Skip to main content



เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน และประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ โดยมีการเลือกตั้งเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง เป็นการเปิดโอกาสให้แก่สามัญชนเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเองผ่านการลงคะแนนเสียงตามความเห็นโดยอิสระว่าจะเลือกผู้ใดเป็นตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยบริหารกิจการทั้งปวงของประเทศชาติ

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่อาจยืนยันได้ว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งจะมีความชอบธรรมในทุกด้าน  เพียงแต่ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีรูปแบบอื่นใดที่ดีไปกว่าการเลือกตั้งในกระบวนการถ่ายโอนอำนาจเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้

การเลือกตั้งไม่เพียงแต่เป็นการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาเท่านั้น แต่เป็นการตัดสินใจที่จะเลือกแนวทางการพัฒนาประเทศ คือการตัดสินใจเลือกนโยบายพรรคการเมืองที่นำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

นานนับศตวรรษมาแล้วนานาอารยะประเทศทั่วโลกได้ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการเลือกตั้งจนกลายเป็นสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย  แต่สำหรับประเทศไทยมีการเรียกร้องประชาธิปไตยกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2451) แต่กลับถูกขัดขวางอยู่เสมอ  รัชกาลที่ 5 ทรงตรัสว่า  การมีระบบรัฐสภา ขณะที่เรามีคนไม่รู้พอ  ย่อมนำไปสู่การทุ่มเถียงกัน  การงานแผ่นดินก็ไม่สำเร็จไปได้  สมัยรัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์ของพระองค์พอจะสรุปได้ว่าประชาชนยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย  การเลือกตั้งไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพ  ประชาชนอาจเลือกตั้งบุคคลที่ไม่เหมาะสมขึ้นมาเป็นผู้แทน  พรรคการเมืองอาจติดสินบนซื้อเสียง   ดังนั้นพวกมีเงินมากจะได้เปรียบ  การไม่ตอบสนองต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยเป็นต้นเหตุแห่งการปฏิวัติสยาม  เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช  มาเป็นประชาธิปไตยรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

แต่ทว่าตลอดระยะเวลา 81 ปีของประชาธิปไตยกลับถูกทำลายด้วยการรัฐประหารถึง 20 ครั้ง  ด้วยข้ออ้างซ้ำซากแบบเดิมคือ  การเลือกตั้งมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  พอได้เป็นรัฐบาลจึงทุจริต  โกงกิน  เช่นเดียวกันกับนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  และคณะ  กปปส.  ซึ่งพยายามขัดขวางการเลือกตั้งด้วยเหตุผลเก่าซ้ำซากคือดูถูกเหยียดหยามประชาชนว่ายังไม่พร้อม  ขาดการศึกษา เป็นคะแนนเสียงด้อยคุณภาพ  หลักการเท่าเทียมของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใช้ไม่ได้กับประเทศไทย  ไม่เหมือนพวกผู้ลากมากดีทั้งหลาย ซึ่งกำลังชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง  เพื่อจะได้มีรัฐบาลพระราชทานและสภาพประชาชนที่มาจากการแต่งตั้งกันเองของพวกอภิสิทธิ์ชน  ซึ่งโฆษณาชวนเชื่อกันว่า เป็นผู้ดีมีศีลธรรมสูงส่ง  คุณธรรมเหลือล้น  เป็นคนดีสะอาดสะอ้าน  จุติมาจากสรวงสวรรค์

ในความเป็นจริงประชาธิปไตยของไทยเราได้ผ่านการต่อสู้เรียกร้องมีการเลือกตั้ง  ดังเช่น  การเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งระหว่าง 15 – 18 พฤษภาคม 2535 ทั้งสองเหตุการณ์ประชาชนสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อไปจำนวนมากมาย  จนนำมาสู่การปฏิรูปการเมืองบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในด้านต่าง ๆ ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของเมืองไทย  แต่แล้วก็ถูกฉีกทำลายจากคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ลงไป
กลุ่ม กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 ด้วยการปิดกั้นการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มีการปะทะกันจนเสียชีวิต 1 คน คือ นายสุทิน  ธราทิน  แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) โดยรวมแล้วไม่สามารถจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ 10 จังหวัด ในเขตกรุงเทพมีการขัดขวางจนต้องยุติลง มี 45 เขตจาก 50 เขตเลือกตั้ง

ข้ออ้างเรื่องการเลือกตั้งมีการใช้เงินซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นความเข้าใจที่ผิด และเป็นมายาคติที่เกิดจากการปลุกระดมมวลชน ดังที่ ศ.ดร.ผาสุก  พงษ์ไพจิตร เปิดเผยถึงงานวิจัยจากการลงพื้นที่สำรวจทั่วประเทศพบว่า เงินซื้อเสียงมีผลต่อการตัดสินใจของคนน้อยมาก มีคนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่คิดว่าเงินซื้อเสียงมีผลต่อการตัดสินใจ  ศ.ดร.ผาสุก ยังกล่าวอีกว่า “การเลือกตั้งหลายระดับในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาทำให้ประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะต่างจังหวัดเรียนรู้ว่าการเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 เสียง มีผลต่อชีวิตของเขามากมายคือ สามารถพลิกชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เห็นมีเม็ดเงินจากส่วนกลางลงไปท้องที่

ในความเป็นจริงอีกประการหนึ่งก็คือ คณะกรรมการเลือกตั้งมาจากการสรรหาของศาล และองค์กรอิสระซึ่งเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทย และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 237 เป็นยาแรงหากใครทำผิดกติกาการเลือกตั้งสามารถยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิการเมืองกันแบบเหมาเข่งกันทั้งหมด แต่การที่พรรคเพื่อไทยยังได้การสนับสนุนจากประชาชนก็เพราะนโยบายประชานิยม และการทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ไม่ใช่เรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงตามที่มีการกล่าวหา และกรอกหูชาวบ้าน จนทำให้เรื่องเท็จเป็นเรื่องจริง กลายเป็นความเชื่ออย่างสนิทใจที่จะร่วมหัวจมท้าย ขัดขวางการเลือกตั้งอย่างป่าเถื่อน
การรัฐประหารและการแต่งตั้งคนดีมีศีลธรรมสูงส่งที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นพวกโจรเข้ามาปล้นสะดม  สร้างความวิบัติหายนะให้กับบ้านเมือง เลวร้ายยิ่งกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก

ข้อเสนอปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง เพื่อนำมาสู่การจัดตั้งสภาประชาชนและนายกพระราชทานตามความต้องการของกลุ่ม กปปส. โดยเนื้อแท้แล้วก็คือการทำลายประชาธิปไตย แล้วสถาปนารัฐเผด็จการสมมุติเทพ  วิธีการบีบบังคับด้วยความโอหังนักเลงโต  คุกคามสิทธิเสรีภาพของคนอื่นย่อมไม่ใช่วิถีทางการปฏิรูป  หรือการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามได้

เมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยที่เป็นประชาธิปไตยด้วยสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค  แต่ขณะนี้กลับมีพวกอันธพาลการเมือง ซึ่งมีกองทัพ และตุลาการสมรู้ร่วมคิด ออกมาอาละวาดบนท้องถนนทำให้เกิดรัฐล้มเหลว (Failed  State) นำสังคมไทยสู่ยุคมืดมนอนธกาล ความพยายามดิ้นรนจนตัวไม่มีขนของคนเหล่านี้ สุดท้ายคือสงครามกลางเมือง (Civil War) และความวิบัติหายนะที่ระบาดไปทุกหย่อมหญ้า

 

 

28 มกราคม 2557

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 สมยศ  พฤกษาเกษมสุข1 ธันวาคม 2556
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ทั่วโลกกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี แต่ปัญหาความรุนแรงต่อสตรียังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในทุกมิติของสังคมไทย
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข13  พฤศจิกายน  2556  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
แม้การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งจะดูโง่เง่าสุดพระเดช พระคุณเพียงใด ผู้เขียนมองเห็นความฉลาดอย่างหนึ่งของ การกระทำอันอุกอาจในครั้งนี้ของนักการเมืองพรรคเพื่อไทย คือ ฉลาดที่จะลืมคราบเลือดและน้ำตาของประชาชน และเลือกที่จะตกลงผลประโยชน์ได้เสียกันกับฝ่ายอำมาตย์ทันที โดยไม่ต้องเสียแรงสู้ให้เหนื่อย ไม่ต้องเสี่ยงเสียเลือดเสียเนื้อ เสี่ยงติดคุกติดตะราง เหมือนประชาชนที่ร่วมต่อสู้กันมา นั้นเอง
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  สมยศ  พฤกษาเกษมสุข4  ตุลาคม 2556 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข3 กันยายน 2556 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 สมยศ  พฤกษาเกษมสุข22  มิถุนายน 2556