Skip to main content

 ปราโมทย์  แสนสวาสดิ์


1

เม็ดฝนโปรยปรายยืดเยื้อมาตั้งแต่เมื่อวาน กระทั่งถึงช่วงเช้าก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้บรรยากาศจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชา  บริเวณด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ เวลานี้ดูเทาทึบและเหงาหม่นไปตามอารมณ์ของฟ้าฝน ซึ่งแตกต่างกับในยามปกติที่นี่..จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งสองฝั่งที่เดินทางไปหาสู่กันเป็นประจำด้วยเหตุผลต่างๆกัน บางคนเข้ามาค้าขาย  บางคนเป็นนักเสี่ยงโชคกระเป๋าหนัก บางคนเป็นนักลงทุนผู้มองการณ์ไกล บางคนเข้ามาเยี่ยมญาติ บางคนค้าของเถื่อน หรือบางคนหนีความกันดารอดอยากเข้ามาขายเรือนร่างในเมือง กระทั่ง บางคนเป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางแบบภาคพื้นดินเพื่อเข้าไปสู่ยังกัมพูชา ภาพเหล่านี้ล้วนสะท้อนความเคลื่อนไหวซึ่งบรรจุข้อเท็จจริงของชีวิตผู้คนเมืองชายแดนสองฝั่งไว้ครบถ้วน ลมหายใจของที่นี่จึงหมายถึงการค้าและการท่องเที่ยว 


\\/--break--\>
ได้ยินมาว่าอีกไม่นานจุดผ่านแดนแห่งนี้จะยกเลิกวีซ่า นั่นหมายถึงการผ่านไปมาได้อย่างอิสระและสะดวกสบายของผู้คน จึงนับได้ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการค้าและการลงทุนของภูมิภาคแถบนี้ทีเดียว อย่าได้แปลกใจเลยหากผู้คนที่นี่จะภาวนาให้ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศในขณะนี้จบลงอย่างสันติวิธี เพราะอย่างไรเสีย มิตรย่อมดีกว่าศัตรู และท้องที่หิวย่อมสำคัญกว่าประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม ที่มักถูกหยิบใช้จากพวกฉวยโอกาสทางการเมืองเป็นไหนๆและแน่นอนเมืองชายแดนไม่ว่าที่นี่หรือมุมไหนของโลก
..ไม่มีใครต้องการสงคราม!

การเดินทางสู่กัมพูชาครั้งนี้จุดหมายปลายทางอยู่ที่ นครวัด นครธม จังหวัดเสียมเรียบเป้าหมายนอกจากจะไปเยี่ยมชมคาราวะความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมตะวันออกแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การไปดูบ้านดูเมือง ดูความเปลี่ยนแปลงของเสียมเรียบ เมืองที่กำลังโตวันโตคืนในแง่ของการท่องเที่ยว  นอกจากผม-คนหนุ่มพเนจรแล้ว


การเดินทางครั้งนี้ยังมี ต๋อง-นักพัฒนาเอกชนเครางาม ในเขตงานอีสานใต้ ผู้หลงใหลและศึกษาในภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเอาจริงเอาจัง  ป็อบ-ข้าราชการหนุ่มไฟแรง พูดและรู้ประวัติศาสตร์เขมรได้เป็นอย่างดี มีดีกรีจากรั้วจามจุรีการันตี  เราสามคนถึงที่สุดแล้วแม้อายุอานามจะห่างกันไม่มาก แต่ก็ต้องยกให้ป็อบเป็นผู้นำในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ด้วยเหตุผลเพราะเคยเดินทางมากัมพูชามาแล้วไม่ต่ำกว่าสองครั้งและแตกฉานภาษาเขมรกว่าใคร แต่ที่ถือว่าสำคัญที่สุดนั่นก็คือ เค้าเป็นผู้ที่รอบคอบในการใช้จ่ายนั่นเอง แน่นอน-การเดินทางท่องเที่ยวแบบนี้ย่อมแตกต่างกันกับมาแบบคณะทัวร์อย่างสิ้นเชิง เราจึงต้องวางแผนอย่างรัดกุมในเรื่องของการใช้จ่าย

" ซัวสะเดย " ชายหนุ่มชาวเขมรอ้วนฉุคนนั้น โบกมือกล่าวสวัสดีเป็นภาษาเขมรทันทีที่คณะเราลงจากรถ พร้อมกับเดินเข้ามาทักทาย ต๋องอย่างคุ้นชินและหลังจากนั้นไม่นานไกด์หนุ่มคนเดิมก็จัดแจงเอกสารผ่านแดนและพาเราผ่านขั้นตอนต่างๆในเวลาอันรวดเร็ว รู้ในภายหลังว่าคนหนุ่มดังกล่าวเคยต้อนรับต๋องและคณะ เมื่อครั้งที่เดินทางไปเยี่ยมดูงานที่จังหวัดอุดรมีชัย ซึ่งพาชาวบ้านพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตซึ่งกันและกันฉันท์พี่น้อง มาครั้งนี้เราจึงได้รับการต้อนรับอย่างดี

"ว่าแต่เที่ยวนี้พวกพี่จะไปไหนกันครับ อุดรมีชัยหรือเสียมเรียบ" ชายหนุ่มคนเดิมถามด้วยรอยยิ้มสุภาพ
"เสียมเรียบ"   ผมตอบถึงจุดหมายปลายทาง ขณะยืนรอแท็กซี่มารับหลังจากที่เราเจรจาต่อรองเรื่องค่าเดินทางจนเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย

กล่าวสำหรับการเดินทางเข้าไปยังกัมพูชา ถึงตอนนี้ทางการกัมพูชาไม่อนุญาตในนำรถจากฝั่งไทยเข้าไป เราจึงจำเป็นต้องใช้บริการรถแท็กซี่ สกุลญี่ปุ่น สภาพค่อนข้างดีคันนั้นกับราคา 1,800 บาท ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับระยะทางร่วมสองร้อยกิโลเมตรซึ่งถนนเกือบตลอดทั้งสายยังปูด้วยลูกรังและบางช่วงในตอนนี้ก็แปรสภาพเป็นบ่อโคลน อย่างไรก็ดีการเดินทางแบบนี้ก็เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเห็นสัมผัสวิถีชีวิตสองข้างทาง เพราะเส้นทางดังกล่าวเมื่อกางแผนที่ดูนอกจากจะผ่านหมู่บ้านชนบทมากมายแล้ว ยังผ่านโบราณสถานที่เก่าแก่ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักละเลยอีกด้วย 

2

เลยเข้าไปในผืนดินกัมพูชาราวสองกิโลเมตร รถแท็กซี่ก็แวะจอดเติมแก๊ส เพราะต่อจากนี้ไปแทบจะหาปั๊มที่เติมแก๊สไม่ได้เลย ครับ-ไม่ว่าไทยหรือกัมพูชาแก๊สดูเหมือนจะเป็นพลังงานทดแทนที่ประหยัดกว่าน้ำมันหลายเท่า เราออกปั๊มไม่นาน เปลวแดดและฝุ่นดินก็มาแทนที่ฝนทันที กระนั้นรถก็เคลื่อนตัวได้ไม่เร็วเท่าไหร่นักด้วยข้อจำกัดของถนนหนทางนั่นเอง ในขณะที่สองข้างทางเราผ่านหมู่บ้านน้อย ใหญ่เป็นระยะๆตัดสลับด้วยทุ่งนาเขียวขจี  และรถต้องจอดเป็นช่วงๆเพื่อเปิดทางให้ฝูงวัวของชาวบ้านข้ามไปยังอีกฝากหนึ่งของถนน ไกลออกไป เป็นต้นไม้และภูเขายืนเป็นฉากหลัง นานๆจึงจะมีรถสวนมาสักคัน แต่สิ่งที่สังเกต เห็นชัดนั้นคงจะเป็นสาขาของพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) ของท่านสมเด็จฮุนเซน มีให้เห็นเกือบทุกหมู่บ้านที่เราผ่าน  ทำให้หายสงสัยว่าทำไมท่านจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชายาวนานถึง 24 ปี และมีทีท่าว่าจะยาวนานกว่านี้ นอกจากนั้นก็เป็นบ้านริมถนนที่อาบทาด้วยฝุ่นดินสีแดงจับเขลอะเหมือนสีที่ไม่ได้ตั้งใจทา และสินค้าพื้นเมืองวางขายริมถนนให้เห็นเกือบตลอดทาง

เรามาหยุดแวะพักช่วงสั้นๆ ที่ตลาดจังหวัดอุดรมีชัย เดินเที่ยวชมตลาดสดและถ่ายรูปจนเป็นที่พอใจแล้วจึงเดินทางต่อ  ระหว่างนั้นความเงียบในรถก็ถูกทำลายลงด้วยเสียงเพลงกันตรึม ซึ่งลุงคนขับแกบอกว่าในเนื้อร้องนั้นรำพึงถึงอารมณ์ของชายหนุ่มที่เฝ้ารอการกลับมาของหญิงคนรักที่เข้าไปทำงานในเมือง แม้จะฟังไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไหร่นัก แต่มันก็มากพอที่จะทำให้คิดถึงความตายของหญิงแรงงานชาวเขมรบางคนเมื่อหลายปีก่อนที่ถูกย่างสด หล่อนถูกขังไว้ชั้นบนในเมืองอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของไทย

เรามาแวะอีกครั้งเมื่อรถมาถึงสะพานหินโบราณ ซึ่งมีความยาวกว่าสองร้อยเมตรซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น ซึ่งถ้าไม่สังเกตดูให้ดีๆก็คงไม่รู้หรอกว่านี่คือสะพานหิน คนขับรถเล่าให้ฟังว่าหลังจากที่มีการตัดถนนใหม่ทางเส้นนี้ก็ไม่ค่อยจะมีรถผ่านเท่าใดนัก จึงรกร้างอย่างที่เห็น ในช่วงน้ำลงเราสามารถเห็นภาพแกะสลักข้างล่างสะพานอย่างเด่นชัด เสียดายในช่วงที่เราไปกระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากจนน่ากลัว จึงไม่มีโอกาสได้เห็นความงดงามได้ชัดเจน

หลังจากสามชั่วโมงบนลูกรัง สภาพเส้นทางก็เปลี่ยนเป็นถนนลาดยางนั่นย่อมหมายถึงเราใกล้เสียมเรียบเข้าไปทุกขณะแล้ว ไม่เพียงแต่ถนนที่แตกต่างกันจนลิบลับแล้ว บรรยากาศสองข้างทางก็เปลี่ยนไปด้วย เราเห็นร้านรวงและโรงแรมที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด รถราเริ่มหนาแน่นขึ้น ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาชมความงดงามหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์ได้รังสรรค์ไว้ อย่าง นครวัด นครธมนั่นเอง เคยมีคนประมาณการไว้ว่าที่นี่ต้อนรับนักท่องเที่ยวปีๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน จึงไม่แปลกที่อดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส หรือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น จีน หรือแม้กระทั่งเวียดนามจะเข้ามามีบทบาทลงทุนในกัมพูชาและเสียมเรียบเป็นจำนวนมหาศาล และไทยเองแม้จะเป็นคู่ค้าที่สำคัญประเทศหนึ่งของกัมพูชา แต่ด้วยสภาวะความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหารและทัศนคติของผู้คนที่ถูกปลูกฝังด้วยประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมที่สร้างแต่ความเกลียดชังและดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน ทำให้บรรยากาศในการทำการค้าซบเซามาตลอดในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา

"พักโรงแรมไหนครับ" คนขับรถพูดขณะติดไฟแดงใจกลางเมืองเสียมเรียบ
"อังกอร์รีน่า" ต๋องบอกชื่อโรงแรมที่เราจะพัก
มีเหตุผลอยู่สองสามประการที่เราเลือกโรงแรมดังกล่าว ประการแรก ราคา 28 ดอลลาร์ต่อคืน ถือไม่โหดเกินไปเมื่อเช็คราคากับที่อื่นๆ  ประการต่อมา สถานตั้งของโรงแรมไม่ไกลจากเมืองและนครวัด นครธม มากเกินไปสามารถเดินอ้อยอิ่งทอดอารมณ์ชมเมืองได้ในยามค่ำคืน และประการสุดท้าย ต๋องเคยมาพักที่นี่แล้ว เมื่อครั้งพาชาวบ้านจากสุรินทร์มาดูงาน เค้าประทับใจในอัธยาศัยและการต้อนรับของที่นี่   ด้วยเหตุผลข้างต้น เราจึงตัดสินใจได้ไม่ยากนักสำหรับการเลือก "อังกอร์รีน่า" เป็นที่ซุกหัวนอนตลอดทริป

เสร็จสรรพจากการเก็บสัมภาระเข้าโรงแรม ความมืดและสายฝนก็โรยตัวปกคลุมพร้อมๆกับเสียงทักทายของราตรีในเสียบเรียบ

ร้านนั้นชื่อ red piano วางตัวเองอยู่ตรงสี่แยก pub street เราเลือกนั่งชั้นสองคงไม่มีอะไรไปกว่าการจับชีพจรของย่านนี้และคนย่ำโลกจากต่างแดนในมุมกว้าง อาหารพื้นเมืองรสชาติตะวันตกสองสามอย่างถูกสั่งมาพร้อมกับเบียร์อังกอร์เย็นเชียบ แสงไฟสลัวตัดฉากกับฝนพรำ นกบาดเจ็บตัวนั้นคงหลงทางมันจึงเกาะสายไฟอยู่เนิ่นนาน เยื้องไปอีกมุมถนนมีป้ายรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ขนาดใหญ่ ขณะที่หน้าบาร์อีกมุมหนึ่งของถนน วงมโหรีเขมรกำลังขับกล่อมผู้คนผ่านทางด้วยบทเพลงพื้นถิ่นซ้ำเล่าซ้ำเล่ามันปะทะกับเสียงเพลง HiP HoP ที่ดังกว่าจากร้านข้างๆกันตลอดเวลา ไกลออกไปเด็กหนุ่มเอเชียคนนั้นหน้าตื่นชี้ให้พ่อดู...โชว์ระบำไฟของชายนิรนาม ข้างๆ..หญิงชราอุ้มทารกอ้อนวอนขอเศษเงินจากนักท่องเที่ยว  ผมละสายตาและเรียกเบียร์อังกอร์เพิ่ม และจมไปกับความเคลื่อนไหวของชีวิตผู้คนอีกเนิ่นนาน จนกระทั่งดึกดื่นจึงถอนตัวกลับจากโรงแรม


ก่อนนอนคืนนั้นผมเปิดทีวีไปเจอช่อง BBC ในภาพข่าวรายงานถึงสถานการณ์ความตึงเครียดชายแดนเขาพระวิหารและการตรึงกำลังของทั้งสองฝ่าย..ไม่นานต่อจากนั้นผมก็หลับไปโดยไม่รู้ตัวด้วยความเหนื่อยอ่อนจากการเดินทางที่ยาวไกล
 

3

ใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า  "ฉันคงตายโดยความปราศจากความกังวล  หากวันหนึ่งได้ยลนครวัด " ถึงตอนนี้ผมเห็นด้วยว่าประโยคข้างต้นมิได้กล่าวเกินเลยข้อเท็จจริงเท่าไหร่นัก ทันทีที่ยืนเผชิญหน้ากับประสาทหินโบราณ มันตรึงผมไว้ในภวังค์ราวกับจะพาย้อนเวลาไปเมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน

แดดระอุในเวลาบ่ายกระจายไอความร้อนไปทั่วบริเวณด้านหน้าปราสาท นครวัด รถราวิ่งกันไขว้จนดูน่าเวียนหัว สามล้อจอดเรียงรายกันแน่นขนัดเพื่อรอนักท่องเที่ยวของตน ร่มไม้แทบไม่เหลือที่ว่างเลย เสียงจอแจของนักท่องเที่ยวมีให้ได้ยินเกือบทุกภาษา ขณะที่เด็กน้อยชาวเขมรกลุ่มหนึ่งวิ่งกรูเข้าหานักท่องเที่ยวต่างแดนอวดสรรพคุณและวิงวอนให้ซื้อสินค้าของตน ภาพเหล่านี้มีให้เห็นจนชินตาเสียแล้ว กล่าวสำหรับ คนพื้นถิ่นกับสถานที่ท่องเที่ยวย่อมมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งและยาวนานทั้งในแง่ของวัฒนธรรม ประเพณี และสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ มันเสมือนประหนึ่งมรดกล้ำค่าที่บรรพชนทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลังดูต่างหน้า

คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจไม่น้อย หากข่าวที่ว่าทางการที่นี่กำลังจัดระเบียบร้านรวงชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆปราสาทเสียใหม่ ด้วยเหตุผลเพื่อให้ดูทันสมัย สะอาดหู สะอาดตา แก่นักท่องเที่ยวต่างแดน ถ้าด้วยเหตุผลเพียงแค่นี้คงไม่เสียหายอะไรนัก แต่ถ้าลึกๆจริงๆแล้วเป็นไปเพื่อเปิดทางให้ทุนต่างชาติขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนแทนชาวบ้านเหล่านี้เหมือนกับบางประเทศที่กำลังทำอยู่  ก็นับว่าเป็นเรื่องเสียใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ในช่วงที่ผมและคณะกำลังยืนต่อแถวรอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูบัตรเข้าชมนั้น ผมนึกถึงเรื่องราวความเป็นมาของปราสาทนครวัด ที่เคยอ่านเจอในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนึ่ง บันทึกว่า ปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่
2 ราว พ.. 1650-1693  สันนิษฐานกันว่าใช้เวลานานกว่าสิบปี เพื่อเป็นศาสนกิจในภาษาฮินดูลัทธิ "ไวษณพนิกาย" ซึ่งนับถือพระวิษณุและพระนารายณ์ เป็นใหญ่ และความที่ปราสาทแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าที่นี่น่าจะเป็นที่เก็บพระศพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 อีกด้วย

"ซัวสะเดย" ผมยื่นบัตรให้และกล่าวสวัสดี 
"ออกุน" เสียงเจ้าหน้าที่ตรวจบัตรพูดขอบคุณด้วยยิ้ม

จากนั้นเราก็หลุดเข้ามายังด้านหน้าปราสาทนครวัด มาครั้งนี้เพื่อนร่วมเดินทางอย่าง ต๋องและ ป็อบ นั้นถือว่าเป็นไกด์ได้อย่างสบายๆ เพราะศึกษาและมีความสนใจเป็นพิเศษอยู่แล้ว  กล่าวสำหรับเรื่องราวแกะสลักมหากาพย์ทั้งหลายนั้นรวมกันความยาวทั้ง
4 ด้านแล้ว น่าจะอยู่ประมาณ 600 เมตร ฉะนั้นหากไม่มีพื้นฐานเกี่ยวปราสาทบ้าง ระยะทางดังกล่าวนับว่าค่อนไกลและอาจเดินเพียงเพื่อผ่านๆ โดยไม่ได้ซึมซับเรื่องราวแต่อย่างใด   ตรงข้ามกับหากศึกษาความเป็นมาหรือมีผู้รู้อธิบาย มันจะช่วยให้การเดินชมปราสาทมีความหมายยิ่งขึ้น

ก่อนมุ่งเข้าสู่ตัวปราสาท จะมีสะพานข้ามคูน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดล้อมรอบกำแพงปราสาท  ป็อบ อธิบายว่า การสร้างแบบนี้เป็นไปตามคติอินเดียโบราณที่เชื่อว่าโลกล้อมรอบด้วยมหาสมุทรและมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของโลก เช่นนั้นแล้วคูน้ำก็เปรียบเหมือนมหาสมุทรและองค์ปราสาททั้ง 5 ยอดก็คือเขาพระสุเมรุ   ส่วนระเบียงคดและซุ้มประตูรอบๆก็หมายถึง ภูเขาน้อยใหญ่ที่อยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุนั่นเอง

ระหว่างที่เราเดินเข้าถึงซุ้มประตูชั้นแรก ผมสังเกตเห็นไกด์คนแล้วคนเล่าอธิบายเรื่องราวความเป็นมาของปราสาท นครวัด ด้วยสำเนียงต่างๆ อย่างชัดเจนคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นภาษา ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน หรือแม้แต่ภาษาไทย  ซึ่งไม่ผิดกับเรื่องราวที่เคยได้ยินมาว่า แนวโน้มทิศทางการศึกษาของหนุ่มสาว กัมพูชาจำนวนมากเลือกที่จะเรียนภาษาเพราะนอกจากจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานแล้วยังมีรายได้ดีอีกด้วย

 


กว่าสองชั่วโมง..ที่เราเดินซึมซับเรื่องราวอย่างช้าๆ ผ่านหินก้อนแล้วก้อนเล่าที่แกะสลักขึ้นเป็นเรื่องราวที่ผูกโยงความเชื่อแบบฮินดู  เราเห็นสงครามที่ทุ่งคุรุเกษตรอันเป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์ภารตะ เราเห็นภาพขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งในขบวนมีภาพ "เสียมกุก" ซึ่งเชื่อว่าเป็นภาพชาวสยามในอดีตรวมอยู่ด้วย เราเห็นภาพ นรกสวรรค์ และการพิพากษาของพญายม กระทั่งภาพพระนารายณ์บัญชาการกวนเกษียรสมุทร และเหล่านางอัปสรากว่าสองพันองค์ที่รายล้อมอยู่ทุกซอกทุกมุมของปราสาท ด้วยท่าทางร่ายรำอันอ่อนช้อยเสมือนมีชีวิตจริง หินแกะสลักเหล่านี้มันถูกปลุกขึ้นด้วยช่างสมัยโบราณที่มีฝีมือขั้นเทพ แน่นอนสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปริศนาและยากที่จะหาคำอธิบายได้สำเร็จรูป

  


ช่วงลงจากปราสาท หญิงชราดวงตาพร่ามัวที่นั่งซ่อนตัวอยู่หน้าพระพุทธรูปเศียรขาดคนนั้น ทำให้ผมคิดถึงเนื้อเพลงบางท่อนของคาราวาน 

"ขยมเป็นคนเขมร อยู่เป็น ด้วยชีวิตหวาดไหว
เมืองเขมร วอดวาย พ่อตาย แม่ตาย เพื่อนตาย
สงครามคือความหายนะ อารยะธรรมก็แหลกลงไป
ปราสาทหินกลายเป็นฝุ่นทราย   ศพรายกระดูกเรียงเนียงเอย"

ใช่- วงคาราวานพวกเขาเคยได้รับเกียรติสูงสุดขับกล่อมบทเพลงในนครวัดมาแล้วในปี
2533 ถ้าจำไม่ผิด

เย็นมากแล้วผู้คนเริ่มทยอยออกจากปราสาท นครวัด เพื่อไปให้ทันดูพระอาทิตย์ตกยังปราสาทบาแคง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันเท่าไหร่นัก ความร้อนเริ่มคลายตัวเหลือเพียงลมเย็นปะทะใบหน้า ระหว่างทางกลับหนุ่มโชเฟอร์ชาวเขมรที่พูดไทยได้คนนั้น ตั้งคำถามที่ทำให้เราถึงกับอึ้งว่า

"พวกพี่เสื้อเหลืองหรือเสื้อสีแดงครับ"
"สันติเพียบ สันติเพียบ สันติเพียบ" ใครหนึ่งตะโกนตอบพร้อมรอยยิ้ม ขณะที่รถเคลื่อนจากนครวัดจนลับตา

 

 

 

 

บล็อกของ ที่ว่างและเวลา

ที่ว่างและเวลา
ดอกเสี้ยวขาว เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพี่น้องลาหู่บ้านนาน้อย ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และได้กำลังใจอย่างเต็มเปี่ยมอีกครั้ง เมื่อได้ร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือพิธีมอเลเว ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเคารพธรรมชาติ อย่างนอบน้อม ไก่ หมู ข้าว อาหาร ผลไม้ ของเซ่นไหว้ที่พี่น้องชาวบ้านร่วมกันนำมาบูชา ถูกจัดเตรียมไว้ พร้อมที่จะทำพิธีกรรม บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ กลิ่นธูปได้ลอยคละคลุ้งไปทั่วบริเวณงาน ท่ามกลางความเชื่อที่มีต่อผืนป่า ผีป่า ที่คอยปกปักรักษาดงดอยแห่งนี้   อะโหล ปุแส ผู้นำบ้านนาน้อย ได้อธิบายคำว่า มอ เลเว คำว่า มอ…
ที่ว่างและเวลา
อาภัสสร สมบุลย์วัฒนากุล  เสียงเพลงเดือนเพ็ญจากการขับร้องของฉันจบลง ท่ามกลางเสียงปรบมือของผู้เข้าร่วมงานสามร้อยกว่าคน ที่หอประชุมในมหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา งานนี้ร่วมจัดโดยเพื่อนพ้องจากพม่าที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเพื่อนพ้องคนไทย เพื่อช่วยระดมทุนไปให้พี่น้องชาวพม่าผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิส ฉันบอกพวกเขาว่าฉันไม่ใช่นักร้อง แต่อยากมาร้องเพลง...เพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้ทั้งผู้ประสบภัย และเพื่อนชาวพม่าที่อยู่ในไทย ให้สู้ต่อไปอย่างมีความหวัง คืนนั้น ฉันได้เพื่อนใหม่อีกมากมาย…
ที่ว่างและเวลา
อัจฉรียา เนตรเชยต่อจากตอนที่แล้วผู้เขียนกับเพื่อนชาวเวียดนามถกเถียงกันว่า ความจริงแล้วชาวม้งดำที่นี่ “เวรี่แอ็กทีฟ” ในระบบตลาด แต่ทำไมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ที่โรงแรม ร้านอาหาร หรือมัคคุเทศน์ (ซึ่งก็เป็นธุรกิจหนึ่งในระบบตลาด) แทบจะไม่มีชาวม้งดำเข้าไปเป็นลูกจ้างเลย เพื่อนเวียดนามบอกว่าอาจจะเป็นไปได้ว่าเพราะพวกเขามีการศึกษาต่ำ
ที่ว่างและเวลา
อัจฉริยา  เนตรเชยเมื่อสัปดาห์ก่อนผู้เขียนซึ่งเป็นนักเรียนเรียนภาษาเวียดนามที่ฮานอยได้ใช้เวลา 3 วันไปเป็นนักท่องเที่ยวที่ซาปา (Sa Pa) เมืองในหมอกบนพื้นที่สูงของภาคเหนือของเวียดนาม ภูเขาที่นี่สูงเสียดฟ้าสลับซับซ้อนกันหลายลูกจริงๆ จนภูเขาบ้านเราสมควรถูกเรียกว่า “ฮิล” มากกว่า “เม้าเท่นท์” นาขั้นบันไดก็มีให้เห็นกันอย่างดาษดื่นจนกลายเป็นโลโก้ของเมืองนี้ หมู่บ้านม้งดำ และเย้าแดงกลางหุบเขา น้ำตกและลำธารใสๆที่ไหลผ่านกลางหมู่บ้านมีให้เห็นตลอดสองข้างทาง ทำให้ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนอันสุดแสนจะโรแมนติกของคู่รัก เมื่อต้นปีใครๆ ก็บอกว่าหิมะตกที่ซาปาสวยงามมาก...อยากเห็น (…
ที่ว่างและเวลา
สัมภาษณ์-เรียบเรียง : บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูลรศ.ดร.กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมณ์ เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญภาษาทิเบต ทำวิจัยเรื่องทิเบตมานานนับ 10 ปี เคยเดินกราบอัษฎางคประดิษฐ์ (เดิน 3 ก้าว ก้มกราบ 1 ครั้ง) บนเส้นทางของนักแสวงบุญอันเก่าแก่ทุรกันดาร ณ เขาไกรลาสเป็นระยะทางกว่า 80 กม. ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิพันดารา (Thousand Stars) ซึ่งเป็นองค์กรสร้างการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพุทธศาสนาแบบวัชรยานในสังคมไทย และยังคงเดินทางไปทิเบตอยู่เสมอมิว เยินเต็น บวชเรียนใต้ร่มกาสาวพัตร์ของพุทธศาสนาวัชรยานในบ้านเกิดที่ทิเบตมานาน 27 ปี เป็นผู้ติดตาม อ.กฤษดาวรรณ…
ที่ว่างและเวลา
ภู เชียงดาวพะโด๊ะ มาน ซาห์อดีตเลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง กี่ชีวิต…ที่เคว้งคว้างกลางป่ากี่ร่างที่ผวาลอยละลิ่วลับดับสูญนี่คือผลพวงของสงครามนี่คือการกระทำของศัตรูผู้โหดเหี้ยม ผู้บาปหนาและน่าละอายที่คอยกดขี่ข่มเหง เข่นฆ่า ผู้คนหญิงชาย, บริสุทธิ์ผู้รักสันติและความเป็นธรรมเถิดไม่เป็นไร...เราจะไม่ทุกข์ ไม่ท้อใบไม้ใบหนึ่งถูกปลิดปลิวร่วงหากบนก้านกิ่งนั้นยังคงมีใบอ่อนแตกใบให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันยังคงมุ่งมั่นกันอยู่ใช่ไหม นักรบผู้กล้ากับความฝัน ความกล้าในแผ่นดิน ‘ก่อซูเล’ปลุกเร้าจิตวิญญาณเพื่อสืบสานตำนานการต่อสู้เพื่อรอวันทวงคืนผืนแผ่นดินเกิดยังจำกันได้ไหม...…
ที่ว่างและเวลา
‘ดอกเสี้ยวขาว’   การที่ต้องลำบากเดินลัดเลาะไปตามร่องเขา ไต่ขึ้นไปบนความสูงชัน นานหลายชั่วโมง เพียงเพื่อไปกวาดใบไม้บนสันดอยสูงนั้น หลายคนอาจมองเป็นเรื่องธรรมดาไม่สำคัญ แต่สำหรับผมกลับมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่และไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ที่นั่น, บนสันดอยสูง...พวกเขาช่วยกันกวาดใบไม้ ก่อนที่จะจุดไฟเผา ซึ่งไม่ได้ไปคนเดียว แต่ไปร่วมกันหมดทุกหลังคาบ้าน มีทั้งผู้เฒ่า เด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้นำทางศาสนา ฯลฯ “ตอนนี้ถ้าทางการเขาสั่งห้ามเผาป่า จะทำได้มั้ย?...” ผมลองแหย่ถามชาวบ้าน “แล้วถ้าเขาสั่งห้ามกินข้าว เราจะทำได้มั้ย...ถ้าเชื่อ เราก็ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินอะไรเลย...”…
ที่ว่างและเวลา
เรื่อง/ภาพโดย วัชระ สุขปาน ลำธารสีเทา ขัดเงา จนเกิดริ้วสีเงิน ฝูงปลาพลิกพลิ้วตัว สะท้อนแสงกลับไปบอกเวลากับดวงอาทิตย์
ผักกูดอ่อน ยอดใบบอน ยอดผักหนาม ฟ้อนอรชรอยู่ริมคุ้งน้ำ ถ้ายังไม่มีใครไปเก็บ ก็จะเป็นสุมทุม ที่วัวควายชอบซุ่มตัวต้นไม้ล้มขวางลำธารโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นเพราะธรรมชาติ ก็พอเป็นสะพานใช้ข้ามไปถึงเขียงนา ก็ยังมีขนุน มะม่วง ส้มโอ ถั่ว ข้าวโพดสาลี พริก มะเขือ และพืชผักๆ ฯลฯ ให้ได้เห็น และเก็บกินก่อไฟ ต้มน้ำชา นั่งสนทนา และ บ้างเคี้ยวเมี่ยง สูบยาขี้โย
ที่ว่างและเวลา
ธีรเชนทร์  เดชานักสังคมสงเคราะห์1“หนูมีแม่อยู่สองคนค่ะ” เสียงของเด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งบอกเล่าให้ฟัง “วันนี้หนูมาหาแม่อีกคนหนึ่งของหนู…”“แล้วหนูจำได้ไหมว่าแม่หนูรูปร่างหน้าตาเป็นยังไง” ผมลองเอ่ยถามเธอดู ภายหลังคำถาม เด็กหญิงทำท่าทางเหมือนครุ่นคิดอะไรบางอย่าง....เธอนิ่งนานในความเงียบงัน.....แต่ในแววตาที่ไร้เดียงสานั้น เหมือนจะบอกกับผมอยู่อย่างนั้นว่าเธอจำแม่ของเธอได้ดี...เธอจำได้นะ...ผมไม่แปลกใจว่าทำไมเธอถึงให้คำตอบในสิ่งที่ผมถามเธอก่อนหน้านี้ไม่ได้  แม่...ที่เธอกำลังมาหาในวันนี้นั้น คือแม่แท้ๆ ที่อุ้มท้องเธอมา เป็นแม่ผู้ให้กำเนิด แต่ด้วยเหตุผลและความจำเป็นบางอย่าง…
ที่ว่างและเวลา
‘ลีนาร์’ “ยามเมื่อเราต่างพูดถึงความสุข จะเกิดพลังขึ้นและสร้างคุณค่าขึ้นมาได้”คำกล่าวจากใบหน้ายิ้มแย้มของ ลิซ่า คาเมน เจ้าของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง H-FACTOR: where is your heart? ที่เธอและลูกสาวสำรวจธรรมชาติของความสุขของผู้คนข้ามทวีปผ่านคำถามง่าย ๆ ‘ความสุขของคุณคืออะไร’ย้อนไปในวันหนึ่ง ขณะที่ลิซ่าปั่นจักรยานผ่านตอนเหนือของประเทศอินเดีย เธอฉุกคิดขึ้นมาว่าจะทำอย่างไรให้ชาวอินเดียจะแสดงออกถึงความสนุกและความสุขอย่างแท้จริงท่ามกลางความอัตคัดขัดสนที่ยังคงดำเนินอยู่ในเวลานั้น นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของหัวข้อหลักของสารคดีซึ่งเธอและเคย์ล่า ลูกสาววัย 9 ขวบของเธอ…
ที่ว่างและเวลา
‘โถ่เรบอ’หนังสือนวนิยายขนาดสั้น เรื่อง  “เพลงรักช่อดอกไม้” ของ ‘พิบูลศักดิ์ ละครพล’ ที่เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน ‘สกุลไทย’ เมื่อปี 2520 ก่อนสำนักพิมพ์จันทร์ฉายจะนำมารวมเล่มครั้งแรก ในปี 2521 นั้นเปิดฉากด้วยเนื้อเพลงปกาเก่อญอ ที่ชื่อ “แพลาเก่อปอ”“แพลาเก่อปอ ในคืนพระจันทร์ส่องแสง ฉันนั่งเหม่อมอง คอยจ้องแทะนาเต่อกาฉันคอยแสนคอย บะฉ่าเตอถี่บะนา เส่ นอ ถ่อแย เมื่อฉันเคียงคู่กับเธอแมแหม่แคอี ฉันต้องอยู่เดียวเปลี่ยวดายมองหาคู่เคียง บะฉ่าเตอถี่เลอบาโอ้ยอดดวงใจ  แคอีเนอโอะแพแลโปรดจงเห็นใจ เกอหน่าเยอพอคีลา”เพลงนี้ติดหูชาวปกาเก่อญอยาวนานมากว่าสามสิบปี ถือได้ว่าเป็นเพลงยุคแรกๆ…
ที่ว่างและเวลา
‘ฐาปนา’ ผมพบเขาในวันที่เชียงใหม่ยังเปียกปอนจากสายฝน เขาแต่งกายเรียบง่าย บุคลิกคล้ายนักบวช ดูแข็งแรงเหมือนคนอายุสามสิบกว่าๆ  เมื่อได้สนทนา แม้น้ำเสียงเป็นกันเอง แต่ก็แฝงความเคร่งครัดไม่น้อย เขาคือผู้ริเริ่มการเขียน “แคนโต้” บทกวีสามบรรทัดจำนวนสี่ร้อยบทเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ,เป็นผู้ก่อตั้งเวบไซต์ ไทยแคนโต้ (www.thaicanto.com) เมื่อสองปีที่แล้ว และกลายเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดของบทกวีสามบรรทัด มีแคนโต้นับพันนับหมื่นบท ปรากฎอยู่ในเวบไซต์แห่งนี้ล่าสุด เขามีผลงานวรรณกรรมขนาดยาวแปดร้อยหน้า ที่ชื่อ “โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก”โดดเดี่ยว และ เด็ดเดี่ยว น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนที่สุดสำหรับตัวเขา…