Skip to main content

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่า อินโดนีเซียมีความไม่พอใจมาเลเซียเป็นอย่างยิ่งที่มาเลเซียนำเพลง ราซา ซายัง เอห์ ( Rasa Sayang Eh) มาเป็นเพลงประกอบโฆษณาการท่องเที่ยว โดยระบุว่าเพลงนั้นเป็นเพลงของอินโดนีเซียและบอกว่าเนื้อเพลงที่ร้องนั้นเป็นภาษาท้องถิ่นของเกาะอัมบน
\\/--break--\>
ใครจะถูกผิดอย่างไรก็ไม่ได้ติดตาม อันที่จริงเพลงนี้เป็นเพลงคนเชื้อสายมลายูต่างรู้จักกันดี หรือแม้จะไม่ใช่มลายูก็คงเคยได้ยินเพราะเป็นเพลงที่รู้จักกันทั่วไปในภูมิภาคนี้ พอๆ กับเพลง บูรง กากา ตูอา ( Burong Kakatua)   ซึ่งผู้เขียนก็เคยร้องเล่นมาตั้งแต่เล็กทั้ง 2 เพลงโดยไม่เคยคิดว่าจะเป็นเพลงของใคร คนแถวปัตตานีต่างก็รู้จักและร้องเพลงนี้กันได้เป็นส่วนใหญ่ และรู้ว่าเพลงนี้เป็นภาษามาเลย์ ซึ่งเป็นภาษาพูดของชาวมลายู

จำได้ว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2538 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมีการทำของที่ระลึกสำหรับนักข่าวหรือที่เรียกว่า press kit คือ แจกซีดีเพลงประจำชาติของประเทศสมาชิก ซึ่งปรากฎว่าประเทศไทยได้เลือกเพลง Rasa Sayang Eh เป็นเพลงประจำชาติของมาเลเซีย และเลือกเพลง Burong Kakatua เป็นเพลงประจำชาติอินโดนีเซีย ซึ่งก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมตอนนั้นถึงไม่มีใครคัดค้าน

อันที่จริงคนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่าเพลงนั้นๆ เป็นของอินโดนีเซียและมาเลเซียจริงๆ ซึ่งต่างก็เป็นมลายูเหมือนกัน น่าจะยอมกันได้ว่าเป็นพวกเดียวกันและมีวัฒนธรรมที่ร่วมกัน แต่จริงๆ แล้วอินโดนีเซียและมาเลเซียนั้นมีการกระทบกระทั่งเรื่องวัฒนธรรมเล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตในเรื่องการปกครองของมาเลเซียซึ่งมีการปกครองแบบมีกษัตริย์เป็นประมุข แต่ประมุขแห่งรัฐของมาเลเซียนั้นต่างกับของไทย ที่สุลต่านของแต่ละรัฐจะหมุนเวียนเป็นกษัตริย์กันเป็นเทอมไป เทอมละ 5 ปี หลังจากได้อ่านหนังสือเรื่อง "เกอราจาอัน: วัฒนธรรมการเมืองมลายูในยุคก่อนรุ่งของระบอบอาณานิคม" เรื่องราวทั้งสองประเด็นดังกล่าวก็เริ่มกระจ่างมากขึ้น

"เกอราจาอัน: วัฒนธรรมการเมืองมลายูในยุคก่อนรุ่งของระบอบอาณานิคม" แปลมาจากหนังสือชื่อ Kerajaan: Malay Political Culture on the Eve of Colonial Rule ซึ่งเป็นผลงานการศึกษาของ ศาสตราจารย์แอนโทนี มิลเนอร์ หรือ A. C. Milner แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียโดย ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม ตีพิมพ์เมื่อปี 2551 นี่เอง แต่ต้นฉบับนั้นตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2525 แล้ว แต่ก็จัดเป็นหนังสือที่ยังคงร่วมสมัยและทรงคุณค่ายิ่ง และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 25 หนังสือที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุด ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาโดยสมาคมอาเซียนศึกษาแห่ง The American Council of Learned Societies

ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของถ้อยความข้างล่างนี้ได้มีส่วนกระตุ้นอย่างยิ่งที่ทำให้อยากอ่านหนังสือเล่มนี้

"เมื่อความรุนแรงหวนกลับมาบริเวณชายแดนใต้อีกครั้งนับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ของปี 2547 นั้น ปรากฎการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับความพยายามของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบคือ อุตสาหกรรมการพิมพ์และสื่อสารมวลชนได้พากันผลิตองค์ความรู้และรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในดินแดนดังกล่าวอย่างขนานใหญ่........ ประวัติศาสตร์ปาตานีและ "ความเป็นมลายู" ได้ถูกผลิตขึ้นมาอย่างคึกคัก.........ในแวดวงวิชาการเองก็มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยตั้งตนเป็นผู้ชำนัญการพิเศษเรื่องภาคใต้....... เนื่องด้วยการไม่มีทุนความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นจึงทำได้แค่ผลิตซ้ำความรู้เดิมที่ไม่ใช่ของตน......... "ความเป็นมลายู" อันเป็นคำศัพท์ที่ถูกพูดถึงอย่างมีสีสันที่สุดในแวดวงวิชาการ..........แต่ดูเหมือนว่าปัญหาที่ไม่เคยถูกตั้งคำถามอย่างจริงจังก็คือ "ความเป็นมลายู" ที่พูดถึงกันอยู่หมายถึงอะไร"

นี่คือถ้อยความบางตอนจากคำนำเสนอเรื่อง "เกอราจาอัน และความเข้าใจต่อความเป็นมลายูในสังคมไทย" โดยทวีศักดิ์ เผือกสม และจิราวัฒน์ แสงทอง จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่เขียนลงในหนังสือเล่มนี้ซึ่งถือว่าเป็นการนำเสนอที่ท้าทายเหล่านักวิชาการที่ออกมาให้ความเห็นหรือผลิตงานที่เกี่ยวข้องกับ 3-4 จังหวัดภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อได้อ่าน "เกอราจาอัน" แล้วก็อดคิดไปถึงความพยายามในการนำเสนอหลายๆ โมเดลโดยภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำความสันติสุขคืนกลับจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นดินแดนที่มีชาวมลายูอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย  ผู้ที่นำเสนอแนวทางต่างพยายามดึงเอา "ความเป็นมลายู" เข้ามาใช้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงนั้น ความเป็นมลายูแท้ที่จริงเป็นอย่างไร และวัฒนธรรมมลายูที่หลายคนกำลังพูดถึงอยู่นั้นใช่วัฒนธรรมมลายูหรือไม่ หรือใช่แบบที่ชาวมลายูต้องการหรือไม่

ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นหนังสือที่จะนำเสนอทางออกของเรื่องนั้น แต่ใน เกอราจาอัน ได้ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของความเป็นมลายูที่กระจายตัวกันอยู่บนแผ่นดินอันกว้างขวาง ทั้งนี้ดินแดนที่มีชาวมลายูอาศัยอยู่นั้นนักเขียนชาวดัชต์ได้ทำบันทึกไว้ในศตวรรษที่ 18 ว่า "มลายู" ใช้เรียกคนในดินแดนต่างๆ เช่น ปาหัง ยะโฮร์ ลิงคะ ปัตตานี และ ฮารู (ดินแดนส่วนใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสุมาตรา) และในเอกสารจีนในช่วงเดียวกันก็ใช้คำว่า "มลายู" ไม่ใช่เฉพาะเรียกรัฐในแหลมมลายู อย่างเช่น กลันตัน ตรังกานู และปาหังเท่านั้น แต่รวมไปถึง บรูไน สุโขดาเนาในบอร์เนียว และไปจนถึงบางส่วนของฟิลิปปินส์ด้วย

ทว่า ชาวมลายูนั้นไม่เคยมีการยอมรับการมีอธิปัตย์เพียงหนึ่งเดียว ในดินแดนมลายูไม่เคยมีบรรพบุรุษของตระกูลใดที่จะทำให้ตระกูลนั้นมีอำนาจเหนือตระกูลอื่นๆ ขึ้นมาได้ ราชามลายูส่วนมากมีสาแหรกโคตรวงศ์ที่ค่อนข้างมีเกียรติยศและสถานะเท่าเทียมกันหรือเชื้อสายตระกูลของผู้ปกครองนั้นก็ไม่ได้สืบเชื้อสายร่วมกันมา เช่น ต้นกำเนิดของกษัตริย์ปัตตานีและปาไซก็มิได้มีเชื้อสายร่วมกันกับผู้สืบทอดสายราชวงศ์มะละกาและผู้สืบทอดสายยะโฮร์ จากการค้นพบในหนังสือเล่มนี้ก็คือ ได้ข้อสรุปว่า ชาวมลายูซึ่งไม่มีผู้ปกครองสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวและไม่มีราชวงศ์ร่วมกันจึงไม่มีสำนึกเรื่อง "ความเป็นชาติ" (Nationhood) ร่วมกัน

เปรียบเทียบกับเวียดนามเมื่อศตวรรษที่ 19 เวลาที่กล่าวถึงต้นกำเนิดหรืออัตลักษณ์ของตน ชาวเวียดนามจะตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นชาวอันนัม" ในขณะที่ชาวมลายูจะตอบว่า เป็นข้าของราชาองค์ใดองค์หนึ่ง เช่น "ข้าพเจ้าเป็นแห่งราชาลิงคะ" ดังนั้น เวลากล่าวถึงระบอบการปกครองของมลายูนั้น มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การอธิบายสภาพการปกครองที่ใช้คำว่า "เกอราจาอัน" นั้นจริงๆแล้วก็ไม่ได้ตรงกับคำว่ารัฐบาล หรืออาณาจักรโดยตรงแต่จะหมายถึง "ภาวะการมีราชา" และชาวมลายูก็อาจเปลี่ยนแปลงและเลื่อนไหลไปภักดีกับราชาองค์ไหนก็ได้ที่ให้ความรู้สึกมั่นคง ดังนั้น สภาพของมลายูนั้นสามารถเห็นถึงความเลื่อนไหล ทั้งที่ตั้งเมืองหลวงที่เลื่อนไหลคือเคลื่อนย้ายไปได้เรื่อยๆ และ พลเมืองก็ย้ายถิ่นฐานกันไปมาได้

ชาวมลายูไม่เคยสนใจที่จะสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันและราชาในแต่ละแคว้นก็เคยมีการสู้รบแย่งชิงอำนาจกัน ฆ่าฟันกันตายก็บ่อยครั้ง ดังนั้น ราชามลายูจึงสนใจที่จะสะสมอำนาจและเชื่อว่า ความมั่งคั่งจะทำให้ตามมาด้วยอำนาจ ดังนั้น การทำการค้าขายนั้นจึงเป็นกิจการของราชาซึ่งว่ากันว่า ราชาบางองค์นั้นไม่สนใจด้วยซ้ำว่าจะเป็นการค้าของเถื่อนหรือไม่ หรือการสนับสนุนโจรสลัดในบางโอกาสก็เกิดขึ้นได้

ความเป็นท้องถิ่นของมลายูนั้นก็มีความหลากหลายและชาวมลายูก็มีภาษาถิ่นของตัวเองที่แตกต่างกันแต่ก็มีภาษาเดียวกันอยู่ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สำหรับการค้าขาย ภาษามลายูเคยเป็นภาษากลางในการค้าขายในดินแดนแถบนี้ด้วยซ้ำ ว่ากันว่า ในอดีตนั้นตอนที่โปรตุเกสเข้ามาค้าขายกับสยามก็ใช้ภาษามลายูแล้วค่อยแปลจากมลายูเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่ง และอย่างที่ว่าไว้ว่าราชาของแต่ละแคว้นนั้นสนใจทำการค้าขาย เพื่อแสวงหาความั่งคั่ง แต่สำหรับราษฎร์และอาชีพหลักคือการทำเกษตรและประมง สำหรับราษฎร์ผู้ทำการการค้านั้นไม่เคยรุ่งเรืองมากไปกว่าการเป็นพ่อค้าเร่ เท่านั้น  และมีการพบว่าชาวมลายูมักไม่ติดยึดกับที่ดิน ที่ดินหมายถึงที่ทำกินเท่านั้นไม่ใช้การเป็นเจ้าของและไม่ได้แสวงหาความมั่งคั่ง

นอกจากนั้นสิ่งที่ชาวมลายูมีเหมือนกันไม่ว่าจะในดินแดนใดที่ชัดเจนที่สุดก็คือ "การแต่งตัว" ชาวอังกฤษที่เดินทางมายังดินแดนมลายูในยุคแรกๆนั้นได้บรรยายถึงการแต่งตัวของชาวมลายูว่าเหมือนกันหมดเกือบจะทุกดินแดน คือ ชายชาวมลายูจะสวมเสื้อบาจูหรือแจ๊คเก็ตแขนสั้น นุ่งโสร่งหรือกระโปรงตาตั้นแบยสก็อต และ เซอร์วะ หรือกางเกง  หรือมีบางคนอธิบายว่าเป็นกระโปรงแบบไม่จับจีบ (อันนี้ก็ให้นึกถึงชุดที่ใส่ในระบำรองเง็งนั่นเอง ที่มีเสื้อแขนยาวแล้วเสื้อกั๊กสวมทับ และ กางเกงแล้วมีโสร่งสั้นสวมทับสิ่งทีมีร่วมกันอีกประการหนึ่งของชาวมลายูคือ การนำมลายูไปยึดโยงกับความเป็นอิสลามอย่างแยกไม่ออก นักเดินทางชาวยุโรปได้บันทึกเอาไว้ในศตวรรษที่ 19  ว่า ทุกแห่งมีแต่สิ่งที่เป็นอิสลาม และพูดถึงเปรักว่า " เมื่อหมู่บ้านหรือกัมปงโตขึ้นไม่ว่าจะขนาดไหนก็ตาม ก็จะมีการให้บริการทางสาสนา และ มัสยิดก็จะถูกสร้างขึ้นมาอย่างเป็นทางการและมั่นคง" หรือเมื่อปลายศตวรรษที่ 18  ก็เคยมีคนบันทึกเอาไว้ว่า  " กล่าวโดยทั่วๆไปแล้ว คำว่า มลายู ซึ่งเหมือนกับคำว่า มัวร์ในทวีปอินเดีย คือ เกือบจะเป็นคำที่พ้องความหมายของคำมุสลิม"

ในช่วงศตวรรษที่ 19 มลายูต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย 2 ประการคือ ด้านหนึ่งคือการเข้ามาของแนวความคิดแบบตะวันตกและอีกด้านหนึ่งคือการเข้ามาของอิสลามแบบเคร่งคัมภีร์  (Fundamentalist) หรือเรียกอีกในหนึ่งว่า กระแสความทันสมัยแบบตะวันตกได้เข้ามาท้าทายทายความคิดและกระแสอิสลามบริสุทธิ์จากตะวันออกกลางหรือโลกอาหรับที่ได้เข้ามาท้าทายรากฐานสำคัญซึ่งรูปแบบวิถีชีวิตที่ชาวมลายูดำรงอยู่

มาถึงตรงนี้ก็ทำให้ได้ข้อสังเกตว่า ในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 นั้นเข้าใจว่าแนวคิดแบบตะวันตกนั้นได้เข้ามาสั่นคลอนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมลายูได้มากพอสมควร เพราะจะได้เห็นความเปิดกว้างและความเป็นโลกสากลของชาวมลายูอยู่ไม่น้อย แต่มาถึงปัจจุบันนี้อิทธิพลด้านแนวคิดแบบอิสลามแบบเคร่งคัมภีร์อาจเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ในทางกายภาพเราจะเห็นได้จากการแต่งกายที่ชาวมลายูจะเปลี่ยนแปลงจากการแต่งกายแบบมลายูดั้งเดิมมาเป็นการแต่งกายแบบอาหรับมากขึ้น หรือพิธีกรรมหลายๆอย่างที่เคยปฎิบัติในหมู่ชาวมลายูอาจเปลี่ยนไปบ้างแล้ว หลายคนเริ่มงดเว้นกิจกรรมที่บันเทิงลงไป

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความท้าทายของ 2 กระแสนี้ หากกลับมาในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นบางจังหวัดในประเทศไทย  ทั้งภาครัฐและนักวิชาการมักเน้นย้ำเสมอถึงเรื่องที่จะต้องไม่ละเลยประเด็นความแตกต่างและให้เคารพในวัฒนธรรมมลายู แต่ถามว่า วัฒนธรรมแบบไหนที่ชาวมลายูไทยต้องการ และจริงๆ แล้วคงต้องยอมรับว่า ปัจจุบันนั้นมลายูไม่ได้อยู่ในเกอราจาอันแบบเก่า และ ราชาแห่งปัตตานีนั้นอาจไม่ได้เรืองอำนาจดังแต่ก่อนการปรับตัวของมลายูปัตตานีที่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันจะต้องเป็นเช่นไร หลังจากอ่าน "เกอราจาอัน" แล้ว ทำให้ต้องทบทวนดูให้ถ้วนถี่ว่า วัฒนธรรมมลายูที่แท้แล้วเป็นเช่นไร และจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้ "การทำให้เป็นมลายู" ที่มีนักวิชาการพูดถึงอยู่บ้างนั้น ในที่สุดอาจจะไม่ได้เป็นมลายูแท้ก็ได้แต่อาจกลายเป็น "การทำมลายูให้กลายเป็นอาหรับ" ไปก็ได้

ที่มา: Mekong Review   : http://www.indochinapublishing.com/

ฟังเพลงประกอบที่: http://indochinapublishing.com/index.php?module=feature&submodule=view&category=2&code=ad09090916450076

 

 

บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
1 ทั้งๆที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่ที่นนทบุรีมามากกว่า 10 ปี แล้ว และก่อนหน้านั้นก็อยู่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุบลฯ ชลบุรี และอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่เวลาที่มีใครก็ตามมาถามว่าเป็นคนที่ไหน (ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมุขตลกว่า ที่ไหนๆ ก็เป็นคนนะ) ผู้เขียนก็ตอบว่า “เป็นคนปัตตานี” แม้ว่าจริงๆ แล้วไปปัตตานีไม่เคยเกิน 7 วันต่อปีเลยสักครั้ง และบางปีก็ไม่ได้ไปเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีค่อนข้างน้อย มาถึงวันนี้ที่แม้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ในยามที่เดินทางไปปัตตานี ก็จะเรียกว่า “กลับบ้าน” อีกเช่นกัน เรื่องการบอกว่าเป็นคนที่ไหนของไทยนั้น เชื่อว่าคนอื่นๆ…
สุทธิดา มะลิแก้ว
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน ทว่า…
สุทธิดา มะลิแก้ว
นับเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งของคนทั่วโลกกับภาพความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่า อันเนื่องมาจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตนั้นหลังจากเกิดพายุนั้นแม้ผ่านมาแล้วหลายวันก็ยังไม่นิ่ง องค์กรกาชาดสากลคาดว่าอยู่ระหว่าง 60,000 – 120,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 1.6-2.5 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และตลอดจนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้  ท่ามกลางภาพสะเทือนใจเหล่านั้น นานาประเทศได้พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีบรรดาหน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย…
สุทธิดา มะลิแก้ว
     1ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าว คงจะรับรู้กันแล้วถึงสถานการณ์ในพม่าที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาล ทหารพม่าออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ปกติแล้วเป็นที่เคารพยิ่งของ ประชาชนชาวพม่าซึ่งหมายรวมถึงบรรดาผู้คนในรัฐบาลด้วย  แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้นั้นไม่ได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าชุมนุมกันต่อ กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ในพม่าทวีความเลวร้าย และรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้หลายประการทีเดียว เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมชาวพม่านับตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 1988 เป็นต้นมา หรือที่ เรียกกันว่า เหตุการณ์ 8888…