Skip to main content

ความสนใจในความไม่สนใจทางการเมืองของชนชั้นกลาง(เมือง)

          ภายใต้การปกครองที่ไม่ปกติในเมืองไทย การเป็นผู้ให้ความรู้ทางการเมืองในสถาบันการศึกษามีความยากเย็นอยู่มากที่จะอธิบายต่อเยาวชนผู้ซึ่งจะก้าวเข้ามาเป็นพลเมืองที่มีความคุณภาพของสังคมในอนาคต ด้วยวิถีที่สังคมไทยเลือกที่จะเป็นโดยให้หลักการหรือฐานคิดที่นักรัฐศาสตร์ถกเถียงกันมานานคือเรื่องของ “ความดี” ไล่ตั้งแต่การตั้งคำถามที่บันลือโลกของนักปรัชญาที่สำคัญคือ โสเครติส ที่ถือว่าเป็นผู้ทำให้ก่อเกิดปรัชญาทางการเมืองซึ่งคนสมัยนั้นมองข้ามไป จนมาถึงทุกวันนี้ “ความดี” ทางการเมืองก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันต่อไปในทางรัฐศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายปกครอง

          การกล่าวถึงคำว่า “ความดี” ทุกสังคมต่างต้องการทั้งนั้นไม่ว่ารัฐขนาดเล็กที่ไร้ความมั่นคงไปจนถึงรัฐขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูงเพราะหากทำได้จริงสังคมก็จะมีความผาสุข สงบร่มเย็นอย่างหาที่สุดมิได้ แต่อย่างไรก็ดี หากเราพึงระลึกถึงสังคมแห่งความดีจนลืมความจริงของสังคมในการนี้อาจก็ให้เกิดปัญหาตามมาได้นั่นก็คือ การคิดไปเองว่าสิ่งที่คิดหรือคาดหวังที่จะเป็นคือพื้นฐานความจริงของสังคม กล่าวคือ การย้อนกลับมาพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมเป็นเรื่องสำคัญมากว่า โดยพื้นที่ฐานแล้วสังคมทุกสังคมเป็นอย่างไรระหว่าง สังคมที่ทุกคนเกิดมาปรองดองรักใคร่ หรือ สังคมที่มีแต่ความรุนแรงแก่งแย่ง

          หากคิดว่า สังคมเป็นสังคมที่ทุกคนเกิดมาปรองดองรักใคร่ แน่นอนว่าทุกคนต่างก็พึงปรารถนาและอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่หากมองแบบพิจารณาแล้วจะพบว่า สังคมในสมันโบราณจนถึงสมัยปัจจุบันภาวะของสงครามทั้งสงครามที่ใช้อาวุธและสงครามที่ไม่ใช้อาวุธมีขึ้นตลอดเวลาบนโลกนี้ทั่วทุกภูมิภาค ดังนั้นหากคิดว่าสังคมเป็นสังคมที่ปรองดองรักใคร่ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ภาวะของสงครามหรือความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาบนพื้นโลกมันสะท้อนให้เห็นถึงสังคมที่มีแต่ความรุนแรงมากกว่าสังคมที่มีแต่ความปรองดองรักใคร่หรือไม่

          จากสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น เป็นความยากของนักรัฐศาสตร์ที่มีหน้าที่ให้ความรู้ต่อเยาวชนเป็นอย่างมากที่จะต้องอธิบายพื้นฐานของมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นสังคมว่าโดยเนื้อแท้แล้วมันเป็นอย่างไร ความปกติของสังคมที่เรายึดถือในปัจจุบันมันคือ การนำเอาความจริงมาเป็นความปกติ หรือ การนำเอาความคาดหวัง/ความฝันมาเป็นความปกติกันแน่

          ในสังคมไทยปัจจุบันการพยายามที่จะไปสู่ “ความสุข(อีกครั้ง)” หรือ “การคืนความสุข(อีกครั้ง)” สะท้อนให้เห็นถึงฐานความคิดที่เชื่อว่า ความปกติของสังคมไทยคือ การมีสังคมที่ทุกคนเกิดมาปรองดองรักใคร่ ดังนั้นพวกเขาเหล่านั้นจึงพยายามที่จะย้อนกลับไปหาจุดเดิม(ที่เขาเชื่อ) นั่นก็คือ สังคมที่ทุกคนมีแต่ความสุข รักใคร่ สามัคคีอย่างหาที่สุดมิได้

          การพยายามไปสู่สังคมที่ ทุกคนเกิดมาปรองดองรักใคร่ ต่างเป็นสิ่งที่ทุกคนฝันหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลาง(เมือง) ที่อยู่ภายสังคมทุนนิยมเสรีที่ผูกติดตนเองอยู่กับความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซึ่งเชื่อมโยงกับความมีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สังคมทุนนิยมเสรีนำมาซึ่งสังคมของการค้าขายดังนั้นภาวะใดก็ตามที่ทำให้ไม่สามารถค้าขายได้สะดวกภาวะนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ อะไรก็ตามที่ทำให้สังคมปกติ(ค้าขายได้) ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาสนับสนุนและอยากให้เป็นเสมอไม่ว่าวิธีนั้นจะเป็นวิธีใดก็ตาม

          ความคาดหวังของชนชั้นกลาง(เมือง) ถูกตอบสนองโดยเหล่าคณะผู้ซึ่งต้องการให้สังคมกลับไปสู่สังคมแห่งปรองดองรักใคร่ ซึ่งเขาเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า “มันคือความปกติของสังคม” ทำให้ได้รับการต้องรับอย่างอบอุ่นจากเหล่าชนชั้นกลาง(เมือง)ทั้งหลายและทำให้พวกเขาปล่อยมือจากความสนใจทางการเมืองกลับไปสู่โลกแห่งทุนนิยมค้าขายของพวกเขาอย่างสบายใจอีกครั้ง

          ก่อนหน้านั้นหลายท่านมีความเชื่ออย่างเดียวกันว่า สังคมไทยเปลี่ยนมาเป็นสังคมที่พลเมืองจำนวนมากหันมาสนใจการบ้านการเมืองเป็นอย่างมาก ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เช่น การต่อต้านกฎหมายล้างผิด การต่อต้านโครงการด้านการเกษตร หรือแม้แต่การต่อต้านภาระผูกพันทางการเงินในการนำไปใช้ลงทุนในนโยบายสาธารณะ  เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้นักรัฐศาสตร์จำนวนมากแง่หนึ่งต่างชื่นชมยินดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

          แต่มาถึงวันนี้นักรัฐศาสตร์บางท่านอาจต้องปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ก็เป็นได้ พลเมืองจำนวนมากที่เราเชื่อกันว่ามีความสนใจทางการเมืองต่างปล่อยมือจากความสนใจที่พวกเขาเคยมีและเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมเมื่อในอดีตที่ผ่านมา การต่อต้านหรืออาจกล่าวได้ว่าการตรวจสอบที่พวกเขากระทำมาในอดีตมิได้ปรากฏขึ้นอีกต่อไปแม้ว่า เนื้อหาสาระจะคงเดิม เช่น การสร้างภาระผูกพันทางการเงินในการนำไปใช้ลงทุนในนโยบายสาธารณะ เป็นต้น ทำให้เป็นที่น่าขบคิดว่า เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาเหล่านั้น พลังที่เขาเคยมีมลายหายไปสู่ที่ใดกันแน่ เมื่อเป็นเช่นนั้นการนำมาซึ่งข้อถกเถียงที่ว่า ชนชั้นกลาง(เมือง) สนใจทางการเมืองอย่างแท้จริงหรือไม่ก็กลับมาอีกครั้งและก็คงต้องถกเถียงกันต่อไปอีกนาน

          คำถามที่เกิดขึ้นจากการอธิบายทั้งหมดข้างต้นคงไม่สามารถตอบได้ในเร็ววันเป็นแน่ คงต้องติดตามกันต่อไปเพราะหากกล่าวไปแล้วพวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่สนใจทางการเมืองอย่างแท้จริงก็เป็นได้หรือพวกเขาอาจจะสนใจแต่ด้วยภาวะทางการเมืองที่ไม่ปกติพวกเขาอาจจะรอโอกาสที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นก็เป็นได้

          จากบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันแม้ว่าคำถามเรื่องความตื่นตัวทางการเมืองเป็นสิ่งทีน่าสนใจซึ่งในที่นี้จะขอพักไว้ก่อน แต่จากภาวะของสังคมไทยในปัจจุบันมีคำตอบที่ได้จากเยาวชนต่อการเมืองไทยในปัจจุบันซึ่งผู้เขียนมีข้อมูลที่น่าสนใจจะนำมาเล่าสู่กันฟัง

          จากการที่ให้นักศึกษาลงพื้นที่ทำรายงานในรายวิชา ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์ ในหัวข้อ การเมืองในชุมชนของฉัน มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งไปสำรวจความคิดเห็นของเพื่อนนักศึกษาทั้งจากคณะเดียวกันและต่างคณะ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจกล่าวคือ

          ประเด็นแรก นักศึกษาส่วนมากต่างมองว่า สังคมนั้นมีความวุ่นวายมากดังนั้นการหยุดความวุ่นวายโดยทหารเป็นสิ่งที่พวกเขาพึงปรารถนา พวกเขาเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้จะนำไปสู่ความสงบสุข ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน

          ประเด็นที่สอง พวกเขามองนักการเมืองว่า เป็นต้นธารของปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตคอรัปชั่น การใช้ระบบอุปถัมภ์

          หากกล่าวโดยสรุปจะพบว่า พวกเขาต่างมุ่งเห็นถึงประเด็นปัญหาที่พวกเขารู้สึกและรับรู้และก็ลงท้ายด้วยการเชื่อว่า การที่มีคณะทหารมาช่วยแก้ปัญหาเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเพื่อที่จะยุติปัญหาทุกอย่าง ซึ่งในที่นี้พวกเขาที่สนใจทางการเมืองก็เปลี่ยนตนเองมาเป็นผู้ไม่สนใจทางการเมืองโดยเฉียบพลัน โดยเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างอยู่ในมือของเหล่าทหารพวกเขาก็ผละตนเองออกมาจากการเมืองมอบทุกสิ่งอย่างให้กับเหล่าทหารที่พวกเขาเชื่อใจอย่างมิต้องสงสัย

          มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่า ความคิดของชนชั้นกลาง(เมือง) และเหล่านักศึกษามีความเหมือนกันในแง่ของความสนใจทางการเมืองโดยพวกเขาเข้ามาสนใจในช่วงเดียวกับที่ชนชั้นกลาง(เมือง)สนใจ และพวกเขาเลิกสนใจพร้อมกับชนชั้นกลาง(เมือง)เช่นกัน

 

ในฐานะที่เคยเป็นผู้ให้ความรู้ทางการเมืองในสถาบันการศึกษา ก็ได้แต่กลับมานั่งทบทวนว่า

“มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคม”

บล็อกของ เผ่า นวกุล

เผ่า นวกุล
"โดยโครงสร้างทางความคิดของสังคมไทยมันบล็อคให้ชาวนาต้องจนตลอดไป นักธุรกิจต้องรวย ผมไม่รู้หรอกครับว่าโครงการฯรัฐต่างๆมันเลวทรามต่ำช้ามากน้อยเพียงใด แต่ที่ผมชอบมันก็เป็นสิ่งที่เข้าไปกระทบโครงสร้างทางความคิดของสังคมเสมือนการเขย่าขวดที่มีตะกอนอนก้น อย่างน้อยก็ทำให้ตำแหน่งในสังคมของชาวนามันขยับเขยื้อนบ
เผ่า นวกุล
เก่าไป ใหม่มา โดย : เผ่า นวกุล  
เผ่า นวกุล
มีคนกล่าวทำนองว่า "พรรคเพื่อไทยเก่งที่สามารถทำให้คนจน คนมีการศึกษาน้อย สนับสนุนตนเองได้" แต่ผมว่าที่เก่งกว่าคือ "พรรคประชาธิปัตย์ที่สามารถทำให้ ชนชั้นกลาง คนผู้มีการศึกษา สนับสนุนและเชื่อว่าตนเป็นคนดี"
เผ่า นวกุล
http://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5
เผ่า นวกุล
บทความชิ้นนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนนำเสนอต่อ คุณเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ครั้งเมื่อสมัยศึกษาอยู่ในระดับบัณฑิตศึกษา ได้รับคำแนะนำจากท่านเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มของการเริ่มเขียนบทความเชิงวิชาการก็ว่าได้  แต่ความสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เรื