สุกัญญา เบาเนิด
งานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในฐานะกรรมการจัดงาน แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัส ถือเป็นงานใหญ่ที่คนมอญได้แสดงออกซึ่งขนบธรรมประเพณีอันดีงาม มิเสียชื่อที่เป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดธรรมเนียมมอญโบราณ และเป็นการถวายพระกุศลแด่พระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงจัดให้มีพิธีสำคัญ ได้แก่ พิธีเทาะอะโย่งกย้าจก์ หรือพิธีสมโภชพระพุทธรูป พิธีรำสามถาด พิธีมอญร้องไห้ และมอญรำ พิธีการและพิธีกรรมได้ดำเนินไปตลอดทั้งวัน
การแต่งกายของชาวมอญนั้นมีหลากหลาย ซึ่งความแตกต่างเกิดจากต่างพื้นที่ต่างชุมชนซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ทั้งสีสันและลวดลาย ได้สะท้อนวิธีคิดและโลกทัศน์ของคนมอญ อย่างเช่นสมัยก่อนเมื่อไปงานศพการแต่งสีเป็นเรื่องปกติ เพราะถือว่าคนตายนั้นไปสบายจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี มากกว่าเป็นเรื่องเศร้าโศกจึงสะท้อนมาที่การใช้เสื้อผ้าที่มีสีสัน แต่ปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมเนียมนิยมที่เน้นการแต่งขาวดำเพื่อไว้ทุกข์ คนมอญก็รับธรรมเนียมนิยมนี้มาเช่นกัน ยิ่งเป็นงานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชที่จัดในพระบรมมหาราชวังด้วยแล้ว การแต่งสีก็อาจจะดูขัดเขินสำหรับคนมอญ ถึงแม้ว่าทางสำนักพระราชวังจะอนุญาตให้แต่งกายตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธุ์ตนก็ตาม
ในขั้นเตรียมงานนอกจากรายละเอียดของพิธีการ การแต่งกายก็เป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงด้วย ท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ให้ “แต่งกายตามประเพณีไม่จำกัดสี” แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ สีที่ถูกเลือกใช้ก็ยังคงแต่งขาวดำเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นเช่นนี้ แล้วอะไรที่พอจะบอกถึงเอกลักษณ์ของมอญได้อย่างชัดเด่นชัด ดังนั้นหากการแต่งกายตามประเพณีนั้นน่าจะหมายถึงผู้ชายนุ่งโสร่ง เสื้อผ่าหน้ากระดุมเชือก หรือ ผู้หญิง เกล้าผมมวย นุ่งผ้าถุง เสื้อแขนกระบอกคอกลมและห่มสไบ หากเปรียบกันแล้ว ก็ดูเหมือนว่าฝ่ายหญิงจะยังคงเอกลักษณ์เอาได้มาก ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางอย่างอย่างจะขาดหายไปบ้าง เช่น การเกล้ามวยแบบมอญ ซึ่งทุกวันนี้ก็หากดูได้ยากขึ้นทุกที แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การห่มสไบของบรรดาสาวมอญทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ เนื่องจากการใช้สไบสำหรับออกงานสำคัญ และถือเป็นการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย
สไบมอญแบบผู้หญิงมอญหงสาวดี (เมืองมอญ ประเทศพม่า)
สไบมอญที่พลิ้วไหวในพระบรมมหาราชวัง จึงละลานตาด้วยลวดลายสีสันงดงามแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะสไบมอญที่เรียกว่า “หญาดฮะเหริ่มโตะ” หรือ “หญาดหมินโตะ” ของชาวมอญสมุทรสาคร หรือ ชุมชนที่อพยพไปจากสมุทรสาคร เช่น บางกระดี่ คลองสิบสี่ บางเลน ลาดกระบัง ไทรน้อย ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นงานฝีมือที่ขอบสไบปักเป็นลายดอกพิกุล ส่วนกลางผืนปักเป็นลายดอกมะเขือ (ดอกไม้ ๕ กลีบ) สอดสลับสีตัดกับพื้นของสไบอย่างงดงาม ซึ่งมีสีที่นิยม เช่น สีบานเย็น สีตอง (เขียวอ่อน) สีจำปา (ส้ม) สีเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้บางชุมชนก็นิยมห่มสไบสีพื้น หรือ ผ้าลูกไม้ อีกด้วย
สไบมอญแบบมอญเมืองไทยส่วนใหญ่ที่มาร่วมงาน
เนื่องด้วยเป็นงานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สไบมอญที่ถูกนำมาใช้จึงเป็นสีขาวและดำเป็นหลัก แต่ก็ปักลวดลายหลากสี ส่วนสไบสีก็มีให้เห็นไม่น้อย ทำให้การแต่งกายของผู้หญิงมอญที่มาในงานงดงามแปลกตา เป็นการผสมผสานการแต่งกายขาวดำตามธรรมเนียมนิยม กับการแต่งสีตามธรรมเนียมมอญ
มีคนเคยกล่าวว่า “คนมอญเก่าๆ นั้น เวลาจะออกจากบ้าน โดยเฉพาะยามที่ต้องเข้าวัดเข้าวา แทบจะเรียกได้ว่าสไบมอญ นั้นเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่จะขาดเสียมิได้เลย” ทำให้นึกถึงแม่ของผู้เขียน ในยามที่รีบร้อนคว้าสไบไม่ทัน ผ้าขนหนูเก่าๆ แม่ก็เคยนำมาใช้แทนผ้าสไบมาแล้วเพื่อให้ทันพระที่มารอบิณฑบาตรอยู่ที่หน้าบ้าน ผ้าสไบกับผู้หญิงมอญช่างเป็นของคู่กันแท้ๆ
ผู้เขียนเองก็ต้องขอสารภาพว่าต้องอดหลับอดนอนหลายวันหลายคืนก่อนวันงาน เพราะต้องเร่งปักสไบด้วยการเลียนแบบสไบของแม่ เพราะในสายตาของผู้เขียนแล้ว ผ้าสไบของแม่นั้นสวยที่สุด เป็นผ้าสไบพื้นสีดำปักลวดลายสอดสลับกันทั้งหมด ๗ สี เป็นความตั้งใจเพื่อใช้แทนความหมาย “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน และน้อมส่งดวงพระวิญญาณสู่สรรคาลัยในครั้งนี้
เอกสารอ้างอิง
องค์ บรรจุน สไบมอญ (หญาดฮะเหริ่มโตะ) www.monstudies.com (วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๐.๒๐ น.)