Skip to main content
ในขณะที่กระแสสังคมส่งสัญญาณไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ลดการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของ ดีเซล ลิตรละ 2 บาท


โดยปกติ ผู้ซื้อน้ำมันดีเซลหมุนเร็วต้องจ่ายค่ากองทุนน้ำมันลิตรละ 1.70 บาทและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์ลังงานอีกลิตรละ 0.75 บาท รวม 2.45 บาท ต่อไปนี้ก็ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนทั้งสองนี้จำนวน 0.45 บาทต่อลิตร


การแก้ปัญหาดังกล่าวคงจะสร้างความพอใจให้กับผู้บริโภคในสังคมไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ถามว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ที่ตรงประเด็นแล้วหรือ?


ปัญหาราคาน้ำมันจริงๆ แล้วมี 2 ระดับ คือ


ระดับโลก ที่มีการผูกขาดโดยพ่อค้าน้ำมันเพียงไม่กี่ตระกูลที่สัมพันธ์กับนักการเมืองผู้มีอำนาจในการก่อสงครามและตลาดหุ้น ตลาดเงิน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความต้องการและการตอบสนองที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและอื่น ๆ ซึ่งในระดับนี้ประเทศไทยเรารวมทั้งรัฐบาลชุดไหน ๆ ก็คงทำอะไรไม่ได้เลย


ระดับภายในประเทศ กิจการตรงนี้มีหลายขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ การจัดซื้อน้ำมันดิบเข้ามารวมทั้งการขุดเจาะเองภายในประเทศ การกลั่น (โรงกลั่น 7 โรง ปัจจุบันมีกำลังการกลั่นได้เกินความต้องการใช้ภายในประเทศประมาณ 30%) การค้าน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นไปยังปั๊มต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนการขายปลีกของปั๊มที่มีอยู่ประมาณ 19,000 ปั๊ม


ปัญหาระดับประเทศนี้แหละที่รัฐบาลต้องมีส่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จะแก้ปัญหานี้ได้จะต้องค้นหาให้ได้เสียก่อนว่า ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ต่อไปนี้เป็นคำถามที่ชวนให้คิด

 

คำถามที่หนึ่ง ใครเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันในประเทศไทย

คำตอบคือ ผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้กำหนด รัฐบาลไม่ได้มีส่วนในการกำหนดราคาแต่อย่างใด ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีและกองทุนเท่านั้น ในวันที่ 6 สิงหาคม รัฐบาลเก็บภาษีและเงินกองทุนกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลิตร 10.18 บาท คิดเป็น 35% ของราคาหน้าปั๊ม


หลายท่านอาจจะไม่เชื่อว่ารัฐบาลปล่อยให้พ่อค้าน้ำมันกำหนดราคาได้เองอย่างเสรี ผมมีหลักฐานจากเอกสารของ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ซึ่งเป็นองค์กรที่อ้างว่าเป็นอิสระและเป็นกลางทางวิชาชีพ) เราสามารถค้นได้จาก www.ptit.org/events/RefineryMargin9May05.pdf พอสรุปได้ว่า

ก่อนปี 2534 รัฐบาลเป็นผู้ตั้งราคาหน้าปั๊มและกำหนดค่าการตลาดเอง โดยยึดหลักการว่าตั้งให้ราคาอยู่ในระดับที่ประชาชนกินดีอยู่ดีและพัฒนาประเทศได้


แต่หลังจากปี 2534 เอกสารชิ้นนี้ (จัดทำในปี 2548) ระบุว่า "ผู้ค้าปลีกเป็นผู้กำหนดราคาให้เป็นไปตามกลไกของการแข่งขันในธุรกิจขายปลีก" อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เข้าแทรกแซงราคาเป็นครั้งคราว เช่น ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2547 (รัฐบาลทักษิณ)


เป็นเรื่องน่าแปลกครับ ในปี 2551 คนไทยใช้น้ำมันประมาณ 4 หมื่นล้านลิตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่ได้เข้ามาควบคุมแต่อย่างใด ได้แต่หวังว่าให้มีการแข่งขันโดยเสรี แต่ในความเป็นจริงเป็นการค้าเสรีจริงหรือ

 

คำถามที่สอง ตลาดน้ำมันไทยมีการแข่งขันเสรีจริงหรือ

โรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศมีทั้งหมด 7 โรง มีกำลังการผลิตได้รวมกันประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สิงคโปร์ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) แต่ในจำนวนนี้ ร้อยละ 85 อยู่ในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด

ร้อยละ 34% ของยอดจำหน่ายน้ำมันหน้าปั๊มติดตรา ปตท. บริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับสองมียอดจำหน่ายเพียงประมาณ 12 % เท่านั้น


ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ จะถือว่าเป็นการแข่งขันโดยเสรีได้ไหม? ผมว่าท่านผู้อ่านคงตอบได้

 

คำถามที่สาม ราคาหน้าโรงกลั่นกำหนดจากอะไร

เจ้าของโรงกลั่นในประเทศจะเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น แต่เพื่อให้ดูดี เจ้าของโรงกลั่นจะอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ท่าเรือสิงคโปร์ (ราคาเอฟโอบี)


ถ้าราคาที่สิงคโปร์ลิตรละ 10 บาท (สมมุติ) ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยก็จะกำหนดเป็นลิตละ 10 บาท บวกค่าใช้จ่ายในการขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากสิงคโปร์ (ตัวแทนบริษัทบอกในที่ประชุมกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ว่าประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลหรือ ประมาณ 22 สตางค์ต่อลิตร) การกำหนดราคาส่งออกก็ทำนองเดียวกัน


คนทั่วไปที่ไม่ได้สืบค้นข้อมูลด้วยตนเองอย่างเกาะติดก็จะเชื่อตามนี้ แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

 

คำถามที่สี่ ทำไมราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นไทยจึงแพงกว่าสิงคโปร์

ผมพบข้อมูลของทางราชการชิ้นหนึ่ง เมื่อผมนำมาแปลงให้เป็นหน่วยเดียวกันที่เข้าใจง่ายแล้วพบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นไทยแพงกว่าราคาเอฟโอบีในสิงคโปร์ถึงลิตรละ 1.52 บาท (ดีเซลหมุนเร็ว วันที่ 3 มีนาคม 2552) ขอย้ำว่านี่เป็นราคาที่ไม่เกี่ยวกับภาษี


ผู้แทนของบริษัทน้ำมัน แย้งผมว่า การดูราคาน้ำมันจะดูวันเดียวไม่ได้ ต้องดูกันทั้งปี ผมก็กลับมาทำการบ้านเพิ่มเติม โดยการคิดทั้งปี 2550 (ตามที่กระทรวงพลังงานเปิดเผย) ก็พบอาการแบบเดิม คือราคาหน้าโรงกลั่นไทยแพงกว่าสิงคโปร์


มาวันนี้ ผมพยายามตรวจสอบข้อมูลปี 2552 ตามที่กระทรวงพลังงานเปิดเผย เนื่องจากข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่ต้องเสียเวลาในการสืบค้น ผมจึงเลือกเอาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์รวม 15 สัปดาห์ติดต่อกัน พบความจริงดังนี้


ราคาน้ำมันดิบที่ตลาดดูไบลิตรละ 11.20 บาท

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ท่าเรือสิงคโปร์ลิตรละ 13.47 บาท

แต่ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่หน้าโรงกลั่นไทยลิตรละ 13.88 บาท

น้ำมันเบนซิน 95 ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

ถ้าคิดว่าแพงกว่าเพราะค่าการขนส่งก็ลิตรละ 22 สตางค์เท่านั้น (เขาบอก) แต่นี่มันถึง 41 สตางค์

คนไทยใช้น้ำมันปีละ 4 หมื่นล้านลิตร คิดเป็นเงินก้อนเท่าไหร่ครับ

นอกจากนี้ ผมพบว่า ค่าการกลั่นของไทยแพงกว่ากลุ่มประเทศยุโรปเยอะเลย

 

คำถามที่ห้า คนไทยต้องจ่าย "ค่าขนส่งเทียม" จริงหรือ

ในขณะที่พ่อค้าน้ำมันคิดต้นทุนน้ำมันดิบ โดยการอ้างอิงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแล้วบวกค่าขนส่งจากตลาดโลกเข้ามาเมืองไทยกับน้ำมันดิบทั้งหมดที่เข้าโรงกลั่น แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า ประเทศเราสามารถขุดน้ำมันได้เองภายในประเทศถึงร้อยละ 22 ของน้ำมันดิบที่เข้าโรงกลั่น (อีก 78% เป็นการนำเข้า)


แต่ปรากฏว่า พ่อค้าน้ำมันคิดค่าขนส่งน้ำมันดิบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

นี่คือ "ค่าขนส่งเทียม"

ปี 2551 น้ำมันดิบในประเทศไทยที่เข้าโรงกลั่น(ยังไม่รวมคอนเดนเสตที่ได้จากหลุมก๊าซ) ถึง 84 ล้านบาร์เรล คิดเป็นค่าขนส่งเทียมที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเกือบ 3 พันล้านบาท

 

คำถามที่หก ค่าการตลาดคืออะไร ลิตรละเท่าใด ถูกหรือแพงเกินไป

ค่าการตลาดมี 2 ราคาคือราคากรุงเทพฯและปริมณฑล กับราคาต่างจังหวัด

ค่าการตลาดคือ ราคาหน้าปั๊ม ลบด้วยผลรวมของราคาหน้าโรงกลั่นกับภาษีและเงินกองทุน ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นราคาที่รวมค่าขนส่งแล้ว แต่ในต่างจังหวัดจะคิดค่าขนส่งต่างหาก ค่าการตลาดจึงไม่ใช่กำไรของเจ้าของปั๊ม กำไรของเจ้าของปั๊มเท่ากับค่าการตลาดลบด้วยค่าใช้จ่ายภายในปั๊มและค่าดอกเบี้ย


ผู้แทนของบริษัท ปตท. ชี้แจงในวงเสวนาของวุฒิสภาว่า "ค่าการตลาดที่เหมาะสมอยู่ที่ลิตรละ 1.50 บาท โดยเจ้าของปั๊มได้รับลิตรละ 70-80 สตางค์"


เรื่องนี้ใครรู้จักเจ้าของปั๊มกรุณาสอบถามหาความจริงให้หน่อยครับ ที่ผมทราบมานั้นประมาณ 40 สตางค์เท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ผมพบว่า บางช่วง (8 ตุลาคม ถึง 13 พฤศจิกายน 51) ค่าการตลาดเท่ากับ 3.10 บาทต่อลิตร แต่ในบางช่วง (12 พฤษภาคมถึง 15 มิถุนายน 51) ค่าการตลาดเท่ากับ 1.42 บาท เหตุผลเพราะอะไร ผมไม่ทราบครับ แต่ความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยมาก


ถ้าถามว่าค่าการตลาด 1.50 บาทต่อลิตรนั้นถูกหรือแพงเกินไป ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องเป็นผู้ค้นหาคำตอบมาให้ประชาชน


อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าในประเทศแคนาดา ค่าการตลาดลิตรลิตรละ 1.50 โดยเกือบเท่ากันตลอดทั้งปี ไม่แกว่งไปแกว่งมาเหมือนบ้านเรา แต่ค่าใช้จ่ายภายในปั๊มน่าจะแพงกว่าในประเทศไทย เพราะค่าครองชีพสูงกว่าบ้านเรา

 

คำถามที่เจ็ด ทำไมพ่อค้าส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกในราคาที่ถูกกว่าที่ขายให้คนไทย

จากข้อมูลของทางราชการเช่นเดิม ผมพบว่า ในปี 2551 พ่อค้าส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกไปขายในราคา 103.25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นจำนวน 77 ล้านบาร์เรล (รวมเป็นเงิน 2.78 แสนล้านบาท) แต่นำเข้ามาในราคา 107.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นจำนวน 14.3 ล้านบาร์เรล


ในปี 2550 ก็ทำนองเดียวกัน ในขณะที่ราคาส่งออกอยู่ที่ระดับ 75.60 แต่ขายภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 79.25 $/บาร์เรล


เรื่องนี้เหมือนกับราคาน้ำตาลทราย ที่คนในประเทศ(ผู้มีบุญ!) ซื้อแพงกว่าราคาส่งออก


ผู้แทนของบริษัท ปตท. อธิบายว่า "น้ำมันส่งออกส่วนหนึ่งเป็นน้ำมันเตาที่ราคาต่ำ ดังนั้นราคาเฉลี่ยจึงต่ำกว่า" ผมกลับมาค้นคว้าใหม่ พบว่าที่ผู้แทนบริษัทพูดก็เป็นความจริง แต่ก็ไม่ยอมบอกสัดส่วนที่แท้จริง


ที่ผมเรียนมาทั้งหมดในข้อนี้ ยังไม่ได้ตอบว่า "ทำไม ราคาส่งออกจึงถูกว่าภายในประเทศ"


ผมคิดเอานะครับว่า "เพราะการส่งออกต้องมีการแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ในโลก แต่ในประเทศไทยเป็นการผูกขาด (85%) เป็นหมูในอวย"

 

คำถามที่แปด บริษัทน้ำมันควรจะมีกำไรเท่าใด

คำตอบในข้อนี้น่าจะสะท้อนภาพรวมได้ดี จากเอกสารที่ค้นได้จาก http://www.api.org พบว่า กำไรขั้นต้นของบริษัทน้ำมันในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 5.7% แต่ในปี 2551บริษัท ปตท. อยู่ที่ร้อยละ 8.5 บางปีเกือบถึง 10%

ตัวเลขนี้คงบอกอะไรได้ชัดเจนอยู่ในตัว

 

คำถามที่เก้า การแก้ปัญหาราคาน้ำมันของรัฐบาลนี้ถูกต้องตรงประเด็นไหม

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลงจริงครับ แต่ความเป็นธรรมระหว่างผู้บริโภคกับพ่อค้าน้ำมัน ระหว่างเจ้าของปั๊มกับพ่อค้ารายใหญ่ รัฐบาลนี้แกล้งทำเป็นไม่เห็นครับ


ความไม่เป็นธรรมจึงยังคงดำรงอยู่ต่อไป แล้วสังคมนี้จะมีความสงบและสันติสุขได้อย่างไร

 

 

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เราเคยสงสัยและตั้งคำถามเสมอมาว่า ทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูป (รวมทั้งราคายางพารา) ในภูมิภาคเอเซียจึงถูกกำหนดจากประเทศสิงคโปร์
ประสาท มีแต้ม
ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันที่ปั๊มในบ้านเราได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้ราคาน้ำมันดิบจะสูงถึง 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยที่ราคาเมื่อต้นเดือนมิถุนายนได้ขยับจาก 62 ถึง 68 ภายในเวลาเจ็ดวันเท่านั้น
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ให้เห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของคนไทยโดยเฉลี่ยซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ และหากแผนผลิตไฟฟ้าดังกล่าวมีปัญหาแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างไร สอง เพื่อเล่าถึงการจัดทำแผนผลิตไฟฟ้าที่ผูกขาดโดย "กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ" จำนวนน้อยตลอดมาและจะชี้ให้เห็นถึงบางสิ่งที่ผมคิดว่า "น่าจะไม่ถูกต้อง" สาม หากท่านผู้อ่านได้เห็นปัญหาในข้อสองแล้ว จะได้เห็นความจำเป็นของ "การเมืองภาคประชาชน" ในการตรวจสอบโครงการของรัฐมากขึ้น
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตัดสินใจว่าจะอ่านบทความนี้ต่อไปหรือไม่ ผมขอนำประเด็นสำคัญมาเสนอก่อน  ประเด็นคือการวางแผนผลิตก๊าซที่ผิดพลาดทำให้คนไทยทุกคนต้องควักเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น จากรายงานประจำปี 2551 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พบว่า ในปี 2551 บริษัท ปตท. ต้องจ่ายค่า "ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย" ก๊าซจากโครงการไทย-มาเลเซีย (ซึ่งเป็นโครงการสร้างความขัดแย้งมาตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัย และทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน) เป็นจำนวน 13,716 ล้านบาท
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มต้นจากถนนวอลล์สตรีทในสหรัฐอเมริกากำลังลุกลามไปอย่างรวดเร็วราวกับลาวาภูเขาไฟไปสู่ทุกถนนของโลก ในภาคใต้ของประเทศไทยโดยหน่วยงานของรัฐและการนิคมอุตสาหกรรมก็กำลังดำเนินการให้มีแผนพัฒนาภาคใต้ด้วยโครงการต่าง ๆ มากมาย ทั้งโดยเปิดเผยและแอบแฝง ตัวอย่างของโครงการเหล่านี้ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี โครงการขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเซฟรอน ที่นครศรีธรรมราช ตลอดจนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 3 โรง นอกจากนี้ยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดตรัง และท่าเทียบเรือน้ำลึกในจังหวัดสงขลาและอีกหลายจังหวัด…
ประสาท มีแต้ม
  เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงพลังงานในฐานะผู้รับผิดชอบหรือจะเรียกว่าผู้จัดทำแผนผลิตไฟฟ้าเองได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อปรับปรุง "แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า" ในช่วงปี 2551 ถึง 2564 ซึ่งเป็นแผนที่ได้จัดทำไว้ก่อนปี 2551 ในการรับฟังครั้งนี้ก็เพื่อจะได้ปรับปรุงเป็นครั้งที่ 2 สาเหตุที่ต้องปรับปรุงก็เพราะปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศไทยด้วยนักวิชาการอิสระด้านพลังงานที่ไม่ใช่ข้าราชการของกระทรวงพลังงานก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจหลายอย่าง ขณะเดียวกันกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าก็ได้ตั้งคำถามพร้อมแผ่นผ้าด้วยข้อความสั้น ๆ แต่เข้าใจง่ายว่า "…
ประสาท มีแต้ม
คำนำ เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหาขายไม่ได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของโลก นักการเมืองรวมทั้งว่าที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ได้เสนอมาตรการลดหย่อนภาษีค่าโอนบ้าน โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป ผมขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวข้างต้น แต่ขอใช้หลักคิดเดียวกันนี้เพื่อตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการพืชน้ำมันซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ซึ่งโยงใยเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่เจ้าของโรงงานจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชน้ำมัน ( ปาล์มน้ำมัน อ้อย ฯลฯ ) เหล่านี้บ้างเล่า?
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เมื่อราคาน้ำมันลดลงมาจากลิตรละราว 40 บาทจากเมื่อ 4-5 เดือนก่อนมาอยู่ที่ราว ๆ 20 บาท ทำให้คนไทยเราก็รู้สึกสบายใจ บางคนถึงกับกล่าวว่า “ตอนนี้จะไปไหนมาไหนก็ไม่ค่อยได้คิดมากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว” ในยุคที่การเมืองที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ผู้บริโภคจะพอใจอยู่กับตัวเลขที่อิงอยู่กับความรู้สึกเช่นนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เราจะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันตรวจสอบ ถามหาความความเป็นธรรม ความพอดีอยู่ตลอดเวลา เมื่อพูดถึงความรู้สึกที่สบายใจขึ้นของคนไทยในขณะนี้ ทำให้ผมนึกเรื่อง “นัสรูดิน” ชายชาวอาหรับโบราณที่คนรุ่นหลังยังตัดสินไม่ได้ว่า เขาเป็นคนเฉลียวฉลาดหรือคนโง่กันแน่…
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ก่อนจะเริ่มต้นเนื้อหา เรามาดูรูปการ์ตูนสนุก ๆ แต่บาดใจและอาจจะบาดตากันก่อนครับ ความหมายในภาพนี้ ไม่มีอะไรมาก นอกจากบอกว่านี่ไงหลักฐานที่พิสูจน์ว่าโลกเราร้อนขึ้นจริง สำหรับภาพนี้บอกว่า ผลการศึกษาพบว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น นักวิชาการ (และนักการเมือง) กำลังระดมกันแก้ปัญหาอย่างขยันขันแข็ง ขอขอบคุณเจ้าของภาพทั้งสองด้วย คราวนี้มาเข้าเรื่องกันครับ ขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ 4 ด้านพร้อม ๆ กัน คือ (1) วิกฤติภาวะโลกร้อน (2) วิกฤติพลังงานที่ทั้งขาดแคลน ราคาแพง ผูกขาดและก่อวิกฤติด้านอื่น ๆ (3) วิกฤติการเงินที่เพิ่งจะเกิดขึ้นหยก ๆ…
ประสาท มีแต้ม
คำนำ “...เวลานี้สังคมไทยมีอาการป่วยอย่างร้ายที่สุด คือ ป่วยทางปัญญา ขอให้พิจารณาดูเถิด เวลานี้ปัญหาสุขภาวะที่น่ากลัวที่สุดคือ ความป่วยทางปัญญา...” พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) มีนาคม 2551 ท่ามกลางกระแสการคิดค้นเรื่อง “การเมืองใหม่” ซึ่งขณะนี้สังคมบางส่วนเริ่มเห็นภาพราง ๆ บ้างแล้วว่ามันเป็นอย่างไร แต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่า สังคมไทยจะก้าวไปสู่สภาพนั้นได้อย่างไร และสมมุติว่าเราสามารถเข้าไปสู่สภาพนั้นได้จริง ๆ แล้ว เราจะรักษาและพัฒนาการเมืองใหม่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีกได้อย่างไร ในที่นี้ ผมจะขออนุญาตนำเสนอหลักการพื้นฐานมาใช้ตอบคำถามดังกล่าว ผมเรียกหลักการนี้ว่า “กฎ 3…
ประสาท มีแต้ม
เมื่อต้นเดือนเมษายน 2551 หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงข่าวว่า "พลังงานเผยไทยผลิตน้ำมันดิบสูงกว่าบรูไน คุยทดแทนนำเข้าปีนี้มหาศาล" (ไทยรัฐ 2 เมษายน 2551)    สาเหตุที่ผู้ให้ข่าวซึ่งก็คือข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้นำประเทศไทยไปเทียบกับประเทศบรูไน ก็น่าจะเป็นเพราะว่าคนไทยเราทราบกันดีว่าประเทศบรูไนเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายหนึ่งของภูมิภาคนี้ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเราผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่าก็น่าจะทำให้คนไทยเราหลงดีใจได้บ้าง  นาน ๆ คนไทยเราจะได้มีข่าวที่ทำให้ดีใจสักครั้ง   หลังจากอ่านข่าวนี้แล้ว ผมก็ได้ค้นหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตก็พบว่า…
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ขณะนี้มีผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังครุ่นคิดถึง "การเมืองใหม่" ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่ามันคืออะไรกันแน่ ทราบแต่ว่า "การเมืองเดิม" ซึ่งก็คือการเมืองแบบตัวแทน (representative democracy) กำลังมีปัญหาหลายอย่างและรุนแรงขึ้นทุกขณะบทความนี้จะนำเสนอความล้มเหลวของ "การเมืองแบบตัวแทน" อย่างสั้นๆ พร้อมกับนำเสนอ "การเมืองแบบไฮเพอร์ (hyperpolitics)" ให้พอเป็นประกายเบื้องต้น หากสังคมนี้สนใจก็มีช่องทางให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมกันต่อไป2. สาเหตุความล้มเหลวของการเมืองแบบตัวแทนเราท่องกันจนขึ้นใจมาตั้งแต่วัยเด็กแล้วว่า สาเหตุสำคัญของการมี "การเมืองแบบตัวแทน" คือเป็นเพราะคนมันเยอะ…