Skip to main content

เก่าไป ใหม่มา

โดย : เผ่า นวกุล

 

           เมื่อกล่าวถึงของเก่ามันก็มีความหลากหลายของมันอยู่ บางครั้งก็มีคุณค่า บางครั้งก็อยากที่จะเอาเท้าเขี่ยทิ้งหากจะยกตัวอย่างมาให้เห็นเห็นชัดๆก็ประมาณว่า เมียเก่าก็คงไม่น่าทะนุถนอมเช่นเมียใหม่ อาหารสดใหม่จากเตาก็คงดีกว่าอาหารที่ค้างคืน อันนี้เป็นตัวอย่างของใหม่ที่ดีกว่าของเก่า ส่วนของเก่าที่ดีกว่าของใหม่นั้นบางครั้งเราไม่สามารถกล่าวได้ว่ามันดีกว่าอย่างไรเพราะฉะนั้นความดีของมันก็อยู่ที่ว่า เพราะมัน  “เก่า” มันเลยดีกว่า “ใหม่” และหากคำอธิบายนี้บวกกับสุนทรียะของปัจเจกบุคคลด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้การอธิบายนี้มีพลังมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังทางเศรษฐกิจหรือมูลค่าดังนั้นในที่สุดแล้วของเก่าก็มักจะมีมูลค่าที่หาที่สิ้นสุดมิได้

            แม้ว่าหากเรากล่าวถึงความเก่าแล้วหลายคนปัจจุบันมักเมินหน้าหนีอย่างไม่ต้องสงสัย ของเก่าเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งความไม่โลกาภิวัฒน์หรือถ้ากล่าวง่ายๆก็คือความไม่ทันสมัย ความไม่ทันสมัยมักจะถูกเมินหน้าหนีด้วยเหตุแห่งความสบาย ความสบายมักกอดคอกับความทันสมัยและเข้ากันได้อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า “เป็นปี่เป็นขลุ่ย”โดยทิ้งให้ความไม่ทันสมัยในยุคก่อนถูกทำให้กลายเป็นแค่ตำนานไป

            แต่กระนั้นเองความไม่ทันสมัยในยุคก่อนก็หาได้เป็นสิ่งที่มองข้าม สิ่งที่มันน่าสนใจก็ยังมีอยู่และโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเองก็รู้สึกทึ่งกับมันมากเช่นกัน หากกล่าวถึงกรอบคิดเกี่ยวกับพระเจ้าสร้างโลก ทุกสิ่งอย่างก็คงเกิดมาโดยมีเป้าหมายของตัวเองพระเจ้าย่อมเล็งเห็นประโยชน์ในสิ่งนั้นและรู้ดีว่า “กูสร้างมึงมาทำไม” เมื่อพระเจ้าเป็นผู้สร้างแล้วมนุษย์เล่าจะรู้เป้าหมายการสร้างของพระเจ้าหรือเปล่า ครั้นจะรอให้พระเจ้ามาบอกให้ฟังก็คงไม่ได้เพราะในที่สุดแล้วพระเจ้าก็ไม่เคยปรากฏตัวตนให้ใครเห็น

            เมื่อเป็นเช่นนั้นมนุษย์ก็พยายามค้นหาเหตุผลด้วยตนเองเสมอ ที่ผู้เขียนบอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่น่าทึ่งก็เพราะว่า ในสมัยโบราณนั้นวิทยาการต่างๆ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ หาได้มีไม่ แต่มนุษย์เองก็พยายามหาคำอธิบายต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวด้วยสองมือเปล่าอยู่ร่ำไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและทำให้ผู้เขียนศรัทธาในตัวมนุษย์นั่นก็คือ การอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ ตัวละครต่างๆถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นคำอธิบายในปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้น ปกรณัม เป็นตัวอย่างดีดีที่เห็นได้ชัด

            การมีอยู่ของ Zeus เป็นความพยายามที่เห็นได้ชัด Zeus นั้นตามตำนานของกรีกโบราณมีฐานะเป็นเทพเจ้าแห่งดินฟ้าอากาศ มีอาวุธในการแสดงอิทธิฤทธิ์คือ สายฟ้า ฟ้าร้อง และสายฝน จากตรงนี้สิ่งที่เห็นคืออะไร ผู้เขียนกำลังสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อก่อนมนุษย์นั้นคงตั้งข้องสงสัยว่า ฟ้าร้อง ฟ้าฝ่า ฝนตก เกิดจากอะไร มนุษย์จึงพยายามอธิบายการเกิดเจ้าสิ่งเหล่านี้ผ่าน Zeus นั่นเอง ผู้อ่านอาจจะหัวเราะเยาะเมื่อมองย้อนกลับไปแน่นอนและถ้าเราเอาหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันมาเทียบเคียงก็คงต้องบอกว่า “คนคิดแม่งบ้าไปแล้ว” สำหรับผู้เขียนแล้วหาได้รู้สึกเช่นนั้นไม่ ความรู้สึกกับทึ่งในความพยายามและทึ่งในความสามารถของมนุษย์ที่สามารถจินตนาการสร้างสิ่งเหล่านี้มาอธิบาย (เป็นเหตุผล Reason) เพราะผู้เขียนลองสมมุติตัวเองไปอยู่ตรงนั้นสิ่งที่ผู้เขียนจะทำคงเป็นการล่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพมากกว่าที่จะมานั่งคิดตัวละครเพื่อจะอธิบายธรรมชาติเป็นแน่

            มาดูของบ้านเราบ้างพอจำกันได้หรือไม่ “รามสูรผู้เป็นสหายกับฝน กินลมเป็นอาหาร เป็นมิตรกับพระราหู และมีขวานเพชรเป็นอาวุธ วันหนึ่งรามสูรได้รับการไหว้วานจากพระราหูให้ชิงดวงแก้วและจับนางเมขลาเพื่อพระราหูจะได้นำไปถวายพระอิศวรเพื่อเป็นการไถ่โทษที่ตนเคยไปแปลงเป็นเทวดาแอบกินน้ำอมฤต แต่ด้วยอำนาจแสงที่ส่องจากดวงแก้วรามสูรจึงไม่สามารถขว้างขวานถูกนางเมขลาได้แม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นเมื่อนางเมขลากับรามสูรพบกันเมื่อไหร่ก็จะเกิดเหตุการณ์สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นทั้งแดนสวรรค์และโลกมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่าเป็น ที่มาของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า นั่นเอง” ไม่มีความต่างอะไรกับ Zeus เลยก็ว่าได้

            ดังนั้นกล่าวได้ว่าสมัยโบราณเหตุผลถูกอธิบายมาในรูปของปกรณัมเป็นส่วนมาก แต่ทุกสิ่งในโลกเมื่อเวลาผ่านไปมักมีสิ่งที่มาท้าทายเสมอ ยุคโบราณถูกท้าทายโดย ยุคสมัยใหม่ในการต่อมา

            ยุคสมัยใหม่ซึ่งมีความผูกพันกับวิทยาศาสตร์ได้มาพังทลายความคิดเหล่านี้ลงอย่างราบคาบ ยุคสมัยใหม่มองยุคโบราณด้วยความเหยียดหยามและคิดว่ามันช่างไม่มีความสมเหตุสมผลเอาเสียเลย ยุคสมัยใหม่ได้ปฏิเสธของเก่าๆอย่างสิ้นเชิงและคิดว่า “กูจะไม่กลับไปหามึงอีก” ยุคสมัยใหม่พาผู้คนไปสู่ความสบายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้คนต่างหลงใหลในความเป็นสมัยใหม่และคิดว่าจะไม่กลับมาสู่ยุคโบราณอีกแล้วเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรเล่า ยุคโบราณสมัยเก่าก็เลยได้พบกับที่อยู่แห่งใหม่นั่นก็คือ “ประวัติศาสตร์” เราสามารถพบเจอความเก่าเหล่านั้นได้ตามหนังสือ เรื่องเล่า หรือแม้แต่ในพิพิธภัณฑ์

            ผู้อ่านอาจจะยังไม่เห็นภาพการต่อสู้กันระหว่าง ยุคสมัยเก่า และ ยุคสมัยใหม่ ผู้เขียนเลยอยากจะยกตัวอย่างง่ายๆมาเปรียบเทียบให้เข้าใจ เช่น ในสมัยก่อนย้อนกลับไปสักยี่สิบปี (ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำไม่สุภาพนิดหน่อยเพื่อความชัดเจน) การนั่งขี้ของคนเรานั้นมีลักษณะนั่งยองๆบนคอห่าน ในตอนนั้นหลายคนก็ไม่ได้มีความเดือดร้อนอะไรและก็ปฏิบัติเช่นนั้นเป็นนิจ แต่ครั้นเมื่อมีการเข้ามาของชักโครกเข้ามา หลายคนรู้สึกว่า “โห่มันสบายกว่าตั้งเยอะ” ไม่ต้องนั่งยองๆให้ปวดเข่า เหน็บกิน ผู้คนหลงใหลในความสะดวกสบาย และยิ่งปัจจุบันด้วยแล้ววิวัฒนาการแห่งชักโครกคุณแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่เชื่อคุณลองไปเดินห้างสรรพสินค้าตรงชานชาลารถไฟฟ้าสถานีอโศก ไปที่ห้องน้ำ แล้วคุณก็จะเข้าใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นหลายคนเมื่อเดินทางไปยังสถานที่อื่นๆแล้วเจอห้องน้ำระบบคอห่านก็ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงเพราะรู้สึกว่ามันทรมานกูขออั้นไว้ก่อนก็ได้ เป็นต้น นี่เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นคร่าวๆว่าความเป็นสมัยใหม่ทำให้คนเรานั้นไม่คิดที่จะไปหาสิ่งเก่าๆอีกเลย(ถ้าไม่จำเป็น)

            สิ่งที่กล่าวไปทั้งหมดผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่า ความเป็นสมัยใหม่ มันทำลาย ความเป็นสมัยเก่าหรือโบราณอย่างไร ด้วยอะไร ความสะดวกสบายผ่านวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาพังทลายกรอบคิดเดิมและสถาปนาตัวเองขึ้นมา ในตัวของผู้คนเองก็ต่างหลงใหลในความเป็นสมัยใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

            แต่ก็คงเป็น “กรรมตามสนอง” ตามกรอบคิดของพุทธศาสนา ความเป็นสมัยใหม่เองก็ถูกท้าทายโดยสิ่งที่ใหม่กว่า การต่อสู้กันครั้งนี้มันช่างสมน้ำสมเนื้อกันเป็นอย่างมาก ความเป็นสมัยใหม่หรือวิทยาศาสตร์ถูกท้าทายโดยสิ่งที่ใหม่กว่าและกำลังต่อสู้กันอย่างเมามันเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

            สมัยใหม่กลับถูกท้าทายอย่างมากจากสิ่งที่ใหม่กว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจกล่าวได้ว่าในที่สุดแล้วความเป็นสมัยใหม่ภายใต้หลักความเป็นหนึ่งเดียว สมัยใหม่ต้องการทำให้ผู้คนเป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งที่ตามมาอาจกล่าวอีกแง่หนึ่งได้ว่า เป็นจุดสิ้นสุดของวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้ เพราะในที่สุดแล้วความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็จะถูกทำลายสิ้น และในที่สุดแล้ววัฒนธรรมทั้งโลกจะมีความเหมือนกันทั้งหมดภายใต้หลักความเป็นหนึ่งเดียว

            หากกล่าวให้เห็นภาพ แนวความคิดเรื่องรัฐประชาชาติ (Nation State) เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เรามองเห็นการมุ่งที่จะทำลายความแตกต่างหลากหลายในสังคม เอาที่ใกล้ตัวที่สุดคงหนีไม่พ้นสังคมไทย เรามักได้ยินเสมอว่าเราคือ คนไทย ทุกคนที่อยู่ภายใต้รัฐนี้ทุกคนคือคนไทย (ประมาณว่าถ้าคุณไม่ยอมรับคุณก็ไม่ควรอยู่ในประเทศนี้) แต่หากเราย้อนคิดก็จะพบว่าอันที่จริงแล้วประเทศเรา ประกอบด้วยคนหลายชนชาติเป็นไหนๆ จีน มอญ แขก เขมร หรือต่างๆอีกมากมาย เหตุใดเล่าเราจึงเหมารวมว่าในที่สุดแล้วทุกคนคือคนไทย (แต่ผมขอยืนยันว่าผมก็ยังไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วสังคมเรามีความเป็นสมัยใหม่แล้วหรือยัง)

            สิ่งที่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำให้เป็นหนึ่งเดียว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราทราบได้ว่า ในที่สุดแล้วสังคมมันถูกกดทับด้วยอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลาภายใต้หลักความเป็นหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับความเป็นสมัยใหม่ สมัยใหม่ปฏิเสธการยอมรับความหลากหลาย สมัยใหม่เน้นการมีเหตุผลที่ถูกต้องและดีที่สุดเพียงอย่างเดียว ดังนั้นในที่สุดแล้วสมัยใหม่ก็ต้องการให้โลกนี้เป็นเหมือนกันหมดทุกหย่อมหญ้าหรือที่เรียกว่า “หลักสากล”

            หลังสมัยใหม่จึงปฏิเสธแนวคิดความเป็นสมัยใหม่เหล่านี้ แค่การที่เราคิดว่า คนเรามันจะไปเหมือนกันได้อย่างไรก็ทำให้หลักของความเป็นสมัยใหม่นั้นสั่งคลอนแล้ว สำหรับผู้เขียนคิดง่ายๆหากเรามุ่งสู่ความมีเหตุผลที่ดีที่สุดเพียงสิ่งเดียวแล้วละก็ อาหารตามสั่ง เครื่องปรุงอาหาร ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะอย่างน้อยทุกวันนี้ตัวคุณเองก็ตอบไม่ได้หรอกว่าคุณชอบเพราะอะไร ดังนั้นในที่สุดแล้วหลังสมัยใหม่ก็บอกคุณว่า การที่คุณจะชอบอะไรมันก็เป็นเรื่องของคุณ หรือ พูดให้มันดูดีก็แล้วแต่ สุนทรียะ ของแต่ละคนแล้วกัน

            เอาเข้าจริงคิดกันง่ายๆการที่ให้คนเลือกสิ่งใดด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวสิ่งเดียวนั้นมันคงเป็นสิ่งที่ยาก การที่ผมจะเดินไปซื้ออาหารแล้วตัดสอนใจด้วยประโยชน์ทางสารอาหารมากกว่าความอยากคิดเท่านี้ก็เหมือนคนบ้าไปแล้ว ดังนั้นด้วยเหตุนี้เองสมัยใหม่ก็ถูกท้าทายอย่างมาก ผมขอไม่สรุปสาระหรือประเด็นอะไรเกี่ยวกับประเด็นต่างๆที่กล่าวไปเพราะเอาเข้าจริงก็ยังมีข้อถกเถียงกันมากว่าตกลงแล้วบ้านเรามีความเป็นสมัยใหม่แล้วหรือยัง

บล็อกของ เผ่า นวกุล

เผ่า นวกุล
"โดยโครงสร้างทางความคิดของสังคมไทยมันบล็อคให้ชาวนาต้องจนตลอดไป นักธุรกิจต้องรวย ผมไม่รู้หรอกครับว่าโครงการฯรัฐต่างๆมันเลวทรามต่ำช้ามากน้อยเพียงใด แต่ที่ผมชอบมันก็เป็นสิ่งที่เข้าไปกระทบโครงสร้างทางความคิดของสังคมเสมือนการเขย่าขวดที่มีตะกอนอนก้น อย่างน้อยก็ทำให้ตำแหน่งในสังคมของชาวนามันขยับเขยื้อนบ
เผ่า นวกุล
เก่าไป ใหม่มา โดย : เผ่า นวกุล  
เผ่า นวกุล
มีคนกล่าวทำนองว่า "พรรคเพื่อไทยเก่งที่สามารถทำให้คนจน คนมีการศึกษาน้อย สนับสนุนตนเองได้" แต่ผมว่าที่เก่งกว่าคือ "พรรคประชาธิปัตย์ที่สามารถทำให้ ชนชั้นกลาง คนผู้มีการศึกษา สนับสนุนและเชื่อว่าตนเป็นคนดี"
เผ่า นวกุล
http://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5
เผ่า นวกุล
บทความชิ้นนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนนำเสนอต่อ คุณเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ครั้งเมื่อสมัยศึกษาอยู่ในระดับบัณฑิตศึกษา ได้รับคำแนะนำจากท่านเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มของการเริ่มเขียนบทความเชิงวิชาการก็ว่าได้  แต่ความสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เรื