Skip to main content

    ➤    บทนำ

รูปที่ 1 พระเยซูกับหญิงเล่นชู้ (สีน้ำมันบนผ้าใบ)

พระเยซูกับหญิงเล่นชู้ (Christ and the Woman Taken in Adultery)
ที่มา: Tiepolo, Giovanni.D. (1752). Christ and the Woman Taken in Adultery [oil on canvas]. Los Angeles County Museum of Art, Los Angeles, CA.
Retrieved from: http://collections.lacma.org/sites/default/files/remote_images/piction/ma-31771194-O3.jpg

              “เล่นชู้” (Committing adultery) ในภาษาอังกฤษ ได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนของแบร์นาร์ดแห่งแกลร์โว (St.Bernard of Clairvaux: 1090-1153) นักปราชญ์ศาสนจักรชาวฝรั่งเศสจากตระกูลขุนนาง คำว่า Adulter (Cantica canticorum Salomonis, Sermo XIII, 2) ปรากฏตัวในบริบทของการละเมิดกฎหมายว่าด้วยศีลสมรส หรือกรอบความคิดแบบผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) ภาษาละตินคำว่า อาดูลเตรีอุม (Adulterium) นอกเหนือจากเรื่องผัวๆเมียๆ แล้ว คำนี้ยังแปลว่า ความไม่สะอาด, การเจือปน (Adulteration) อีกด้วย ซึ่งหมายถึง การทำลายความบริสุทธิ์ หรือพูดให้เข้ากับคำศัพท์ คือ มีสิ่งซึ่งทำให้สภาพที่บริสุทธิ์เป็นมลทิน จึงเข้าใจได้ว่า ข้อความในหนังสือเอเสเคียลซึ่งบันทึกก่อนสมัยของพระเยซู “เล่นชู้” หมายถึงนัยยะของการทำลายความบริสุทธิ์ ดังที่เอเสเคียลบริภาษพฤติกรรมเอาใจออกห่างจากธรรมบัญญัติของพระเจ้าด้วยการเปรียบว่า “เจ้าเล่นชู้กับทุกคนที่ผ่านมา หากไม่มีใครผ่านมาเจ้าก็เล่นชู้กับรูปปั้นที่เจ้าสร้าง เจ้าเที่ยวอ้าขาเชิญชวนให้ทุกคนร่วมเพศกับเจ้า” (เอเสเคียล 16: 15, 17, 25) ตามกฎหมายของโมเสส โทษของการเล่นชู้ไม่ว่าจะเป็น การเอาใจออกห่างพระเจ้าหันไปเคารพบูชาเทพเจ้าอื่นหรือผิดประเวณี มีโทษสถานเดียวคือ "ตาย" ไม่ว่าจะฆ่าโดยยืมมือที่มองไม่เห็นของพระเจ้าฆ่า (1 พงศ์กษัตริย์ 18: 24, 40)  หรือจะฆ่าโดยใช้มือที่มองเห็นของพระเจ้าฆ่าผ่านธรรมบัญญัติ (เลวีนิติ 20:10) ร่องรอยความโหดเหี้ยมของศาสนาโบราณดูจะเบาบางลงไปในหนังสือโฮเชยา ซึ่งเป็นบันทึกก่อนสมัยของพระเยซูอีกเช่นกัน โดยโฮเชยานำเสนออย่างอ่อนโยนว่า “(พระเจ้าตรัสว่า)จงแสดงความรักต่อภรรยาของเจ้า แม้ว่านางจะเล่นชู้ ให้สมกับที่พระเจ้าของเจ้าทรงแสดงความเมตตากรุณาต่อประชากรอิสราเอลที่เอาใจออกห่างพระองค์” (โฮเชยา 3:1) ดูเหมือนว่า พระเยซูในฐานะอาจารย์สอนศาสนาซึ่งมีโอกาสได้ศึกษางานเขียนก่อนสมัยของพระองค์เป็นอย่างดี ให้ความใส่ใจต่อเสียงอ่อนโยนเล็กๆในคัมภีร์โบราณนั้น ทั้งๆที่ เสียงส่วนใหญ่ในม้วนคัมภีร์ก่อนสมัยของพระองค์ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะไม่มีการอ่อนข้อให้กับการเล่นชู้ไม่ว่ากรณีใดๆ พระองค์จึงถูกถามเชิงบังคับให้ตัดสินว่า “ท่าน(พระเยซู)จะตัดสินใจอย่างไรกับหญิงเล่นชู้” (ยอห์น 8: 4-5) ซึ่งการตัดสินใจที่จะไม่ทำอะไรของพระองค์ ทำให้เกิดคำถามว่า อะไรเป็นระบบคิดของพระเยซู? ควรทราบว่า ในอนาคตพระเยซูเองจะถูกมติมหาชนตัดสินลงโทษให้ตาย เหตุเพราะพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ของพระองค์ นั่นคือ ทรงยืนยันบางกฎแต่ละเมิดหรือเพิกเฉยต่อบางกฎ 

    ➤   เนื้อหา

จริยศาสตร์ของพระเยซูซึ่งถูกทำให้เป็นเรื่องเดียวกับจริยศาสตร์แบบอริสโตเติ้ล

ม้วนหนังสืออิสยาห์ (The Great Isaiah Scroll MS A -1QIsa)
ที่มา: Unknown. (1st century BCE). The Great Isaiah Scroll [ink on parchment]. The Israel Museum, Jerusalem, Israel.
Retrieved from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:The_Great_Isaiah_Scroll_MS_A_(1QIsa)_-_Google_Art_Project-x1-y0.jpg

               พระเยซู (Historical Jesus) มีชีวิตอยู่หลังแนวคิดทางจริยศาสตร์แบบอริสโตเติ้ลปรากฎขึ้นในโลก เพียงแต่ว่า พระเยซูอาจเป็นเพียงคนบ้านนอกคนหนึ่ง (ยอห์น 1: 46) ซึ่งไม่ได้รู้อะไรไปมากกว่าม้วนคัมภีร์ที่ตนเคยอ่าน แต่กระนั้น เมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว พระองค์ก็จัดเป็นผู้มีการศึกษาคนหนึ่ง จากคำสอนของพระองค์ตามบันทึกของสานุศิษย์ หากมองข้าม (หรืออ้อมผ่าน) บรรดาคัมภีร์เก่าซึ่งสานุศิษย์นำมาประกอบสร้างเป็นพระเยซูแห่งความเชื่อแล้ว (Jesus of faith) เห็นได้ชัดว่า อาจารย์สอนศาสนาผู้นี้มีความรู้อย่างดี ทั้งที่ไม่ใช่ธรรมาจารย์ผู้มีบทบาทนำในขณะนั้น หรืออย่างน้อยที่สุดพระเยซูแค่มีโอกาสเข้าถึงม้วนคัมภีร์เก่าของชาวอิสราแอล ซึ่งยังเป็นแต่เพียงม้วนคัมภีร์ที่กระจัดกระจายอยู่เท่านั้น(เพราะการรวบรวมม้วนคัมภีร์เข้าเป็นระบบตามรูปแบบที่เรารู้จักในชื่อลำลองว่าไบเบิลเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในสมัยหลัง) ดังนั้น ความแตกฉานในภาษาอื่น เช่น ภาษากรีก ในฐานะเป็นพาหนะสำหรับศึกษาปรัชญากรีก จึงคงไม่ต้องพูดถึง พระเยซูตรัสแต่ภาษาอาราเมอิก ด้วยสำเนียงที่ระบุได้ด้วยซ้ำไปว่าพระองค์เป็นคนบ้านนอก ทัศนคติของชาวอิสราเอลที่มีต่อบ้านเกิดของพระองค์ก็ไม่ดีนัก ดังที่เคยมีผู้กล่าวว่า "จะมีอะไรดีที่นาซาเร็ธ" (ยอห์น 1:46) 

               แต่พลังความคิดของอริสโตเติ้ล (Aristotelians) ถูกบรรดาปิตาจารย์ยุคแรกของศาสนจักรเลือกมาประยุกต์ใช้เพื่อทำการอธิบายคำสั่งสอนของพระเยซู ดังนั้น คริสตจริยศาสตร์ในฐานะภาคปฏิบัติของบุคคล ซึ่งจะกระทำต่อความเชื่อเรื่องพระเจ้าของตนจึงมีกลิ่นอายแบบกรีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือ คุณธรรมหลัก (Cardinal Virtues) ในฐานะบานพับ (Latin: Cardo) ช่วยเปิด-ปิดประตูแห่งจิตวิญญาณ โดยสรุปลงเป็นสูตร 4 ข้อตามสมัยนิยม (Quadrivium) ได้แก่ การตัดสินใจโดยใช้ปัญญา (Prudentia) , ความยุติธรรม (Iustitia) ,  ความรู้ประมาณ (Temperantia) และความกล้าหาญ (Fortitudo) ทราบกันดีว่า คุณธรรมข้างต้นมาจากหนังสือThe Republic IV (แม้ว่าหนังสือปัญญาจารย์และหนังสือปรีชาญาณแม้แต่หนังสือมัคคาบีจะกล่าวถึงคุณธรรมดังกล่าวก็ตาม แต่โดยอายุของหนังสือและภาษาที่ใช้บันทึกแล้ว น่าเชื่อว่า The Republic ถูกเขียนก่อนและถูกรู้จักก่อนงานเหล่านี้) ในต้นคริสตศตวรรษ คุณธรรมหลักถูกนำเสนอในฐานะคำสอนสำคัญคำสอนหนึ่งของคริสตศาสนา เช่น งานเขียน De Moribus Ecclesiæ Catholicæ ของเอากูสตีนูส (St. Augustine: 354-430)  

               จริยศาสตร์ของอริสโตเติ้ล แน่นอนว่า ไม่ต่างจากโสเกรตีสผู้ปรมาจารย์เท่าไรนัก ถึงแม้ อริสโตเติ้ลจะทำการพยายามปรับปรุงความสุดโต่งของวิธีคิดแบบเพลโต-โสเกรตีสให้มีความกลมกล่อมพอดีอยู่บ้าง เช่น ความคิดเรื่องทางสายกลางใน Nicomachean Ethics แต่ก็ยังเห็นเด่นชัดว่า สำหรับเขาแล้ว "ผู้มีคุณธรรมย่อมมีคุณธรรมเสมอ" (หากกล่าวด้วยสำนวนในยุคกลางที่ล้อกัน: ผู้มีคุณธรรมประการหนึ่งย่อมนำพาคุณธรรมประการอื่นมาสู่จิตใจของผู้นั้นด้วย) และจรรยาหรือความประพฤติของผู้มีคุณธรรมจะไม่แปรเปลี่ยนไปตามอัตวิสัยหรือสถานการณ์ เพราะ คุณธรรมนั้นดำรงอยู่ก่อน (แม้ว่าจะคนละตัวแบบกับเพลโต) ดังนั้น ไม่มีทางที่ผู้กล้าหาญจริงจะหวาดกลัว Ackrill (1981, 137) อภิปรายว่า ที่สุด ความคิดของอริสโตเติ้ลในเรื่องนี้ก็ยังไม่ต่างจากโสเกรตีสเท่าไรนัก ในแง่ของเอกภาพแห่งคุณธรรม ความพยายามที่จะทำให้เป็นสากล หรือแสวงหาสูตรของอริสโตเติ้ลในหลายๆบริบททำให้เกิดปัญหาในตัวเองด้วย เป็นต้น ทำไมการเป็นผู้มีคุณธรรมจะต้องพิจารณาจากความมีฐานะและชาติกำเนิดที่ดีเป็นปัจจัย(Nicomachean Ethics, 1124a) เพราะปรมาจารย์อย่างโสเกรตีสเองก็บรรลุถึงคุณธรรมได้โดยไม่ขึ้นกับชาติกำเนิดหรือฐานะ และแบบนี้พระเยซูก็จะเป็นตัวอย่างค้านด้วย ที่มากไปกว่านั้นคือ พระเยซูกลับมีทัศนะที่ตรงกันข้ามในเรื่องนี้ พระองค์มิได้ใส่ใจในฐานะหรือชาติกำเนิดของผู้ที่พระองค์คาดหมายจะให้บรรลุคุณธรรม พร้อมทั้งให้ความใส่ใจแก่บุคคลที่่มีฐานะต่ำต้อยและชาติกำเนิดไม่ดีเป็นพิเศษ 

               หากหยิบเฉพาะแต่ละคำมาวางอย่างจงใจ จะได้ว่า ภาพรวมของคริสตจริยศาสตร์ซึ่งมีกลิ่นอายกรีก และความมีฐานะดี, ชาติกำเนิดดี ดูจะเข้ากันได้กับประวัติศาสตร์ยุคต้นของศาสนจักร ซึ่งได้ผลักดันแนวคิดดังกล่าวนี้จนสุดโต่งถึงขีดสุดในยุคกลางที่ได้กลายเป็นยุคมืดไป ซึ่งความเหยียด หรือความรังเกียจต่อสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ เข้ากันได้ดีกับความคิดที่ว่า ใครซึ่งถูกเรียกว่า มีคุณธรรมย่อมมีคุณธรรมเสมอ และคุณธรรมนั้นจะเข้าถึงหรือบรรลุได้ก็ต่อเมื่อผ่านการอุปถัมภ์ของรัฐผู้เปรียบประดุจบิดามารดา ซึ่งศาสนจักรผู้เปรียบดังมารดา (Mater Ecclesiæ) ของประชาชาติก็เช่นกัน อาศัยสิทธินี้ศาสนจักรจะเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือ “ดี” แน่นอนว่าเป็นเรื่องเดียวกับคำว่า "อะไรถูก" ส่งผลให้ผู้ดีมีคุณธรรมเป็นฝ่ายถูกและมีสิทธิมีเสียงมากกว่าเสมอ เช่น "เสียงของโสเภณีหรือจะสำคัญเท่านักบวช" / "เสียงของหญิงเล่นชู้หรือจะสำคัญเท่าหญิงที่ซื่อสัตย์" เพราะการกระทำในสิ่งที่ผิดหลงถูกทำให้เชื่อว่ามีผลต่อการตัดสินวินิจฉัยเหตุการณ์ต่างๆ จึงนักบวชซึ่งเป็นผู้กระทำแต่สิ่งถูกต้อง เป็นผู้ดำรงธรรม จึงครอบครองความถูกต้องไว้เป็นกรรมสิทธิ์ การตัดสินทุกอย่างถูกต้องราวกับเป็นประกาศิต หากนักบวชจะชี้นำมหาชนให้มอบความตายแก่คนบาปก็ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เช่น คำเทศนาของแบร์นาร์ดแห่งแกลร์โวที่นำไปสู่การระดมพลอีกระลอกในช่วงสงครามครูเสด เป็นต้น และอีกตัวอย่างที่มีชื่อเสีย(ง)ของศาสนจักร คือ ความเห็นดีเห็นงามในปฏิบัติการล่าแม่มด ซึ่งอ้างแนวคิดจากตำรา Malleus Maleficarum (1486)  ที่วิวัฒนาการมาจากการตีความปรัชญากรีกของบรรดาปิตาจารย์ยุคต้นมาอีกต่อหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่พระเยซูมิได้มีระบบคิดแบบดำ-ขาวเช่นนั้น (Black and White Logic) เป็นไปได้หรือไม่ที่พระองค์จะมีจริยศาสตร์ในรูปแบบที่แตกต่างและแปลกแยกจากจริยศาสตร์ของอริสโตเติ้ลเพราะพฤติกรรมของพระเยซูน่าเชื่อว่า พระองค์มิได้มีท่าทีทางจริยศาสตร์เช่นนั้น ซึ่งคริสตจริยศาสตร์แม้จะได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีกดังที่อภิปรายไปข้างต้นก็ตาม แต่ศาสนจักรอย่างน้อย ก็หลังการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 มิได้ยึดติดกับปรัชญาระบบใดระบบหนึ่ง (โปรดดู Fides et Ratio, 1998) เพียงแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรัชญากรีกยังคงมีพลังหรือเป็นเรื่องเล่ากระแสหลักในศาสนจักรอยู่นั่นเอง    

❷ หรือจริยศาสตร์ของพระเยซูจะเป็นคนละเรื่องกับจริยศาสตร์แบบอริสโตเติ้ล

การเขวี้ยงหินเพื่อฆ่าหญิงเล่นชู้ให้ตายในศตวรรษที่ 21
ที่มา: Yousef, Sarbaz. (2016, February 12). ISIS extremists stone four women to death on charges of ‘committing adultery’. ARA News.
Retrieved from: http://aranews.net/2016/02/18246/

               ตามท้องเรื่องที่ยอห์นบันทึกไว้ บรรดาธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาจับผู้หญิงเล่นชู้คนหนึ่งได้ แม้ว่าชาวอิสราเอลในขณะนั้น จะตกอยู่ในสถานะเมืองขึ้นของอาณาจักรโรมันก็ตาม แต่ผู้ปกครองชาวโรมันก็ยังได้อนุญาตให้ชาวอิสราเอลพอที่จะมีอิสระในการปกครองตนเองได้บ้างตามหลักศาสนา จะยกเว้นก็แต่เพียงการปรับโทษประหารชีวิต (ยอห์น 18: 31) ถึงจะเป็นที่ทราบกันดีเช่นนั้น แต่บรรดาธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนากลับหยิบยื่นสิทธิ์ในการวินิจฉัยให้แก่พระเยซู ซึ่งก็คือ พระองค์ต้องปฏิบัติอย่างไรต่อหญิงเล่นชู้ และก็ไม่ได้แปลว่า พวกเขาจะปฏิบัติตามที่พระองค์สั่งด้วยซ้ำ เพราะการตัดสินแบบที่ให้ใครต่อใครพากันเอาหินเขวี้ยงผู้หญิงคนนี้จนตาย (stoning woman to death) (เฉลยธรรมบัญญัติ 22:21) หรือแม้กระทั่งการประหารชีวิตตามกฎหมายยิว (Mishnah; מִשְׁנָה) ด้วยการรัดคอ ก็ล้วนแต่ขัดต่อกฎหมายโรมัน (เว้นเสียแต่จะหาเหตุให้พระเยซูผิดต่อกฎหมายโรมัน) เหนืออื่นใดพวกเขาต้องการทัศนะทางจริยศาสตร์ของพระเยซู "ต้องทำอย่างไรกับหญิงเล่นชู้?" 

               ตามกฎหมายของโมเสสผู้หญิงคนนี้ทั้งชั่วและผิด (เลวีนิติ 20:10) ถ้าพระเยซูมีทัศนะทางจริยศาสตร์แบบพิจารณาที่กฎ (Deontology) ผู้หญิงคนนี้ต้องรับโทษตายเพราะกฎระบุแจ้งไว้เช่นนั้น หรือหากว่าการลงโทษให้ตายทำไม่ได้ เพราะ (รัฐ) อิสราเอลยังตกเป็นเมืองขึ้น บรรดาธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาก็ต้องพากันนำส่งไปให้ถูกตัดสินให้ตายด้วยอำนาจของกฎหมายของโรมัน (ยอห์น 18:30) หรือหากว่าทางโรมันไม่มีกฎหมายสำหรับกรณีเช่นนี้ ประชุมชนชาวอิสราเอลที่นำโดยธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนา รวมถึงพระองค์เองก็จะต้องประยุกต์กฎหมายข้ออื่นเพื่อนำมาปรับใช้ลงโทษ หากยึดเอาความถูกกฎหมายเป็นที่ตั้ง เมื่อผิดกฎหมายแล้วจะต้องมีการดำเนินการ พระเยซูเองที่สุดแล้วก็ถูกลงโทษให้ตายแต่ด้วยวิธีแบบโรมัน ภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่า พระองค์ผิดต่อกฎหมายของโมเสส (ยอห์น 19: 6-7) ซึ่งในที่นี้พระเยซูได้สงวนสิทธิที่จะตัดสินหญิงเล่นชู้คนดังกล่าว จะเห็นว่า ธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาซึ่งได้ทำทีเป็นให้สิทธิในการตัดสินแก่พระเยซูมีความสงสัยว่าพระเยซูจะปฏิบัติต่อความจริงที่พระองค์เชื่ออย่างไร เพราะสิ่งซึ่งพระองค์กระทำอยู่นั้นมิได้เป็นการเพิกเฉยต่อการละเมิดกฎหมายอย่างนั้นหรือ เพราะโมเสสได้อ้างแล้วว่าพระเจ้าทรงสั่งให้กระทำได้ กล่าวคือ “จงรักษาและปฏิบัติตามกฎหมายของเรา, เจ้า (ประชุมชน) ต้องพากันเอาหินเขวี้ยงให้ตาย เพราะพวกที่ได้ตายนั้น ตายเพราะความผิดของตัวเอง”(เลวีนิติ 20: 7, 27) 

               แต่ถ้ามองแบบพิจารณาที่ผล (Teleology) การเล่นชู้ของผู้หญิงคนนี้ น่าเชื่อจะเป็นผลให้เกิดการเลียนแบบหรือไม่ยำเกรงกฎหมายต่อไปและหากปล่อยไว้ไม่ลงโทษ ความสงบสุขมวลรวมของสังคมอาจสั่นคลอนจากหญิงชั่วผู้นี้ก็เป็นได้ แม้ธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาตามปกติจะมีจริยศาสตร์แบบทำตามกฎก็ตาม (The divine law; Ten Commandment; Leviticus) แต่ถ้าลองพิจารณาในแง่นี้ จะเห็นว่าสังคมอิสราเอลมีการกล่อมเกลาทางสังคมให้เชื่อคนดีมีคุณธรรม ซึ่งได้แก่ ธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาซึ่งกระทำตามกฎทุกกระเบียดนิ้ว และพวกเขาสามารถโน้มน้าวให้ประชุมชนเห็นประโยชน์ในอันที่จะกล้าแสดงมติมหาชนด้วยการเอาก้อนหินเขวี้ยงหญิงเล่นชู้ให้ถึงแก่ความตายได้อีกด้วย เพราะในอีกไม่กี่ปีถัดมา ประชุมชนกลุ่มเดิมซึ่งนำโดยธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาดังกล่าว ต่างพากันแสดงมติมหาชนให้พระเยซูต้องรับโทษตายด้วย ทั้งที่พวกเขาก็ไม่ได้แน่ใจนักว่า พระองค์กระทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งประการใด ทั้งนี้ ยังเป็นการแลกกับการปล่อยตัวนักโทษการเมืองซึ่งอาจเป็นลูกของธรรมาจารย์ผู้หนึ่งที่เข้าร่วมกับกองกำลังปลดปล่อยชาวอิสราเอลจากโรมด้วย (ยอห์น 18: 40) แต่ปีลาตในฐานะผู้ปกครองชาวโรมันกลับถูกโน้มน้าวว่า เขาจะเสียประโยชน์มากหากไม่กระทำตามที่ธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาเหล่านี้ตะโกนกดดัน (ยอห์น 19: 12, 15) จากความสามารถในการโน้มน้าวดังกล่าวจะเห็นว่า ถ้าพระเยซูปล่อยหญิงเล่นชู้ให้เป็นอิสระโดยไม่ให้ประชุมชนลงโทษด้วยการพากันเอาก้อนหินเขวี้ยงจนตายก็เท่ากับพระเยซูปล่อยให้ชะตากรรมของประชุมชนชาวอิสราเอลอยู่ในจุดเสี่ยงที่จะเสียประโยชน์ที่พึงมีกับพระเจ้า โฮเชยาเคยอ้างไว้ว่า “เพราะว่าเจ้าละเลยกฎของเรา เรา(พระเจ้า)จะปล่อยให้การเล่นชู้เกิดขึ้น เจ้าสาวของเจ้าก็จะเล่นชู้ ส่วนเจ้าเองก็เล่นชู้กับหญิงอื่นด้วย พวกเจ้าจะถึงแก่ความพินาศ” (โฮเชยา 4: 6, 14) 

               เมื่อทัศนะทางจริยศาสตร์ของพระเยซูจงใจที่จะมองข้ามกฎหมายของโมเสสซึ่งมีบทลงโทษที่ชัดเจนดังที่ชาวอิสราเอลรู้กัน พร้อมกันนั้น พระองค์ยังคงเพิกเฉยต่อบรรดาธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาอีกด้วย ทั้งที่ พระองค์ทราบดีว่าพวกเขาพยายามที่จะเล่นละครในบทบาทของผู้รักษาผลประโยชน์แห่งชาติอิสราเอลเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า แรกสุดพระองค์ทำเป็นเฉื่อยชาต่อการละเมิดกฎหมายของโมเสสซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายต่อหน้าพวกเขา (ยอห์น 8: 6) แน่นอนว่า เป็นท่าทีที่ขัดกับความเป็นประกาศกของพระองค์ ทั้งที่ การละเมิดกฎร้ายแรงปรากฎอยู่ตรงหน้า พระองค์กลับเอานิ้วขีดเขี่ยพื้นดินไปเสียอย่างนั้น ขณะที่ประกาศกเอลียาห์เคยสั่งให้จับกุมตัวผู้กระทำความผิดซึ่งต้องโทษถึงตายมาแล้ว (1 พงศ์กษัตริย์ 18: 40) หากนับตามคำร่ำลือของพวกสานุศิษย์ที่น่าจะรู้ไปถึงหูของบรรดาธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนา พระเยซูเป็นถึงอาจารย์สอนศาสนาที่ยิ่งใหญ่กว่าประกาศกเอลียาห์เสียอีก (ยอห์น 1: 19-27, 38) แต่ทำไมกลายเป็นว่า พระองค์มีทัศนะทางจริยศาสตร์ที่แตกต่าง และเมื่อถูกบรรดาธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนารุกหนักพระองค์เงยพระพักตร์ขึ้นตรัสว่า “ใครที่คิดว่าตัวบริสุทธิ์นัก (anamartétos; ἀναμάρτητος) ก็ลงมือเลย” (ยอห์น 8: 7) คำตอบของพระองค์สะท้อนให้เห็นโดยตัวมันเองว่า พระองค์ยืนยันที่จะไม่ตัดสินโทษตายให้กับหญิงเล่นชู้ผู้นี้เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ทรงเพิกเฉยทำเป็นไม่ได้ยินในครั้งแรก (ทั้งยังทรงก้มหน้าอยู่แบบนั้นจนกระทั่งธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาทยอยเดินจากไป) เหตุที่พวกเขาจากไปก็เพราะได้รับคำตอบแล้ว ซึ่งคำตอบที่พระองค์ให้ไว้กับบรรดาผู้รักษาผลประโยชน์แห่งชาติอิสราเอล คือ จะไม่ลงโทษ ไม่ว่าจะสถานหนักหรือเบาก็ตาม และในครั้งที่ 3 พระองค์ยืนยันเป็นการส่วนตัวกับหญิงเล่นชู้ว่าจะไม่ลงโทษ แต่ก็สั่งว่าอย่ากระทำแบบนี้อีก (ยอห์น 8: 11) จริยศาสตร์ของพระองค์ยืนอยู่บนระบบคิดแบบใด เพราะถ้าพูดว่า พระองค์ทำตามกฎ พระองค์ก็เพิ่งจะเพิกเฉยต่อกฎหมายร้ายแรงไปเมื่อกี้นี้เอง หรือถ้าจะอภิปรายว่า พระองค์จะทรงทำตามข้อเรียกร้องของผู้มีอำนาจในประชุมชน เรื่องที่จะรักษาผลประโยชน์แห่งชาติอิสราลเอลกับพระเจ้าไว้ พระองค์ก็มิได้แม้แต่จะเงยหน้า แล้วพระองค์คิดอะไร ทรงมีฐานคิดหรือระบบคิดใด

❸ ระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณ: ภาคปฏิบัติของกฎทอง

       ระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณ (logique de super-abondance) นำเสนอโดย Ricœur (1985, อ้างถึงใน Dermange,2003  และ ปกรณ์ สิงห์สุริยา (2013,388) ใช้คำว่า ตรรกะแห่งความอุดมล้น – Logic of Abundance) คำดังกล่าวนี้ให้ภาพพจน์เกี่ยวกับสิ่งที่มีอยู่ในจิตวิญญาณ ในเชิงเทววิทยาแล้ว อาจเรียกว่าเป็น พระหรรษทานหรือพระพร (Grace) โดยนัยของคำว่า Ab “u/o” ndance ทั้งในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส รับเอามาจากภาษาละตินว่า Ab+Unda ที่มีนัยเกี่ยวกับ “น้ำ” และน้ำเป็นสัญญะแห่งชีวิตตามกรอบการตีความของคริสตศาสนาอยู่ก่อนแล้ว (Unda แปลว่า คลื่น, คลื่นหนุน) และเมื่อสร้างความหมายที่แตกต่าง (différ) โดยแต่งเติมจากนัยแห่งความอุดมสมบูรณ์จะได้ว่า Abundo เป็นคลื่นที่ท่วมท้น และมากจนถึงที่สุดใน Supra-Abundo  ดังคำสอนของพระเยซูที่ยอห์นได้บันทึกว่า “น้ำซึ่งเรา (พระเยซู) ให้แก่เจ้าจะกลายเป็นธารน้ำซึ่งไหลริน” (สุภาษิต 13:14, ยอห์น 4:14) และเป็นเรื่องเดียวกับคำอธิบายของอิสยาห์ที่ว่า “หากเจ้าทำลายแอกที่กดขี่ข่มเหงปวงประชา ชีวิตของเจ้าจะเป็นดั่งพุน้ำนิรันดร พระเจ้าจะทรงนำเจ้าตลอดไป” (อิสยาห์ 58: 9-11) ในแง่นี้ ระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณ (logique de super-abondance) หรือในศัพท์ที่มีความหมายเชิงศาสนาว่าระบบคิดของผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระพร หรือระบบคิดของผู้ปรารถนาจะเจริญชีวิตตามน้ำพระทัยพระเจ้า เป็นสิ่งที่ Ricœur นำไปเชื่อมโยงกับกฎทอง (Golden rule-GRs) กล่าวคือ คำสั่งสอนของพระเยซูตามคำบอกเล่าของมัทธิวที่ว่า “จงกระทำกับทุกคนดังที่ท่านปรารถนาจะให้ทุกคนกระทำกับท่าน นี่เป็นคำสอนของบรรดาประกาศก” (มัทธิว 7: 12)  จะได้ว่า หากพระเยซูเป็นประกาศกคนหนึ่ง (ยอห์น 3:2 ; 9:18) กฎทองก็น่าจะเป็นสิ่งที่พระเยซูจัดวางไว้ในหัวใจของพระองค์เองด้วย ซึ่งระบบคิดดังกล่าวได้ล้นข้ามออกมา (spillover) จนเป็นคำยืนยันครั้งที่ 3 กับหญิงเล่นชู้ว่า “จงไปเถิด เรา(พระเยซู) ก็ไม่ลงโทษท่าน” (ยอห์น 8:11) 

               หากข้อตั้ง คือ กฎทองอันเป็นศีลธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติ ระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณก็ควรจะเป็นระบบคิดขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติด้วย อาศัยอรรถาธิบายของ Ricœur “ชีวิตมนุษย์ย่อมถูกเติมเต็มด้วยความร่ำรวยทางจิตวิญญาณเสมอ แต่นั่นก็มิได้ทำให้มนุษย์พ้นจากความจองหอง” ในกรณีของความจองหอง อาจเรียกได้ว่า เป็นระบบคิดที่วิปริตไปจากกฎทอง ความวิปริตทำให้จิตใจแห้งแล้งและปราศจากความร่ำรวย ถ้าเปรียบวิญญาณที่ปฏิบัติตามกฎทองเป็นต้นไม้ซึ่งงอกงามอยู่ริมน้ำ (เพลงสดุดีที่ 1) วิญญาณที่กฎทองวิปลาสไปก็เหมือนกับต้นไม้ซึ่งยืนต้นแห้งตายกลางทะเลทราย ร่องรอยจากบันทึกเรื่องพระเยซูกับหญิงเล่นชู้ชี้ให้เห็นว่า "มี" (Therefore) ผู้ใช้กฎทองซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของทุกกฎเกณฑ์ในชนชาติอิสราเอลวิปริตไป บันทึกของสานุศิษย์เปิดเผยว่า พระเยซูเองก็ได้มีความเห็นถึงกฎหมายของโมเสสบางข้อซึ่งมีลักษณะที่ผ่อนปรนว่า เกิดจากจิตใจที่ไม่ร่ำรวย (มัทธิว 19: 8) แต่กระนั้น ต่างกรรมต่างวาระ พระองค์กลับมีทีท่าผ่อนปรนกฎหมายบางข้อเสียเองโดยอ้างจิตใจของพระองค์และพระเจ้าที่ร่ำรวย เช่น การปกป้องสานุศิษย์ที่เด็ดรวงข้าวในวันสับบาโต (มัทธิว 12: 1-8) ในบันทึกของสานุศิษย์พบว่า พระเยซูเลือกที่จะพูดว่าเป็นการตัดสินใจของโมเสสมากกว่าที่จะพูดว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ทั้งที่ในบางครั้งพระองค์กลับยืนยันมั่นใจว่าการกระทำเช่นนี้เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระเยซูสนใจแต่เพียง “เราอ่านกฎดังกล่าวแล้ว เราเข้าใจว่าอย่างไร” (ลูกา 10: 26) เพราะธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาซึ่งได้อ่านกฎหมายมาอย่างดี พระองค์กลับถามว่า “ท่านไม่ได้อ่านหรือ” (มัทธิว 12: 3) เป็นไปได้หรือไม่ที่พระองค์จะกระตุ้นเร้าให้เราทบทวนตัวบทเดิม ด้วยวิธีการอ่านใหม่และเขียนใหม่โดยการอ่าน (Readerly Text; Hermeneutic; Dialectic) หรือว่าพระองค์ปรารถนาจะให้เรารื้อแล้วสร้างใหม่ เพราะการละเมิดหรือเพิกเฉยต่อกฎของพระองค์ก็ไม่ต่างจากการทำลายกฎ (Deconstruction) ตามความเห็นของสำนักคิดที่มองว่าพระองค์มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะสมาชิกแห่งรัฐและการปฏิบัติแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดหรือเพิกเฉยต่อกฎหมายเดิมด้วยเหตุผลชุดใหม่ ก็อาจเป็นร่องรอยของความพยายามสร้างจากพระคริสต์ (Reconstruction) ก็เป็นได้ ท้ายที่สุด ความพยายามสร้างของพระองค์จบลงด้วยความตาย อาจพูดได้ว่า พระคริสต์ผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณสิ้นพระชนม์แล้ว แต่ผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณอีกหลายคนได้เติบโตขึ้นจากความตายของพระองค์นั่นเอง 

❹ กฎทองที่วิปริตไปตั้งแต่ปฐมกาล และก็ยังวิปริตอยู่ต่อไป   

               หากกฎทองวางอยู่บนระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณและกฎทองได้ถูกทำให้วิปริตไป จากท่าทีของธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาที่เรากำลังพิจารณา ความวิปริตดังกล่าวคงเริ่มต้นตั้งแต่ปฐมกาล ในวันที่มนุษย์ผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณกลับกลายเป็นเพียงวิญญาณอนาถาที่ยากจนข้นแค้น ควรรู้ว่า ปฐมกาลไม่ใช่การเนรมิตสร้างแบบอัศจรรย์รวดเร็วตระการตา (Fantasy) และคัมภีร์ปฐมกาลก็เป็นเพียงตำนานซึ่งสืบทอดมาจากมุขปาฐะ ซึ่งการตีความตามตัวอักษร (literal interpretation) ถูกพิสูจน์ไปนานแล้วว่า ไม่อาจใช้ได้ทุกกรณี โดยเฉพาะกับตัวบทที่เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ตัวอย่างการตีความตามตัวอักษรมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยพระเยซูแล้วว่า เราควรตีความตามตัวอักษรเช่นนั้นจริงๆหรือไม่ เป็นต้น “กฎหมายของโมเสสสั่งให้พวกเราปรับโทษตายแก่หญิงเล่นชู้” (ยอห์น 8: 5) แบบนี้เราจะมีท่าทีอย่างไร จากบันทึกของสานุศิษย์ พระเยซูมักเพิกเฉยหรือต่อต้านการตีความตามตัวอักษร แต่ในบางครั้งพระองค์กลับยืนยันหรือโต้เถียงแบบตีความตามตัวอักษรด้วย เพราะถ้ากฎทองครอบคลุมหรือร่ำรวยกว่ากฎศีลธรรมสากล (ไม่ใช่เพียงแต่เป็นกฎทางศีลธรรม หรือ กฎสากล แบบที่นิยมนำมาอภิปรายกัน เช่น Lewis as cited in Haslett, 1974, 83) ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า การที่พระเยซูทรงเน้นย้ำกฎทองเป็นพิเศษ อาจหมายถึงพระองค์ประสงค์ให้กฎทองภายใต้การตีความใหม่ของพระองค์เป็นบรรทัดฐานใหม่ก็เป็นได้ ตามที่ยอห์นได้บันทึกบทสนทนาตอนหนึ่งในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำครั้งสุดท้าย (The Last Supper) ว่า “เรา(พระเยซู) ได้ให้กฎใหม่แก่ท่าน คือ จงรักกันและกัน” (ยอห์น 13: 34) ซึ่งหมายความว่า คำสั่งสอนให้รักกันและกันของพระองค์ย่อมแตกต่างกับคำสั่งสอนให้รักกันและกันแบบที่ธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาในขณะนั้นตีความมาไม่ว่าเปาโล (St. Paul the Apostle) ซึ่งเข้าร่วมกับสานุศิษย์ของพระองค์หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วจะล่วงรู้ถึงความตั้งใจนี้ของพระเยซูหรือไม่ แต่เขาบอกกับชาวโรม (โรม 5: 15) ว่า “พระเยซูทรงเติมเต็มกฎต่างๆ ด้วยพระพรจากพระเจ้าซึ่งเป็นของให้เปล่า” ภายใต้คำอุปมาว่า อาดัมทำให้มนุษย์สูญเสียพระพรไปก็จริงอยู่ แต่พระเยซูได้ทรงกลับมาเติมเต็มพระพรให้ดังเดิมแล้ว อันที่จริง “ความร่ำรวยทางจิตวิญญาณของพระเยซู” เป็นสิ่งที่สานุศิษย์ เป็นต้น เปาโลตระหนักถึงอยู่เสมอ (ฟิลิปปี 3:8) เช่นเดียวกับบรรดาสานุศิษย์ในยุคต้นคนอื่น (มัทธิว 14: 13-21, 15: 32-18, ยอห์น 21: 1-24) แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาเข้าใจ (ลูกา 18: 34, ยอห์น 8: 27, 13:7) บันทึกแบบต่างคนต่างเขียนของบรรดาสานุศิษย์และประกาศกมีข้อดีตรงที่เปิดเปลือยให้เห็นว่า แม้แต่พวกเขาเองก็ไม่ได้เข้าใจ

               “ฉันให้เพื่อที่คุณจะได้ให้ฉัน” (je donne pour que tu donnes) หรือ ฉันให้เพื่อที่พระเจ้าจะได้ประทานแก่ฉัน หรือฉันทำบุญเพื่อที่สวรรค์จะได้เป็นของฉัน  หรือฉันอุทิศตนทำสงครามครูเสดเพื่อที่สวรรค์จะได้เป็นของฉัน ล้วนเป็นกฎทองที่วิปริตทั้งสิ้น เพราะระบบคิดดังกล่าวต่างยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentrism) ทั้งที่จริง หากผู้นั้นอ้างว่าได้ปฏิบัติตามกฎทองจริง ก็ควรอยู่ภายใต้ระบบคิดว่า “ฉันได้รับ, ฉันจึงให้” เพราะสำหรับ Ricœur การได้รับดังกล่าวเป็นการได้รับอย่างเหลือเฟือเพราะเขา(พระเจ้า)ให้ (donne parce qu'il t'a été donné)  และพระเจ้าจะมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงก็ไม่มีความหมายอะไรสำหรับกฎทองที่วิปริต เพราะสิ่งที่กฎทองวิปริตจะอ้าง คือ ตัวพวกเขาเอง เขาย่อมไม่รู้จักพระเจ้า (ยอห์น 1: 10) นัยหนึ่งคือ พวกเขาไม่มีความรักเมตตา (1 ยอห์น 4: 8) ตั้งแต่ปฐมกาล ทั้งที่พระเจ้าประทานเอวา (ผู้หญิง) ให้แก่อาดัม (ผู้ชาย) แต่พอทั้งสองกระทำในสิ่งที่ทั้งคู่ “คิดว่า” เป็นความผิด อาดัมกลับให้การซัดทอดเอวา และเอวาก็ซัดทอดงูอีกต่อ (ปฐมกาล 3:12) และในตำนานปฐมกาลเช่นเดียวกัน เมื่อกาอินซึ่งได้ฆ่าอาแบลไปแล้ว (พร้อมทั้งปฏิเสธในทีแรก) ทูลขอให้พระเจ้าประทานความเมตตาไม่ให้ใครมาฆ่าตน ครั้นเมื่อพระเจ้าประทานให้แล้ว ลูกหลานของกาอินกลับเอาไปลำพองอีกว่า “ใครที่ฆ่ากาอินจะต้องรับโทษเป็นเจ็ดเท่า ดังนั้นใครที่ฆ่าข้า(ลาเมค) มันผู้นั้นจะได้รับโทษเจ็ดสิบเจ็ดเท่า” (ปฐมกาล 4:24) และจากต้นจนจบเรื่องเล่าของชาวอิสราเอลหลายต่อหลายเรื่องก็ล้วนแต่มีอนุภาคของเรื่องแบบเดียวกันเสมอ กล่าวคือ มีพระเจ้าซึ่งประทานพระพรในเรื่องต่างๆ แต่มนุษย์ผู้อ้างว่าได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์แล้ว กลับทำลายสิ่งที่พระองค์ประทานให้เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังที่พระเยซูว่า “เจ้าได้ฆ่าบรรดาผู้ที่พระเจ้าส่งมาหาเจ้า” (มัทธิว 23:37) ; “ถ้าเจ้ารู้ว่าอะไรคือสันติก็คงดี แต่เจ้าตามืดบอดเสียแล้ว เจ้าไม่รู้ว่าพระเจ้าเสด็จมาเยี่ยมเยียนเจ้า” (ลูกา 19: 42) และเพราะระบบคิดที่วิปริตเช่นนี้ พระเยซูจึงต้องตาย ซึ่งระบบคิดแบบ“ฉันให้เพื่อที่คุณจะได้ให้ฉัน” ยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ โลกจึงยากจนข้นแค้นทางจิตวิญญาณอย่างน้อยก็ตั้งแต่ 2000 ปีที่แล้ว 

❺ ข้อกล่าวหาเรื่องกบฏ: การเล่นชู้ 

               โดยสาระของกบฏหรือการเล่นชู้ตามนัยของพระคัมภีร์นั้น คือ การเอาใจออกห่างผู้ที่ต้องรักอยู่ก่อนแล้ว เช่น  พระเจ้าเป็นผู้ที่ต้องรักอยู่ก่อน และเมื่อเอาใจออกห่างพระเจ้า จึงกล่าวเป็นอุปมาได้ว่า เล่นชู้ หรือกระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้า หรือในระดับของคำที่เข้มข้นกว่านั้นคือ กบฏต่อพระเจ้า ตีตนเสมอพระองค์ ซึ่งเป็นข้อหาของพระเยซู (ยอห์น 18:7) การเอาใจออกห่างพระเจ้าและเอาใจออกห่างสามีมีโทษเสมอกัน เป็นที่น่าสังเกต ในเรื่องอภิสิทธิ์ของบรรดาผู้มีอำนาจในการตั้งข้อกล่าวหาและวินิจฉัยว่า เลือกปฏิบัติ เช่น ในหนังสือของซามูแอล (1 ซามูเอล 2:22-25) บุตรชายของเอลี (ลูกหลานของชนเผ่าที่มีหน้าที่รับใช้พระเจ้าในวิหารโดยเฉพาะ) มีพฤติกรรมเกเรอยากจะได้อะไรก็ต้องเอาให้ได้และชอบใช้กำลัง (1 ซามูเอล 2: 16) ล่วงประเวณีผู้หญิงจนเป็นที่ทราบกันในหมู่ชาวอิสราเอล เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าเป็นการผิดต่อกฎหมายของโมเสส หากแต่ทุกคนเกรงใจเอลีซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อาวุโสสูงสุด ซ้ำเอลีกลับบอกกับบุตรของตนว่า ถ้าเจ้าทำกับคนด้วยกันก็อาจไกล่เกลี่ยได้ (1 ซามูเอล 2:25) บุตรชายของเอลีก็ไม่ได้ฟังคำทัดทานของบิดาและยังคงกระทำผิดกฎหมายของโมเสสต่อไป ทำไมกรณีเช่นนี้ไม่กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายแบบหญิงเล่นชู้ แม้หนังสือซามูเอลจะอธิบายต่อว่า พระเจ้าทรงลงโทษเรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง แต่ทำไมการตัดสินบางเรื่องจึงวกกลับไปอยู่ในมือของพระเจ้า ทั้งที่ในกรณีเดียวกันของคนธรรมดาสามัญหรือคนชายขอบ เช่น หญิงม่าย, คนเป็นเรื้อน กลับถูกดำเนินคดีตามปกติ ควรทราบว่าเผ่าเลวี (บรรพบุรุษของเอลี) เป็นผู้ตีความกฎหมายของโมเสสและมีบทบาทในการตัดสินคดี (เฉลยธรรมบัญญัติ 21:5) ดังนั้น จึงเข้ากันได้ดีกับกรอบคิดที่ว่า ฉันให้ (ชนเผ่าของฉันอุทิศตนรับใช้พระเจ้า) ดังนั้น "ฉันมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนทั่วไป ฉันได้รับอำนาจที่จะกำหนดให้ใครเป็นผู้ต้องรับโทษหรือไม่ต้องโทษก็ได้ แม้จะผิดฐานเดียวกัน" ประกาศกสำคัญ เป็นต้น อิสยาห์ไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้จะดำรงความยุติธรรม (อิสยาห์ 28:7)  พระเยซูก็เช่นกัน 

               ถ้าพระเจ้าคือผู้ปกครองรัฐอิสราเอลโดยผ่านกฎหมายของโมเสส การกระทำตามกฎอย่างเคร่งครัดจึงเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติมิใช่หรือ พูดให้ละเอียดคือ ชาวอิสราเอลต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกข้อที่ผู้มีอำนาจได้ตราขึ้น เพราะพวกเขาได้อ้างไปเรียบร้อยแล้วว่าพระเจ้าทรงเลือกให้นำชาวอิสราเอลอยู่ก่อนแล้ว ถ้าชาวอิสราเอลคนใดไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างดังกล่าวซึ่งทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่อยุติธรรมก็ควรแล้วที่จะต้องกระทำให้ตนมีอำนาจด้วยการไม่ผิดกฎหมายให้มากพอ(คือเป็นคนดีมีคุณธรรม)ที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปเปลี่ยนแปลงดำเนินการมากกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อละเมิดหรือเพิกเฉยต่อกฎหมายมิใช่หรือ แต่ดูเหมือนว่าพระเยซูมิได้คิดเช่นนั้น คนบ้านนอกและยากจนอย่างพระองค์กลับเลือกที่จะละเมิดหรือเพิกต่อกฎ พร้อมทั้งประกาศหลักธรรมคำสอนที่ขัดหรือแย้งต่อการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า เพื่อประนีประนอมกับชาวอิสราเอลที่เปลี่ยนความเชื่อมารับพระเยซู เป็นไปได้ที่สานุศิษย์จะสื่อสารว่าพระองค์มิได้มาทำลายกฎดั้งเดิม แต่การสื่อสารดังกล่าวมีปัญหาในตัวมันเอง เพราะเมื่อชนชาติอื่นเปลี่ยนความเชื่อมารับพระเยซูด้วยแล้ว ทำให้เกิดคำถามสำคัญในบรรดาสานุศิษย์ยุคแรกๆว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎของชาวอิสราเอลหรือไม่ ก็ในเมื่อพระเยซูมิได้ประกาศยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติอะไรเลย (มัทธิว 5:18-19)  เช่น ถ้าไม่ตัดหนังหุ้มปลายองคชาตตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ปฐมกาลจะได้รับความรอดพ้นจากพระเยซูหรือไม่ (ปฐมกาล 17:14; กิจการอัครสาวก 15:1) เยเรมีย์ซึ่งเป็นประกาศกที่มีอิทธิพลต่อความคิดของพระเยซู ไม่เห็นด้วยกับประเพณีที่เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ทางกายนี้ (เยเรมีย์ 9: 26) พระเยซูให้น้ำหนักผ่านบันทึกของยอห์นว่า “จิตและความจริงสำคัญกว่า” (ยอห์น 4:24) สำหรับพระเยซูทุกอย่างอาจไกล่เกลี่ยได้หากมิได้เอาใจออกห่างจากความรักเมตตา

               แต่ความรักของพระเยซูไม่ขัดแย้งกันเองกับการเล่นชู้หรอกหรือ ในเมื่อการเล่นชู้คือการปันใจไปจากคนที่ตนอ้างว่ารักหรือเคยรัก และอาจกินความอย่างโบราณว่า ชิงสุกก่อนห่ามก็ยังได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การที่พระองค์ไม่ตัดสินลงโทษหญิงเล่นชู้ กำลังสร้างบรรทัดฐานอะไรให้กับสานุศิษย์หรือชาวอิสราเอล หากไม่ใช้ข้ออ้างแบบกำปั้นทุบดินที่ว่า ก็พระเยซูเป็นพระเจ้า เพราะสิทธิเรื่องความเป็นพระเจ้าหรือบุตรแห่งพระเจ้าของพระองค์ไม่อาจฟังขึ้นในสายตาของธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนา แต่กระนั้น ธรรมาจารย์บางคนก็เชื่อว่าพระเยซูคือประกาศกผู้หนึ่ง หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากพระเจ้า (ยอห์น 3:2) และหากว่าพระองค์ "เป็น" การเพิกเฉยต่อโทษของหญิงเล่นชู้มิได้ขัดต่อความรักหรอกหรือ เพราะการลงโทษในโลกทัศน์ของชาวอิสราเอลก็มิได้เพื่อความสะใจส่วนตัว หากแต่เป็นการสั่งสอนหรือกำราบมิให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง และเพื่อรักษาพระพรมวลรวมซึ่งพระเจ้าจะประทานให้แก่ชาวอิสราเอลทั้งปวง แต่การที่พระเยซูไม่ตัดสินลงโทษเสียเฉยๆ ทั้งในแง่ที่พระองค์ไม่ลงโทษเอง และในแง่การเล่นโวหารเพื่อให้ผู้อื่นไม่ลงโทษด้วย มิได้เป็นการขัดต่อความรักและความเป็นประกาศกของพระองค์หรอกหรือ ซึ่งถ้าเรากล่าวว่า ท่าทีของพระองค์มิได้ขัดต่อความรัก ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า ทุกการล่วงประเวณีก็ไม่ควรถูกลงโทษหรืออย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้หรือจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี

               หากพิจารณาเป็นรายกรณี พระเยซูคงไม่ต้องตาย เพราะเจตนาของพระเยซูมุ่งหวังเพื่อปฏิรูปกฎหมายของโมเสส มิใช่เพื่อสร้างศาสนาหรือความเชื่อใหม่ จึงการละเมิดหรือเพิกเฉยต่อกฎหมายของพระองค์น่าจะเป็นไปภายใต้ความน่าเชื่อที่ว่า ทรงปรารถนาดีต่อชนชาติอิสราเอล ระบบคิดที่รองรับความใจกว้างดังกล่าว (หรือการขยายขอบฟ้าทางความหมายในศัพท์ของกาดาเมอร์) ก็คือ กฎทอง หรือ ระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณ นั่นเอง หากธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาตรรกะไม่วิปริตไป พวกเขาก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปิดโอกาสพระเยซู ดังนั้น พวกเขาย่อมรับฟังความคิดเห็นของพระองค์ ซึ่งจะทำให้เกิดการสนทนา/เสวนา (Dialogue/Dialectic) ซึ่งเป็นการสนทนาโดยที่ยังไม่ต้องพิจารณาถึงเรื่องสิทธิตามกฎหมายด้วยซ้ำไป และแบบอย่างของการสนทนากับบุคคลซึ่งถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมาย ก็คือ พระเยซูเองในการสนทนากับหญิงชาวสะมาเรีย (ยอห์น 4:9) หากตรวจสอบกฎทองมิให้วิปริตทางตรรกะแล้ว โลกก็อาจไม่แห้งแล้งทางจิตวิญญาณอย่างที่เป็นอยู่ ฝันของอิสยาห์ผู้มีชีวิตอยู่ก่อนพระเยซูที่ว่า โลกจะพูดคุยกันได้มากกว่านี้ และไม่มีปัญหาอะไรที่หมาป่าจะอยู่กับลูกแกะก็คงเป็นจริง (อิสยาห์ 11: 6-9) อย่างที่ทราบกัน ปรัชญากรีกและคริสตศาสนาหลังโสเกรตีส (Post-Socratic) เป็นฐานรากของกฎหมายแห่งรัฐ และนักปรัชญาสำคัญซึ่งมีอิทธิพลต่อรากฐานของกฎหมายรัฐประชาติ เป็นต้น Kant ในฐานะตัวแทนหนึ่งของจริยศาสตร์แบบกรณียธรรม ได้ถูก Ricœur อภิปรายถึงความไม่สมบูรณ์ของสูตรสำเร็จที่ได้มาจากการลดทอนจริยศาสตร์แบบดี-เลว มาสู่ จริยศาสตร์แบบถูก-ผิด (réduction déontologique) ในแง่นี้ นักปรัชญาทั้งสองต่างเป็นนักปรัชญาที่มีความเชื่อในพระเจ้าด้วย คำถามของ Ricœur  จึงอาจลึกซึ้งและกินความลงไปถึงทัศนคติเรื่องกฎทอง (ระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณ) เพราะความวิปริตทางตรรกะของกฎทองได้รั่วซึมออกมาผ่านกฎหมายและในการบังคับใช้กฎหมายสมัยใหม่ และนั่นทำให้ไม่ต่างจากสมัยของพระเยซูเลย กลายเป็นว่า สังคมโลกภายใต้บริบทของรัฐประชาติยังคงผลิตธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาที่มุ่งกล่าวหาและมอบความตายให้แก่พระเยซูและหญิงเล่นชู้อยู่วันยันค่ำในรูปโฉมต่างๆที่ทันสมัยยิ่งขึ้นนั่นเอง

❻ เสรีภาพในสังคมสมัยใหม่กับความร่ำรวยทางจิตวิญญาณ

               

ภาพมาลาลากับสัญญะโรซีช่างตอกหมุด (Malala as Rosie the Riveter)
ที่มา: Ronen, Anat. (2014). "Yes She Can!" [latex on old brick]. The Avis Frank Gallery , Houston, TX.
Retrieved from: http://www.anatronen.com/houston-murals/images/new2013/IMG_27531.jpg

               เสรีภาพเป็นสิ่งถูกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างสิทธิตามกฎหมายแห่งรัฐประชาชาติ หรือการอ้างสิทธิโดยกำเนิด ควรรู้ว่า เสรีภาพจะได้รับอนุญาตให้อ้างเมื่อรัฐพอที่จะยอมรับให้เสรีภาพนั้นไม่ใช่คำและความหมายซึ่งต้องห้าม มีการตีความเสรีภาพอย่างหลากหลายในหลายศตวรรษที่ผ่านมานี้ เช่น แนวคิดที่ว่าเสรีภาพเป็นสิทธิโดยธรรมชาติ (Hobbes, 1651 ; Locke, 1690) เฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพของ Locke ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับการสร้างของพระเจ้าซึ่งเป็นการเสนอแนวทางในการตีความการสร้างของพระองค์เสียใหม่ด้วย จากแนวคิดของ Locke เชื่อกันว่าเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้เกิดคำประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา (ในขณะที่นักวิชาการอีกหลายคนไม่เห็นเช่นนั้น รวมถึงอิทธิพลของ Locke ต่อแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน) อย่างไรก็ตาม สิทธิโดยธรรมชาติถูกใช้ในความหมายของกรรมสิทธิ์ (ในมุมมองแบบทรัพย์สิน) กล่าวคือ เสรีภาพเป็นสมบัติของฉัน ฉันจะใช้สมบัติของฉันอย่างไรก็ได้ อุปลักษณ์ (Metaphor) แบบนี้เชื่อมโยงกับระบบคิดและกฎทองดังที่ได้อภิปรายไปข้างต้น กล่าวคือ เสรีภาพถูกใช้แบบผู้ร่ำรวย หรือ เสรีภาพถูกใช้แบบผู้ยากจนข้นแค้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่องรอยของการใช้เสรีภาพอย่างร่ำรวยจะปรากฎควบคู่กับพลังที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหรือบันดาลใจให้ใครคนใดคนหนึ่ง กระนั้น ก็ไม่ได้การันตีว่า ผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจอันร่ำรวยจะเป็นผู้ใช้เสรีภาพอย่างร่ำรวยด้วย

          ในเมื่อเสรีภาพเป็นสิ่งที่ใครหรืออะไรสักสิ่งอนุญาตให้กระทำหรือไม่กระทำภายใต้รัฐ และเป็นการยากมากในปัจจุบันที่มนุษย์จะไม่อยู่ภายใต้รัฐเสรีภาพจึงไม่ใช่เรื่องของอะไรก็ได้ ทำให้การเรียกร้องเสรีภาพก็ไม่ใช่เรื่องของอะไรก็ได้เช่นกัน แง่นี้เสรีภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้รับเพื่อให้ตนแตกต่างไปจากสิ่งสร้างอื่นๆ เสรีภาพจึงไม่ใช่เรื่องของความพร้อมเพรียงกัน แต่เป็นเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย เมื่อมนุษยชาติค่อยๆเรียนรู้ว่า การเรียกร้องเสรีภาพมีเป้าหมายในตัวมันเอง มนุษยชาติจึงต้องรู้ว่า เสรีภาพมีอยู่เพื่อความแตกต่างหลากหลาย และความแตกต่างหลากหลายที่ว่านี้ คือความร่ำรวยทางจิตวิญญาณซึ่งปัจเจกบุคคลในทุกกาลสถานที่สามารถเข้ามาตักตวงหรือดื่มกินจากธารน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างไม่มีวันหมด ภาพพจน์ของความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวไม่ใช่คลังสินค้าที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบ ซึ่งถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบด้วยน้ำมือมนุษย์ และก็ไม่ใช่ท้องพระคลังมหาสมบัติที่เป็นแต่ทองคำแท่งเหลืองอร่าม หากความอุดมสมบูรณ์คือความกล่นเกลื่อนของวัตถุดิบในสิ่งแวดล้อม (หรือบริบท) เป็นความรุ่มรวยและเลื่อนไหลซึ่งมีมากเสียจนสามารถจัดกลุ่มหรือสุ่มได้อย่างอิสระตามต้องการ ถ้าความอุดมสมบูรณ์คือความเป็นไปได้ใหม่ๆและถ้าเสรีภาพจำต้องยืนอยู่บนระบบคิดที่ร่ำรวยทางจิตวิญญาณ การเรียกร้องเสรีภาพจึงต้องเต็มไปด้วยวิธีการใหม่ๆด้วย วิธีการซึ่งไม่แข็งทื่อหรือจำกัดอยู่แต่ในกรอบของการปฏิบัติเฉพาะหน้าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนระบอบ/ระบบหรือนโยบายรายครั้ง การเรียกร้องเสรีภาพต้องสามารถผลักให้เกิดพลวัตของการถอนรากถอนโคน เหมือนกับสวนหรือแปลงผักที่มีการหมุนเวียนของทั้งวัชพืชและผลผลิตทั้งกิจกรรมแห่งการเพาะปลูกและกำจัด ความเท่าเทียมจึงอาจเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความหลากหลายที่ว่า และต้องไม่ใช่ความเหมือนกันหรือพิมพ์เดียวกันแบบที่อำนาจนิยมมักเป็นเช่นนั้น

               สมมติบรรดาคนดี ผู้ปกครอง, ธรรมาจารย์, บุคคลในแวดวงกฎหมาย (เผ่าเลวี) และคนเคร่งศาสนามีระบบคิดที่วิปริตไปจากกฎทองอันเป็นพื้นฐานของศีลธรรมจริง สมมติเขาคิดแต่เพียงว่าเขาจะต้องจ่าย(ลงทุน)เพื่อที่จะได้ทุนคืนจริง ดังนั้น การปฏิบัติ/ปฏิวัติทั้งหมดของเขาซึ่งระดมมวลชนที่ถูกปลุกระดมให้เชื่องต่ออำนาจอยู่ก่อนก็เป็นแต่เพียงชั้นเชิงของคนยากจนที่หิวกระหายและตะกละตะกลาม ทั้งนี้ ความละโมบจนกลายเป็นละเมิดผู้อื่นส่อให้เห็นถึงจิตวิญญาณของความไม่รู้จักพอ อันมีภาคแสดงเป็นความใจแคบและหยิ่งผยองในอำนาจของตน เช่นนี้ จิตวิญญาณดังกล่าวย่อมยินดีที่จะประหารชีวิตคนด้วยเหตุผลนานัปการโดยมองว่าเป็นการจ่ายหรือลงทุน ถ้ามาตรฐานในสังคมเรียกร้องแต่ว่า “คุณต้องให้เพื่อที่คุณจะได้” ไม่ว่าจะเป็น คุณต้องทำบุญ, คุณต้องแสดงตนเป็นคนดี, คุณต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว ท่าทีของการต่อต้านควรจะเป็นอย่างไร เพื่อตอบโต้กับความวิปริตของกฎทอง พระเยซูใช้ความตายของพระองค์เป็นเครื่องยืนยันถึงการมีอยู่ของความวิปริตนี้ และก่อนที่พระองค์จะละจากโลกนี้ไป พระองค์พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของสังคมให้เข้าใจเสียใหม่ว่า "ความรู้สึกว่าได้รับมาอย่างล้นเหลือเป็นเหตุแห่งการให้" หากเขียนประโยคเกี่ยวกับเสรีภาพขึ้นล้อกัน จะได้ว่าคุณต้องรู้สึกว่ามีเสรีภาพอย่างล้นเหลือเสียก่อน,คุณถึงจะแบ่งปันเสรีภาพให้กับผู้อื่นได้ หากคุณยังไม่รู้สึกหรือไม่เคยรู้สึกถึงเสรีภาพอย่างล้นเหลือมาก่อนเลย คุณจะเรียกหาเสรีภาพซึ่งคุณไม่เคยเห็นหน้าค่าตาได้อย่างไร คำถามคือ พอจะมีบุคคลร่วมสมัยคนใดที่ออกมายอมรับว่าตนได้รับมาอย่างล้นเหลืออยู่ก่อนหรือไม่ หนึ่งในคำตอบนั้น คือ สุนทรพจน์ของมาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai, 2013) คำพูดของเธอให้ความเข้าใจแก่เราว่าพลังอันเหลือล้น เป็นต้น อภัยวิถีซึ่งเธอได้ปฏิบัติต่อฎอลีบันนั้น เธอได้รับมาอย่างเหลือเฟือจากบิดามารดา แล้วถ้าบิดามารดาของเธอมิได้ให้อะไรไว้เลย พลังของเธอก็ยังคงได้รับมาจากความร่ำรวยของคำสอนในศาสนาอีก เช่น พระเจ้าผู้นำเธอไปสู่การทักทายกับผู้อื่นว่าสันติสุขจงสถิตอยู่กับท่าน แต่ถ้าการมีอยู่ที่น่าสงสัยของพระเจ้าอาจทำให้หลายคนตะขิดตะขวงใจหรือรู้สึกถูกผูกขาดก็ตาม ตัวแบบที่ค่อนข้างเป็นกลางกว่านั้น ซึ่งมาลาลาได้หยิบยกขึ้นประกอบสุนทรพจน์ของเธอยังมี แมนเดลา (Nelson Mandela: 1918-2013) และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า แมนเดลาเป็นผู้มีระบบความคิดแบบร่ำรวยทางจิตวิญญาณคนหนึ่ง เห็นได้จากการต่อสู้และผลงานเรื่องการคืนความเท่าเทียมแก่คนผิวสี (ถึงอย่างไรแมนเดลาก็ยังมีอีกด้านหนึ่งซึ่งเราไม่อาจเรียกได้ว่าร่ำรวย)

               ในแง่นี้กฎทอง (ที่ไม่วิปริต) ปรากฏตัวขึ้นผ่านการให้ซึ่งเป็นการให้หลังจากที่รู้สึกว่าได้รับมามาก การให้ดังกล่าวไม่ใช่แต่เพียงการมอบวัตถุหรือมอบความรักให้เท่านั้น เพราะการให้แบบนี้พระเยซูเสนอว่าใครๆก็ให้กันได้ (มัทธิว 5:46) แต่การให้แบบกฎทองเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่ร่ำรวย ตัวอย่างของมาลาลาที่ให้อภัยแก่กลุ่มฏอลีบันซึ่งลอบทำร้ายเธอ แน่นอนรวมถึงลูกหลานของฏอลีบันด้วย หากสุนทรพจน์ของเธอหากมิใช่แต่เพียงการเล่นโวหารเธอปรารถนาจะให้เด็กและสตรีทุกคนได้รับการศึกษาไม่เว้นใครเลย ความคิดแบบนี้ตรงกับคำสอนของพระเยซูที่ว่า "จงปรารถนาดีแก่ผู้ที่สาปแช่งท่าน จงปฏิบัติดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ที่เหยียดหยามและข่มเหงท่าน" (มัทธิว 5:44) ใครจะปรารถนาดีและปฏิบัติดีได้อย่างไร หากผู้นั้นมิได้มีความรักซึ่งได้รับมาก่อนจากความรู้สึกว่าตนได้รับโอกาส (ลูกา 7:40-43, 47) กฎทองจึงเป็นเรื่องของรับรู้และความสามารถในเข้าถึงโอกาสในระดับต่างๆด้วย และต้องไม่ใช่ความรู้สึกแบบแนวดิ่งหรือโอกาสในลักษณะที่มีดีหรือด้อย หากแต่เป็นระบบคิดซึ่งรู้จักตนเอง (Know thyself; γνῶθι σεαυτὸν) และความรู้จักตนเองจะนำไปสู่การสำรวจทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด ทำให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมั่นคงโดยปรารถนาจะแบ่งปันทรัพยากรที่ได้รับมาอย่างล้นเหลือให้ผู้อื่นเสมอ เช่น เราเรียกร้องเสรีภาพได้เพราะเรารู้ว่าเสรีภาพคืออะไรในความรู้สึก เพราะเราใช้เวลาแสวงหาจนรู้แล้วว่าเสรีภาพคืออะไร เราจึงอุทิศทั้งชีวิตของเราเพื่อเรียกร้องเสรีภาพดังกล่าวนั้น ที่สำคัญยังไม่มีตัวแบบซึ่งพัฒนามาจากจิตวิญญาณที่ยากจนและแห้งแล้งที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน แม้ตัวแบบของระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณซึ่งล้มตายและถูกทำลายไปมากกว่า เหตุผลที่่น่าพิศวงทำให้จิตวิญญาณที่ร่ำรวยยังไม่เคยดับสูญไปจากโลก ที่สำคัญ ความร่ำรวยทางจิตวิญญาณเป็นคนละเรื่องกับจิตวิญญาณที่บรรลุถึงสมบูรณ์ ทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้เท่ากันทุกประการแบบคณิตศาสตร์ ผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณซึ่งเป็นผู้ให้ในเรื่องหนึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นผู้ให้ในทุกๆเรื่อง ที่สำคัญกว่านั้น การจะทำความเข้าใจกฎทองที่ไม่วิปริตได้ ต้องเริ่มจากภายในของตนเอง "เป็นฉันผู้ได้รับมา อย่างให้เปล่า อย่างเหลือเฟิอ ดังนั้น ฉันจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ให้"   

    ➤    สรุป

               การตัดสินใจของพระเยซูที่มีต่อหญิงเล่นชู้ในตอนต้นของหนังสือยอห์นบทที่ 8 สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติซึ่งพระเยซูมีต่อกฎหมายของโมเสส รวมถึง ข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมต่างๆ ของบรรดาธรรมาจารย์และคนเคร่งศาสนาด้วย โดยเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของพระองค์ในที่นี้นำเสนอว่า เป็นกฎทองเองในฐานะกฎเกณฑ์พื้นฐานและคำสอนของบรรดาประกาศก หากแต่เป็นกฎทองในความหมายที่ตรรกะไม่วิปริตไป ซึ่งเดินตามคำอธิบายเรื่องระบบคิดที่ Ricœur เรียกว่า logique de super-abondance ที่แปลในภาษาไทยว่า "ตรรกะแห่งความอุดมล้น" (ปกรณ์ สิงห์สุริยา, 2554) หรือในที่นี้ใช้คำว่า "ระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณ" ซึ่งอาศัยภาพพจน์ทางเทววิทยาว่า พระเจ้าเป็นผู้ประทานให้ก่อนอื่นใดหมด ไม่ว่าจะมนุษย์จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ไม่ว่ามนุษย์จะรู้สึกว่าพระเจ้ามีอยู่หรือไม่มีอยู่ (โฮเชยา 11:3) อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่พระองค์ได้ประทานก็ "มี" (existence) และไม่ใช่การมีอยู่อย่างยากจนข้นแค้น หากเป็นการมีอยู่อย่างล้นเหลือและมากเสียจนล้นข้าม (Spillover) สู่ผู้อื่นและสรรพสิ่งทั้งหมด โดยภาวะสำคัญที่จะทำให้เกิดการค้นพบว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีและล้วนดี (ปฐมกาล 1:31) ได้แก่ ระบบคิดซึ่งรู้จักตนเอง (Know thyself; γνῶθι σεαυτὸν) ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่การค้นพบตัวเองแบบเนรมิตหรือเพ้อฝัน หากแต่ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองโดยใช้เวลาเป็นเครื่องช่วยให้เกิดการเรียนรู้จัก เมื่อค้นพบว่าตนเอง"มี" เป็นต้น มีโอกาสในเรื่องราวและระดับต่างๆที่หลากหลายแล้ว จึงนำไปสู่การแบ่งปันแก่ผู้อื่นด้วยระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณที่ว่า  “ฉันได้รับ, ฉันจึงให้” และเป็นการให้ที่มิได้คาดหวังหรือเล็งประโยชน์แลกเปลี่ยนตอบแทน ความคิดที่ว่า “ฉันให้เพื่อที่คุณจะได้ให้ฉัน” เป็นระบบคิดที่วิปริตจากกฎทอง แม้ทั้ง พระเยซูและ Ricœur มิได้อภิปรายอย่างเป็นจริงเป็นจังว่า ผลจากความวิปริตดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร สำหรับพระเยซูแล้ว ท่าทีของพระองค์ต่อหญิงเล่นชู้เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่นำพระองค์ไปสู่ความตายในข้อหาเอาใจออกห่างพระเจ้าโดยตีตนเสมอพระเจ้า บ่อยครั้งที่การเรียกร้องของผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณย่อมนำไปสู่กระบวนการกำจัดผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณคนนั้นให้สิ้นซาก แต่ประวัติศาสตร์ได้เปิดเผยตนเองว่า ถึงผู้ชนะจะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์เพื่ออำนาจและกดบังคับอย่างไรก็ตาม แต่การกดบังคับรวมถึงการกำจัดให้สิ้นซาก ก็มิอาจมล้างบรรดาผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณที่มีอยู่ในโลกได้ ความตายของพระเยซูจึงกลายเป็นแบบอย่างที่จะทวีขึ้นดั่งเชื้อแป้ง (มัทธิว 13:33, ยอห์น 12:24) เป็นการมีอยู่อย่างล้นเหลือและมากเสียจนล้นข้าม (Spillover) สู่ผู้อื่นและสรรพสิ่งทั้งหมด แต่เพราะความวิปริตทางตรรกะคอยที่จะเบียดแทรกกฎทองอยู่เสมอ (ปฐมกาล 4:7) จึงต้องระมัดระวังที่จะเผลอกลับไปสู่ความคิดแบบต่างตอบแทนอีก (มัทธิว 5:38) และในประเด็นสำคัญซึ่งแยกไม่ออกจากกระทำของมนุษย์ทุกคน คือ เสรีภาพซึ่งในที่นี้ลองพิจารณาโดยให้ยืนอยู่บนกฎทองเช่นกัน จะได้ว่า "ฉันรับรู้ถึงเสรีภาพ ฉันจึงแบ่งปันหรือทำให้มีเสรีภาพแก่ผู้อื่น" ในแง่นี้ เสรีภาพจะถูกแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ ก็ต่อเมื่อ เสรีภาพนั้น "มี" อยู่ในระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณอยู่ก่อน หากผู้นั้นไม่เคยรู้จักเสรีภาพแล้ว เขาจะเรียกหาสิ่งที่เขาไม่รู้จักได้อย่างไร ประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกับการรอผลดลบันดาล หรือเรียกหาพระเจ้าที่ไม่เคยรู้จัก ซึ่งพระเยซูไม่เห็นด้วยกับท่าทีแบบนี้ ควรระมัดระวังว่า ระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณมิได้การันตีใคร หรืออะไรก็ตามให้กลายเป็นสิ่งเปี่ยมล้นด้วยคุณธรรม เนื่องจาก ความสมบูรณ์แห่งคุณธรรมจะถูกใช้ในรูปอนาคตกาลเสมอ (เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึงและไม่อาจรู้ว่าเมื่อไรจะถึง) ซึ่งผู้ที่ร่ำรวยทางจิตวิญญาณสำหรับพระเยซูไม่ใช่เรื่องของมีกับไม่มีหรือตรรกะแบบขาวกับดำ แต่เป็นลักษณะแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป (pas à pas) หรือเป็นสิ่งที่ Ricœur อธิบายว่าเป็นการเพิ่มระดับของความเห็นอกเห็นใจและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น  (d'un degré supplémentaire de compassion et de générosité) จึงไม่มีอะไรที่หยุดนิ่งตายตัว ทุกอย่างล้วนเลื่อนไหลและเป็นพลวัต ดังนั้น จะได้ว่า ระบบคิดแบบผู้ร่ำรวยทางจิตวิญญาณควรเป็นคนละเรื่องกับความสุดโต่งแบบขาวกับดำ เรื่องของสิทธิเสรีภาพก็เช่นกัน ซึ่งการเรียกร้องให้ได้เสรีภาพมาจึงต้องเป็นเช่นนั้น กล่าวคือ ต้องปฏิบัติอยู่บนความร่ำรวยทางจิตวิญญาณและหลีกเลี่ยงกรรมวิธีที่สุดโต่ง

    ➤    สำหรับผู้ยังไม่คุ้นเคยกัน

               "การเขียนของผู้เขียน" แน่นอน ผู้อ่านอาจรู้สึกว่ามีปัญหา แต่ก็ถูกแล้ว ที่ผู้อ่านจะรู้สึกว่า โครงสร้างของการเขียนมีปัญหา โดยผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า ผู้อ่านได้ศึกษาตัวบทในลักษณะที่สรุปจับใจความมามากแล้ว (แล้วสิ่งที่ไม่ใช่ใจความไม่สำคัญหรืออย่างไร?) ทำไมผู้อ่านไม่ลองอ่านอะไรที่จับใจความไม่ได้บ้าง ในการเขียนแบบลำลองแต่แอบใช้บางวิธีแบบวิชาการ อาจเปิดเปลือยหรือชวนผู้อ่านให้อภิปราย สืบค้น ขุดคุ้ย รวมไปถึงการเขียนขึ้นมาใหม่ผ่านการอ่านได้ หากเปรียบลีลาการเขียนเป็นละคร ผู้อ่านคงไม่ดูแต่ละครแบบ Realism ไม่ใช่หรือ โดยส่วนตัวผู้เขียนใส่ใจกับละครแบบ Brechtian ซึ่งปลุกเร้าให้ผู้อ่านสนทนากับตัวบท (รวมถึงฉีกตัวบท) มากกว่าก้มหน้าก้มตาอ่านอย่างที่คอมพิวเตอร์อาจทำแทนได้ ซึ่งการตัดข้ามไปมา หรือการเน้นคำให้ฉีกออกเป็นชิ้นๆ มุ่งหวังให้ผู้อ่านเรียบเรียงขึ้นใหม่เอง รวมถึง การข้ามไปข้ามมาของศาสตร์ (Interdisciplinary) ซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วเพราะเรามี Google เป็นฐานข้อมูลสำคัญในระดับหนึ่งและในหลากหลายภาษา ให้สืบค้น ขุดคุ้ย รวมถึงซื้อหาทรัพยากรที่ต้องการ ผู้เขียนจึงจงใจทิ้งร่องรอยที่หลากหลาย เพื่อผู้อ่านต่างหยิบปริศนาดังกล่าวไปสืบค้นต่อ ซึ่งการฝึกฝนในภาคภาษาไทยที่มากไปกว่าการสรุปใจความ (ที่มีอยู่มากแล้ว) ก็อาจช่วยให้ผู้อ่านปะติดปะต่องานเขียนซึ่งมีลีลาเป็นเอกลักษณ์ในภาษาอื่นได้วิจิตรพิศดารขึ้น เช่นงานของ Badiou, Bourdieu, Rancière, Nancy หรือแม้กระทั่ง Žižek ซึ่งยิ่งเขียนกระจัดกระจายใหญ่ และไม่ใช่จะมีประโยชน์แต่กับนักคิดร่วมสมัยเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับงานเขียนคลาสสิกอื่นๆด้วยเพราะอาจทำให้ได้ร่องรอยใหม่ๆ เช่นเดียวกัน เป็นต้น เราจะตั้งคำถามได้หรือไม่ว่าคนอย่าง Sartre เชื่อพระเจ้า หรือจะรุกหนักไปถึงพวกซึ่งถูกจัดประเภทไว้แบบ Hobbes หรือ Hume เพราะทำไมการจัดประเภทจึงต้องแข็งทื่อด้วย (ดูข้ออภิปรายนี้ได้ใน Foucault, Michel. (1973). The Order of Things: An Archaeology of the Human Science. Retrieved from http://beautifuldata.metalab.harvard.edu/2014/pdfs/readings/Foucault_The-Order-of-Things.pdf) และด้วยอะไรๆอย่างนั้นเองที่จะอาจจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ความหลากหลายใหม่ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นแต่การเล่าความ

    ➤    อ้างอิง

ภาษาอื่น

              Ackrill, John L. (1981). Aristotle the philosopher. Oxford: Oxford University Press
              Haslett, David. (1974). Moral Rightness by Martinus Nijhoff. Netherland: The Hague.
              Gensler, Harry J. (2013). Ethics and the Golden Rule. New York: Routledge.
              Ricœur, Paul. (1990). Amour et justice. เข้าถึงบางส่วนได้จาก https://ec56229aec51f1baff1d-185c3068e22352c56024573e929788ff.ssl.cf1.rackcdn.com/attachments/original/1/3/5/002585135.pdf หรืออ่านทั้งหมดใน http://ebookchicklit.com/amour-et-justice.html หรือ Ricœur, Paul. (2013). Amour et justice. Paris: Seuil. 
              Ricœur, Paul. (1992). Oneself as Another. Translated by Kathleen Blamey. Chicago: University of Chicago Press. Retrieved from http://www.academia.edu/9495167/Ricoeur_Paul_-_Oneself_as_another
              Ricœur, Paul. (2001). Le Juste, Vol 2. Paris see also DE LA MORALE À L'ÉTHIQUE ET AUX ÉTHIQUES. Retrieved from http://www.mapageweb.umontreal.ca/lepagef/dept/cahiers/Ricoeur_MORALE.pdf

ภาษาไทย

              ปกรณ์ สิงห์สุริยา. (2554). สถานะเชิงบรรทัดฐานของความรักในทัศนะของปอล ริเกอร์ ,ใน ชาญณรงค์ บุญหนุนและคณะ. (2554). อารมณ์กับจริยศาสตร์. กรุงเทพฯ: วิภาษา

เว็บไซต์

              Malala Yousafzai addresses United Nations Youth Assembly, 2013 : 
              https://www.youtube.com/watch?v=3rNhZu3ttIU

    

บล็อกของ ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์

ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
รูปนำเรื่อง  Benjamin West, 1804, Cicero Discovering the Tomb of Archimedesหมายเหตุ1.บทความออนไลน์นี้คัดลอกแบบยังไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมจาก:
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์ ตอนที่ 2 ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ หมายเหตุ. บทความนี้ปรับปรุงจาก ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ (2559, ตุลาคม).
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์ ตอนที่ 2 ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ หมายเหตุ. บทความนี้ปรับปรุงจาก ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ (2559, ตุลาคม).
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์ ตอนที่ 1ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
    ➤    บทนำ