มาตรฐานการศึกษาของไทยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต เนื่องจากผลของการวัดคุณภาพการศึกษาในระดับชาติ และระดับนานาชาติ อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาโดยตลอด ส่วนในกลุ่มประเทศสมาคมอาเซี่ยน มีเพียงประเทศอินโนนีเซียเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ที่มีผลการวัดระดับการศึกษาระดับชาติต่ำกว่าผลการศึกษาของประเทศไทย
สาเหตุประการแรกที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ น่าจะเกิดจากการอบรมเลี้ยงดูเด็กของคนไทยหลายประการที่ไม่ถูกต้อง และส่งผลให้เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง ขาดความรับผิดชอบ ตลอดทั้งไม่มีระเบียบวินัยในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในวัยทารก ผู้ใหญ่มักจะอุ้มเด็กเสมอเมื่อเด็กร้องไห้ โดยไม่คำนึงว่าเด็กเพียงต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่เท่านั้น ทุกครั้งที่เด็กร้องไห้แล้วผู้ใหญ่อุ้มอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กเรียนรู้การเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่โดยการส่งเสียงร้อง ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาความสนใจไปยังสิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยตนเอง เพราะเคยชินกับการมุ่งเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่เป็นหลัก
ด้านการทำกิจวัตรส่วนตัวต่าง ๆ นั้น ผู้ใหญ่ส่วนมากจะไม่ปลูกฝังให้เด็กเริ่มหัดทำกิจวัตรส่วนตัวด้วยตนเองตั้งแต่ยังเล็ก เช่น การอาบน้ำ สระผม การใส่เสื้อผ้า รองเท้า ตลอดทั้งการรับประทานอาหาร เนื่องจากคิดว่าเด็กยังเล็ก จึงทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้กับเด็ก จนเด็กเกิดความเคยชินกับการไม่ช่วยเหลือตนเอง สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ยังทำให้ขาดทักษะในการพัฒนาความมั่นใจในตนเองโดยการฝึกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองให้ได้ดีไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งแตกต่างจากเด็กชาวตะวันตกที่ผู้ใหญ่จะฝึกให้สนใจสิ่งรอบตัว ฝึกให้ทำกิจวัตรส่วนตัวทุกอย่างให้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงเป็นการสร้างความมั่นใจในตนเองให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี เพราะการทำกิจวัตรส่วนตัวได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่ทำได้ จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง นอกจากนี้เด็กยังมีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยตนเองอยู่เสมอ ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี มีความมั่นใจในตนเอง และสามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ถูกต้องของคนไทย ยังนำไปสู่การทำให้เด็กกลายเป็นคนที่ไม่เติบโต รับผิดชอบตนเองไม่ได้ ต่อเรื่องส่วนตัวและต่อการเรียนระดับต่าง ๆ จนนำไปสู่ ”กระบวนการที่ทำให้นักศึกษากลายเป็นเด็ก” ในการเรียนระดับอุดมศึกษาได้อีกด้วย เนื่องจากการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กไม่เคยชินกับการดูแลช่วยเหลือตนเอง การไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งใด นำไปสู่การไม่อยากคิด ไม่อยากรับผิดชอบในวัยที่สูงขึ้นได้อย่างง่ายดายนั่นเอง
สาเหตุประการที่สอง เกิดจากการเร่งรัดให้เด็กเข้าสู่ระบบการเรียนในวัยที่ยังน้อยเกินไป โดยให้เด็กเล็กเริ่มเรียนการเขียนอ่านตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 3-6 ขวบ ทำให้เด็กเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งที่ช่วยเสริมสร้างจินตนาการจากการเล่นที่เหมาะสมกับวัย และกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระตุ้นพัฒนาการและจินตนาการ การพัฒนาบุคลิคภาพ ตลอดทั้งความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ เช่น การเล่นของเล่นที่มีอุปกรณ์เป็นวัสดุจากธรรมชาติหลากหลาย จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้จากการสัมผัส การฟังนิทาน เรื่องเล่า ดนตรี การวาดรูป และการทำงานศิลปะต่าง ๆ ตลอดทั้งการสังเกตเรียนรู้สิ่งรอบตัวต่าง ๆ เช่น การเจริญเติบโตของต้นไม้ ดอกไม้ พืชผัก สีสันและรูปทรงที่แตกต่างของพืช สัตว์ สิ่งของฯลฯ หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีผลการศึกษานานาชาติในระดับต้นของโลก เช่น ประเทศฟินแลนด์ เยอรมัน และ ญี่ปุ่น จะพบว่าเด็กในประเทศเหล่านี้ เข้าสู่การเรียนเขียนอ่านหลังจากอายุ 6-7 ขวบแล้วเท่านั้น จึงมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว พัฒนาบุคลิคภาพ ทักษะเชิงสังคม ตลอดทั้งความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์และสติปัญญาได้อย่างเต็มที่ ก่อนจะเข้าสู่การเรียนวิชาการ เมื่อเข้าสู่การเรียนในช่วงวัยที่พร้อม จึงทำให้เกิดความสนใจต่อการเรียนรู้ และสามารถศึกษาเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
สาเหตุประการที่สาม เป็นสาเหตุที่อาจกล่าวได้ว่ามีความเกี่ยวเนื่องจากสาเหตุประการที่สอง เนื่องจากเด็กที่ถูกเร่งรัดให้เรียนวิชาการ ตั้งแต่ช่วงวัยอนุบาล นอกจากจะทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนในวัยที่มากขึ้น การท่องจำเป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้กับการเร่งรัดให้เด็กเรียนเขียนอ่านตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเป็นการสร้างความน่าเบื่อหน่ายแต่เด็กก็ต้องปฎิบัติตาม เนื่องจากต้องท่องจำเพื่อนำไปสอบแข่งขันในหลายระดับ เมื่อเด็กเติบโตและเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ความเบื่อหน่ายจากการเรียนแบบท่องจำก็จะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ไม่มีความสนใจในเนื้อหาวิชาที่เรียนอย่างแท้จริง มุ่งท่องจำสำหรับการสอบแข่งขันให้ได้เท่านั้น ทำให้การเรียนในระดับที่สูงขึ้นเป็นไปในลักษณะที่น่าเบื่อหน่ายยิ่งขึ้น ไม่มีแรงจูงใจในการเรียนรู้ด้วยความสนใจอย่างแท้จริง ไม่มีความกระตือรือร้นในการศึกษาเล่าเรียน ผลการศึกษาโดยรวมของทั้งประเทศจึงอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การเรียนในลักษณะที่เน้นให้เด็กท่องจำ เชื่อฟัง และทำตาม ไม่อาจนำไปสู่การตั้งคำถามที่จะเป็นประโยชน์ตรงตามความสนใจ ใคร่รู้ของผู้เรียน ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักอีกประการหนึ่งที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดนอกเหนือจากสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษา ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย
สาเหตุประการที่สี่ จำนวนชั่วโมงเรียนที่มากเกินไป ทำให้เพิ่มความเบื่อหน่ายเหนื่อยล้าต่อเด็ก ในประเทศที่มีผลการศึกษานานาชาติอยู่ในระดับดี เด็กปฐมวัยมีชั่วโมงเรียนต่ำกว่า 800 ชั่วโมงต่อปี เช่นประญี่ปุ่น เยอรมัน ฟินแลนด์ ฯลฯ แต่เด็กปฐมวัยในประเทศไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีสูงถึง 1,240 ชั่วโมง จำนวนชั่วโมงเรียนที่มากเกินไปนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย และเหนื่อยล้าต่อการเรียน จนนำไปสู่ความไม่สนใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน เพราะนอกจากจะต้องเรียนมากกว่าวันละ 7 วิชาแล้ว เวลาในการเรียนแต่ละวิชาก็น้อยเกินไป ความเข้าใจในวิชาแรกที่เรียนในเวลาอันสั้น อาจจะยังไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ไม่มีเวลาที่จะได้ทบทวนหรือทำแบบฝึกหัดเพื่อให้เข้าใจดีขึ้น เพราะเด็กต้องเรียนวิชาที่มีเนื้อหาแตกต่างจากเดิมอีกหลายวิชาทุกวันนั่นเอง
สาเหตุประการที่ห้า เป็นเรื่องที่ปฎิเสฐไม่ได้ว่า ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตและการศึกษาของเด็กมากเกินไป ทั้งจากระบบการศึกษา และจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง การเข้าถึงเทคโนโลยีตั้งแต่อายุยังน้อยของเด็กน่าจะส่งผลเสียมากว่าผลดี เนื่องจากทำให้เด็กมุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยี เพื่อความบันเทิงมากกว่าการศึกษาหาความรู้ ทางผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถจำกัดเวลาการใช้เทคโนโลยีของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ดีได้
แลรี่ คิวแบน ศาสตราจารย์ด้านศึกษาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดกล่าวในปี 2001 ว่า “ ในทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีความก้าวหน้าทางการศึกษาใด ๆ ที่สามารถอ้างได้อย่างมั่นใจว่า เป็นผลมาจากการที่มีการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้นเลย การศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยมิวนิคทำกับนักศึกษา 174,000 คนใน 31 ประเทศ ระบุว่านักศึกษาที่ใช้คอมพิวเตอร์บ่อย มีผลการเรียนต่ำกว่านักศึกษาที่ใช้คอมพิวเตอร์น้อย หรือไม่ใช้เลย “
ถึงแม้จะผ่านมากว่า 14 ปีแล้ว แต่ความจริงนี้น่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะผลการวัดระดับการศึกษานานาชาติของทั้งนักศึกษาอเมริกันและแคนาดา อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีนัก และในประเทศไทยที่มีการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษามากว่า 2 ทศวรรษ ก็พบว่าผลการวัดการศึกษานานาชาติของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทุกวิชา การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอน โดยเฉพาะกับเด็กปฐมวัย จึงเป็นเรื่องที่น่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
" แม้แต่ แอนดริว ลินเนอร์ ผู้จัดการกลุ่มคอมพิวเตอร์ใหญ่แห่งหนึ่งของอเมริกา ก็เห็นพ้องกับผู้เชี่ยวชาญจาก MIT มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกว่า วิธีที่ดีที่สุดในการเตรียมตัวนักเรียนสำหรับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือ เตรียมให้น้อยที่สุด เนื่องจากนักเขียนโปรแกรมที่เก่งที่สุดของบริษัทเป็นพวกที่เรียนวิชาเอกทางด้านทฤษฎีดนตรีหรือวรรณกรรม "
ผลเสียจากการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน น่าจะเป็นเพราะโปรแกรมที่เด็กต้องเรียนรู้เพื่อการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นโปรแกรมที่ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัว ไม่มีความยึดหยุ่น เด็กต้องปฎิบัติตามจึงจะสามารถเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ทำให้เด็กเคยชินกับการปฎิบัติตามคำสั่งที่เป็นระบบแบบแผนตายตัว ซึ่งนำไปสู่การปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์
จากการศึกษาวิจัยของสถาบันเอ็มไอที สถาบันอุดมศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาอันดับหนึ่งของโลกพบว่า ไม่มีความจำเป็นใด ที่จะให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีก่อนอายุ 15 ปี แต่ทั้งสถานศึกษาและผู้ปกครองอาจจะไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ และอาจมีความเข้าใจผิดคิดว่า สื่ออิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีต่าง ๆ จะทำให้เด็กรู้เท่าทันโลกและมีความทันสมัย จากการรู้จักวิธีการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อย จนหลงลืมไปว่าเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ถูกออบแบบให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานเป็นอย่างยิ่ง เพราะการออกแบบที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อนจะส่งผลให้ยอดขายต่ำ เด็กจึงไม่มีความจำเป็นต้องเสียเวลาในการศึกษาเรียนรู้การใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิคส์เหล่านี้มากนัก ก็จะสามารถใช้ได้อย่างง่ายดาย
สิ่งที่แอบแฝงมากับการให้เด็กเล็กมีโอกาสใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากจะทำให้เด็กติดการเล่นการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปแล้ว ยังทำให้มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและอารมณ์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถพูดตอบโต้สื่อสารได้หลังอายุ 4 ขวบ เพราะใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป เนื่องจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสื่อด้านเดียวที่ไม่สามารถโต้ตอบสื่อสารกับเด็กได้ นอกจากนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ยังทำให้เด็กและผู้ปกครองใช้เวลาในการทำกิจกรรมในครอบครัวร่วมกันน้อยลงไปด้วย ทำให้ช่องทางการสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ถูกตัดขาด โดยมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดเป็นเครื่องมือ
สาเหตุประการสุดท้าย เป็นเรื่องที่คนส่วนมากอาจจะไม่เคยคาดคิดว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อผลการศึกษาที่ตกต่ำของชาติ นั่นคือการไม่ใช้ภาษาถิ่น หรือภาษาแม่ในการเรียนการสอนในโรงเรียนส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ แต่กลับใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการเรียนการสอน การยึดภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วประเทศ น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้พ่อแม่ในภูมิภาคจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่พูดภาษาถิ่นกับเด็ก ทำให้เด็กขาดโอกาสในการสะสมคลังความรู้ด้านภาษา และการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยภาษาท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาษาแม่ไปอย่างน่าเสียดาย สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลลบต่อผลการศึกษาในระดับนานาชาติของเด็กไทยโดยรวมในที่สุด
ดร. สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์ ศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า ภาษาแม่คือภาษาที่สำคัญของมนุษย์ เพราะภาษาแม่คือภาษาของความรู้สึกนึกคิด หลักสูตรการเรียนสำหรับเด็กระดับก่อนวัยเรียนหรือนุบาล และระดับประถมศึกษา ควรใช้ภาษาแม่เป็นสื่อ เมื่อเด็กเข้าสู่การเรียนในระดับที่สูงขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นการใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการเรียนการสอน ความไม่รู้ภาษาท้องถิ่น หรือความไม่สามารถสื่อสารภาษาท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาแม่ของเด็ก นำไปสู่ความไม่แตกฉานภาษาไทย และส่งผลไปสู่ความไม่แตกฉานในการอ่าน การอ่านการใช้ภาษาไทยที่ไม่แตกฉานนี้ นำไปสู่ความตกต่ำในการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในที่สุด เนื่องจากเนื้อหาวิชาหรือบทบทอ่านต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ส่วนกลางเป็นผู้กำหนด ซึ่งห่างไกลจากเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประสบการณ์จากท้องถิ่นของเด็กเป็นอย่างยิ่ง และหากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งใกล้ตัวในท้องถิ่นของเด็ก เด็กก็จะขาดความเข้าใจอันถ่องแท้ อันเนื่องมาจากการไม่รู้จักสิ่งรอบตัวเหล่านั้นในภาษาถิ่นของตนเอง นอกจากนี้ การอ่านการใช้ภาษาไทยไม่แตกฉาน ยังนำไปสู่การขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาด้านต่าง ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ การไม่สามารถพูดและสื่อสารภาษาท้องถิ่นของตนเอง ยังทำให้เด็กเกิดความรู้สึกแปลกแยกทั้งต่อครอบครัวที่พูดภาษาท้องถิ่นระหว่างกัน และต่อสังคมรอบตัวที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังสือสารด้วยภาษาท้องถิ่น จนนำไปสู่ความไม่มั่นใจในตนเอง เพราะเด็กยังเป็นสมาชิกของสังคมท้องถิ่นนั้น ๆ อยู่ การไม่สามารถสื่อสารภาษาของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ น่าจะนำไปสู่ความไม่ภาคภูมิใจในตนเอง จนนำไปสู่การถูกผลักให้กลายเป็นคนนอกในท้องถิ่นของตนเองโดยไม่รู้ตัว
หากสาเหตุเบื้องต้นทั้งหกประการนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คุณภาพการศึกษาไทยก็น่าจะยิ่งตกต่ำไปกว่าเดิม ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดทั้งผู้ปกครอง จึงไม่น่าจะมองข้ามสาเหตุเบื้องต้นเหล่านี้ โดยเร่งรัดในการหาแนวทางแก้ไขร่วมกันอย่างจริงจังต่อไป