Skip to main content

หมายเหตุ -  ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หรือ ไทบุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อ่านบทความของพ่อชิ้นนี้ภายในงานเสวนา “การปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีแห่งการถูกคุมขังของสมยศ จัดที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557

เป็นเวลาสี่ทุ่มแล้ว ผู้ต้องขังทุกคนนอนหลับใหลใต้แสงไฟนีออนสว่างจ้า แต่คืนนี้ผมนอนไม่หลับ มียุงสองตัวบินวนส่งเสียงหวีดหวิวอยู่ข้างหู ผมลุกขึ้นนั่งกอดเข่าอย่างเดียวดาย นึกถึงภาพความทรงจำที่เคยโลดแล่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก่อนการถูกจับกุมคุมขัง ผมเคยนอนดึกดื่นเพื่อเร่งปิดต้นฉบับนิตยสาร Voice of Taksinและ Red  Power ทุกสัปดาห์ เป็นความเหน็ดเหนื่อยแต่ก็คุ้มค่าด้วยยอดขายถึง 30,000 ฉบับต่อครั้ง หลายฉบับเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง หรือในบางฉบับถูกโจมตีว่าเป็นสื่อของขบวนการล้มเจ้า แต่นิตยสารนี้กลับมียอดขายสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสื่อเสรีภาพที่ตอบสนองต่อกระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิ  เสรีภาพ  ความเสมอภาค และประชาธิปไตยในปีนั้น

ระหว่างปี 2535 – 2548  ผมเดินทางรอนแรมไปพำนักอาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร  ปทุมธานี  สมุทรปราการ อยุธยา ได้มีโอกาสเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกร ซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบ มีชีวิตที่ทุกข์ยากแสนสาหัส  อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นำมาสู่ความแตกต่างทางชนชั้น และความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทย  ผมได้ใช้เวลาส่วนใหญ่เคียงบ่า เคียงไหล่กับคนทุกข์ยากเหล่านี้ในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิมให้ได้ค่าจ้างที่ยุติธรรม มีสิทธิเสรีภาพ  สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  หลายปีที่ผ่านไปจากการต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยแม้ว่าจะยังไม่ได้มาตรฐานสากล  แต่ก็มีการปรับปรุงดีขึ้นตามลำดับ เช่น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมากขึ้น  มีความปลอดภัยในการทำงาน  มีนสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และการประกันสังคม ฯลฯ สามปีมาแล้วที่ผมไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบนี้ได้อีกเลย

ในปี 2551 ผมได้รับเชิญไปเวทีจังหวัดเชียงใหม่ – เชียงราย – ลำปาง ในฐานะแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รุ่นที่สอง เวลานั้นมีแกนนำของจังหวัดอยู่แค่ 5 – 10 คนเท่านั้น  จัดการชุมนุมต้านรัฐประหารใช้เวทีและเครื่องเสียงขนาดเล็กที่ลงทุนทำกันเอง แต่ละครั้งมีคนฟังอยู่ราว   20  คน  แต่แกนนำเหล่านั้นก็ไม่ได้ย่อท้อ  สิ้นหวัง  ยังคงตระเวนจัดชุมนุมไปตามที่ต่าง ๆ ผมไปร่วมด้วยเกือบทุกครั้ง บางครั้งไม่มีคนฟังเลยก็มี จนกระทั่งครั้งสุดท้ายสำหรับผมเดือนกันยายน 2553 มีชาวเชียงใหม่นับหมื่นคนออกมาเดินขบวนและชุมนุมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองซึ่งขณะนั้นแกนนำ นปช. ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ  นี่ก็เป็นเวลาสามปีแล้วที่ผมไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปเชียงใหม่ – เชียงราย เหมือนที่เคยผ่านมา

จากภาคเหนือมาที่ภาคใต้ ในปี 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงที่นั่นยังไม่มี ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรงานสัมนนาของการจัดงานรำลึกโศกนาฏกรรมถังแดง  ในเขตรอยต่อพัทลุง – ตรัง ในอำเภอกงหลา จังหวัดพัทลุง ระหว่างปี 2518 – 2519 ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกทหารจับขึ้นเฮลิปคอปเตอร์แล้วถีบลงมาในเขตป่าเขา และจับมาทรมานเผาให้ตายทั้งเป็นในถัง ผมได้มีโอกาสพูดคุยและร่วมก่อตั้งกลุ่มคนเสื้อแดงขึ้นที่นั่น ผมเดินทางไปหลายครั้งด้วยกัน ถัดมาอีกเพียงปีเดียว มีการจัดโรงเรียน นปช. ภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมนับพันคน แต่ผมไม่มีโอกาสไปเข้าร่วมและขาดการติดต่อกับกลุ่มคนเสื้อแดงภาคใต้ผ่านมา 3 ปีด้วยกัน

ผมชอบกินอาหารพื้นบ้านอีสานทุกชนิด ชอบอัธยาศัยมิตรไมตรีหากมีโอกาสรับเชิญหรือได้รับการติดต่อไปที่นั่นด้วยเพราะเหตุไม่มีแกนนำ นปช. คนใดไปได้ ผมยินดีจะเดินทางไปเข้าร่วมที่นั่น ผมชอบขับรถไปบนถนนมิตรภาพที่ทอดยาวออกไป ง่วงนอนก็หลับใต้ต้นไม้ข้างทาง หรือไม่ก็แวะร้านกาแฟสดตามปั๊มน้ำมันจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานประชุม  สัมมนา  พบปะสังสรรค์ การชุมนุมปราศรัย จากคนเพียงไม่กี่คน กลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่โต ด้วยการต้อนรับที่อบอุ่น และมิตรภาพที่เป็นพลังการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย

สำหรับภาคกลาง และภาคตะวันออกเช่นกันที่ผมตระเวนไปทุกที่ในชลบุรี  พัทยา  ระยอง  จันทบุรี  กลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย ขยายตัวเติบใหญ่ทุกสาขาอาชีพ  ทั้งคนจน คนรวย ถัดจากนี้ไปภาคตะวันตกจากนครปฐม  ราชบุรี  และกาญจนบุรี  เวทีประชาชนได้ร้อยรัดพลังการต่อสู้เข้าด้วยกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ที่ทุกคนปรารถนา  ผมไม่ใช่เป็นคนมีวาทะศิลป์เป็นเลิศ ไม่ได้มีชื่อเสียง หรือเป็นแกนนำใหญ่โตแต่ประการใด เพียงแต่ผมมีโอกาศสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในโอกาสต่าง ๆ กัน ทุกหนแห่งทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการสังคม และความเปลี่ยนแปลงเป็นไปของบ้านเมือง ได้เรียนรู้ถึงสาเหตุแห่งความอยุติธรรมที่มีระบอบอำมาตย์ขัดขวางการพัฒนาของประเทศ ได้เรียนรู้ถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองจากความหมายของคำว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่การเรียนรู้ร่วมกันแบบนี้ขาดหายไปกว่าสามปีแล้ว

ผมไม่ได้เป็นแกนนำ หรือแกนนอน ไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้ปรารถนาลาภยศสรรเสริญใหญ่โต  ผมเป็นคนธรรมดาที่ทำหน้าที่ของชีวิตความเป็นมนุษย์ในฐานะพลเมืองที่รักชาติ รักประชาธิปไตย ผมปรารถนาสังคมใหม่ที่มีความยุติธรรม มีสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียม ไม่มีการหลอกลวง ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร  และสันติสุข  ผมจึงทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เต็มกำลังความสามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชน ไม่ว่าจะทำงานในฐานะสื่อสารมวลชน หรือการเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมการรวมกลุ่มกรรมกร  ชาวนา  ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

ผมมองออกไปนอกห้องขัง บนท้องฟ้ามืดสนิท ดวงจันทร์สีเหลืองหม่นหมอง คืนนี้ไร้แสงดาวประกายแสง ผมคิดถึงลูกสองคน และเมียที่บ้าน แม้ว่าก่อนการจับกุมคุมขังผมมีเวลาไม่มากนักในหนึ่งสัปดาห์แทบไม่ได้อยู่ด้วยกันเลย เพราะการทำงานที่รีบเร่ง และงานสังคม แต่ที่นี่เราอยู่ด้วยกัน ได้กินอาหารที่ทำกันเอง ได้ส่งลูกสองคนไปโรงเรียนตั้งแต่เล็กจนเติบโต ครอบครัวของเราไม่ยากจนขัดสน แต่ก็ไม่ร่ำรวยมาก ผมจึงมีโอกาสทำงานให้กับสังคม ผมภูมิใจที่ลูกสองคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศิลปากรได้ระหว่างที่ผมถูกจองจำอยู่ในคุกตะราง  นี่เป็นเวลาสามปีแล้วที่เราพลัดพรากจากกัน เป็นความเจ็บปวดรวดร้าวในชีวิตที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความยินดีฉลองในความสำเร็จ และความก้าวหน้าของลูกทั้งสอง

ผมถูกจับกุมคุมขัง และถูกยัดเยียดข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากผมได้ประกาศว่ามาตรา 112 ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และจะรวบรวมรายชื่อประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112   มีการออกหมายจับโดยผมไม่รู้ตัวมาก่อน แม้พยายามขอประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญถึง 15 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ถูกปฏิเสธ เป็นการเลือกปฏิบัติเมื่อเปรียบเทียงกับกรณีอื่นแบบเดียวกัน  ผมจึงต้องต่อสู้แม้ว่าจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานสักเพียงใดก็ตาม  ทั้งนี้เพื่อยืนยันในสิทธิเสรีภาพที่ติดตัวผมมาตั้งแต่เกิดเป็นคนแล้ว

การต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดจากศาลชั้นต้นถึงศาลฎีกา  ไม่เพียงแต่ต้องทุกข์ทรมานยาวนานต่อไปอีก แต่ยังไม่ได้รับสิทธิเหมือนนักโทษคนอื่น ๆ แม้แต่ในกลุ่มนักโทษการเมืองด้วยกัน เช่น ถูกขังรวมกับนักโทษทั่วไป  ไม่ได้รับสิทธิเลื่อนชั้นนักโทษเพื่อลดโทษตามระเบียบราชทัณฑ์  ไม่ได้รับสิทธิพระราชทานอภัยโทษ  ไม่ได้รับสิทธิการฝึกอาชีพระหว่างจำคุก ฯลฯ

ผมอาจได้รับความเมตตาสงสารให้ได้รับอิสรภาพ  หากผมยอมรับสารภาพด้วยการปรักปรำตนเอง  หรือปรักปรำผู้อื่นตามความประสงค์ของผู้อยู่เหนืออำนาจรัฐ  หากเป็นเช่นนี้อิสรภาพที่ได้มาจะมีคุณค่า มีความหมายได้อย่างไรกันเล่า? เพราะเท่ากับว่าผมต้องตกอยู่ในกรงขังแห่งมโนธรรมของตนเอง และเป็นการกระทำความผิดต่อทุกคนที่ใฝ่ฝันถึงสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคตลอดไป

ผมเลือกที่จะทุกข์ทรมานเพื่อต่อสู้กับกฎหมายไม่เป็นธรรมและกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล  จนกว่าคดีจะถึงที่สุดแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะได้คำตอบจากความฉ้อฉลเหมือนเดิมหรือไม่ก็อาจจะต้องจบชีวิตลงก่อนการตัดสินคดี  ผมอาจตายไปเสียก่อน แต่สัจจะ และความจริงยังคงอยู่นิรันดร์ไป

สามปีแล้วที่เราต้องพรากจากกัน ราตรีนี้ผมนอนไม่หลับ ท้องฟ้าคืนนี้มืดสนิท  ยิ่งดึกดื่นยิ่งดำมืดมากขึ้นเท่าไหร่  อรุณรุ่งเช้าของวันใหม่ยิ่งมาถึงเร็ววันมากยิ่งขึ้น

 


20 มีนาคม 2557

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข แปลบทความในThe  Economist  เรื่องของ ลักษมี  ซีกัล  (ร้อยเอกลักษมี) หมอ และนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ที่ได้ มรณกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  (อายุ  97  ปี) 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  "บรรดาคนเป็น  ที่มีชีวิตอยู่ได้แต่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์  ในที่สุดพวกเขาเป็นได้แค่ลิ่วล้อสถุลของระบบการเมืองแบบเก่าเท่านั้น"
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บทกวีที่หลุดรอดจากลูกกรงแดนตารางถึงเหยื่อมาตรา112ผู้จากไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บี.เจ.ลี (B.J.LEE) ถอดความภาษาไทยโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจากนิตยสาร Newsweek 6 สิงหาคม, 2012   
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข    
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อแกนนำคนเสื้อแดง บรรณาธิการนิตยสาร Red Powerและนักโทษการเมือง ม.112 มองทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านลูกกรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าถึงชีวิตในเรือนจำของเพื่อนร่วมชะตากรรม สุชาติ นาคบางไซ  แกนนำ นปช.รุ่น 2 นักโทษการเมืองคดี ม.112 กำลังรออิสรภาพที่ดูเหมือนว่ามันกำลังใกล้ที่จะมาถึง