขาอยากจะทักทายเพื่อนๆ เป็นภาษาอินโดบ้าง ดิฉันก็เลยจัดให้ และยังเก็บไฟล์ไว้ เลยคิดว่าเผื่อจะมีท่านที่สนใจอยากทราบบ้างค่ะ
onanong
มาแล้วค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บางคำเราก็รับมาโดยตรงผ่านวรรณกรรม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมบ้าง แต่บางคำก็รับผ่านภาษาบาลี สันสกฤต ทั้งเราและเขา บางคำก็ออกเสียงคล้ายกัน และแปลเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมายค่ะ
onanong
วันนี้ขอสลับพูดถึงคำขวัญของประเทศอินโดนีเซียนะคะ สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการติดตามคำภาษามลายู อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายคำภาษาไทยในพจนานุกรมฉบับมติชนไม่ต้องกังวลนะคะ จะทยอยนำเสนอต่อไปค่ะ และก็ท่านที่คิดว่า...โอ้ย...จะรออ่านจนครบ ฮ เมื่อไหร่เนี่ย ... มันไม่ได้ยาวขนาดนั้นค่ะ คิดว่าซักห้าหกครั้งก็จบพอดีค่ะ