Skip to main content

คงเป็นข้อถกเถียงของสมาชิกรัฐสภาอันทรงเกียรติที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ทางหนึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วประชาธิปไตยนั้นต้องอิงแอบแนบชิดกับประชาชนโดยประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ใดที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภาควรมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายตรงข้ามถึงประเด็นดังกล่าวว่า แล้วอะไรคือข้อต่างของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นสภาสูงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสภาล่างหากทั้งคู่ต่างมาจากประชาชนกลุ่มเดียวกัน ถึงขนาดมีสมาชิกรัฐสภาบางท่านกล่าว่า ควรเลิกระบบสองสภามาเป็นระบบสภาเดียว ให้สิ้นเรื่องไป

หากใช้หลักของประชาธิปไตยเข้ามาสนับสนุนเห็นได้ว่าสมาชิกรัฐสภาฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการมีสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดค่อนข้างลำบากกับการหาเหตุผลมาสนับสนุนตนเอง เพราะการที่จะกล่าวอย่างเต็มปากว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการที่สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดควรมาจากการเลือกตั้งก็เสมือนว่าเป็นการดูถูกประชาชน ดูถูกเจตจำนงของประชาชน ฯลฯ จนทำให้ฝ่ายคัดค้านต่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่จะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “เราต้องการให้มีสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา”

สิ่งที่สมาชิกรัฐสภาฝ่ายไม่เห็นด้วยกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะหาเหตุผลมาสนับสนุนตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักอ้างระบบรัฐสภาของอังกฤษที่สภาสูงหรือสภาขุนนาง (House of Lord) ต่างก็มาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้น แต่การให้เหตุผลโดยหยิบระบบการเมืองต่างประเทศมาเปรียบเทียบในลักษณะนี้ชี้ให้เห็นถึงการกระทำแบบสุกเอาเผากินของสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้น เพราะอีกแง่หนึ่งในความเป็นจริงสภาขุนนางของอังกฤษมีบทบาทน้อยมากและกำลังปรับตัวเองให้อิงกับประชาชนมากขึ้นตามลำดับ

แต่กระนั้นเองแม้ว่าการที่สมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยโบราณของประชาธิปไตยเอเธนส์ หากนำเอาเนื้อแท้ของประชาธิปไตยโบราณมาพิจารณาก็จะเห็นถึงจุดบกพร่องบางอย่างของกระบวนการได้มาของสมาชิกวุฒิสภาโดยการเลือกตั้งของประชาชน

Aristotle กล่าวถึงประชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจ ข้อความแสดงถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของการเลือกตั้งใน The Politics  กล่าวโดยสรุปคือ การเลือกตั้งมิใช่คุณสมบัติของประชาธิปไตยเพราะตอนนั้นการเลือกตั้งเป็นวิธีการคัดสรรเจ้าหน้าที่ปกครองโดยนำเอาผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นตัวเลือก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็เป็นลักษณะของ อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) หรือ หากการเลือกตั้งโดยผู้ที่จะลงเลือกตั้งต้องมีเรื่องของทรัพย์สินเข้ามาเกี่ยวข้องในการพิจารณาก่อนรับการคัดสรรก็กลายเป็น คณาธิปไตย (Oligarchy) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วอาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งในขณะนั้นเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าการจับสลากเข้าสภา ของชาวเอเธนส์เพราะการจับสลากเข้าไปแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมโดยเท่าเทียมกันของประชาชน

หากเรานำหลักการของเอเธนส์มาลองใช้กับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยก็สามารถกล่าวได้ว่า ในแง่ของ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจากเดิมปัจจุบันที่เรามองว่าไม่สนองตอบต่อประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่งในแง่ของที่มาซึ่งมาจากการสรรหาโดยคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งและหากใช้หลักของเอเธนส์ลักษณะของสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาก็คงมีลักษณะใกล้เคียงกับ อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) เพราะการให้เหตุผลหลักที่จัดให้มีสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาคือต้องการได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถจริงๆที่จะมาพิจารณากฎหมาย (มาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหานั้นไม่ได้ตอบสนองต่อหลักการประชาธิปไตยทั้งในแง่ของอดีต (สมัยเอเธนส์) และปัจจุบัน

ในแง่ของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง หากเราเอาเนื้อแท้ของคำว่าประชาธิปไตยตามหลักการของ Aristotle มาลองพิจารณาอาจได้ดังนี้

ในแง่ของประชาชนผู้เลือกตั้ง การที่ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาก็ตอบสนองต่อประชาธิปไตยในแง่หนึ่งที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับใครมากเป็นพิเศษแต่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการลงคะแนนเลือกตั้งซึ่งก็ถือว่าเป็นการสนองตอบต่อประชาธิปไตยในแง่หลัก

อีกแง่ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หากเราพิจารณาให้ดีจะพบว่า สมาชิกวุฒิสภานั้นมีข้อจำกัดการลงสมัครรับเลือกตั้ง อาทิ อายุ การศึกษา หรือแม้แต่การใช้เงื่อนไขทางการเมืองก็เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า กระบวนการพิจารณารับสมัครสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ตอบสนองต่อหลักของประชาธิปไตยมากนัก ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้ผู้ที่สมัครต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป (มาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) ก็เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าเงื่อนไขนี้เป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนหรือไม่ อะไรเป็นตัวกำหนดว่าคนอายุต่ำกว่า 40 ปีไม่สามารถที่จะเข้ารับสมัครได้ หากอาศัยการศึกษามาเป็นตัวกำหนดและพิจารณาตัวผู้สมัครก็แน่นอนว่าก็คงไม่ต่างจาก อภิชนาธิปไตย ของ Aristotle เป็นแน่เพราะสุดท้ายแล้วประเด็นเรื่องของความรู้ความสามารถของคนก็เป็นเงื่อนไขกีดกันผู้อื่นออกไปจากระบบการคัดเลือก

ดังนั้นกล่าวได้ว่า เงื่อนไขของสมาชิกวุฒิสภาที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาซึ่งไม่ว่าที่มาของสมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการสรรหาหรือการเลือกตั้งต่างก็มีปัญหาในตัวมันเอง การสนองตอบต่อประชาธิปไตยก็มีปัญหาด้วยกันทั้งคู่ การพิจารณาจึงอยู่ที่มุมมองของแต่ละสังคมหรืออาจจะเลือกใช้แบบที่เข้าใกล้ความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยที่จุดเน้นที่สำคัญที่สุดที่ไม่ว่าจะใช้วิธีใด จงอย่าลืมว่าผู้ที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยคือ “ประชาชน”

บล็อกของ เผ่า นวกุล

เผ่า นวกุล
"โดยโครงสร้างทางความคิดของสังคมไทยมันบล็อคให้ชาวนาต้องจนตลอดไป นักธุรกิจต้องรวย ผมไม่รู้หรอกครับว่าโครงการฯรัฐต่างๆมันเลวทรามต่ำช้ามากน้อยเพียงใด แต่ที่ผมชอบมันก็เป็นสิ่งที่เข้าไปกระทบโครงสร้างทางความคิดของสังคมเสมือนการเขย่าขวดที่มีตะกอนอนก้น อย่างน้อยก็ทำให้ตำแหน่งในสังคมของชาวนามันขยับเขยื้อนบ
เผ่า นวกุล
เก่าไป ใหม่มา โดย : เผ่า นวกุล  
เผ่า นวกุล
มีคนกล่าวทำนองว่า "พรรคเพื่อไทยเก่งที่สามารถทำให้คนจน คนมีการศึกษาน้อย สนับสนุนตนเองได้" แต่ผมว่าที่เก่งกว่าคือ "พรรคประชาธิปัตย์ที่สามารถทำให้ ชนชั้นกลาง คนผู้มีการศึกษา สนับสนุนและเชื่อว่าตนเป็นคนดี"
เผ่า นวกุล
http://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5
เผ่า นวกุล
บทความชิ้นนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนนำเสนอต่อ คุณเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ครั้งเมื่อสมัยศึกษาอยู่ในระดับบัณฑิตศึกษา ได้รับคำแนะนำจากท่านเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มของการเริ่มเขียนบทความเชิงวิชาการก็ว่าได้  แต่ความสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เรื