Skip to main content

นึกย้อนไปถึงวันที่ได้เข้ามหาวิทยาลัยวันแรกๆ ชุดยูนิฟอร์มถูกระเบียบกับตำราเรียนเล่มใหญ่ๆ หอพักในมหาวิทยาลัยที่ทำให้พานพบกับผู้คนมากหน้าหลายตา ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ต่างไปจากตอนเรียนในโรงเรียนมัธยม คือความรู้สึกว่า ที่นี่ ฉันจะมีเสรีภาพมากขึ้น มีชีวิตที่หลากหลายกว่าเก่า และพื้นที่ทางความคิดที่จะปลดปล่อยฉันจากกรงขังอันแปลกแยกของโลกใบเดิมได้

แต่แล้วก็ได้พบว่า สิ่งที่คาดหวังเอาไว้มันเป็นความจริงเพียงแค่บางส่วน นอกนั้นเป็นมายาภาพที่ฉันนึกฝันเอาเอง

ใช่ๆ ฉันเคยถูกเสี้ยมสอนเช่นเดียวกับอีกหลายๆ คนว่าผู้ใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ สิ่งที่พวกเขามอบให้เราต้องเป็นสิ่งที่ดีแน่ๆ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ในเมื่อผู้คนล้วนผ่านประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ของใครบางคนอาจจะช่วยสอนสิ่งที่ดีกับเราได้ แต่กับบางคนอาจจะไม่ สิ่งที่เลวร้ายสำหรับฉันคือการยัดเยียดสิ่งต่างๆ ให้พวกเราโดยอ้างความเป็น ‘ผู้ใหญ่มีประสบการณ์' โดยที่ไม่เคยถามเราเลยว่า เราคิดอย่างไร

"Don't do this and don't do that
What are they tryin' to do ?
Make a good boy of you,
Do they know where it's at?
Don't criticise they're ols and wise
Do as they tell you to,
Don't want the devil to,
Come and pull out your eyes."

"อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้
พวกเขาพยายามจะทำอะไรกันแน่
ปั้นให้เธอกลายเป็นเด็กดี
พวกเขารู้หรือไม่ว่ามันอยู่หนใด
อย่าได้วิจารณ์ เพราะพวกนั้นแก่และมีประสบการณ์
ทำตามที่พวกเขาสั่งซะเถอะ
เธอคงไม่อยากให้ปีศาจ
มาควักลูกตาเธอ"

- School

วง Art rock ยุค 70's ที่ชื่อ Supertramp เคยเขียนเพลงเกี่ยวกับระบบการศึกษาไว้สองเพลงคือ School กับ The Logical Song เพลง School นั้นพูดถึงการถูกสอนให้เชื่อฟัง ‘ผู้ใหญ่' เพื่อที่จะเติบโตไปเป็นแบบเดียว พิมพ์เดียวกับพวกเขา ผลิตซ้ำมนุษย์รูปแบบเดิม ๆ ไม่ให้สังคมหันหน้าไปสู่ทิศทางอื่น นอกจากทิศทางที่ถูกครอบงำมาแล้วเท่านั้น

SuperTramp

ฉันได้เจออะไรพวกนี้บ้างในห้องเรียน ฉันยอมรับว่าผู้ใหญ่บางคนก็ใจกว้างพอจะเปิดรับอะไร ๆ ที่ไม่ตรงกับทัศนะของเขา แต่ ‘ผู้ใหญ่' อีกกลุ่มหนึ่งที่ทำให้ฉันระอามาตั้งแต่เริ่มมหาวิทยาลัยมาจนบัดนี้ อย่าให้ฉันได้บอกเลย พวกเขาคือ ‘ผู้ใหญ่' ตัวจริงที่มีอำนาจควบคุมมหาวิทยาลัย (และเผลอ ๆ จะรู้วิธีสืบทอดอำนาจเสียด้วย)

คนพวกนี้คิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นแค่ของพวกเขาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ใช่ ๆ พวกเขาทำทีเป็นเรียกตัวแทนนักศึกษา (2-3 คนหรืออาจจะมากกว่านี้อีกไม่เกินหลักหน่วย) ไปหาข้อตกลงเวลาจะทำอะไร แต่จริง ๆ แล้วพวกเขามีพรรคนักศึกษาบางพรรคไว้ในอุ้งมือ นักศึกษาบางคนแม้จะไม่เห็นด้วยกับพวกเขาขนาดไหนก็ไม่มีสิทธิมีเสียงจะคัดค้านอะไรมาก เหมือนแค่ไปรับฟังอะไร ๆ แล้วยอมรับมันเท่านั้น

นี่คือสิ่งที่ฉันเรียนรู้มาสำหรับความตอหลดตอแหลของ ‘ผู้ใหญ่' บางกลุ่ม แล้วพวกเขาก็รักษาความตอหลดตอแหลนี้มาจนถึงบัดนี้ ในช่วงเวลาที่ฉันได้แต่คอยมองน้อง ๆ ต่อสู้กับอะไรแบบเดียวกัน ฉันเองก็จนปัญญา บางครั้งฉันเห็นน้องพวกนี้เสียกำลังใจ พวกเขาแปลกแยก อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีใครเข้าใจ เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเป็นของตัวเองแต่กลับเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ไอ่คำว่า ‘หัวรุนแรง' นี้เองเป็นคำที่พวกบ้าอำนาจใช้อ้างความชอบธรรมในการข่มเหงคนที่คิดต่างมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ขณะที่คนที่เชื่อง ยอมเชื่อฟังและคล้อยตาม จะได้ชื่อว่าเป็น ‘คนน่านับถือ'


"Now watch what you say or they'll be calling you
a radical, liberal, fanatical, criminal.

Won't you sign up your name, we'd like to feel you're
acceptable, respectable, presentable, a vegetable"

"ระวังหากเธอจะเอ่ยสิ่งใด ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะเรียกเธอว่า
พวกหัวรุนแรง, เอาแต่ใจ, บ้าคลั่ง, อาชญากร

เธอจะไม่เลือกมาสักชื่อหนึ่งหรือ แต่พวกเราน่ะ อยากให้เธอ
เป็นที่ยอมรับ, น่านับถือ, ไม่อายใคร และเหมือนเป็นเพียงผักปลา"

- Logical Song

และเรื่องที่เป็นประเด็นมายาวนานจนมาบูมอีกครั้งไม่นานมานี้คือเรื่องที่มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบ ซึ่งพวกผู้ใหญ่ได้ทำสิ่งที่น่าสงสัยมากคือการพยายามผลักดันให้ร่างกฏหมายฉบับที่จะทำให้เกิดการแปรรูปมหาวิทยาลัยให้ผ่านร่างทั้งสามวาระก่อนจะถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาฯ ผู้ใหญ่บางคนอ้างว่าเขาพยายามดันเรื่องนี้ 10 ปีมาแล้ว

แต่ไม่ว่าจะ 10 ปีหรือ 10 นาที การลักลอบกระทำกันในแต่พวกเบื้องบน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้สำหรับสังคมประชาธิปไตย และที่น่าสงสัยไปกว่านั้นคือการที่ผู้ใหญ่บางคนมีที่นั่งอยู่ในสภานิติบัญญัติฯ ซึ่งหมายความว่า เขาจะทำการร่างเอง ให้ผ่านเอง ชงเอง กินเอง เสร็จสรรพ ซึ่งไม่ว่าเขาจะอ้างความชอบธรรมมาจากการแต่งตั้งยังไงก็ตาม แบบนี้พอได้รู้แล้วมันชวนให้คลื่นเหียนไหม

สิ่งที่พวกเขาอ้างกันมาตลอดก็คือเรื่องของคุณภาพอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นคำลอยๆ จับต้องไม่ได้ ไม่มีอะไรมารับประกัน เรื่องค่าเล่าเรียนก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้มีข้อบังคับใดๆ ที่จะรับประกันว่าค่าเล่าเรียนจะไม่ขึ้นเกินเท่านี้ๆ ในกฏหมายที่พวกเขาร่างเลย และพอฉันถามเขาถึงเรื่องหลักประกัน เขาก็ไล่ให้ฉันไปทำประกันชีวิตเสียอีก บ้าหรือเปล่า! ผู้ใหญ่ที่ตอบคำถามอย่างเด็กอมมือเยี่ยงนี้มีความน่านับถืออยู่หรือไม่

นอกจากเรื่องค่าเล่าเรียนที่พูดกันปาวๆ ไม่รู้จบแล้ว สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าแต่น้อยคนจะได้รับรู้เพราะเป็น agenda แอบซ่อนของเหล่าผู้บริหารคือ การที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จตรวจสอบไม่ได้ เอาแค่อยู่ในระบบมันก็แอบซุกแอบซ่อน ทำนั่นทำนี่กันโดยไม่เคยถามนักศึกษา (มีแต่ถามตัวแทนนักศึกษาบางพรรคที่เป็นขี้ข้ามัน) พอมีปัญหาขึ้นมาก็จะออกมาตอบวกวนแบบขอไปที แทบจะนึกไม่ออกเลยว่า พอออกนอกระบบไปแล้ว สภาพมหาวิทยาลัยที่กลายเป็นเหมือนรัฐเผด็จการคณาธิปไตยขนาดย่อมจะน่ากลัวแค่ไหน

หรือจริงๆ แล้วพวกผู้บริหารมันไม่เคยเห็นนักศึกษาเป็นคน พวกนี้อาจจะเห็นนักศึกษาเป็นชิ้นส่วนการผลิตบางอย่างที่ไม่ควรจะมีสิทธิมีเสียง พร้อมที่จะประกอบแปรรูปชิ้นส่วนเหล่านี้ให้เข้าไปสู่ระบบที่ใหญ่กว่า (เผลอๆ จะไม่มีอะไรรับประกันพวกเขาด้วยว่า พวกเขาจะสามารถยอมเข้าไปเป็นชิ้นส่วนเหล่านั้นเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองได้จริงๆ) โดยไม่ได้เห็นเลยว่านักศึกษามีเจตจำนงค์อิสระ มีมิติชีวิตในด้านอื่นๆ นอกจากการศึกษาตามตำรา มีความหลากหลายทางความเชื่อ ทัศนคติและวิถีชีวิต

Another Brick in the wall Part 2

สภาพแบบนี้ทำให้ฉันนึกถึงมิวสิควีดิโอ Another brick in the wall ที่ตัดมาจากภาพยนตร์ "Pink Floyd - The Wall" (เป็นเพลง The happiest day of our life กับ Another Brick in the Wall (Part 2) ต่อกัน) มิวสิควีดิโอฉายภาพระบบการศึกษาแบบเปรียบเปรยว่า นักเรียนเป็นเสมือนชิ้นส่วนการผลิตที่ค่อย ๆ ถูกลำเลียงลงไปสู่เบ้าหลอมเดิม ๆ ครูอาจารย์ (อยากรวมผู้บริหารไปด้วย) กลายเป็นผู้มีอำนาจ ผู้คุมปัจจัยในการผลิตมนุษย์ เพลงที่ติดหูที่สุดในอัลบั้ม The Wall เพลงนี้ ก็มีเนื้อเพลงประท้วงระบบการศึกษาที่ไร้เสรีภาพอย่างชัดเจน อำนาจในการควบคุมระบบการศึกษากลายเป็นอิฐอีกก้อนบนกำแพง

"We don't need no education
We dont need no thought control
No dark sarcasm in the classroom
Teachers leave them kids alone
Hey! Teachers! Leave them kids alone!
All in all it's just another brick in the wall.
All in all you're just another brick in the wall."

"พวกเราไม่ต้องการให้การศึกษามาบีบเค้นเรา
พวกเราไม่ต้องการการครอบงำทางความคิด
ไม่อยากให้มีคำเย้ยหยันหม่นมืดในห้องเรียน
ผู้บริหารทั้งหลาย อย่าได้มาจุ้นจ้าน!
เฮ้ย! ได้ยินไหม! บอกว่าอย่าจุ้นจ้าน!
ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว มันก็แค่อิฐอีกก้อนบนกำแพง
ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว พวกคุณก็แค่อิฐอีกก้อนบนกำแพง"

- Another Brick in the Wall (Part 2)

คิดต่อไปอีกว่า หลังจากที่พวกท่านทั้งหลายได้อำนาจเบ็ดเสร็จตรวจสอบไม่ได้ แทรกแซงไม่ได้ ไปแล้วนั้น หลักสูตรการศึกษาจะเป็นเช่นไร คงจะกลายเป็นเพียงเครื่องมือที่เขาใช้ประกอบชิ้นส่วนพวกเรา ละเลยความเป็นมนุษย์ ความหลากหลาย มิติชีวิตด้านอื่นๆ ของพวกเรา ตัวเรียนในสายสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา คงจะกลายเป็นส่วนเกินสำหรับพวกผู้ใหญ่ใจแคบเหล่านี้ ไม่พักต้องพูดถึงกิจกรรมที่มีแต่การสนับสนุนกิจกรรมสร้างภาพให้มหาวิทยาลัยและตัวพวกผู้บริหารเองเท่านั้น องค์กรนักศึกษาก็เหมือนเพียงทำงานตามใบสั่ง ไม่อาจให้ความเป็นธรรมแก่นักกิจกรรม หรือแม้กระทั่งนักศึกษาทั่วไปได้

ไม่พักต้องพูดถึงการตัดขาดจากสังคมภายนอก จริงอยู่ที่ภาพของนักศึกษาในปัจจุบันนี้ก็เหมือนเป็นอภิสิทธิชนผู้ตัดขาดตัวเองจากปัญหาของสังคม แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น นักศึกษาที่ยังไม่ตัดขาดตัวเองออกจากสังคมโดยสิ้นเชิงก็ยังมีอยู่ แต่พวกเขาจะหลงเหลือพื้นที่ให้ได้ออกมาเรียกร้องอะไรเพื่อสังคมที่เขาอาศัยอยู่อีกหรือไม่ ในเมื่อขนาดเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของพวกเขาเอง ไอ่พวกผู้บริหารใจแคบก็รับฟังไปเพียงผ่านๆ หู

การพัฒนาเป็นสิ่งที่ดี แต่การพัฒนาไปด้วยการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จจำนวนไม่กี่คนนั้น มันไม่คับแคบไปหน่อยหรือ พวกท่านจะรับประกันได้อย่างไรว่าจะไม่ละเลยความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ละเลยมิติชีวิตด้านอื่นๆ ไม่ละเลยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ละเลยผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา ฯลฯ

ถ้าหากพวกท่านยังคงอยากเดินดุ่มต่อไป ผมก็จะเลิกพูดกับคนหูทวนลมเช่นพวกท่าน แล้วหันมาให้กำลังใจน้องๆ ทั้งหลายว่า

"ไปเถิด ไปยืดอำนาจจากพวกผู้ใหญ่ใจแคบเหล่านี้แย่งชิงไป กลับมาคืนให้กับพวกเราทุกคน!"

"The present curriculum
I put my fist in ‘em
Eurocentric every last one of ‘em
See right through the red, white and blue disguise
With lecture I puncture the structure of lies
Installed in our minds and attempting
To hold us back
We've got to take it back
Holes in our spirit causin' tears and fears
One-sided stories for years and years and years
I'm inferior? Who's inferior?
Yeah, we need to check the interior
Of the system that cares about only one culture
And that is why
We gotta take the power back"

"หลักสูตรในทุกวันนี้
ฉันสอยหมัดใส่พวกมัน
พวกมันเผยความรู้แบบรวมศูนย์ทั้งนั้น
มองผ่านเส้นสีลวงๆ ของพวกมันได้เลย
ด้วยการเรียนรู้ฉันทิ่มแทงโครงสร้างแห่งความโป้ปด
ที่ติดตั้งเข้าไปในความคิดพวกเรา แล้วก็คอย
ดึงพวกเรากลับหลัง
พวกเราจะต้องนำมันกลับคืนมา
รูโหว่ในจิตวิญญาณของพวกเรานำมาซึ่งน้ำตาและความกลัว
รับรู้เรื่องราวจากความข้างเดียว มาเป็นปี หลายปี หลายๆ ปี
ฉันคือชนที่ด้อยกว่าหรือ? ใครกันที่ด้อยกว่าใคร?
ใช้เราต้องคอยดูเรื่องความด้อยกว่า
ของระบบที่สนใจแค่วัฒนธรรมหนึ่งเดียวเท่านั้น
และนั้นคือสาเหตุว่าทำไม
เราถึงต้องยืดอำนาจกลับคืนมา"

- Take the Power Back

Take the Power back

Take the Power Back เป็นหนึ่งในเพลงประท้วงระบบการศึกษา มาจากวง Rage against the Machine วงที่นำเอา Rap Rock มาผสมกับดนตรี Alternative Metal เนื้อเพลงนี้พูดถึงการครอบงำเนื้อหาในระบบการศึกษา ที่สร้างวาทกรรมครอบงำจากฝ่ายผู้มีอำนาจ ไม่สนใจวัฒนธรรมหรือแนวคิดอื่นที่แตกต่าง ฝังหัวให้ผู้คนเชื่อในอะไรบางอย่าง ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อการสืบทอดอำนาจของพวกเขาเอง

หมายเหตุ (1) : เขียนจากประสบการณ์ร่วมเกี่ยวกับสถานการณ์ ม.นอกระบบ ในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ (ไม่รู้เล้ยยย) ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

หมายเหตุ (2) : การแปลเนื้อเพลงในครั้งนี้จงใจดัดแปลงให้เข้ากับเหตุการณ์ ยุคสมัย และบริบททางสังคม

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…