Skip to main content

เมื่อความคิดความเชื่อและความเข้าใจต่องานบริการทางเพศในสังคม มักถูกนำเสนออยู่อย่างซ้ำๆ และอย่างต่อเนื่องว่าเป็น “อาชญากรรม และ ผิดศีลธรรม” เราคงไม่อาจปฏิเสธถึงการธำรงอยู่ของ “การตีราคา ตัดสินคุณค่า” คนทำอาชีพบริการทางเพศนี้ได้


เหตุผลที่ว่า “งานบริการทางเพศ” เป็นธุรกิจที่เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ ก็เป็นชุดเหตุและผลหลักที่มีอำนาจต่อความคิดความรู้สึกของผู้คน หากเราก็เคยได้ยินเรื่องเล่าที่แตกต่างหลากหลายเกี่ยวกับบริการทางเพศทั้งจากสื่อกระแสหลัก จากบทเรียนการทำงานขององค์กรและเครือข่ายคนทำงาน และจากคำบอกเล่าของพนักงานบริการทางเพศว่า



...
มีผู้หญิงและคนอีกจำนวนมากที่ทำงานบริการทางเพศต้องตกอยู่ใน “สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เป็นอันตราย “
...
มีผู้หญิงและคนอีกจำนวนมาก “ได้เลือกและตัดสินใจ” เข้าสู่อาชีพบริการทางเพศในต่างกรรมต่างวาระโดยสมัครใจ
...
มีผู้หญิงและคนอีกจำนวนมาก “ถูกชักชวน ถูกหลอก” ให้เข้าสู่อาชีพ และมารู้ในภายหลังว่าผลตอบแทนและเงื่อนไขในการทำงานไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้
...
มีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอีกจำนวนมาก “ถูกขบวนการค้ามนุษย์” นำเข้าสู่ธุรกิจทางเพศ
...
มีผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นคนทำงานบ้าน ถูกข่มขืนโดยนายจ้างและกลายเป็นทาสทางเพศในที่สุด
...
ฯลฯ


โดยส่วนตัวเราเห็นด้วยกับการที่คนทำงานไม่ว่าจากภาครัฐ ภาคประชาสังคมและขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิง จะต้องร่วมกันคิดอ่านหาหนทางที่จะทำให้งานบริการทางเพศมีมาตรฐานที่ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ของคนที่ “ตัดสินใจเลือก” หรือ “จำต้องเลือก” ประกอบอาชีพดังกล่าวในต่างกรรมต่างวาระ และปรับเปลี่ยนมุมมองเชิงเดี่ยวต่องานบริการทางเพศว่าเป็นอาชญากรรมและผิดศีลธรรม


ความเชื่อที่รองรับมาตรการ “การจับกุมผู้ซื้อบริการทางเพศ ว่าเป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาธุรกิจบริการทางเพศ” ดูจะสอดรับกับทางออกที่นักสตรีนิยม หรือ นักต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงบางกลุ่มพยายามรณรงค์อยู่ แทนที่จะทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นที่มาของปัญหาซึ่งทำให้ธุรกิจบริการทางเพศกลายเป็น “สิ่งอันตราย” และหรือ “ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย”


มีข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์หลายแหล่งอรรถาธิบายว่า “การบริการทางเพศ” เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำมาหาเลี้ยงชีพซึ่งเกี่ยวข้องกับเซ็กส์มาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ใน “รัชกาลที่ห้าทรงเที่ยวกลางคืน”)


หากเราได้ใคร่ครวญอย่างปราศจากอคติทางเพศ ...เมื่อเซ็กส์ถูกนำมาขาย มันได้กลายสถานะเป็น “การบริการ” ไม่ได้หมายถึง “เรือนร่างที่ถูกขาย” ดังนั้นจะมีชุดเหตุและผลอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะนำมายับยั้งหรือต่อต้านการที่จะทำให้บริการดังกล่าวผิดกฎหมาย เหตุผลเพียงเพราะว่า “อวัยะเพศถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างรายได้” คงฟังไม่ขึ้นอีกต่อไป!


การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในงานบริการทางเพศมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ต่างหาก เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปกป้องสิทธิของผู้หญิงและผู้คนที่ยังคง “ทำมาหาเลี้ยงชีพ” ด้วยงานบริการทางเพศ


ตราบใดที่ความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นยังคงดำรงอยู่ และได้รับการค้ำจุนอย่างดีด้วยโครงสร้างสังคม-วัฒนธรรมแบบชายเป็นศูนย์กลาง แม้ว่ารัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะผลักดันและบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานบริการทางเพศออกมาบังคับใช้ ผู้หญิง ผู้ชาย กะเทย ฯลฯ ก็คงยังขายบริการทางเพศอยู่ดี


น่าจะถึงเวลาที่เราต้อง “รับฟังเสียง” ของผู้หญิงทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริการทางเพศ ไม่ใช่รับฟังแต่เฉพาะเสียงของคนที่มุมมองต่อเรื่อง “งานบริการทางเพศ” ในระนาบเดียวกับเรา


ถ้าหากนักสตรีนิยม หรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิง กลับกลายเป็นผู้ที่ไม่ฟังเสียงหรือไม่เคยเปิดใจที่จะรับฟังเสียงของ “คนทำงานบริการทางเพศ” นอกจากเสียงของตนและจุดยืนทางแนวคิดของตน นักสตรีนิยมหรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิง อาจต้องหันมาทบทวนและตรวจสอบความคิดความเชื่อและความหมายเรื่องเพศของตนเองอย่างจริงจังแล้วกระมัง!


บล็อกของ มลฤดี ลาพิมล

มลฤดี ลาพิมล
นับเป็นครั้งแรกที่การวิจัยสารป้องกันการติดเชื้อ (ไมโครบิไซด์) รายงานผลความสำเร็จถึงประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ของคู่เพศสัมพันธ์หญิงชาย แม้ว่าการนำเสนอผลการวิจัยสารป้องกันการติดเชื้อ (ไมโครบิไซด์) ที่ชื่อ โปร 2000 (PRO 2000) ต่อสาธารณะจะออกมาล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม แต่นักรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องสารป้องกันการติดเชื้อ (ไมโครบิไซด์) ต่างขานรับอย่างยินดีถึงผลการวิจัยโปร 2000 (PRO 2000) ที่เผยแพร่ออกมา เพราะมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการพัฒนาสารป้องกันการติดเชื้อ (ไมโครบิไซด์) ในลำดับต่อไป
มลฤดี ลาพิมล
เมื่อความคิดความเชื่อและความเข้าใจต่องานบริการทางเพศในสังคม มักถูกนำเสนออยู่อย่างซ้ำๆ และอย่างต่อเนื่องว่าเป็น “อาชญากรรม และ ผิดศีลธรรม” เราคงไม่อาจปฏิเสธถึงการธำรงอยู่ของ “การตีราคา ตัดสินคุณค่า” คนทำอาชีพบริการทางเพศนี้ได้ เหตุผลที่ว่า “งานบริการทางเพศ” เป็นธุรกิจที่เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ ก็เป็นชุดเหตุและผลหลักที่มีอำนาจต่อความคิดความรู้สึกของผู้คน หากเราก็เคยได้ยินเรื่องเล่าที่แตกต่างหลากหลายเกี่ยวกับบริการทางเพศทั้งจากสื่อกระแสหลัก จากบทเรียนการทำงานขององค์กรและเครือข่ายคนทำงาน และจากคำบอกเล่าของพนักงานบริการทางเพศว่า
มลฤดี ลาพิมล
“เรื่องโจ๊ก เรื่องเจี้ย”  ซึ่งมีลักษณะสองแง่สองง่ามเกี่ยวข้องกับ “เรื่องทางเพศ” ที่เราๆ ท่านๆ นำมาเล่า เอามาบอกต่อ หรือนำมาแบ่งปันกันในที่ทำงาน ในงานแต่งงาน ในงานวันเกิด ในงานขึ้นบ้านใหม่หรืองานอะไรก็แล้วแต่นั้น  ยิ่งถ้าเรื่องเล่าทางเพศเหล่านั้นเจือปนด้วยความดุเด็ด เผ็ดมัน ขำขัน ตลกโปกฮา สนุกสนานมากเท่าไหร่ ผู้คนในสังคมก็ดูเหมือนจะเปิดใจ อ้าแขนรับ มีอารมณ์สนุกสนานคล้อยตาม และเปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยเรื่องเพศนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่โดยมิได้ฉุกคิด ตั้งข้อสังเกต และแม้กระทั่งตั้งคำถามด้านผลกระทบต่อความเสื่อมทางศีลธรรมจริยธรรมของสังคม…