Skip to main content

เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน

ครั้งสุดท้ายที่ผมเดินทางมารู้จักเมืองไลคือเมื่อปี 2004 เมื่อสิบกว่าปีก่อน เมืองไลมีบ้านเรือนที่สวยงานจำนวนมาก ตัวเมืองไลเอง เมื่อมองลงมาจากที่สูง จะเห็นทุ่งเมืองไลทอดตัวอยู่ขนาบลำห้วยหนึ่ง บริเวณนั้นมีที่นาและบ้านเรือนผู้คนตั้งอยู่ ทางเข้าเมืองไลมีสองทาง ทางหนึ่งวิ่งตรงไปยังสะพานข้ามห้วย จะเห็นหาดหินกว้างบริเวณปากน้ำที่จะไปบรรจบกับอีกสองลำน้ำ คือน้ำหนากับน้ำแต๊ (ที่คนไทยเรียกตามฝรั่งเศสว่าน้ำดำ) อีกทางหนึ่งคือข้ามสะพานก่อนถึงเมือง แล้ววิ่งเลาะหมู่บ้านริมเขาไป จะผ่านบ้านไตขาวจำนวนเกือบร้อยหลังคาเรือน เรียงรายริมนา มีครั้งหนึ่งที่ผมได้อาศัยข้าวปลาจากเรือนแถบนี้เมื่อมาเยือนเมืองไล

ณ ที่ตั้งของเมืองไล ฝั่งหนึ่งของน้ำดำมีท่าเรือ ที่ผมเคยล่องน้ำดำสำรวจเส้นทางและผู้คนจากเมืองไลไปยังเมืองเจียน ก่อนที่บริเวณนั้นทั้งหมดจะจมอยู่ใต้ลำน้ำดำเหนือเขื่อนเซอนลาในปัจจุบัน ตรงท่าเรือ ที่ก็เป็นเพียงหาดทรายริมน้ำดำ มีเมืองเก่าของชาวฝรั่งเศส อีกฝั่งหนึ่งเป็นบ้านของชาวไต เรียกบ้านจาง ตั้งรายล้อมยอดเขาเล็ก ๆ ที่เหมือนเป็นชะง่อนผา อันเป็นที่ตั้งของเรือนเจ้าเมืองเมืองไลในอดีต เรือนนี้เป็นเรือนแบบฝรั่ง ถูกทิ้งร้างมานานแล้ว บ้านจางนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางไปเมืองแต๊ จัดเป็นเมืองทางทิศตะวันตกสุดของชายแดนจีน-เวียดนาม

เมืองไลในอดีตมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสงคราม “ปราบฮ่อ” ของสยาม จนเกิดบันทึกสองมุมมองคือ มุมของแม่ทัพบันทึกโดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี กับบันทึกของไพร่พลคือนิราศหนองคาย ที่เมื่อพิมพ์แล้วก็ถูกเผา นอกจากนั้นยังมีพงศาวดารเมืองไล หากแต่จะมีใครสักกี่คนที่สนใจว่า เมืองไลสำคัญอย่างไร

หากจะเล่าย่อ ๆ จากบันทึกของฝรั่งเศส เวียดนาม ชาวไต และผลการศึกษาต่าง ๆ อีกมากในภาษาอังกฤษ เมื่อกบฏไท่ผิงพ่ายแพ้กองทัพจีนแล้วหนีลงมาเวียดนาม ถูกเรียกว่า “ฮ่อ” โดยชาวไต พวกนี้มีหลายกลุ่ม บางกลุ่มปล้นฆ่าชาวไตและคนในเวียดนาม บางพวกได้เข้ากับพวกไต ปราบปรามพวกฮ่อด้วยกัน จนเมื่อฝรั่งเศสขยายอำนาจขึ้นมาภาคเหนือในทศวรรษ 1870 พวกฮ่อ ไต และเวียดนาม รวมกำลังกันต่อต้านฝรั่งเศส จนกระทั่งปี 1890 นั่นเองที่ฝรั่งเศสกับสยามทำสนธิสัญญาแบ่งเขตแดนกัน

ในความวุ่นวายนั้น เจ้าเมืองเมืองไลมีบทบาทสำคัญไม่น้อยทีเดียว บันทึกต่าง ๆ เล่าว่า แดววันแสงกับลูกชื่อแดววันจิ (ที่มักออกเสียงว่า แดววันตรี นั่นแหละ) มีกำลังเข้มแข็งมากเนื่องจากสมทบกำลังกับพวกฮ่อ จึงได้มีอำนาจเหนือเมืองของพวกไตหลายเมือง เมื่อกองทัพสยามขึ้นมา ได้จับน้องชายและน้องเขยของแดววันจิไปกรุงเทพฯ (คนพวกนี้น่าจะมีส่วนในการทำบันทึกพงศาวดารเมืองไล) แดววันจิกับพวกฮ่อจึงนำกำลังไปเผาหลวงพระบาง จากนั้นฝรั่งเศสก็นำทัพขึ้นมาจากหล่าวกาย (Lào Cai) ปราบปรามอำนาจของพวกไตขาว

หากแต่ในท้ายที่สุด ฝรั่งเศสให้พวกเจ้าเมืองปกครองดังเดิม แต่ต้องยอมรับอำนาจเหนือกว่าของฝรั่งเศส ส่วนเจ้าเมืองไลก็ได้รับฐานะใหม่ กลายเป็นเจ้าเมืองเหนือเมืองไตขาวและไตดำจำนวนหนึ่ง จนมาถึงยุคของลูกของแดววันจิคือแดววันลอง ฝรั่งเศสแต่งตั้งเขาเป็นเสมือนกษัตริย์ของพวกไต ที่สำคัญคือเมื่อเขามีอำนาจเหนือเดียนเบียนฟู ทำให้ชาวไตขาวเข้าไปอาศัยในเมืองแถงเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อฝรั่งเศสแพ้ในสงครามเดียนเบียนฟู แดววันลองและครอบครัวต้องหนีไปอยู่ฝรั่งเศส แล้วบ้านเรือนเขาที่เมืองไลก็ถูกทิ้งร้าง

เมืองไลในทศวรรษที่ผมทำวิจัยจนปัจจุบันถูกทำให้สับสนหลายครั้ง เมืองไลถูกเรียกว่า ลายเจิว ในภาษาเวียดนามมาแต่ดั้งเดิม แต่ในทศวรรษ 2000 เมืองไลถูกรวบเป็นส่วนหนึ่งกับเดียนเบียนฟู แล้วตั้งเป็นจังหวัดลายเจิว แต่กลับมีตัวอำเภอเมืองอยู่ที่เมืองแถง ต่อมาเมื่อเมื่อรัฐบาลจะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นนำ้ดำที่เซอนลา ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมเมืองเจียน เมืองไตขาวขนาดใหญ่อีกเมือง และท่วมมาจนถึงเมืองไล ลายเจิวใหม่ก็ถูกตั้งขึ้นมา ณ เมืองของไตขาว คนม้ง คนเย้า และคนลื้อ ที่ตามเดื่อง (Tam Đường) และบิ่งลือ (Bình Lư) ส่วนเมืองแถงก็กลายเป็นจังหวัดเดียนเบียนฟูแยกจากเมืองไลดังเดิม

 

 

 

จนในปัจจุบัน เมืองไลไม่ได้ถูกทิ้งร้างไปเสียทีเดียว เมืองไลกลาายเป็น เทศบาลเมืองไล (Thị xã Lai Châu) ขึ้นกับจังหวัดลายเจิว แต่น้ำท่วมทุ่งนาเมืองไลไปจนหมดสิ้น บ้านเรือนที่เคยตั้งอยู่ริมนา ก็ถูกโยกย้ายไตั้งอยู่ริมถนน บรรดาที่ตั้งบ้านเรือนเก่า ๆ ทั้งก่อนเข้าเมืองและนอกเมือง ก็ถูกน้ำท่วมไปจนหมดสิ้น เมืองจัน ที่เคยหนาแน่นที่สุดในเขตเมืองไล และเป็นเมืองบริวารที่สำคัญของเมืองไล ก็จมอยู่ใต้น้ำเสียส่วนใหญ่ ส่วนเรือนของแดววันลองที่เคยตั้งตระหง่านอยู่บนชะง่อนผา ก็เกือบจะถูกน้ำท่วมเสียเช่นกัน

 

 

 

แต่การกลับมาเมืองไลครั้งนี้ก็ทำให้เกิดความสนใจใหม่ ๆ ได้รับรู้และรู้จักเรื่องราวกับผู้คนใหม่ ๆ อีกมาก ผมตื่นเต้นที่ได้เข้าไปพบชาวเมืองซอ เมืองไตขาวที่สำคัญคู่กับเมืองไล ตื่นเต้นที่ได้เจอชาวขมุที่สร้างเรือนแบบไตและพูดได้ทั้งภาษาไตและภาษาเวียดอาศัยอยู่ริมทางก่อนเข้าเมือง และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากเขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็กถึง 3 เขื่อนกั้นลำน้ำหนา กับการเปิดชายแดนเวียดนาม-จีนบริเวณใกล้ ๆ เมืองซอที่คึกคักขนาดมีรถพ่วงขนาดใหญ่ขนสินค้าผ่านไปมาตลอดเส้นทาง

 

 

 

อีกสิบปีให้หลัง คงไม่มีใครสนใจเรื่องราวของเมืองไล อดีตของดินแดนและผู้คนในที่แห่งนี้คงถูกลบเลือนไปอีกมาก ผมจำต้องกล่าวอำลาเมืองไลอันเกรียงไกร แต่ผมก็ตั้งใจว่าจะกลับมาเยี่ยมเยียนทำความเข้าใจผู้คนที่ได้พบปะในการเดินทางครั้งนี้อีกอย่างแน่นอน

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี