Skip to main content

องค์ บรรจุน

บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการนำการเสนอโครงการวิจัย ชุด "โครงการประเทศพม่าศึกษา" ชื่อหัวข้อวิจัย คือ "มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐพม่าบนพื้นที่สื่อรัฐบาลทหาร" ที่ผ่านการอนุมัติจากสกว.

"ที่ผ่านมา ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองพม่านั้น สังคมไทยมักอาศัยข้อมูลข่าวสารทุติยภูมิ และบทวิเคราะห์ที่มีทัศนะเชิงลบต่อรัฐบาลพม่า แต่จากการที่ไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาพม่าในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านพลังงาน แรงงาน วัตถุดิบ การค้า ฯลฯ ดังนั้นความสัมพันธ์ในระดับปกติจึงถือเป็นภาวะจำเป็นที่สุด กระนั้น ก็ถือว่ายังเป็นเรื่องยากด้วยมีเงื่อนไขในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ซับซ้อนเหนือความคาดหมายของรัฐไทย ขณะเดียวกัน รัฐพม่าก็มิได้มองไทยเป็นเพื่อนบ้านที่จริงใจ อันเนื่องจากปัญหาสืบเนื่องจากการเมืองและความมั่นคงของรัฐพม่า ดังนั้นการรับรู้เกี่ยวกับการเมืองพม่าจึงต้องปรับมิติสู่การเข้าถึงข้อมูลปฐมภูมิให้มากขึ้น ข้อเสนอของโครงการวิจัยนี้ จึงต้องการเปิดพื้นที่การรับรู้เกี่ยวกับพม่าในมิติภายในและมิติลึก เพื่อทำความเข้าใจมโนทัศน์ (โครงสร้างทางความคิด) ทางการเมืองของรัฐพม่าที่อยู่ภายใต้กลไกและการควบคุมของรัฐบาลทหาร โดยจะเผยให้เห็นโครงสร้างส่วนบนที่เป็นวัฒนธรรมการเมืองของพม่า ส่วนฐานข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยนั้น จะได้แก่ ตัวบทและภาคปฏิบัติ ที่สามารถค้นคว้าได้จากชุดประวัติศาสตร์กองทัพพม่า พื้นที่สื่อทางการของรัฐ และนาฏกรรมทางการเมือง โดยคาดหมายว่าโครงการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพม่าอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ"

ข้างต้นเป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการที่โครงการดังกล่าวผ่านการอนุมัติ นั่นยอมแสดงว่า จุดยืนของศูนย์พม่าศึกษา ที่ต้องการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับการประทับตราจากสกว. แต่ข้อชวนสงสัยก็คือ สกว.ในฐานะหน่วยงานที่ทำการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย
"เพื่อเรียนรู้และเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน" ได้อนุมัติโครงการด้วยความเข้าใจ ที่เป็นไปเพื่อการเรียนรู้บนพื้นฐานความเข้าใจหรือไม่ เกรงว่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อ "ล้วงตับ" อย่างที่สกว.ได้แสดงให้เห็นในเวทีนำเสนอความก้าวหน้าและนำเสนอโครงการวิจัยใหม่ ณ ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อ ๙ กรกฏาคม ที่ผ่านมา

ศูนย์พม่าศึกษา (Myanmar Studies Center) มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก มีเค้าลางเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นการร่วมคิดร่วมสร้างโดยบุคคล ๒ ท่าน คือ ผศ.อรนุช นิยมธรรม และผศ.วิรัช นิยมธรรม ขณะนั้นรับราชการอยู่ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท (ชื่อในขณะนั้น) มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับพม่า ประเทศเพื่อนบ้านที่แสนห่างเหินและเย็นชาต่อกัน ทั้งสองท่านได้เรียบเรียงพจนานุกรมพม่าขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย ต่อมาในปี ๒๕๓๙ ได้รับการติดต่อจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรที่สนใจศึกษาเรื่องพม่า เนื่องจากทราบว่าอาจารย์ทั้งสองท่านมีความสนใจเรื่องพม่าเป็นพื้น เมื่อความสนใจตรงกันอาจารย์ทั้งสองจึงย้ายไปรับราชการที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และก่อตั้งศูนย์พม่าศึกษาขึ้น

กิจกรรมเริ่มแรกของศูนย์ฯคือการเผยแพร่จุลสาร "รู้จักพม่า" ระหว่างที่การดำเนินการยังไม่ก้าวหน้าอย่างที่เป็น ผศ.วิรัช จึงไปใช้ชีวิตอยู่ในพม่าเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ๒ ปี ในปี ๒๕๔๐ จัดนิทรรศการในหัวข้อ "รู้จักพม่า: เพื่อนบ้านของเรา" และร่วมมือกับกรมวิเทศสหการ ในโครงการความร่วมมือทางการศึกษาไทย-พม่า เพื่อพัฒนาหลักสูตรภาษาไทย และผลิตครูภาษาไทยให้กับมหาวิทยาลัยในพม่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ปัจจุบันศูนย์พม่าศึกษาได้ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ เช่น รายการวิทยุ สอนภาษา จัดทำพจนานุกรม แบบเรียน สารานุกรม และศูนย์แปลเอกสารพม่า เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพม่าศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งเริ่มเปิดรับนิสิตตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๔ เป็นต้นมา มี ผศ.วิรัช นิยมธรรม เป็นผู้อำนวยการ และ ผศ.อรนุช นิยมธรรม เป็นหัวหน้าสำนักงาน

เป้าหมายของศูนย์พม่าศึกษา คือ เพื่อศึกษาสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของประเทศพม่า พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศพม่า เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเทศพม่า จัดประชุมทางวิชาการและการอบรม ประสานความร่วมมือทางการศึกษากับประเทศพม่า

นับได้ว่าศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นสถาบันที่ศึกษาเรื่องพม่าอย่างจริงจังนอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสถาบัน ที่มีข้อมูลองค์ความรู้พม่าศึกษาอยู่มาก คือ วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สถาบันพม่าศึกษา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๐ ซึ่งนับได้ว่ามีความเหมาะสมทั้งด้านภูมิศาสตร์และการเชื่อมโยงในความเป็นท้องถิ่น มีเป้าหมายไม่ต่างจากศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวคือ เพื่อทำวิจัยและเปิดหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พม่าศึกษา) โดยเปิดสอนที่วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และที่กรุงเทพฯ เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องพม่าและภาษาพม่าอย่างเป็นระบบ

พันธกิจของศูนย์พม่าศึกษาและสถาบันพม่าศึกษานั้น มีความใกล้เคียงกัน ด้วยเห็นว่า "พม่าศึกษา" เป็นเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีรั้วบ้านติดกัน พรมแดนติดต่อกันถึงราว ๒,๔๐๐ กิโลเมตร ควรจะศึกษาเรียนรู้กันอย่างจริงจัง และต้องเรียนรู้ทุกๆ ด้านเพื่อสานไมตรีความร่วมมือระหว่างกัน จำเป็นที่จะต้องคบหากันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ที่ผ่านมาคงต้องยอมรับว่า ไทยเรารู้จักพม่าน้อยกว่าที่พม่ารู้จักไทย เหตุเพราะพม่าเป็นสังคมที่ค่อนข้างปิด ส่วนไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้างกว่า เรื่องราวข่าวสารของไทยจึงเป็นที่รับรู้ของพม่า แต่ไทยเรารับรู้เรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับพม่าน้อยมาก ในยุคข้อมูลข่าวสารที่ทำให้โลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน จำเป็นที่ไทยควรทำความรู้จักพม่าให้มากขึ้น ก้าวข้ามอคติและปล่อยวางประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีต เปิดใจกว้างเพื่อเรียนรู้พม่า

สกว.ชี้แจงต่อนักวิจัยว่า งานวิจัยที่มีสิทธิได้รับการอุดหนุนทุนวิจัยนั้น จะต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน (USER) ที่ต้องมองเห็นสัมผัสได้ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการทหาร เท่านั้น หากเป็นองค์ความรู้ เพื่อการเรียนรู้และเพื่อความเข้าใจ ไม่ว่าด้านสังคมศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์นั้น ไม่อยู่ในหมวดงบประมาณที่พึงจะได้รับการอุดหนุน คล้ายกับว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับพม่านั้น มี ผู้ใช้งาน (USER) เพียง ๒ คน คือ พ่อค้า และทหาร ที่ สกว.เลือกเชิญมาแสดงทัศนะและประเมินงานวิจัย

ชวนให้สงสัยว่า เพียงแค่การเริ่มต้นที่จะเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจพม่า ก็แสดงออกอย่างโจ๋งครึ่มแล้วกับความไม่จริงใจ แล้วเราจะหวังให้พม่ามอบความจริงใจตอบแทนอย่างไร ขนาดญี่ปุ่นจะผลิตรถยนต์มาขายให้ประเทศแถบนี้ เขายังทุ่มงบประมาณทำการวิจัยไม่รู้กี่หมื่นกี่พันล้าน ตั้งแต่เรียนรู้สภาพดินฟ้าอากาศ ทัศนคติ นิสัยใจคอ รสนิยม ลัทธิความเชื่อ ศาสนา ฯลฯ กว่าจะเป็นรถยนต์ส่งมาขาย จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ประสาอะไรกับการอยากรู้จักพม่าของไทย ที่ควรสร้างความไว้วางใจ ในการจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งความร่วมมือที่จะขจัดความหวาดระแวงต่อกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างที่ตัวแทนสกว.ถ่ายทอดนโยบายให้ฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่สนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์ นิสัยใจคอ วัฒนธรรม หรือรสนิยมอะไรทั้งนั้น มุ่งแต่จะ "ล้วงตับ" ประเภท นโยบายต่อชนกลุ่มน้อย ที่ตั้งหน่วยทหาร คลังแสง ขีดความสามารถในการผลิตนิวเคลียร์ หรือแหล่งทรัพยากรที่ไทยจะสูบขึ้นมาใช้ได้ ว่ากันตรงๆ เลยทีเดียว

เคยได้ยินมาว่า หน่วยสืบราชการลับของพม่า อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ล่าสุดเมื่อโครงการขุดอุโมงค์ของพม่าถูกเปิดเผย มีปลายอุโมงค์ที่ขุดจากศูนย์กลางที่เมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า เป็นเครือข่ายไยแมงมุม เชื่อมโยงไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อลำเลียงพลและยุทธปัจจัย มีปลายอุโมงค์มาจ่อติดแนวชายแดนไทยถึง ๕ จุด ยิ่งแสดงให้เห็นว่าพม่าไม่เคยไว้ใจไทย และค่อนข้างจะรู้ยุทธศาสตร์ไทยดี ในขณะที่ไทยเราทำกระโตกกระตาก อยากรู้จักพม่าแบบออกนอกหน้า อยากรู้จักพม่า แต่หวังเพียงแค่ขายของ ขุดทอง และสูบก๊าซ สนใจใคร่รู้ข้อมูลทางการทหาร "เพื่อความมั่นคง" ในขณะเดียวกันก็หวาดระแวงพม่าอยู่ตลอดเวลา

คิดหรือว่าพม่ารู้ไม่เท่าทัน กับเพื่อนบ้านอย่างไทยที่เห็นพม่าทุกคนเป็นแรงงานชั้นต่ำ ตัวแพร่เชื้อโรค เป็นผู้ร้ายเผาเมือง จนบัดนี้ผ่านไปกว่า ๒๐๐ ปี เพลิงไฟผลาญกรุงศรีอยุธยาในใจคนไทยยังไม่เคยดับ ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องคบเพื่อนบ้านอย่างจริงใจ เรียนรู้ซึ่งกันและกันในทุกแง่มุม เพื่อการอยู่ร่วมกันฉันมิตร สร้างสันติภาพให้เกิดระหว่างเพื่อนบ้านใกล้ชิด แล้วค่อยขยายไปสู่สังคมโลก อันเป็นเป้าหมายสูงสุดซึ่งนานาชาติตั้งตารอ

  

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…