เช้านี้อีนางน้อยลูกสาวหล้าของพ่อคูนโทรมาหาบอกว่าลุงคูนสิ้นใจแล้วที่บ้าน...
ลุงคูน ชายสูงวัยร่างเล็กที่ดูคล่องแคล่วแข็งแรง แม่อีนางน้อย หญิงชราคู่ชีวิตนั่งย้ำหมากทัดดอกไม้ขาว และลูกหลานชายหญิงผิวเกรียมอีกหนึ่งโขยง
หลังปี 2530 เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตป่าภูสีฐานหมดสภาพจากการสัมปทานทำไม้และเผาถ่าน ลุงคูนพร้อมกับครอบครัวขนาดใหญ่ (เมียและลูกชายลูกสาวประมาณ 7 คน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน)ได้อพยพจาก จ.บุรีรัมย์ เข้ามาจับจองปลูกพืชไร่บนพื้นที่บริเวณที่สายน้ำจากห้วยไผ่และห้วยยางไหลมาสบกันก่อนจะไหลลงห้วยบางทราย คนแถวนั้นเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่าดงด่านขี้
ลุงคูนกับครอบครัวร่วมสิบชีวิตถากถางจับจองที่ดินบริเวณดงด่านขี้จำนวนเกือบร้อยไร่ ลูกสาวลูกชายเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ก็เอาผัวเอาเมียก็อาศัยทำกินอยู่บนที่ดินผืนนั้น
ผมคุ้นเคยกับแกเนื่องจากแกเป็นสมาชิกของสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน ประมาณ ปี 2540 ผมตัดใจลงหลักอยู่ในที่ไร่ที่ ดงหลวง ด้วยเงินที่มีติดบัญชีไม่ถึงหมื่นบาท ผมไปขอไม้ปีกจากลุงคูนมาเพื่อทำพื้นกระท่อมสำหรับพวกเราพ่อแม่ลูกอยู่อาศัย แต่ปีกไม้ของแกมีไม่เยอะนักเนื่องจากโดนคนอื่นขอไปเกือบหมดแล้ว แกพาผมเดินไปหลังบ้านชี้เสาไม้พันชาดต้นเล็กๆให้6ต้น มันเป็นเสาเถียงนาเก่าของแกที่พึ่งรื้อย้ายเข้ามา แกบอกยกให้ผม นี่คือเสาของบ้านหลังแรกสำหรับครอบครัวผม
เหตุที่แกเป็นสมาชิกของ สกยอ.ก็เนื่องจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระบุลงในแผนที่ว่าพื้นที่ๆแกทำกินอยู่ต้องถูกนำมาจัดสรร เพื่อรองรับประชาชนที่จะถูกย้ายออกจากเขตพื้นที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อม จนท.ป่าไม้ และ ตชด.ยื่นข้อเสนอให้แกเข้าทำกินในที่ทำกินเดิมโดยจำกัดพื้นที่ลงเหลือครอบครัวละ 9 ไร่ โดยที่ลูกของแกจะได้สิทธิในที่ทำกินเพียงบางรายเท่านั้น แกไม่ยอมและแทบจะประกาศตัดตายกับลูกเมื่อบางครอบครัวไปยอมรับที่ดินแปลงที่ถูกจัดสรร
สกย.อ.เน้นหนักเรื่องหนี้สิน(กองทุนฟื้นฟูฯ) ลุงคูนเลยพาสมาชิกย้ายสังกัดไปอยู่สมัชชาคนจนซึ่งดูเหมือนจะจริงจังเรื่องปัญหาที่ทำกินมากกว่า
ประมาณปี 43 ลุงคูนและสมาชิกพากันเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมของแก โดยไม่ยอมรับการกันเขตที่ถูกกำหนดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ลุงคูนถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม่ตีด้วยไม้พลองบริเวณขมับ ภาพชายชราเลือดอาบศีรษะนอนอยู่บนพื้นดินที่พึ่งไถพรวน มีหญิงชาวบ้านกรีดร้องเข้าประคองยังติดตาผม
แพทย์วินิจฉัยว่าลุงคูนกระโหลกศีรษะร้าว ซ้ำร้าย หลังจากที่ตีลุงคูนจนต้องหามส่งโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ยังได้ไปแจ้งความจับลุงคูนในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน เมื่อออกจากโรงพยาบาลและได้รับการประกันตัวลุงคูนต้องเทียวไปขึ้นศาลเพื่อแก้ข้อกล่าวหาเป็นเวลาร่วม 2 ปี จึงพ้นข้อกล่าวหา ลุงคูนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าพันบาทในแต่ละเที่ยวสำหรับการเดินทางไปขึ้นศาลที่มุกดาหารที่มีระยะร่วมสองร้อยกิโลเมตร
หลังจากที่แกทุเลาจากอาการบาดเจ็บ แกกับครอบครัวก็ทำมาหากินโดยการเช่าที่ปลูกผัก ปลูกข้าวโพด ต้มข้าวโพดขาย รับจ้างสารพัด ตัดไม้ไผ่ขาย สานตอกมัดข้าวขายไปตามเรื่อง ช่วงหลังลุงคูนล้มป่วยหนักอีกครั้ง แกเป็นอัมพฤกษ์ ผมไม่แน่ใจว่ามีผลจากอาการบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายที่ผ่านมาหรือไม่ และเมื่อปีที่แล้ว แม่อีนางน้อย หญิงชราคู่ชีวิตที่ชอบทัดดอกไม้ขาวประดับมวยผมก็ได้ละจากลุงคูนไป
ดงด่านขี้ได้ถูกจัดสรรแบ่งปันเป็นที่เรียบร้อย ถูกตั้งชื่อใหม่อย่างสวยหรูว่าชุมชนศรีถาวรพนาและชุมชนฟ้าประทาน บรรดาผู้คนที่เข้าไปอยู่ก็ส่วนใหญ่มาจากถิ่นอื่น บางรายเป็นลูกจ้างกรมป่าไม้ หลายรายเป็นญาติพี่น้องกับผู้นำในชุมชน การทำเกษตรพอเพียงตามคำโฆษณาได้กลายเป็นสวนยางหรือไร่มันสัมปะหลัง ตามกลไกตลาดและตามระดับฐานะครอบครัวของผู้ถือครอง
ชุมชนศรีถาวรพนาและชุมชนฟ้าประทานก็ยังคงได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อไปทั้งในเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง,บ้านเล็กในป่าใหญ่,การจัดการทรัพยากรป่าไม้แบบ"คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้"ฯลฯ แต่สำหรับผม"วลี"ที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกคลื่นเหียรข้างต้น มันได้ถูกสร้างขึ้นมาบนเลือด หยาดเหงื่อและน้ำตาของคนอย่างลุงคูนและครอบครัว
ชื่อ"ศรีถาวรพนาและฟ้าประทาน"อาจตอบสนองต่อความหื่นกระหายของสมมติเทพบาง"ตน" เป็นบ่อเงินบ่อทองให้ตักตวงอย่างไม่ยอมแห้งเหือดสำหรับข้าราชการหลายๆคน แต่มันดูไร้ค่าต่อสายตาคนอย่างผม สิ่งที่กระจ่างซ้อนขึ้นมาในความคิดของผมเมื่อได้ยินชื่ออันหยดย้อยนี้ก็คือภาพของลุงคูนและครอบครัวทุ่มโถมแรงถากถางทำงานบนผืนดินที่เรียกว่า"ดงด่านขี้"
และมาถึงวันนี้ก็ถึงโอกาสที่แกจะได้ละจากลูกหลานแกไปอย่างสงบ สมเกียรติแห่งสามัญชนผู้ถางพงเบิกฟ้า
ด้วยความเคารพ
30 พฤษภาคม 2554