Skip to main content

 

จุดเริ่มต้นของการภาวนาในชีวิตประจำวัน

ถ้าเราสนใจตัวเองอยู่เสมอ 
และพยายามใส่ใจในการกระทำทางกาย วาจา ใจ 
ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดในชีวิต
สิ่งเหล่านี้ก็คือจุดเริ่มต้นของการภาวนาในชีวิตประจำวัน

ทุกวันนี้มีหลายหลักสูตร หลายสำนัก และหลายครูบาอาจารย์
ที่นักปฏิบัติสามารถหาข้อมูลและศึกษาจากการสอนของท่านๆเหล่านั้นได้
ทั้งนี้เองก็ต้องหมั่นพิจารณาว่า เราศึกษาไปแล้วมีผลอย่างไรบ้าง
เพราะบางคนศึกษาหลายๆ ที่ จนความรู้ความเห็นมันไม่ตรงกัน
อาจารย์นี้สอนแบบนี้ อีกองค์สอนแบบนี้
ทำให้สับสน จับจุด จับประเด็นไม่ชัด
เผลอจะกลายเป็น ยาดำ ครอบงำจิต ปกปิดสัจธรรมแท้
เพราะบางทีอาจารย์นั้นๆ ก็ไม่ได้แตกฉานธรรม
เพียงแต่จำคำหนังสือมาพูดก็มีเยอะ

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่อาจารย์ผู้สอน
แต่อยู่ที่พวกเรานักปฏิบัติต่างหาก
ที่จะต้องใส่ใจตนเอง และศึกษาในแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง
และบังเกิดผลคือความเข้าใจในสัจธรรม ความจริงของกายใจ 
และมีผลคือความทุกข์ใจ ความเป็นตัวตน ตลอดจนอารมณ์ลบๆ ลดลง
แบบนี้ต่างหาก ที่ควรจะน้อมนำมาพิจารณาเป็นทางให้ตัวเองเดิน

จุดเริ่มต้นที่นักปฏิบัติต้องทำอยู่เสมอ
นอกจากการศึกษาหลักธรรมแล้ว
ก็ต้องไม่ทิ้งความตั้งใจ ความเพียร และความต่อเนื่อง
ในการเจริญสติปัญญาภาวนาในชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอน หรือ กินข้าว อาบน้ำ ทำงาน ขับรถ ฯลฯ
ก็ต้องใช้สติระลึกในตนเอง ให้รู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร 
และปัญญาก็มากำกับหาเหตุผล พิจารณาในกิจการนั้นๆ 

แล้วการที่จะปฏิบัติในรูปแบบ ก็มีผลอย่างยิ่ง
ที่จะทำให้จิตมีกำลัง และตั้งมั่นในการรู้สภาวะ และเดินปัญญาพิจารณากายใจ
ให้เข้าไปสู่ความเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่ของกู ตัวกู

ถ้าเริ่มต้นแบบนี้ จับหลักให้ถูกและมีความเพียรต่อเนื่อง
ผลจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่เหตุที่ทำ
ไม่ใช่ว่า ทำไปแล้ว อยากให้เกิดผลทันที อันนี้ก็คงจะเครียดไปกว่าเดิม
สรุปคือ ทำแบบต่อเนื่อง ก็ค่อยๆ เป็นไป เผลอบ้าง รู้บ้าง
ให้ธรรมจัดสรร ตามเหตุปัจจัย ที่เราได้เพียรปฏิบัติขัดเกลาตน

จุดเริ่มต้นก็น่าจะมีแค่นี้
ถ้าไม่เริ่มก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ลงมือสักที
เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
มันคือการเปลี่ยนแปลงจากภายใน....

 

บล็อกของ thesethings

thesethings
หลวงลุงสุเทพไม่ควรสึก