จากกิจกรรมรำลึก 2 ปี รัฐประหาร ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนมาถึงกิจกรรมพลเมืองตีเข่า ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ผมตั้งข้อสังเกต 2 ประการคือ
1. มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นกับกิจกรรมการชุมนุมบนท้องถนน อาจเป็นเพราะ กลัวถูกดำเนินคดี หรือ/และ รอจังหวะลงประชามติ หรือ/และ นปช. และเพื่อไทยไม่ร่วมเคลื่อนไหว ฯลฯ ผมจะไม่อภิปรายประเด็นนี้
แต่การไม่ขยายตัวในช่วงนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวไม่กลายเป็นเป้าหมายหลักในการเข้าทำลายจากทางฝ่ายรัฐบาลทหาร
2. ไม่มีทหารในเครื่องแบบเข้ามาสกัดกั้น จับกุม หรือสลายการชุมนุมให้เห็นอีกแล้ว แม้แต่ตำรวจเองก็มาทำหน้าที่เจรจาและ"ดูเหมือน"จะทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมมากกว่า แต่สิ่งที่เห็นเด่นชัดเพิ่มขึ้นมาได้แก่มวลชนฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหาร
ผมไม่กล้าเรียกขานแบบดูเบาพวกเขาว่าเป็นมวลชนจัดตั้ง รับจ้างมา ฯลฯ ผมคิดว่าการมองในแบบนี้เป็นอันตราย
ผมเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ผมเชื่อว่ามวลชนที่เข้าไปทำการสังหาร นศ. ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกลางท้องสนามหลวงนั้นไม่ได้เกิดจากการจัดตั้งโดยรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าปัจจัยอื่น อาทิ ท่าทีและทัศนะที่ดูรุนแรงสุดโต่งในขบวนนักศึกษาเอง หรือการที่สื่อกระพือขยายประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณะก็เป็นปัจจัยให้เกิดและขยายตัวของขบวนประชาชนฝ่ายขวาด้วย
ขบวนประชาชนฝ่ายขวา(ภายใต้การอำนวยความสะดวกโดยรัฐ) ที่สามารถฆ่าเพื่อนมนุษย์ได้ด้วยความภาคภูมิใจ
ผมคิดว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อขบวนการต่อสู้ของ พคท. เมื่อแนวร่วมสำคัญของ พคท. ซึ่งก็คือ นศ. ปัญญาชน ที่สามารถทำงานทางความคิดได้ดีกับคนเมือง ต้องแตกกระจายไปเป็นภาระให้กับ พคท. ในพื้นที่ชนบท
พูดแบบตรงๆ ก็คือการแตกพ่ายของ นศ. ซึ่งถือว่าเป็นแนวร่วมในเมืองของ พคท. ได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการล่มสลายของ พคท.
หากถามว่า มันเกี่ยวพันกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร ผมขอเน้นอีกครั้งว่าผมไม่ได้เปรียบเทียบรูปอุดมการณ์ความคิดของทั้งสองเหตุการณ์อดีต-ปัจจุบัน ว่ามันเหมือน-ต่าง ทาบทับกันพอดีหรือไม่ นักศึกษาที่ถูกล้อมปราบในเหตุการณ์ ปี 2519 ก็ไม่ได้สมาทานกับแนวทางของ พคท.ทั้งหมด
ต่องานเขียนชิ้นนี้ ผมต้องการจะสื่อสารถึง "นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยบนสื่อโซเชียลมีเดีย" ว่าในขณะที่กระแสการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยมันยังอยู่ในภาวะตกต่ำ การขยายแนวร่วมให้กว้างที่สุด ขณะเดียวกันก็ทำให้แนวรบแคบที่สุดเพื่อลดแรงต้าน
อย่างน้อยก็คืออย่าไปขยายแนวรบเพิ่มก็ยังดี
ตีให้ตรงเป้าที่สุด ที่รัฐบาลทหารและองคาพยพส่วนต่างๆ ของมัน และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือไม่เปิดแนวรบเพิ่มกับประชาชนด้วยกัน ไม่เถียงขนาดเอาเป็นเอาตาย ไม่เสียบประจาน แค่ทำให้สาธารณะได้เห็นว่าใครถูกผิดก็พอ กรณีไหนจบได้ก็ควรจบ
ควรระวังไม่ให้เกิดเงื่อนไขให้มวลชนฝ่ายตรงข้ามขยายตัว ในขณะที่มวลชนของฝ่ายประชาธิปไตยยังมีเท่าเดิม
ผมไม่อยากเห็นภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดซ้ำอีกครั้งโดยมีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันต้องกลายเป็นเหยื่อในเหตุการณ์
และเพราะว่าการพ่ายแพ้ในแต่ละครั้ง พัฒนาการการเมืองบ้านเราถดถอยลงไปครั้งละหลายสิบปีเหลือเกิน
ปัจจุบันก็ถอยร่นไปถึงยุคสฤษฎิ์แล้ว แพ้อีกทีไม่อยากจะคิดเลยว่ามันจะถอยไปถึงยุคไหน