Skip to main content

องค์ บรรจุน



เราต่างเกิดมาพร้อมข้อมูลส่วนบุคคล สามารถสืบย้อนโคตรวงศ์กลับไปได้ไม่รู้จบ ผิวพรรณ ฐานะ และเชื้อชาติของผู้ให้กำเนิดย่อมเป็นข้อมูลที่เกิดรอล่วงหน้า เป็นมรดกสืบสันดานมาต่อไป ส่วนศาสนาและการศึกษาถูกป้อนขณะอยู่ในวัยที่ยังไม่อาจเลือกเองเป็น หลังจากนั้นหากต้องการแก้ไขก็ทำได้เองตามชอบ ศัลยกรรมทำสีผิว ผ่าตัดแปลงเพศ หรือแม้แต่เปลี่ยนศาสนา กระทั่งสัญชาติก็เปลี่ยนกันได้ ยกเว้น “เชื้อชาติ” ที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยน


ในงานเสวนา “มอญในสยามประเทศ (ไทย) ชนชาติ บทบาท และบทเรียน” เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวถึงความล้าหลังคลั่ง “เชื้อชาติ” ว่า เป็นสิ่งสมมุติที่เกิดภายหลังความเป็นคน

“...
ความเป็นคนควรมาก่อนความเป็นมอญ ความเป็นเขมร หรือความเป็นไทยมาทีหลัง ...ประชาชาติในสุวรรณภูมิมีใครบ้างไม่ทราบ เป็นมอญหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เป็นเขมรหรือเปล่าไม่รู้ แต่เป็นคนแหงๆ เพราะไม่มีชื่อชนชาติ อย่างกรณีโครงกระดูกที่พบที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี (อายุประมาณ 3000 ปีมาแล้ว) บอกว่าเป็นโครงกระดูกคนไทยก็บ้า แต่ถ้าบอกว่าไม่ใช่ไทยก็ซังกะบ๊วย อย่างไรก็ตามนั่นล้วนเป็นบรรพชนของ South East Asia …

...
แม้แต่สำนึกความเป็นมอญ มันเพิ่งเกิดทีหลังคือในรุ่นรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 เขียนเท้าความถึงมอญ แต่ความเป็นมอญนี้ไม่เกี่ยวกับอยุธยาและไม่เกี่ยวเลยกับทวารวดี เพราะมอญช่วงนั้นก็กลืนกลายเป็นไทยไปนานแล้ว ส่วนปัจจุบัน ‘ความเป็นไทย’ มันก็กลืนหมดและบังคับให้คนเป็น ‘ไทย’ ถ้าไม่เป็นมึงตาย…”

ใครยืนยันได้ว่าคนสมัยก่อนไม่มีสำนึกเรื่องเชื้อชาติ หากไม่แล้วมันเกิดขึ้นมาเมื่อใด และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่าสำนึกเรื่องเชื้อชาติพัฒนามาจากความเป็นพวกเดียวกัน เมื่อคนต่างพวกพบกัน ความต่างและความเป็นกลุ่มเดียวกันจึงสำแดงตน จะพบได้ว่าคนโบราณรู้กันดีอยู่แล้วว่าใครเป็นใคร สืบเชื้อสายมาจากไหน และ “มีอะไรแค่ไหน”
ดังปรากฏว่าในตำนานท้าวฮุ่งที่มีแม่เป็นมอญ จึงถือว่ามอญเป็นตระกูลสูง รวมทั้งจีนซึ่งมีอิทธิพลในภูมิภาค1 ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้โปรดเกล้าฯตั้งทินนามให้รัชกาลที่ 1 ว่า “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนคราระอาเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์ฯ” ที่แสดงให้เห็นว่าอดีตและปัจจุบันเชื่อมโยงกัน ด้วยพระเจ้าตากสินมหาราชทราบว่าเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้นเป็น “นเรศวรราชสุริยวงศ์”2 รวมทั้งการที่รัชกาลที่ 4 ทรงอธิบายให้เซอร์จอห์นเบาริ่ง ทราบว่า บรรพชนของพระองค์เป็นมอญมาจากหงสาวดีนั้นก็เช่นเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าแต่ก่อนแต่ไรนั้นไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอดีต (ที่ใครก็รู้) แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เกิดลัทธิอาณานิคมตะวันตก การอ้างถึงชาติตระกูลที่สืบเชื้อสายมายาวนานจึงจำเป็น และก็ควรตั้งข้อสังเกตุไว้ด้วยว่า “มอญ” ในความรับรู้ของคนสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น คงมีความน่าเชื่อในฐานะชาติอารยะเก่าก่อน เพราะหากสถานการณ์เป็นดังทุกวันนี้แล้วเชื่อได้ว่ารัชกาลที่ 4 น่าจะอ้างอิงว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจาก “จีน” จะดูมีน้ำหนักกว่า (ดังที่อดีตนายกทักษิณได้ไปเยี่ยมเยียนถิ่นเกิดของบรรพชนที่กวางโจว และการที่สมาพันธ์สมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทยเชิญท่านไปกล่าวเปิดงาน3)

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนของวันนี้ได้เลือกสำแดงตนออกมาว่าหวงแหนเชื้อชาติของตน การย้อนนึกถึงสิ่งที่เนื่องด้วยบรรพชนก็น่าจะเป็นสิ่งดี จริงอยู่การเจริญเติบโตของเมืองในอดีตอาจเกิดขึ้นด้วยผลประโยชน์ทางการค้า ศาสนา และการเมือง มากกว่าจะเป็นการรวมตัวกันของคนเพียงเชื้อชาติเดียว เพื่อการ “สมประโยชน์” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นไม่มีสำนึกเรื่องเชื้อชาติร่วมกันเลย อย่างไรก็ดีสำนึกเรื่องเชื้อชาติดังกล่าวได้มีการส่งต่อนับเนื่องกันมายาวนาน แม้นักคิดส่วนใหญ่จะเชื่อว่าส่วนผสมของชาวสยามปัจจุบันเป็นคนทวารวดีที่สิ้นสำนึกแบบทวารวดีไปแล้ว รวมเข้ากับคนที่มาใหม่ ไต ลาว และจีน แต่ต้องไม่ลืมว่าชื่ออาณาจักรอยุธยานั้นคือ “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา” หรือ “กรุงเทพทวารวดี” และต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นก็ยังคงความหมายไว้ดังเดิม เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ฯ” ในภายหลัง

อาจารย์สุจิตต์ กล่าวว่าตนหลุดพ้นจากความ “ล้าหลังคลั่งชาติ” แต่ยังไม่วายแดกดันตัวเองด้วยการกล่าวถึงเชื้อสายของตนว่า “เจ๊กปนลาว” ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าทั้งสองชนชาติในสายเลือดของท่านนั้น มีผลต่อความคิดความรู้สึกเมื่อถูกพูดถึง สอดรับกับหนังสือ “พลังลาวชาวอีสาน” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2550 คล้ายจะบอกให้สังคมรู้ว่า คนลาวอีสานก็มีดี อย่ามาดูถูกกัน ซึ่งผู้เขียนก็เชื่ออย่างนั้น


คนช่างคิดบางคนแสดงความเห็นว่า

...ถ้ายังหลงทางและงมงายกับสิ่งที่เรียกว่า "เชื้อชาติ" โดยไม่มองให้ทะลุแดดไปถึง "ความเป็นคน"...วันหนึ่งเมื่อมี "ประเทศมอญ" และมีกรณี "โชติศักดิ์มอญ" เกิดขึ้น ก็จะมี "คาราบาวมอญ" ไปถามหมอนั่นว่า "เ ป็ น ค น ม อ ญ รึ ป ล่ า ว...อ่าวๆๆๆๆ" พร้อมกับไล่กระทืบให้หมอนั่นออกนอกประเทศไทย สรุป: ความดักดานไม่เคยปรานีใคร!...”


การตั้งคำถามกับผู้อื่นว่าเป็นไทยหรือเปล่า เป็นมอญหรือเปล่า จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อคำตอบที่ได้รับนั้นไม่มีวันถูกใจผู้ถาม คำถามที่น่าจะถามต่อคนช่างคิดก็คือ “จิตของคุณเป็นอะไร มีโอกาสรักษาหายหรือเปล่า...?”


ทำไม...คนที่รักเชื้อชาติของตนต้องถูกเหมาเข่งว่า “ดักดาน” และถูกตีขลุมว่าจะต้องก้าวร้าวกับใครต่อใครไม่เลือกหน้า...?


หากผู้คนหลุดพ้น “ความล้าหลังคลั่งชาติ” ที่เข้าใจกันไปเองนั้นแล้ว คงไม่ได้ยินคำเขื่องที่ว่า
คนไทยมีน้ำใจ คนไทยยิ้มง่าย คนไทยเป็นมิตร”

คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” หรือหักมุมไปเลย

คนไทยโง่เพราะกินข้าวมาก...”


คนกินข้าวหรือกินขนมปังเขาก็ยิ้มเป็น มีน้ำใจ และเป็นมิตรเหมือนกัน ผู้ที่คิดว่าตนหลุดพ้นและตำหนิผู้อื่นว่า “ดักดาน” พฤติกรรมนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการสร้างความรู้ชุดใหม่ครอบงำผู้อื่น และน่าจะถือได้ว่าเป็นความดักดานประเภทหนึ่ง เมื่อคนกลุ่มน้อยในสังคมมีสำนึกเรื่องเชื้อชาติถูกมองว่าดักดาน ขณะที่คนอีกส่วนของสังคมยอมสิโรราบให้กับวิธีคิดและวิธีจูงคนให้คิดตามชาติมหาอำนาจตะวันตก อเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งใช้โอกาสทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการประชาสัมพันธ์กระทำต่อผู้ที่ด้อยกว่า


การให้สติแก่กันเรื่องชาตินิยมในกลุ่มคนที่ล้นทะลัก ผู้ให้สติควรตั้งสติ เอาอัตตาของตนวางไว้ ไม่เอาชาติ (การเกิดขึ้น) นิยมของตนไปกดทับคนอื่น และต้องไม่เหมายกเข่ง ในเมื่อเราต่างที่มา ต่างตำรา และต่างตีความ เพราะหากความรู้สึกหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมและเกียรติภูมิของบรรพชน ถูกตราหน้าว่าดักดานล้าหลังคลั่งชาติเสียแล้ว น่าห่วงว่าพฤติกรรมของคนในชาติต่อไปจะเป็นไปในรูปใด คงต้องรอวัฒนธรรมกระแสหลักจาก “ผู้จัดการรัฐไทย” โดยทอดทิ้งมรดกของบรรพชน (ไทย จีน ม้ง กะเหรี่ยง ลาว แขมร์ มอญ ยวน ฯลฯ) รอกินอาหารแช่แข็งรสชาติคงที่ของห้างค้าปลีกข้ามชาติ แต่งตัวตามวารสารและมิวสิควีดีโอจากเอเชียตะวันออก ส่งบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปยุโรปในรูปของภาษีนำเข้า ฯลฯ หากเป็นอย่างนั้นแล้วไซร้ เขาผู้นั้นก็สมควรได้รับการตราหน้าว่า “ลืมกำพืด” เฉกเช่นเดียวกัน

1 จิตร ภูมิศักดิ์. (2544). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. หน้า 95.
2 คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2543). โครงกระดูกในตู้. หน้า 80.
3 ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก. (2545). คำกล่าวของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานแห่งใหม่ของสมาพันธ์สมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย ถนนเจริญกรุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2545.


บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…