วันที่ 25 เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ทั่วโลกพร้อมใจกันทำกิจกรรมรณรงค์กับสังคมสาธารณะ แต่หลายๆ องค์กรก็เลือกที่จะทำให้เดือนพฤศจิกายนทั้งเดือนเป็นเดือนแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรง และพ่วงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วย ไม่ใช่จัดกิจกรรมเฉพาะวันที่ 25 พฤศจิกายนกันเพียงวันเดียวเท่านั้น
จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมกันตลอดทั้งเดือน และสื่อทุกแขนงก็พร้อมใจกันนำเสนอข่าวหรือกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง
ในหน้าข่าวของประชาไทดอทคอม ได้นำเสนอบทความข่าวในหัวข้อ "ขบวนการแรงงานฯ จัดงานวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ระบุ 'เหล้า' สาเหตุสำคัญของปัญหา" (ติดตามอ่านรายละเอียดได้ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/10346) ซึ่งเป็นการรายงานข่าวการรณรงค์ของมูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับ ชมรมเพื่อนเพื่อเพื่อน และสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ในเขตจังหวัดลำพูน ในรายงานข่าวได้นำเสนอข้อมูลจากนายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อนหญิงว่า การให้บริการคำปรึกษาของศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มีผู้มาขอคำปรึกษา 719 กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ สามีไปมีหญิงอื่น สามีทำร้ายร่างกาย สามีไม่รับผิดชอบครอบครัว ซึ่งในจำนวนนี้มี 114 กรณี หรือประมาณร้อยละ 16 มีเหล้าเข้ามาเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง หากจะพูดอย่างง่ายๆ คือ ในความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกๆ 6 กรณี มีเหล้าเป็นส่วนก่อความรุนแรง 1 กรณี
โดยคุณสุชาติได้กล่าวสรุปว่าต้นเหตุของปัญหาสำคัญที่สุดในปัจจุบันก็คือ การดื่มเครื่องดื่มมึนเมาแล้วก่อเหตุรุนแรงโดยผู้ชายนั่นเอง
ข้อสรุปดังกล่าว พลอยทำให้นึกย้อนไปถึงกิจกรรมเสวนาของกลุ่มนักวิจัยจากคณะทำงานเรื่องผู้หญิงในงานเอดส์ที่ได้ลงไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำวิจัยเรื่อง "เรื่องเล่าความรุนแรงและเอชไอวี/เอดส์ ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนจังหวัดสุรินทร์ เนื่องในงานรณรงค์ยุติความรุนแรงไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในช่วงหนึ่งของการสนทนา ก็มีตัวแทนผู้หญิงในชุมชนคนหนึ่งลุกขึ้นมาหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาอภิปรายเช่นเดียวกัน แต่ในครั้งนั้นได้มีการเปิดประเด็นคำถามที่ชวนกันคิดต่อไปอีกว่า
แท้จริงแล้ว ‘เหล้า’ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ชายกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง จริงหรือไม่? แล้วเหตุใดผู้ชายอีกหลายคนที่ดื่มเหล้า แต่ก็ไม่ได้เลือกที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเสมอไปล่ะ น่าคิดเหมือนกัน
หรือว่านั่นเป็นเพียงมายาคติที่คนมักเข้าใจว่า ผู้ชายที่ดื่มเหล้ามักจะกระทำความรุนแรง ด้วยแรงขับจากฤทธิ์เหล้ากันแน่ สมมติฐานเช่นนี้ มักจะอธิบายว่าผู้ชายดีๆจะแปลงร่างเป็นผู้ชายเลวเมื่อเหล้าเข้าปากไปแล้ว
คุณพ่อท่านหนึ่งที่นั่งฟังการสนทนาได้ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า พฤติกรรมความรุนแรงนั้นมีสาเหตุมาจากสภาพจิตใจของแต่ละคน การควบคุมจิตใจให้มีสติสัมปชัญญะนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คนยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม
อีกหนุ่มหนึ่งที่มาจากเครือข่ายครอบครัว ช่วยเพิ่มเติมมุมมองปัญหาที่มาจากสาเหตุของสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูในครอบครัวว่า พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ และความอบอุ่นในครอบครัวจะช่วยหาทางออกให้ปัญหา ก็ว่ากันไปตามฐานความคิดความเชื่อของแต่ละคน
ฉันเห็นด้วยอย่างแรงว่า เหล้านั้นเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดความรุนแรง แต่การวิเคราะห์ว่า เหล้าเป็นสาเหตุของปัญหานั้นอาจจะต้องมองไปให้ลึกซึ้งมากขึ้นไปกว่านี้ เหล้าอาจเป็นเพียงภาพสะท้อนปัญหาและสภาพจิตใจของผู้ที่กระทำความรุนแรง ที่อาจถูกกดดันจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจรอบตัว เพราะการที่ผู้ชายคนหนึ่งตัดสินใจจะใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงและเด็ก ในหลายๆครั้ง ก็ไม่ได้ปฏิบัติการในขณะที่ตัวเองอยู่ในสภาพเมามายเสมอไป แต่ทำลงไปในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะดีๆ อยู่นี่เอง
คุณมลฤดี ลาพิมล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนทนาได้ให้แง่มุมความคิดเห็นต่อข้อเสนอต่อการสร้างสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูในครอบครัวไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า การที่พ่อแม่ให้ความอบอุ่นและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ นั้นเป็นเรื่องดีแน่ แต่การเป็นแบบอย่างที่ดีนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีแบบไหน ก็อาจต้องมาทำความเข้าใจกันอีกว่ามาจากความคิดความเชื่อแบบใด หากครอบครัวนั้นเชื่อว่า ลูกชายเป็นผู้สืบสกุลและต้องได้รับโอกาสและความก้าวหน้าในการเรียนมากกว่าลูกสาว หากว่าต้องเลือกด้วยข้อจำกัดทางการเงินของครอบครัว
และในฐานะที่คนๆ หนึ่งที่น่าจะได้รับโอกาสเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม แต่ความคิดระหว่างลูกชายกับลูกสาว ก็มักถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการเลือกปฏิบัติ จนนำมาสู่การกระทำความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ที่แทบไม่มีใครมองเห็น
มุมมองของฉันและเพื่อนๆ ที่อยู่ข้างผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง การโยนความผิดให้เหล้า จนมองข้ามวิธีคิดของผู้ชายคนนั้นว่า เหตุใดจึงเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา (หรือเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีกไม่ทราบ) นั้นยังมาจากวิธีคิดที่ถูกสั่งสมมาจากโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การใช้ความรุนแรงก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผู้ชายแสดงความเหนือกว่า(ทางร่างกาย) ที่กระทำกับร่างกายของผู้หญิง เป็นการใช้ความรุนแรงมากำราบเพื่อให้คนๆ นั้นหยุดนิ่งและยอมจำนนกับอำนาจของตน
จะกินเหล้าอีกกี่ขวด หรือจะไม่กินมันเลย แต่ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง ทั้งในเรื่องอำนาจ – ความอ่อนโยน - ความแข็งแรง-ความอ่อนแอ ปัญหาความรุนแรงก็ยังอยู่ ไม่ไปไหน และจะยังแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ใครตบตีใคร ใครทำร้ายใคร ก็อยู่ที่ว่า คนๆนั้นกำลังเชื่อเรื่องอะไรอยู่...