Skip to main content

ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 

วัฒนธรรมนี้ถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1911 แล้วเริ่มการขุดค้นจริงจังในปี 1922 จนภายหลังพบว่าเป็นกลุ่มเขตวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ถูกเรียกรวมๆ ว่าวัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุ (Indus Valley Culture) ที่ผมเลี่ยงคำว่า “อารยธรรม” ไม่ใช่เพราะที่นี่ไม่ยิ่งใหญ่ แต่ปัจจุบันการใช้คำว่า “อารยะรรม” ในเชิงยกย่องบางวัฒนธรรมเหนือวัฒธรรมอื่นกลายเป็นวิธีคิดที่ออกจะพ้นสมัย  

วัฒนธรรมนี้มีอายุเก่าแก่สุดถึง 9,000 ปีที่แล้ว ยุครุ่งเรืองที่สุดราว 5,000 ปีที่แล้ว และเสื่อมสลายไปราว 2,000 ที่แล้ว 

วัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุถูกเรียกตามชื่อแม่น้ำ เมื่ออ่านหนังสือที่ซื้อติดมือมาจากลาฮอร์เล่มหนึ่ง จึงได้รู้ว่าชื่อนี้เป็นที่มาของชื่อ "อินเดีย" คำว่า Sindh เป็นชื่อเรียกแม่น้ำ กลุ่มคน และภาษาถิ่นที่นี่แต่เดิมและดำรงอยู่จนบัดนี้ จากนั้นชาวโรมตัด s ออก เรียกดินแดนนี้ว่า Indu บ้าง Hindu บ้าง จากนั้นในศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษนี้เองที่นำชื่อแม่น้ำนี้มาเป็นชื่อเรียกศานาหนึ่งที่ชาวอังกฤษพยายามแยกจากพุทธ เชน และสิกข์  

แล้วชื่อนี้ก็กลายมาเป็นชื่อเรียกประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองประเทศหนึ่งว่าอินเดีย จนทำให้คนทั่วโลกลืมไปแล้วว่า ชื่ออินเดียมาจากชื่อเดิมว่าสินธุ ซึ่งมีถิ่นฐานปัจจุบันอยู่ตอนกลางถึงใต้ประเทศปากีสถาน 

วัฒนธรรมนี้ร่วมสมัยกับอียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมีย และจีนโบราณ แต่เป็นวัฒนธรรมที่ถูกค้นพบหลังอารยธรรมใหญ่ๆ เหล่านั้น แถมยังมีคำถามมากมายที่ยังตอบไม่ได้ 

ลุ่มน้ำสินธุยุครุ่งเรืองแบ่งเป็นกลุ่มเมืองและชุมชนรายล้อมหลายแห่งด้วยกัน แห่งใหญ่ที่สุดที่กล่าวถึงกันมาก ทว่าอยู่ห่างไกลกันมาก ก็คือฮารัปปาและโมเฮนโจดาโร แม้ว่าจะห่างไกลกันมาก สองแห่งนี้ก็ติดต่อสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่ต่างก็เป็นเอกเทศต่อกัน อันที่จริงเมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุ สิ่งหนึ่งที่เป็นทั้งปริศนาและเอกลักษณ์แตกต่างจากวัฒนธรรมร่วมสมัยกันก็คือ สินธุไม่ได้มีเอกภาพ ไม่ได้เป็นจักรวรรดิ์ หากแต่เป็นนครรัฐย่อยๆ ที่เป็นเครือข่ายติดต่อกัน 

นอกจากเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือโลหะ ลูกปัด และลักษณะทางสถาปัตยกรรมและอิฐแล้ว สิ่งของหนึ่งที่พบทั่วไปและสร้างความฉงนฉงายในหลายๆ มิติให้กับผู้ศึกษาสินธุคือตราประทับ 

ตราประทับที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของสินธุทำจากหินสบู่ ซึ่งน่าจะมีความแกร่งมากจนกระทั่งหินขนาดเล็กกว้างยาวประมาณ 1 นิ้ว กลับสามารถขูดเป็นรอบประทับที่ลึกและมีลายเส้นคมได้อย่างนี้ ไม่มีใครรู้แน่ว่าตราประทับนี้ใช้ในความหมายใดกันแน่  

จากการรวบรวมความถี่ของการค้นพบในเมืองต่างๆ กับลวดลายบนตราประทับ นำไปสู่คำถามต่างๆ นานา เช่นว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ตราประทับแต่ละลายจะสะท้อนกลุ่มชน หรือตระกูลที่เป็นเจ้าของตราประทับ เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่เหมือนกับ "แบรนด์" ของสิ่งของที่พบรอยประทับเหล่านี้ เช่นตามหม้อไห บนกำไล บางครั้งก็พบตราประทับเหล่านี้ ที่คงประทับบนดินดิบก่อนเข้าเตาเผา  

ตราประทับมีลักษณะทั่วไปสองประการที่ผู้คนสนใจไขปริศนามากที่สุดคือ รูปสัตว์และสิ่งของบนตราประทับ และ "อักษร" ที่ปรากฏบนตราประทับ  

สำหรับรูปสัตว์ มีกลุ่มชนิดของสัตว์ที่พบมากที่สุด ได้แก่ วัวไม่มีหนอกเขาเดียว ซึ่งยังไม่รู้แน่ว่าคืออะไร มักเรียกกันว่า “ยูนิคอร์น” เพียงแต่เป็นยูนิคอร์นที่มีตัวเป็นวัว ไม่ใช่ม้าอย่างในยุโรป รูปสัตว์ชนิดนี้จึงเป็นปริศนามากที่สุด นอกจากนั้นยังมีรูปวัวสองเขามีหนอก ที่พบน้อยหน่อยคือรูปช้าง แต่นอกจากนั้นยังมีควาย แรด และเสือ แต่รูปที่ไม่พบเลยคือรูปม้า 

ตราประทับต่างๆ มีรอยขีดที่เป็นระบบชุดหนึ่งที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นอักษร แต่อักษรนี้เป็นอักษรชนิดใดกันแน่ เชื่อมโยงกับอักษรใดๆ ในโลกปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร ยังไม่มีใครตอบได้ อักษรนี้ไม่ใช่อักษรบารมี ไม่ใช่โรมัน ไม่ใช่อารบิก แต่ดูเหมือนจากเป็นอักษรกึ่งสัญลักษณ์และกึ่งอักษรเสียง แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครอ่านอักษรนี้ได้ มีเพียงข้อสันนิษฐานว่า หากเชื่อมโยงผ่านภาษาดราวิเดียนที่มีถิ่นหลักอยู่ในเอเชียใต้ทางตอนใต้แล้ว อักษรบางตัวที่พบบ่อยคือรูปคล้ายปลา น่าจะเกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ก็ยังไม่มีใครกล้ายืนยันเช่นนั้นชัดเจน 

ปริศนาอื่นๆ ของสินธุได้แก่ ทำไมคนที่นี่ให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมมากนัก พวกเขาสร้างเมืองที่แลดูแออัด แต่มีระบบการระบายน้ำดีและน้ำเสียที่ซับซ้อนจนนักโบราณคดีบางคนบอกว่า เมืองใหญ่ในศตวรรษที่ 20 บางเมืองยังต้องอาย ทำไมเมืองและวัฒนธรรมที่ที่มีความรุ่งเรืองขนาดนี้จึงไม่ทิ้งจารึกขนาดยาวพอที่จะช่วยให้เข้าใจอักษรบนตราประทับได้  

ในแง่การเมือง ทำไมไม่มีร่องรอยของสงคราม ทำไมพวกเขาไม่สนใจการรบราฆ่าฟันกัน ชาวสินธุดั้งเดิมดูจะสนใจค้าขายและทำการเกษตรมากกว่ารบพุ่ง พวกเขาติดต่อค้าขายกับคนไกลทั้งทางทะเลและทางบกถึงเอเชียกลาง ที่สำคัญคือเมโสโปเตเมีย ซึ่งมีบันทึกกล่าวถึงดินแดนสินธุร่วมสมัยกัน แล้วคนที่นี่นับถือศาสนาอะไรทำไมจึงไม่พบศาสนวัตถุและศาสนสถาน มีที่บางแห่งมีลักษณะเป็นห้องอาบน้ำ ที่นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนสถานได้หรือไม่  

ปริศนาใหญ่อีกประการคือ ทำไมวัฒนธรรมสินธุจึงล่มสลายไป เคยมีการสันนิษฐานว่า วัฒนธรรมสินธุคงล่มสลายไปด้วยการถูกรุกรายจากกลุ่มชน "อารยัน" จากตะวันตก ปัจจุบันสมมติฐานที่คนเชื่อถือมากกว่าคือการล่มสลายจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม ที่สำคัญไม่ใช่อุณหภูมิ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางของลำน้ำ ทำให้การเกษตรเปลี่ยนไป และการบริหารจัดการน้ำเปลี่ยนไป แล้วจึงมีผลต่อเมืองทั้งเมือง โดยเฉพาะถิ่นที่สำคัญอย่างฮารัปปาและโมเฮนโจดาโรที่ตั้งอยู่ริมน้ำสินธุจึงน่าจะรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงลำน้ำโดยตรงและรุนแรงที่สุด 

คำถามใหญ่อีกคำถามคือ อารยธรรมนี้สัมพันธ์อย่างไรกับอารยธรรมยุคหลังๆ ของเอเชียใต้ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับยุคพระเวทในลุ่มน้ำคงคา ซึ่งรุ่งเรืองด้วยคำภีร์มากกว่าสถาปัตยกรรมแล้ว รูปเคารพและรูปสัตว์ต่างๆ ดูจะแตกต่างออกไปมาก หากแต่เมื่อเทียบกับยุคหลังพระเวท คือยุคมหาภารตะและยุคของศานาฮินดูแล้ว เทพฮินดูดูจะมีความเชื่อมโยงกับ motif สำคัญๆ ของวัฒนธรรมสินธุมากกว่า  

ที่เป็นปริศนาใหญ่และกลายเป็นข้อถกเถียงมากข้อหนึ่งคือ ตราประทับที่มีรูปคนมี 3-4 หน้า นั่งท่าขัดสมาธิเหมือนท่านั่งโยคะ รายล้อมด้วยสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ 4 ตัว คือเสือ ช้าง ควาย และแรด ชวนให้คิดเชื่อมโยงวัฒนธรรมสินธุกับฮินดูเป็นอย่างยิ่ง 

การมาเยือนลุ่มน้ำสินธุ เยือนแหล่งโบราณคดี ทำให้ผมต้องกลับไปปัดฝุ่นความรู้ที่เคยได้เรียนมาจากปรมจารย์ที่ศึกษาวัฒนธรรมนี้คนสำคัญคนหนึ่งคือ Jonathan Mark Kenoyer (โจนาธาน มาร์ค เคโนเยอร์) แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การได้มาพบ มาเห็น มาจับต้อง มาสัมผัสพื้นที่ที่ได้อ่านได้เรียนมาเนิ่นนานเกือบ 20 ปีแล้ว จนวันนี้คิดว่า ตนเองนอนตายตาหลับแล้วล่ะที่ได้มาเยือน "เนินแห่งความตาย"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี