Skip to main content
 
 
ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี


ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว

บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย

ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท สองราย พบว่าแต่ละรายใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วยไปเพียงเล็กน้อย  เมื่อเป็นดังนี้ ผู้ใช้ต้องจ่ายทั้งหมด เช่น ใช้ไป 112 หน่วย ก็ต้องจ่ายทั้งหมด 112 หน่วย ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เกินจาก 90 หน่วยเท่านั้น

ค่าไฟฟ้าสำหรับ 112 หน่วย คิดเป็นเงิน 350 บาท (ในจำนวนนี้เป็นค่าเอฟทีหน่วยละ 92 สตางค์หรือ 103.04 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 22.89 บาท หมายเหตุ ในเดือนตุลาคม 2550 ค่าเอฟทีหน่วยละ 66 สตางค์) ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “เงิน 350 บาทนี้ไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุคนละ 500 บาทต่อเดือน”

จากการพูดคุยดังกล่าวจึงเกิดเป็นโจทย์ให้ต้องขบคิดว่า “จะต้องใช้ไฟฟ้าอย่างไร จึงไม่เกิน 90 หน่วย” เราจึงเริ่มต้นด้วยการสำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าและกำลังของแต่ละชนิด        

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น ได้แก่ หลอดไฟฟ้า (หลอดละ
18 วัตต์) หม้อหุงข้าว (750 วัตต์) โทรทัศน์สี (120 วัตต์) พัดลมตั้งโต๊ะ (50 วัตต์) ตู้เย็น (125 วัตต์ ขนาด 7 คิว ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 37 หน่วย) เครื่องซักผ้า (330 วัตต์) เตารีดผ้า (1,200 วัตต์) กระติกต้มน้ำ (750 วัตต์) และเครื่องบดเครื่องแกง (140 วัตต์)

พลังงานไฟฟ้าที่ใช้อยู่ประจำคือตู้เย็นเดือนละ
37 หน่วย ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องจัดการก็คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เหลือตามรายการดังกล่าวรวมกันต้องไม่เกินเดือนละ 53 หน่วย

ความรู้พื้นฐานที่ใช้ในการคิดพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวก็คือ คำว่า
“ไฟฟ้า 1 หน่วย” นั้นคิดจากอะไร

ไฟฟ้าหนึ่งหน่วยคือพลังงานไฟฟ้าที่เราเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดรวมกันหนึ่งพันวัตต์ให้ทำงานนานหนึ่งชั่วโมง  ในทางวิชาการเขาเอากำลังของเครื่องใช้ไฟฟ้าคูณกับจำนวนชั่วโมงที่เปิดใช้

เช่น ถ้ารีดผ้านานหนึ่งชั่วโมง เราต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเท่ากับ
1200 วัตต์ชั่วโมง (หรือ 1,200 คูณด้วย 1 ชั่วโมงเท่ากับ 1,200 วัตต์ชั่วโมง หรือ  1.2 หน่วย)  ถ้าเรารีดนาน 3 ชั่วโมง จะต้องใช้พลังงาน 3.6 หน่วย (หรือ 1,200 คูณด้วย 3 เท่ากับ 3,600 วัตต์ชั่วโมง หรือ  3.6 หน่วย โดยที่หนึ่งหน่วยก็คือ 1,000 วัตต์ชั่วโมง)

จากนั้นเราลองสร้างตารางพลังงานไฟฟ้าที่ใช้รวมกันในแต่ละเดือน โดยพยายามคิดให้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ได้ดังตารางข้างล่างนี้
 
ประเภท
ใช้นาน(นาที) ต่อวัน
ใช้นาน(ชั่วโมง)ต่อเดือน
พลังงานไฟฟ้า (หน่วย)
หม้อหุงข้าว(750 วัตต์)
80 นาที
40
30
โทรทัศน์สี (120 วัตต์)
180 นาที
90
10.8
หลอดละ 18 วัตต์ 2 หลอด
240 นาที
120
4.3
เครื่องซักผ้า (330 วัตต์)
 
6
1.98
พัดลมตั้งโต๊ะ (50 วัตต์)
120
60
3.0
กระติกต้มน้ำ (750 วัตต์)
30 นาที
15
11.25
เตารีดผ้า (1,200 วัตต์)
 
2
2.4
บดเครื่องแกง  (140 วัตต์)
 
8
1.12
รวม
 
 
64.85
 
จากตารางเราพบว่า พลังงานไฟฟ้าจะเกินที่รัฐบาลกำหนดให้ใช้ฟรีไปถึง 11.85 หน่วย

แม้ว่าจะเกินมาเพียง
11.85 หน่วย แต่รัฐบาลต้องให้เราจ่ายทั้งหมดตั้งแต่หน่วยแรก ถ้าเราไม่อยากจ่ายเงินจำนวนนี้เราก็ต้องมาช่วยกันลดลงมาให้อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด

บ้านที่ผมคุยด้วยจะต้มน้ำด้วยกระติกไฟฟ้าเพื่อชงกาแฟวันละสองครั้งคือเช้ากับกลางคืน ผมจึงได้แนะนำไปว่า ถ้าอย่างนั้นก็อย่าต้มน้ำด้วยไฟฟ้าอีก แต่ให้ต้มด้วยแก๊สหุงต้มแทน โดยปกติบ้านหลังนี้จะใช้แก๊สหุงต้มเดือนละประมาณ
100 บาท  ดังนั้น ถ้าเราต้มน้ำเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ค่าแก๊สก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย  ต่างกับเรื่องค่าไฟฟ้าอย่างสิ้นเชิง

แม้ว่า เราได้เปลี่ยนการใช้ดังกล่าวแล้ว พลังงานไฟฟ้าก็ยังเกินเกณฑ์มาอีก
0.6 หน่วย   ดังนั้นเราต้องลดการใช้อย่างอื่นอีก เช่น ลดการรีดผ้าลงจากเดือนละ 2 ชั่วโมงให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมง (โดยปกติชาวชนบทไม่นิยมรีดอยู่แล้ว) ก็จะสามารถลดลงมาได้อีก 1.2 หน่วย

ถ้าทุกอย่างแม่นจำตามนี้จริง เราก็ใช้ไฟฟ้าเพียงเดือนละ
89.4 หน่วยเท่านั้น นั่นคือเราไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเลย  อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท เราควรจะอ่านและจดมิเตอร์ทุก 10 วัน หากการใช้เกิน 30 หน่วยในแต่ละครั้ง เราก็ลดการใช้ลงมาให้อยู่ในเกณฑ์ให้ได้   ถ้าจำเป็นเราอาจต้องหุงข้าววันละครั้ง โดยอีกสองมื้อที่เหลือเราก็แค่อุ่นข้าวเย็นให้ร้อนก็ต้องยอม

ผมไม่ทราบข้อมูลว่า มีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนกี่รายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ แต่ข้อมูลต่อไปนี้พอจะทำให้เราทราบอย่างคร่าว ๆ ได้

จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศมีทั้งหมด
14 ล้านราย (หรือมิเตอร์) ร้อยละ 73 (หรือ 10.2 ล้านราย)ใช้ไฟฟ้ารวมกันเพียง  8% ของทั้งประเทศ (ปี 2552 ทั้งประเทศใช้ 134,793 ล้านหน่วย) จากข้อมูลนี้เราสามารถคำนวณได้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้อยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าเดือนละ 88 หน่วย  ดังนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้น่าจะอยู่ที่ 6 ถึง  7 ล้านราย คิดเป็นรายได้ที่รัฐของเสียไปประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อเดือน

โครงการนี้ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยได้รับประโยชน์ถึงประมาณ
6 ถึง 7 ล้านราย (หรือ 18 ถึง 20 ล้านคน) ก็จริง   แต่ยังมีผู้ยากไร้อีกจำนวนมากที่ไม่มีมิเตอร์ของตนเองและต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าอัตราปกติเพราะต้องพ่วงสายไฟฟ้ามาจากบ้านอื่น คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากโครงการประชานิยมนี้เลย

อย่างไรก็ตาม แนวคิดการบริหารจัดการไฟฟ้าภายในบ้านของตนเองไม่ให้เกินเดือนละ
90 หน่วย ตามที่บทความนี้ได้เสนอไปแล้ว นอกจากช่วยให้ประหยัดเงินของตนแล้ว  ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนได้อีกด้วย ดังนั้นถึงไม่สนับสนุนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง โอเคนะครับ
 
 
 

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลกเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์…
ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง…
ประสาท มีแต้ม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน” (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า“อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น”…