จากสายพิณถึงลลิตา จากย่าโมถึงโซตัส สองทศวรรษที่สังคมไทยไปไม่ถึงไหน!

29 August, 2015 - 11:31 -- gadfly

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ
28 สิงหาคม 2558 

 


สงสัยว่าในระยะยาว อ.ลลิตา หาญวงษ์  จะอยู่ได้อย่างไรในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

กรณีที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่กรณีแรกที่มีคนกล้าตั้งคำถามกับระบบโซตัส มันก็เหมือนกันว่าพฤติการณ์บัดซบจากระบบโซตัสไม่ได้เกิดจากคณะดุริยางคศิลป์ ของมหา'ลัยแห่งนี้เป็นที่แรกเช่นกัน

มันมีเรื่องเน่าเหม็นจากระบบอาวุโสแบบนี้ออกมาทุกปี และออกมาจากแทบทุกสถาบันการศึกษา การวิพากษ์อย่างถึงแก่นก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งของนักศึกษา นักกิจกรรมหรือปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า เป็นการตั้งคำถามแรงๆถึงเหตุผลและคุณค่าของระบบที่ดำรงอยู่นี้

แต่ระบบโซตัสก็ยังคงดำเนินต่อไป ไม่สะดุ้งสะเทือน จนบางทีคนที่ตั้งคำถามเกิดคำถามกับตัวเองว่า ที่ทำๆไปมันได้เปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้นบ้าง?

หลังเกิดเหตุคุกคาม อ.ลลิตา อย่างรุนแรงโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เธอสอนอยู่เอง สิ่งที่เราเห็นตามมาก็คือท่าทีของอาจารย์ในคณะดุริยางคศิลป์ ผู้บริหารของมหา'ลัย หรือแม้แต่เพื่อนร่วมวิชาชีพในคณะเดียวกันกับเธอต่างก็ดาหน้ากันออกมาแสดงความคิดเห็น

เปล่า! พวกเขาไม่ได้ออกมาปกป้องเธอแต่อย่างใด แต่พวกเขาออกมาพยายามที่จะทำให้กระแสความสนใจของสาธารณะลดลง พยายามบอกว่ามันเป็นเรื่องเล็ก เป็นความเข้าใจผิด เป็นเรื่องภายใน สังคมภายนอกไม่เกี่ยว! และพยายามทำให้ให้มันจบๆกันไป

เป็นอย่างนี้ทุกปีและทุกกรณี

แต่ปรากฎการณ์ของบุคลากรหรือผู้บริหารในมหา'ลัยดังที่ได้กล่าว ได้ทำให้ผมสามารถตอบคำถามได้ว่า ทำไมระบบโซตัสถึงได้อยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้

มันทำให้เห็นว่า ระบบโซตัสดำรงอยู่ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ความสัมพันธ์ของนิสิต-นักศึกษาเพียงแค่สี่ชั้นปีเท่านั้น แต่โดยเนื้อแท้มันฝังลึกอยู่ในวิธีคิดของบุคลากรแทบทั้งหมดในมหา'ลัยนั่นเอง  

สำหรับกรณีการคุกคามผู้มีความเห็นต่างในครั้งนี้ ถ้าไม่มีความโง่และความบัดซบของ นศ.คณะดุริยางคศิลป์ เราก็คงไม่สามารถที่จะเห็นโครงสร้างที่ประกอบกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นระบอบที่เข้มแข็งอยู่ยั้งยืนยง ทนเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจนถึงทุกวันนี้

..........

กลับมาถึงคำถามที่ว่า อ. ลลิตาจะอยู่อย่างไรต่อไปหลังกรณีนี้เงียบหายไปเหมือนที่เคยเป็น มันทำให้ผมได้คิดถึงปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกันของนักวิชาการอีกท่านในสังคมไทย

ผมคิดถึงกรณีของหนังสือและวิทยานิพนธ์เรื่องการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ของ อ.สายพิณ แก้วงามประเสริฐ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ซึ่งต่อมา สนพ.มติชน ได้นำมาพิมพ์จำหน่ายเป็นหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ค จนเป็นที่ฮือฮาสะท้านวงการ

เปล่าเลย! ผมไม่ได้หมายความว่ากระแสฮือฮาเกิดจากหนังสือเล่มนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่กลับกลายเป็นว่า ปฏิกริยาโกรธแค้นจากบรรดาคนที่นับญาติกับสตรีในเรื่องเล่า ยึดมั่นกับ'ปีศาจ'ในงานศึกษาทางประวัติศาสตร์  กลุ่มคนหลากหลายอาชีพทั้งข้าราชการ นักการเมือง หรือแม้แต่นักวิชาการเพื่อนร่วมวิชาชีพในโคราช ออกมาเคลื่อนไหว ชุมนุม ตั้งเวทีปราศัย กดดันจนสุดท้ายเธอต้องย้ายออกนอกพื้นที่ จ.นครราชสีมา

น่าเสียดายว่าถ้า อ.สายพิณ ยังได้อยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่แกได้เคยศึกษาอยู่ อาจมีงานวิชาการอีกจำนวนหนึ่งถูกผลิตออกมาจาก อ.สายพิณ

โอละพ่อ กลายเป็นว่าหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองแนววิพากษ์ที่น่าจะดีที่สุดเล่มหนึ่ง ต้องถูก สนพ.เรียกเก็บลงจากแผง ไม่รู้ว่ามติชนแอบเอาไปทิ้งน้ำที่ท่าไหน

.........

จากกรณีของ อ.สายพิณ จนถึงกรณีของ อ.ลลิตา รวมแล้วน่าจะประมาณกว่าสองทศวรรษ เวลาสองทศวรรษสำหรับบ้านเมืองอื่น ผมเชื่อว่าสถานการณ์ การรับรู้ ทัศนะคติ หรือโครงสร้างทางการเมือง-วัฒนธรรม ของพวกเขาน่าจะเปลี่ยนไปเยอะแล้ว แต่สำหรับบ้านเมืองของเรา ผมเชื่อว่ารูปแบบความขัดแย้ง ปรากฎการณ์อาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยแก่นแท้แล้วยังคงเหมือนเดิม

จนดูเหมือนดั่งว่ามันตกอยู่ใต้มนต์สะกดของปีศาจ เราอยู่ในบ้านเมืองที่ต้องคำสาป.

 

 

หมายเหตุ:

ตัวอย่างงานเขียนของ สายพิน แก้วงามประเสริฐ:เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนผงาด ตำราเรียน "ประวัติศาสตร์ไทย" จะ "ปรับเปลี่ยน" อย่างไร?

ตัวอย่างงานเขียนของ ลลิตา หาญวงษ์: “ผีประชาธิปไตย”: ความเข้าใจผิดๆ ว่าด้วยการปฏิรูปทางการเมืองในพม่า 

ลลิตา หิงคานนท์: การชำระประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องของเวลา

 

 

วัฒน์ วรรยางกูร ผู้ที่เขียนวรรณกรรมด้วยชีวิต

29 March, 2022 - 22:29 -- gadfly
ผมอ่านวรรณกรรมไทยแนวสะท้อนสังคมไม่เยอะนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันมันไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผม 
 

ปากหมาหาเรื่อง: สาระเรื่องไก่ไข่กับดำริเรื่องให้ประชาชนเลี้ยงไก่สองตัว

16 December, 2021 - 22:11 -- gadfly
 
ประยุทธ์บอกให้ประชาชนเลี้ยงไก่สองตัวเพื่อกินไข่ แต่สงสัยว่าประยุทธ์เคยเลี้ยงไก่รึเปล่า
 
ไก่ใช่ไก่ทุกตัวที่จะออกไข่ได้ ต้องเป็นไก่แม่สาวที่อายุสี่เดือนขึ้นไปเท่านั้นที่จะสามารถออกไข่ และจะออกไปได้จนอายุประมาณสองปีหรือกว่านั้นเล็กน้อย
 

ปากหมา หาเรื่อง: บ้านดินของโจน จันได

22 July, 2021 - 07:30 -- gadfly
 
โจน จันได ปราชญ์ชาวบ้าน ต้นแบบการรณรงค์ใช้วิถีชีวิตแบบพอเพียงสุดฮิป ขวัญใจไอดอลของคนชั้นกลาง คนเมืองกลุ่มใหญ่ ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่ออพยพย้ายรกรากลี้ภัยโควิดไปอยู่ศูนย์กลางประเทศทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกา 

ปากหมาหาเรื่อง: ของฝากนักสันติวิธี

25 May, 2020 - 18:44 -- gadfly
 
พฤษภา 53 เขตอภัยทาน ได้ถูกนักศาสนา นักสันติวิธีผลักดันให้มีขึ้น 4 จุด คือ วัดปทุมฯ บ้านเซเวียร์ สำนักงานกลาง นร.คริสเตียน แล้วก็ รร. ในเครือคริสตจักรอีกแห่งแถวแยกคลองเตย