<p><strong>เรื่องเล่า-เผ่าชน <br /><br /></strong>บันทึกประสบการณ์ภาคสนามที่เรียนรู้ เรื่องราว วิถีชีวิต วัฒนธรรม การต่อสู้เพื่อสิทธิตัวตนทางวัฒนธรรมและกฎหมายของพี่น้องชนเผ่า<br />ด้วยมุ่งหวังสร้างความเข้าใจ การมีชีวิตอยู่ร่วมกัน อย่างเคารพและให้เกียรติในหลากวิถี หลายวัฒนธรรมแห่งชาติพันธุ์ ในศักดิ์ศรีของความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน<br /><br /><br /><strong>แม่ญิงโย-นก</strong><br /><br />คนเชียงใหม่ อู้กำเมือง พี่น้องชนเผ่าอ่าข่ามักเอิ้น &quot;กอลอ&quot; ส่วนพี่น้องสกอร์ และโพล่ง (หรือ โผล่ว) เรียก &quot;โย&quot;<br />อดีตนักข่าวที่สนใจประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ชนเผ่าและชาติพันธุ์ ผู้มีชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และผลกระทบของทรัพย์สินทางปัญญาต่อผู้ป่วย <br />ปัจจุบันกำลังเขียนรายงานวิชาการจากประสบการณ์ภาคสนามทางมานุษยวิทยา ในหมู่บ้านชาวอ่าข่าจังหวัดเชียงราย และหมู่บ้านชาวสกอร์ และโพล่ง ในจังหวัดเชียงใหม่</p>

บล็อกของ maeyingyonok

"โอฮาโย่ แว อา ยู โกอิ้ง"

ข้าพเจ้านำผู้อ่านออกเดินทางจากสถานีขนส่งอาเขตเมื่อหลายเดือนก่อน หากไปไม่ถึงสถานีขนส่งจังหวัดเชียงรายสักที เพราะมัวแต่ไปหลงทางย้อนอยู่ในประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่ อ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว กับ อ.เดวิด เค วัยอาจ ร่วมกันถอดความจากภาษาล้านนาบ่าเก่ามาเป็นคำเมือง ผู้ที่ยังสนใจอาจติดตามได้ในบล็อคใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าจักได้นำข้อเขียนของท่านอาจารย์ทั้งสองมาถ่ายทอดต่อไปเร็วๆนี้

*********************************

เมื่อรถเลี้ยวเข้าจอดที่บริเวณสถานีขนส่งเชียงราย ใกล้กับตลาดกลางคืน หรือไนท์บาซาร์ เป็นอันว่าการเดินทางไกลเกือบสี่ชั่วโมงของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลง ที่กำลังจะเริ่มคือการเดินทางเข้าไปเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ดอยสูงอ.แม่ฟ้าหลวง บริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่ข้าพเจ้าจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในอีกห้าหกเดือนข้างหน้า

ก้าวขาลงจากรถ ปราดไปที่เก็บของใต้ท้องรถ ยกเป้ใบใหญ่ขึ้นสะพายหลัง ย้ายเป้ใบเล็กที่บรรจุกล้องถ่ายรูปและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมาไว้ด้านหน้า มือที่พอจะว่างคว้าเอาขันโตกหวายใบน้อยมาถือไว้

ภาพประกอบแม่หญิงโย-นก

หันมาด้านหลัง เจอคนขับรถสองแถวเล็กยืนยิ้มเผล่ “โอฮาโย่ แว อา ยู โกอิ้ง” ฮั่นแน่ ส่งภาษาต่างประเทศมาทักทาย เห็นทีจะเป็นเพราะเป้หลังใบใหญ่ของข้าพเจ้าชวนให้เข้าใจผิด มิอาจทึกทักได้เลยว่าหน้าตาของข้าพเจ้าให้ จนใจว่า ข้าพเจ้าเองหาใช่คนญี่ปุ่นมาจากไหน จะสวมรอยเป็นชาวต่างประเทศก็กระไรอยู่
“บ่อใจ้ญี่ปุ่นเจ้า คนเมืองเฮาตวยกั๋นนี่แหละ” ข้าพเจ้าส่งเสียงในฟิล์มตอบกลับไป

“โหะ ก่อนึกว่าญี่ปุ่น เห็นหิ้วเป้ใบใหญ่แต้ใหญ่ว่า ละขันโตกนี่ลอหิ้วมายะหยัง หยังมาของหลายแต้ว่า จะไปไหนเนี่ย ไปสองแถวก่อ” คนขับวัยกลางคนรัวคำถามใส่ข้าพเจ้าเป็นชุด ไม่แน่ใจนักว่าอยากได้คำตอบไหนก่อน

“บ่อไปเตื้อเจ้า พอดีนัดคนมาฮับแล้วเจ้า” ข้าพเจ้าตอบปฎิเสธไป บอกว่ามีคนมารับแล้ว เป็นหนุ่มรุ่นน้องชาวลีซู ที่ทำงานองค์กรเอกชนช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงเรื่องสถานะบุคคล ที่นัดหมายกันว่าจะมาเจอกันที่สถานีขนส่งนี้

“อั้นกา มะ อ้ายจะจ้วยแบกกระเป๋าไปหื้อ" คนขับรถใจดีเอื้อมมือมาช่วยปลดเป้ใบใหญ่จากหลังข้าพเจ้า เอาไปถือไว้เหมือนเป็นวัตถุไร้น้ำหนัก ข้าพเจ้าโชคดีนักมาถึงวันแรกก็เจอคนใจดี

นั่งรออยู่ไม่ถึงสิบนาที หนุ่มลีซูคนที่ว่าเดินยิ้มร่าเข้ามาช่วยยกของไปเก็บไว้ในรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ พาหนะคู่ใจที่พาเขาและทีมงานอีกสามคน อันประกอบด้วยอีกหนึ่งหนุ่มลีซู หนึ่งหนุ่มอ่าข่า และหนึ่งสาวอ่าข่า (ไม่ได้มารับที่สถานี ประชุมอยู่ที่สำนักงานย่านริมกก ซึ่งข้าพเจ้ากำลังจะเดินทางไปร่วมประชุมด้วย)

“สวัสดีครับปี้ครับ พอดีอ้ายเปิ้นหื้อผมมาฮับครับ กำเดียวเฮาแวะไปตี้สำนักงานก่อนน่อ มีประชุมตี้หั้นครับ” หนุ่มน้อยเสื้อขาว กางเกงชาวเล ผ้าขาวม้าคาดเอว ยกมือไหว้ทักทายและแจ้งข่าว เขาพูดคำเมืองชัดเจน ทำเอาข้าพเจ้าแปลกใจไม่น้อย พี่น้องชนเผ่าหลายคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก ถนัดมากกว่าในการใช้ภาษาไทยแบบกรุงเทพ ในการสื่อสารกับคนนอกเผ่า แม้แต่ในหมู่บ้านอ่าข่าที่ข้าพเจ้าเข้าไปอาศัยอยู่ในเวลาต่อมานั้น เวลามีเจ้าหน้าที่อำเภอเข้ามาเยี่ยมเยียน หรือนัดประชุม ชาวบ้านที่พอจะพูดและฟังภาษาไทยได้ ยังต้องขอร้องให้พูดเป็นภาษาไทยกรุงเทพ เพื่อที่เขาจะได้ถ่ายทอดเป็นภาษาอ่าข่าให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจ

“เฮียนเกษตร อู้กำเมืองบ่อได้ มีปั๋นหาครับปี้ ต๋อนผมเข้าไปเฮียนใหม๋ๆ รุ่นปี้คนเมืองบอกว่าคนตี้มาทีลุนหื้อไปรายงานตั๋ว ผมก่อบ่อฮู้ว่า ทีลุน (ภายหลัง) มันแป๋ว่าอะหยัง ผมก่อเลยบ่อไป เลยโดนลงโทษ หลาบเลย จ๋ำกำนี้ได้เต้าบ่าเดี่ยว” หนุ่มน้อยเล่าขำๆ กับประสบการณ์ความไม่รู้เรื่องภาษาอันรุ่นพี่อ้างเอาเป็นเหตุหาเรื่องลงโทษรุ่นน้อง

ที่แย่กว่านั้น เป็นเรื่องการล้อเลียนความเป็นชนเผ่า ที่ทำให้บางคนถึงกับไม่ยอมพูดภาษาประจำเผ่าของตนที่โรงเรียน ไม่ก็รู้สึกอายในความเป็นชนเผ่าของตนเอง เพราะรู้สึกว่าแปลกแยกแตกต่างกับเพื่อนคนอื่น ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน มีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนบางโรงเรียนในภาคเหนือ แต่โดยทั่วไปแล้ว การล้อเลียน และแบ่งแยก “คนเมือง” “คนดอย” ยังเป็นเรื่องที่ก่อความขมขื่นใจแก่เด็กๆลูกหลานชนเผ่าชาติพันธุ์หลายๆกลุ่ม

ความพยายามของรัฐไทย ในการที่จะเชิดชูชาติพันธุ์ “ไทยบริสุทธ์” ซึ่งไม่อาจจะมีได้ และไม่มีวันจะมีได้ ให้โดดเด่น มีอภิสิทธิเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นๆนั้น ครอบคลุมไปถึงการอ้างความเหนือกว่าในเรื่องภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และอื่นๆ เผยแพร่และตอกย้ำผ่านทางระบบการศึกษาแห่งชาติ โรงเรียน ครู และแบบเรียนทางประวัติศาสตร์ และสื่อมวลชนแห่งชาติ

ภายใต้อุดมการณ์เช่นนี้ การพูดภาษาถิ่น หรือภาษาประจำเผ่า หรือภาษาอื่นใดที่ไม่ใช่ภาษา “ไทย” และที่ได้รับการหมิ่นหยามว่ามีสถานะด้อยกว่า จึงเป็นเรื่องน่าอาย พึงระงับยับยั้ง ป้องกัน และลงโทษหากฝ่าฝืน กล่าวในทางกลับกัน การพูดภาษาต่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาของวัฒนธรรมที่ทัดเทียมหรือสูงกว่าของไทย กลับไม่เป็นเรื่องพึงละอาย ซ้ำยังต้องส่งเสริมกันทุกวิถีทาง เราจึงอาจเห็นโรงเรียนสองภาษาอังกฤษ-ไทย ญี่ปุ่น-ไทย จีน-ไทย มีอยู่ทั่วไป ในขณะที่ต้องต่อสู้กันแทบเป็นแทบตาย เพื่อจะให้มีโรงเรียนที่สอนภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงควบคู่กันไปกับภาษาไทย ซึ่งก็ยังมีจำนวนน้อย และยังมีข้อถกเถียงกันอยู่อีกมากว่ามุ่งส่งเสริมความหลากหลายของภาษาจริงหรือไม่

ที่ร้ายไปกว่านั้น เมื่อมีการนำภาษาและภาพลักษณ์ของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงไปผูกติดอยู่กับประเด็นเรื่องความมั่นคง ยาเสพติด และสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่ยุคหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา ทำให้เกิดการสร้างภาพของความเป็นอื่น ของศัตรู ของคนที่ไม่น่าไว้ใจ การเรียนรู้ภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงจำกัดอยู่เพียงเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เรื่องการข่าวและความมั่นคง มีเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่กี่หน่วยงาน ที่มองเห็นว่าการเรียนรู้ภาษาชนเผ่าชาติพันธุ์เป็นเรื่องจำเป็น (เพื่อการข่าวและความมั่นคง) ในหมู่บ้านอ่าข่าที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่นั้น ชาวบ้านบอกว่ามีเพียงตำรวจตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์บางคนเท่านั้นที่พูดภาษาของพวกเขาได้ และชาวบ้าน (ส่วนใหญ่ผู้ชาย) บางคนที่พูดไทยได้ ก็จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้นี่เอง

จึงไม่น่าแปลกใจที่งานศึกษาหลายๆชิ้น จะพบว่า โครงการของรัฐโดยการสนับสนุนของกรมประชาสงเคราะห์ที่ส่งพระสงฆ์ขึ้นไปตามแดนดอยต่างๆ หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการพระธรรมจาริก ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามหลายๆอย่างของรัฐไทยในอันที่จะเปลี่ยนให้ ”ชาวเขา” กลายเป็น “พลเมืองไทยชั้นหนึ่งที่ช่วยเหลือตัวเองได้” ตามคำประกาศในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค 2519 นั้น ไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และความที่พระธรรมจาริกเองไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านชนเผ่า

กล่าวโดยที่สุดแล้ว ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อภาษาถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง มักเป็นไปในทางลบ หมิ่นหยามว่าด้อยกว่าภาษาไทย และเห็นว่าเป็นปัญหาต่อ”ความมั่นคง” ข้ออ้างอันสุดแสนอมตะ แต่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม เห็นได้จากข่าวเมื่อเร็วๆนี้ ที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) อ้างคำสั่งเรื่องความมั่นคง ห้ามวิทยุชุมชนในอำเภอฮอดออกอากาศเป็นภาษากะเหรี่ยง และให้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยกลางกับภาษาคำเมืองเท่านั้น ทั้งๆที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวกะเหรี่ยงโผล่ง ซึ่งบรรพบุรษของพวกเขาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนั้นก่อนการเกิดขึ้นของกอ.รมน. และเจ้าหน้าที่หลายคนด้วยซ้ำไป

ด้วยทัศนคติและความเข้าใจเช่นนี้ ทำให้มิอาจเข้าใจเป็นอื่นใดได้เลยว่า นโยบายแห่งชาติต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ นั้น แท้จริงแล้ว มุ่งกดบีบกลืนกลายวัฒนธรรม หาใช่เพื่อผสมผสานกลมกลืนดังที่อ้างไม่

Subscribe to RSS - บล็อกของ maeyingyonok