Skip to main content

สุกัญญา เบาเนิด


งานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในฐานะกรรมการจัดงาน แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัส ถือเป็นงานใหญ่ที่คนมอญได้แสดงออกซึ่งขนบธรรมประเพณีอันดีงาม มิเสียชื่อที่เป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดธรรมเนียมมอญโบราณ และเป็นการถวายพระกุศลแด่พระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงจัดให้มีพิธีสำคัญ ได้แก่ พิธีเทาะอะโย่งกย้าจก์ หรือพิธีสมโภชพระพุทธรูป พิธีรำสามถาด พิธีมอญร้องไห้ และมอญรำ พิธีการและพิธีกรรมได้ดำเนินไปตลอดทั้งวัน


ในงานสิ่งที่สะดุดตาเห็นจะเป็นอื่นไปไม่ได้นั่นคือการแต่งกายของผู้ที่มาร่วมงานนับพันคน ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะแต่งขาวดำเป็นหลัก และส่วนน้อยจะเป็น “ชุดประจำชาติ” (โสร่ง/ผ้าถุงแดงเสื้อขาว) ของพี่น้องชาวมอญเมืองมอญซึ่งก็โดดเด่นไม่แพ้กัน แต่น่าเสียดายว่าชุดการแต่งกายแบบนี้จะเคยถูกดูหมิ่นและรังเกียจว่าเป็นการแต่งกายของแรงงานต่างด้าว เช่นที่มหาชัยก็เคยถูกห้ามสวมใส่มาแล้ว แต่อย่างน้อยในงานนี้อาจทำคนในสังคมไทยได้เข้าใจ และมองเห็นความเป็นมอญได้อย่างเต็มตาเต็มใจมากยิ่งขึ้น


การแต่งกายของชาวมอญนั้นมีหลากหลาย ซึ่งความแตกต่างเกิดจากต่างพื้นที่ต่างชุมชนซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ทั้งสีสันและลวดลาย ได้สะท้อนวิธีคิดและโลกทัศน์ของคนมอญ อย่างเช่นสมัยก่อนเมื่อไปงานศพการแต่งสีเป็นเรื่องปกติ เพราะถือว่าคนตายนั้นไปสบายจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี มากกว่าเป็นเรื่องเศร้าโศกจึงสะท้อนมาที่การใช้เสื้อผ้าที่มีสีสัน แต่ปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมเนียมนิยมที่เน้นการแต่งขาวดำเพื่อไว้ทุกข์ คนมอญก็รับธรรมเนียมนิยมนี้มาเช่นกัน ยิ่งเป็นงานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชที่จัดในพระบรมมหาราชวังด้วยแล้ว การแต่งสีก็อาจจะดูขัดเขินสำหรับคนมอญ ถึงแม้ว่าทางสำนักพระราชวังจะอนุญาตให้แต่งกายตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธุ์ตนก็ตาม


ในขั้นเตรียมงานนอกจากรายละเอียดของพิธีการ การแต่งกายก็เป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงด้วย ท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ให้ “แต่งกายตามประเพณีไม่จำกัดสี” แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ สีที่ถูกเลือกใช้ก็ยังคงแต่งขาวดำเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นเช่นนี้ แล้วอะไรที่พอจะบอกถึงเอกลักษณ์ของมอญได้อย่างชัดเด่นชัด ดังนั้นหากการแต่งกายตามประเพณีนั้นน่าจะหมายถึงผู้ชายนุ่งโสร่ง เสื้อผ่าหน้ากระดุมเชือก หรือ ผู้หญิง เกล้าผมมวย นุ่งผ้าถุง เสื้อแขนกระบอกคอกลมและห่มสไบ หากเปรียบกันแล้ว ก็ดูเหมือนว่าฝ่ายหญิงจะยังคงเอกลักษณ์เอาได้มาก ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางอย่างอย่างจะขาดหายไปบ้าง เช่น การเกล้ามวยแบบมอญ ซึ่งทุกวันนี้ก็หากดูได้ยากขึ้นทุกที แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การห่มสไบของบรรดาสาวมอญทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ เนื่องจากการใช้สไบสำหรับออกงานสำคัญ และถือเป็นการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย



สไบมอญแบบผู้หญิงมอญหงสาวดี (เมืองมอญ ประเทศพม่า)


สไบมอญที่พลิ้วไหวในพระบรมมหาราชวัง จึงละลานตาด้วยลวดลายสีสันงดงามแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะสไบมอญที่เรียกว่า “หญาดฮะเหริ่มโตะ” หรือ “หญาดหมินโตะ” ของชาวมอญสมุทรสาคร หรือ ชุมชนที่อพยพไปจากสมุทรสาคร เช่น บางกระดี่ คลองสิบสี่ บางเลน ลาดกระบัง ไทรน้อย ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นงานฝีมือที่ขอบสไบปักเป็นลายดอกพิกุล ส่วนกลางผืนปักเป็นลายดอกมะเขือ (ดอกไม้ ๕ กลีบ) สอดสลับสีตัดกับพื้นของสไบอย่างงดงาม ซึ่งมีสีที่นิยม เช่น สีบานเย็น สีตอง (เขียวอ่อน) สีจำปา (ส้ม) สีเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้บางชุมชนก็นิยมห่มสไบสีพื้น หรือ ผ้าลูกไม้ อีกด้วย


 

 

สไบมอญแบบมอญเมืองไทยส่วนใหญ่ที่มาร่วมงาน


เนื่องด้วยเป็นงานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สไบมอญที่ถูกนำมาใช้จึงเป็นสีขาวและดำเป็นหลัก แต่ก็ปักลวดลายหลากสี ส่วนสไบสีก็มีให้เห็นไม่น้อย ทำให้การแต่งกายของผู้หญิงมอญที่มาในงานงดงามแปลกตา เป็นการผสมผสานการแต่งกายขาวดำตามธรรมเนียมนิยม กับการแต่งสีตามธรรมเนียมมอญ



สไบมอญแบบดั้งเดิมที่ผสมผสานแนวคิด รูปแบบ สีสัน ปัจจุบันและอดีตเข้าด้วยกัน


มีคนเคยกล่าวว่า “คนมอญเก่าๆ นั้น เวลาจะออกจากบ้าน โดยเฉพาะยามที่ต้องเข้าวัดเข้าวา แทบจะเรียกได้ว่าสไบมอญ นั้นเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่จะขาดเสียมิได้เลย” ทำให้นึกถึงแม่ของผู้เขียน ในยามที่รีบร้อนคว้าสไบไม่ทัน ผ้าขนหนูเก่าๆ แม่ก็เคยนำมาใช้แทนผ้าสไบมาแล้วเพื่อให้ทันพระที่มารอบิณฑบาตรอยู่ที่หน้าบ้าน ผ้าสไบกับผู้หญิงมอญช่างเป็นของคู่กันแท้ๆ


ผู้เขียนเองก็ต้องขอสารภาพว่าต้องอดหลับอดนอนหลายวันหลายคืนก่อนวันงาน เพราะต้องเร่งปักสไบด้วยการเลียนแบบสไบของแม่ เพราะในสายตาของผู้เขียนแล้ว ผ้าสไบของแม่นั้นสวยที่สุด เป็นผ้าสไบพื้นสีดำปักลวดลายสอดสลับกันทั้งหมด ๗ สี เป็นความตั้งใจเพื่อใช้แทนความหมาย “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน และน้อมส่งดวงพระวิญญาณสู่สรรคาลัยในครั้งนี้


เอกสารอ้างอิง

องค์ บรรจุน สไบมอญ (หญาดฮะเหริ่มโตะ) www.monstudies.com (วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๐.๒๐ น.)


บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…