เมื่อวันพฤหัสตอนบ่ายๆ ผมเดินเข้าไปหย่อนตัวลงนั่งที่โซฟาบริเวณด้านหน้าช่องขายตั๋วของ Major Cineplex สาขาหนึ่ง มีโปรแกรมหนังเรียงรายอยู่มากมาย ทั้ง Fallen, Doraemon, Fifty Shades of Darker, และหนังไทยจำนวนหนึ่ง สำหรับผมแล้วแต่ละเรื่องไม่ค่อยกระตุ้นความอยากดูหนัง(ในวันนั้น)สักเท่าไร
แต่มีอยู่ชื่อหนึ่งที่สะดุดตาผม คือ Guardians หนังรัสเซียที่เป็นกระแสฮือฮาในโลกโซเชียลได้สักพักหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ผมไม่รีรอที่จะเดินไปต่อแถวเพื่อรูดบัตรซื้อตั๋ว ณ เครื่องขายอัตโนมัติข้างๆเคาท์เตอร์ขายป็อปคอร์น หลังจากซื้อตั๋วแล้วผมก็เข้าไปนั่งรอให้หนังฉายอยู่ที่เบาะบริเวณหน้าโรงหนัง ผมจำไม่ได้ว่าผมนั่งโรงที่เท่าไร น่าจะ 2 ไม่ก็ 3 (ซึ่งมันก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร)
มีเวลาเหลือประมาณ 15-20 นาทีก่อนหนังจะขึ้นฉาย ผมจึงเดินไปหามุมสบายๆเพื่อหย่อนก้นเอนหลังรอหนังฉาย (ผมทำอย่างว่าเป็นประจำ เพื่อเป็นการ skip หลีกเลี่ยงการเข้าไปนั่งดูหนังตัวอย่าง โฆษณารถกระบะ หรือรวมไปถึง Digital Sound-check ที่ต้องนั่งดูลูกบอล ลูกมะพร้าว หรือลูกอะไรต่อมิอะไรเด้งไปเด้งมาบนกลองหลังรถกระบะ ซึ่งโดยรวมแล้วมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างเสียเวลาสำหรับผม)
ผมใช้เวลาว่างระหว่างรอหนังฉายนี้ ไปกับการเหยียดขา พร้อมพิงไปที่เบาะ แล้วบรรจงกดนิ้วมือลงไปที่โทรศัพท์ เพื่อค้นหาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับหนัง Guardians นี้ เช่น เรทติ้ง กระแส และบทรีวิว บทวิจารณ์ต่างๆ หลังจากหนังได้ฉายไปแล้ววันนึง แต่ปรากฏว่าไม่มีข้อมูลอะไรปรากฏเลยทั้งใน IMDB และ Rotten Tomatoes ว่าจะดูคะแนนมะเขือเทศเน่าซะหน่อย เสียดาย ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ในฐานข้อมูลซักเว็ป ผมก็คิดว่า เออ เอาวะ ซือตั๋วมาแล้ว ไหนลองเช็คกระแสจากใน Facebook ซะหน่อย เลยเข้าไปอ่านจากเพจหนึ่งก็โอเคน่าจะสนุกแหละ หลังจากนั้นหนังเริ่มฉายแล้วผมจึงเดินเข้าไปดู
ระหว่างที่กำลังนั่งดูอยู่นั้นผมรู้สึกขัดใจอยู่หลายฉาก หลายซีนอยู่ด้วยกัน ประการแรกๆเลยนะผมคิดว่า เรื่องปมของเรื่อง ที่เป็นหน่วยวิจัยลับของรัฐบาล และปมเรื่องมนุษย์ทดลองในโครงการของรัฐบาล ยังไม่มีการเล่นประเด็นนี้อย่างชัดเจนเท่าไร พูดง่ายๆก็คือมันยังไม่แน่น ไม่ละเอียดพอ เป็นยังไง ทำอะไร ตัวละครไหนอะไรบ้าง (ก็ไม่เป็นไรมองในอีกแง่หนึ่งอาจจะเป็นการผูกปมไปยังภาคต่อไปก็เป็นได้)
ประการถัดมา การเดินเรื่อง การจัดวางท่าทาง อารมณ์ และ moment ต่างๆของเรื่อง ผมคิดว่าหนังยังจัดการและไล่เรียงไม่ดีพอ ถ้าสังเกตดีๆจะมีลักษณะของ "การเร่ง"เร่งในที่นี้คือ เร่งเนื้อเรื่อง เร่งการเดินเรื่อง เร่งการเคลื่อนไหวความเป็นมา จาก Intro ไปสู่ประเด็น และปมหลักของเรื่อง ในช่วงแรกถึงช่วงกลางๆจะเห็นได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ช่วงต้นที่มีการ form ทีมตัวละครเอก ผมมองว่าทางทีมสร้างให้เวลากับส่วนนี้ค่อนข้างน้อย และสั้นมาก ฉากการ form ทีม และการแนะนำตัวละครที่ถูกนำไปผูกรวมกัน ซึ่งทำให้การเดินเรื่องมันดูรวบรัดไปมาก
และโดยเฉพาะกับการเจรจา ผมว่าการเจรจากับตัวละครเอกแต่ละตัวในการ form ทีมเป็นอะไรที่มันง่าย และตัดตอนกันมากไป (ประเด็นนี้อาจจะถกเถียงกันได้ว่า ตัวละครมนุษย์ทดลองทั้ง 4 รายนั้น มีปูมหลังที่ถูกปูมาในการเล่าเรื่องตอนต้นเรื่องอยู่แล้ว เลยไม่ได้ฉายมิติการพูดคุยเจรจาในฉากนั้นมาก) ส่วนนี้คงน่าจะมาจากปัญหาการจัดสรรเวลาในตัวหนังร่่วมมาด้วย (หนังมีความยาวประมาณไม่ถึง 2 ชั่วโมง ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ ผมจำระยะความยาวไม่ได้แน่ชัด เพราะไม่ได้เช็คเวลาว่าหนังเริ่มฉายและจบจริงๆกี่โมง)
ซึ่งปัญหาข้อนี้มันจะพ่วงมากับปัญหาอีกประการคือ ปัญหาของการแบ่งบท แย่งบทของตัวละครเอกกัน เรื่องนี้ผมมองว่าการแบ่งบทของตัวเอกทั้ง 4 คนนั้นค่อนข้างทำได้ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไร แม้ว่าตัวเอกจะมีเพียงแค่ 4-5 คน และแม้ว่าบทตัวเอกฝั่ง heroes จะได้รับการแบ่งบท อย่างค่อนข้างเท่าๆกัน ออกมาโชว์ความสามารถกันคนละนิด คนละหน่อย ถัวๆเฉลี่ยกันไป (ตรงนี้ถ้ามองในมุมนึงจะเห็นว่า มันก็ดีแล้วที่ บทของทั้ง 4 คนได้รับการถัวเฉลี่ยกันอย่างเหมือนจะเป็นธรรมจริงไหม) แต่เอาจริงๆ มันค่อนข้างเถรตรงและชัดเจนไปว่ามีการแบ่งบท แบ่งฉากปรากฏตัวเพื่อแสดงความสามารถของแต่ละคน เข้าใจว่าเป็นหนัง superheroes ที่มี teamwork ดี แต่การแบ่งถัวเฉลี่ยแบบนี้ พร้อมกับเงื่อนไขด้านเวลาที่บีบเช่นนี้ หลายๆครั้งก็ทำให้ตัวละครนั้นอดที่จะมี moment ของการแสดงอานุภาพไปโดยปริยาย (ถ้าจะจัดสรร และแบ่งสัดส่วนกันไปเลยว่า ใคร ตัวละครไหนจะเด่นสุด หรือเด่นกว่า ก็จัดไว้แต่แรกตามแนวการจัดสรรแบบในหนัง Superheroes แบบรวมดาวของ Marvel ที่ภาคล่าสุด Civil War ก็ทำได้ดูไม่เลอะเทอะ แม้บทและตัวละครจะเยอะ แต่ก็มีการจัดสรร จัดลำดับความสำคัญของตัวละครที่ค่อนข้างสอดคล้องกับตัวเนื้อเรื่องได้อย่างเป็นระเบียบดี)
ต่อไปคือเรื่องรอยต่อของเนื้อเรื่องและการตัดผ่านของการเล่าเรื่องระหว่างกัน ฉากหนึ่งไปอีกฉากหนึ่ง ตรงนี้ผมรู้สึกว่ามันทำได้แบบค่อนข้างยังมีรอยปรุให้เห็นอยู่ เช่นฉากบางฉากอย่างฉากเผยความลับตัวละครตัวหนึ่งที่อยู่ๆนึกจะเปิดปูมหลัง อยู่ดีๆก็เปิดและแล้วก็ปิดไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย (ผมจะพยายามไม่เอ่ยถึงภายในเนื้อเรื่อง เดี๋ยวจะเป็นการสปอยล์) แล้วก็ตัดข้ามไปยังอีกฟากฝั่งหนึ่งของตัวเนือเรื่องได้โดยที่มันเชื่อมกันเอง แม้ว่ามันจะดูไม่มีเหตุผลหรือเหตุผลไม่แข็งแรงเลยก็ตาม
ในส่วนของ Plot ของหนังที่ว่ามีการเล่นประเด็นเกี่ยวกับความแตกต่่างทางชาติพันธุ์และจุดเด่นทางวัฒนธรรมความเชื่อของชนกลุ่มต่างๆภายในรัสเซียอันนี้ ผมกะว่าจะพยายามไม่กล่าวถึงเพราะน่าจะมีที่อื่นเขียนไว้แล้ว
จริงๆแล้วผมก็แอบคิดอยู่แว้บนึงนะ ว่าหนังนี้มีแรงบันดาลใจมาจาก The Avenger หรือพวก Superheroes ตามสไตล์ Hollywood หรือเปล่า แต่่ก็คิดว่ามันไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญอะไรถ้าจะมานั่งนับว่ามีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องอะไร ค่ายไหน สำนักอะไร เอาแบบพื้นที่สุด ของทีมสร้างน่าจะอยู่บน mindset ที่ว่าในเมื่อสหรัฐอเมริกายังสามารถสร้างหนัง superheroes เป็นของตัวเองได้ ทำไมอดีต Soviet เก่า หรือรัสเซียในปัจจุบันจะทำไม่ได้
แต่ถ้าให้ลึกลงไปกว่านั้น ผมคิดว่าประเด็นก็อาจจะไม่ได้อยู่ที่จุดผิวเผินอย่างการสร้างหนัง superheroes อย่างเดียว แต่อาจจะอยู่ที่ประเด็น การโชว์ศักยภาพและขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาการและการดัดแปลงประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านอุตสาหกรรมอาวุธของประเทศตัวเองมากกว่า จะเห็นได้ชัดเจนถึง log คำพูดในตอนท้ายๆเรื่องที่มีการกล่าวอ้างถึงประเด็นคุณภาพของอุตสาหกรรมอาวุธและเทคนิควิทยาการการป้องกันประเทศของรัสเซียที่มีผลต่อการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมิตินี้จะเห็นว่า dialogue ลักษณะนี้ทางหนัง superheroes ฝั่งอเมริกา และสำนัก Hollywood ก็เคยทำอยู่บ่อยๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะตั้งคำถามและชวนกันมาคิด คือ motion ในหลายๆ motion ของฉากต่อสู้ ฉากแอคชั่นไม่่รู้ว่าผมรู้สึกไปเองหรือเปล่า ผมสังเกตว่ามันมีหลายส่วน หลาย movement หลายตอนที่เหมือนมันจะถูกดึง(หรือมีต้นแบบ)มาจากในเกม และการ์ตูนเรื่องอื่นๆ (แต่ไม่ใช่ Red Alert แน่ และถ้าไม่นับลูกบอลที่คล้ายบอลเก็งกิตอนท้ายเรื่อง) ค่อนข้างเยอะจนสังเกตได้ อันนี้ต้องลองไปสังเกตกันดู จะบอกว่ามันเป็น trait ของหนัง superheroes ทั่วๆไปที่เขาก้มีกันหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจเพราะเท่าที่ดูหนังและการ์ตูน superheroes มามันก็ไม่ได้รู้สึกหรือสังเกตได้อะไรขนาดนั้น ตรงนี้แนะนำให้ลองไปดูกัน
สุดท้ายถ้าไม่นับเรื่องการต่อสู้ในฉากจบ ที่ค่อนข้างจะ(เรียกได้ว่า)จบง่ายไป จนน่าตกใจ ก็มีอยู่เรื่องให้ตีความกันเบื้องต้นอยู่ 2 ประการก็คือ
1. หนังถูกบังคับให้จบง่ายๆ และตั้งธงจุดจบไว้อย่างนั้น เพราะความไม่เชี่ยวชาญของทีมสร้าง
2. เป็นแผนการตลาดของทีมสร้างที่ตัดสินใจรีบตัดเนื้อเรื่องให้จบ แล้วทิ้งปมอย่างนั้น เพื่อปูทางไปสู่การสร้างภาค 2 หรือภาคต่อ
ซึ่งถ้าเป็นข้อ 2.) ผมเห็นว่ามันเป็นการผูกปมที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์หรือคิดอะไรใหม่ในการจะวางปมให้ไปสู่ภาค 2 เท่าไร ถ้ามองในแง่นี้ผมว่ามาตรฐานเทคนิคการผูกเรื่อง และการตลาดภายในตัวหนังอาจจะยังไม่เท่ากับค่าย Hollywood เท่าไร เพราะมันไม่ได้สร้างความรู้สึกที่น่าติดตามจนคนดูต่้องสงสัยถึงภาค 2 หรือภาคต่อขนาดนั้น
โดยสรุปคิดว่าเรื่องนี้จะน่าสนใจมากถ้ามีการปรับให้มันดึงดูดคน และมีเทคนิควิธีของการทำตลาดภายในหนังให้มากกว่านี้ เพราะถ้าหนังเรื่องนี้จะไปตีตลาดกับหนัง Action Fantasyสไตล์ Hollywood ทั่วๆไป ก็อาจจะยังทำได้ไม่่่ดีพอ หรือแม้กระทั่งถ้าพูดในมิติที่ว่าจะทำเป็นหนัง Propaganda ด้านวิทยาการวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของรัสเซียก็ยิ่งแล้วใหญ่ ยังถือว่าดูขาดศิลปะในการทำให้มันดูโน้มน้าวใจคนดูอยู่