Skip to main content

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณได้ประกาศว่า มติที่ประชุมแกนนำผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั่วประเทศจะทำการเผด็จศึก หลังจากปปช.ชี้มูลความผิดรักษาการนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์กรณีจำนำข้าวหรือในกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยจะทำการยึดอำนาจแล้วสถาปนาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้แต่งตั้งรัฐบาลและสภานิติบัญญัติหรือสภาประชาชน นำขึ้นทูลเกล้าต่อพระมหากษัตริย์ และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการด้วยตนเอง

นายสุเทพยังกล่าวด้วยว่า เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว คำสั่งรัฎฐาธิปัตย์ถือเป็นกฎหมาย เหมือนกับจอมพลสฤษดิ์ คือคำสั่งเป็นกฎหมาย “จำได้ไหม คำสั่งที่ 17 เอาคนไปยิงเป้าก็ได้” “เราจะสั่งยึดทรัพย์ตระกูลชินวัตรหมดเลยในวันนั้น” นายสุเทพได้พูดปราศรัยด้วยความมั่นใจที่จะแย่งชิงรัฎฐาธิปัตย์มาได้

อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศก็คืออำนาจอธิปไตย อันประกอบไปด้วยฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ส่วนกลุ่มคนหรือบุคคลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยก็คือ รัฎฐาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงเป็นผู้มีอำนาจรัฐสูงสุด เป็นที่เข้าใจผิดกันมาโดยตลอดว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงประชาชนเป็นเจ้าของรัฎฐาธิปัตย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (Absolute Monarchy) โดยมีกษัตริย์เป็นรัฎฐาธิปัตย์ขนานแท้หนึ่งเดียวในประเทศไทยมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย

ถึงแม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นเพียงอำนาจฝ่ายบริหารที่ถูกควบคุมเบ็ดเสร็จผ่านกลไกทั้งในด้านกฎหมาย และประเพณีปฏิบัติ จะเห็นได้ว่าในรอบ 80 ปีที่ผ่านมามีการรัฐประหาร 16 ครั้งด้วยกัน ส่วนใหญ่มักจะอ้างเหตุผลเพื่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์อยู่เสมอ

ในขณะเดียวกัน คณะรัฐประหารแต่ละครั้งจะต้องเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐประหารให้มีอำนาจออกคำสั่ง เป็นกฎหมายได้ คณะรัฐประหารซึ่งโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วสถาปนารัฐเผด็จการขึ้นมานั้นยังไม่ใช่รัฎฐาธิปัตย์อยู่ดี

แม้แต่ระบบราชการที่เป็นกลไกการบริหารงานของรัฐบาลยังมีความหมายมาจากคำว่า “ราชา” กับคำว่า “การ” หรือก็คือ กิจการของราชา ในประเทศที่มีการปกครองแบบประธานาธิบดี จะใช้คำว่า “รัฐการ” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “public service” หมายถึงการบริการสาธารณะ ดังนั้นในสังคมไทย ข้าราชการ จึงมักอ้างตนเองเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นพนักงานของรัฐ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเหมือนประเทศที่มีการปกครองแบบประธานาธิบดี

ในอีกด้านหนึ่ง การดำรงตำแหน่งของข้าราชการระดับสูงจะต้องได้รับการโปรดเกล้า มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเสียก่อน จึงจะดำรงตำแหน่งทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้ ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงจะต้องไม่ให้เกิดความบาดหมางกับข้าราชการเหล่านี้ เพราะรัฐบาลอาจถูกถอดถอนลงไปได้อย่างง่ายดาย

สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในสังคมไทยมากว่า 700 ปีแล้ว ฐานอำนาจของกษัตริย์จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเกื้อหนุนให้มีความชอบธรรมและมีอำนาจสูงสุด อันหมายถึงกษัตริย์เป็นเจ้าของและผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งในด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ โดยมีขุนนางเป็นผู้รับสนองพระบรมราโชบาย จริงอยู่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย แบบรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในเวลานั้นคณะราษฎรพยายามลดทอนพระราชอำนาจด้านต่างๆ เพื่อให้มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) แต่ทว่าในเวลาถัดมาอีก 15 ปี คณะราษฎรก็ถูกกวาดล้างจนหมดสิ้นไป สถาบันกษัตริย์จึงมีความเข้มแข็งด้วยพระบารมียิ่งใหญ่ไพศาลทั่วราชอาณาจักร

ฐานอำนาจของกษัตริย์ที่เกิดจากสถาบันทางการเมือง เริ่มตั้งแต่การสร้างราชอาณาจักร ทหารมีบทบาทในการสู้รบเพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักร และแผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง เมื่อราชอาณาจักรเข้าสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ (Nation state) พวกขุนนางและบรรดาขุนศึกทั้งหลายกลายเป็นระบบราชการ ครั้นเมื่อเกิดสถาบันการเมืองแบบใหม่ เช่นพรรคการเมือง และกลุ่มกดดัน (Pressure group) ฐานอำนาจจึงขยายไปสู่สถาบันอื่นนอกเหนือจากระบบราชการอีกด้วย

ในด้านฐานอำนาจทางการทหาร รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์ดำรงตำแหน่งเป็นจอมทัพไทย เท่ากับเป็นการยอมรับว่ากษัตริย์เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยใช้พระราชอำนาจผ่านรัฐมนตรีกลาโหมด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชอำนาจประกาศใช้และยกเลิกกฎอัยการศึกตลอดจนพระราชอำนาจในการแต่งตั้งถอดถอนข้าราชการทหาร

ฐานอำนาจทางด้านกฎหมาย รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติว่า กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ จึงไม่อาจฟ้องร้องทางใดทางหนึ่งได้ และยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ห้ามไม่ให้ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทัณฑ์อย่างรุนแรงอีกด้วย

ฐานอำนาจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกษัตริย์คือการเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตทุกอย่างในราชอาณาจักร ที่เรียกกันว่าระบบศักดินา (Feudalism) รวมถึงการเกณฑ์แรงงานทาส ไพร่ การจัดเก็บภาษี และการผูกขาดการค้าระหว่างประเทศ ในปัจจุบันได้จัดองค์กรและหน่วยงานตามระบบสมัยใหม่เพื่อดูแลทรัพย์สินและนำไปลงทุนก่อให้เกิดผลกำไรทางธุรกิจ

ฐานอำนาจด้านสังคม ด้วยระบบการศึกษาและการสื่อสารมวลชน ได้ขัดเกลาหล่อหลอมผู้คนในสังคมให้เป็นพสกนิกรใต้ร่มพระบารมี กษัตริย์จึงเป็นที่เคารพรักใคร่ ใครที่วิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านสถาบันกษัตริย์จะถูกประชาชนออกมาต่อต้านด้วยการตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นคนนอกคอก เป็นขยะของแผ่นดิน กระทั่งถูกลอบทำร้ายชกต่อย หรือสังหารให้ตายไปเหมือนผักปลา ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายหนในเมืองไทย

ในด้านตุลาการก็เช่นเดียวกัน การพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการในพระปรมาภิไชยพระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ และทรงให้พ้นจากตำแหน่งเว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย ก่อนเข้ารับหน้าที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ผู้พิพากษาระดับสูง เช่นประชาชน ศาลฎีกา หลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว ยังได้เข้าไปดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกด้วย

ฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมย่อมหนุนเสริมอำนาจทางการเมืองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่ารัฎฐาธิปัตย์ที่แท้จริง ก็คือกษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ ไม่มีใครทัดเทียมได้ ข้อเสนอของคณะรัฐบุคคลในการขอพึ่งพาพระบารมี หาทางออกให้กับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง เป็นการยืนยันได้ว่ากษัตริย์คือรัฎฐาธิปัตย์ขนานแท้ที่ดำรงอยู่จริงในสังคมไทย

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข แปลบทความในThe  Economist  เรื่องของ ลักษมี  ซีกัล  (ร้อยเอกลักษมี) หมอ และนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ที่ได้ มรณกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  (อายุ  97  ปี) 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  "บรรดาคนเป็น  ที่มีชีวิตอยู่ได้แต่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์  ในที่สุดพวกเขาเป็นได้แค่ลิ่วล้อสถุลของระบบการเมืองแบบเก่าเท่านั้น"
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บทกวีที่หลุดรอดจากลูกกรงแดนตารางถึงเหยื่อมาตรา112ผู้จากไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บี.เจ.ลี (B.J.LEE) ถอดความภาษาไทยโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจากนิตยสาร Newsweek 6 สิงหาคม, 2012   
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข    
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อแกนนำคนเสื้อแดง บรรณาธิการนิตยสาร Red Powerและนักโทษการเมือง ม.112 มองทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านลูกกรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าถึงชีวิตในเรือนจำของเพื่อนร่วมชะตากรรม สุชาติ นาคบางไซ  แกนนำ นปช.รุ่น 2 นักโทษการเมืองคดี ม.112 กำลังรออิสรภาพที่ดูเหมือนว่ามันกำลังใกล้ที่จะมาถึง