Skip to main content

ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก

เชื้อสายทางบิดาของป้าขจีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สามารถกล่าวย้อนไปได้หลายร้อยปี กล่าวคือ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เดิมมีชื่อว่า “สิงห์” เกิดในสมัยธนบุรี เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก ซึ่งเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) นั้นสืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ศิริวัฒนะ รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่ง ราชปุโรหิต ส่วนเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่สมเด็จพระยาวังหน้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และได้เป็นแม่ทัพใหญ่ทำศึกสงครามกับลาว เขมร และญวน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จากความดีความชอบที่ปรากฏ รวมทั้งอำนาจวาสนาที่ล้นฟ้าในขณะนั้นจึงน่าจะได้รับพระราชทานธิดาเจ้าเมืองต่างๆ ที่ตีได้ และยังมีผู้ยกธิดาให้เป็นภรรยาจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงมีบุตรธิดาที่เกิดจาก ท่านผู้หญิงเพ็งและท่านผู้หญิงหนู รวมกับภรรยาอื่นที่ทั้งปรากฏชื่อและไม่ปรากฏชื่อที่มีทั้งไทย มอญ ลาว เขมร และญวน (เวียดนาม) จำนวนราว ๑๒ ท่าน บุตรธิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชามีทั้งสิ้น ๒๓ คน

ส่วนตระกูลทางแม่ของป้าขจีว่ากันว่าอยู่ที่บ้านเกาะ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในช่วงปลายสมัยอยุธยา คหบดีครอบครัวหนึ่งมีข้าทาสบริวารมาก ลูกสาวคนเล็กได้เกิดรักใคร่ชอบพอกับทาสหนุ่มในบ้าน กระทั่งได้เสียและมีลูกด้วยกัน ๒ คน เมื่อถูกกีดกันและดูถูกเหยียดหยามหนักเข้าจึงพากันหลบหนีโดยทางเรือ ตั้งใจจะไปตั้งครัวเรือนอยู่ถิ่นอื่น เมื่อพายเรือไปได้ระยะหนึ่ง พบเรือลำหนึ่งพายสวนมามีพระสงฆ์นั่งอยู่เต็มลำ พระได้ถามว่าจะไปไหนกัน สองคนผัวเมียได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง พระในเรือนั้นได้ชี้ให้ดูต้นอินทผาลัม ๒ ต้น ที่ขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ สองผัวเมียหันไปดูตามที่พระชี้ และเมื่อหันกลับมาก็ไม่พบเรือพระลำนั้นแล้ว สองผัวเมียคิดใคร่ครวญไปมาจึงเข้าใจว่าพระอาจจะบอกนัยอะไรบางอย่าง จึงพากันไปขุดดูใต้ต้นอินทผาลัมนั้น กระทั่งฟ้ามืด ได้พบตุ่ม ๒ ใบ เป็นตุ่มเงิน ๑ ใบ ตุ่มทอง ๑ ใบ และมีงูเห่าแผ่แม่เบี้ยอยู่เหนือตุ่มสองใบนั้น สองผัวเมียจึงคว้าหญ้าริมตลิ่งนั้นมาหนึ่งกำยกขึ้นไหว้จบเหนือหัว อธิษฐานว่า ถ้าเจ้าของทรัพย์สมบัตินี้ตั้งใจจะยกให้แล้วก็ขอให้งูจงเปิดทางและเอาสมบัตินี้ไปให้ตลอดรอดฝั่งด้วยเถิด จากนั้นสองผัวเมียจึงตัดสินใจพายเรือกลับบ้าน เมื่อถึงบ้านพี่ๆ ต่างพากันออกมาสมน้ำหน้าหาว่าไปไม่รอด สองผัวเมียจึงเล่าให้ฟังเรื่องราวทั้งหมด และอัญเชิญ “ทรัพย์แผ่นดิน” ที่ได้มาขึ้นบ้าน สองคนผัวนี้จึงมีฐานะดีเทียมพี่ๆ คนอื่น ต่อมาได้แบ่งสมบัตินั้นไปสร้างโบสถ์ ๒ หลัง ที่วัดเกาะ ตำบลบ้านเกาะ และวัดป้อมวิเชียรโชติการาม ตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

เรื่องที่เล่ามาข้างต้นเป็นสายทางแม่ของป้าขจี โดยปู่ย่าที่เป็นทวดของป้าขจีเป็นคนไทยแท้ย่านนั้น ส่วนทางสายตระกูลตายายที่เป็นทวดของป้าเป็นคนมอญบ้านเกาะ ตาชื่อนายพุก ... ส่วนยายชื่อ นางพลับ ... มีพี่น้อง ๑๖ คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับหม่อมแช่ม หม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ยายของป้าขจีเรียกหม่อมแช่มว่า หม่อมอา หม่อมแช่ม จึงเป็นหม่อมยายของแม่ป้าขจี ดังนั้นลูกหลานตระกูลนี้จึงได้รับการชักชวนให้เข้ามาทำงานอยู่ในวังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ แถวเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO ในปัจจุบัน) สอดคล้องกับประวัติของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่นิยมเลี้ยงข้าทาสบริวารที่เป็นมอญเอาไว้มากมาย พี่น้องของยายพลับส่วนใหญ่จึงได้สามีเป็นชาติฝรั่งตะวันตก ลูกหลานจึงถือเชื้อสายข้างพ่อเป็นฝรั่งกันไปหมด

นามสกุลเดิมของป้าขจีคือ ... (นามสกุลพระราชทาน) เคยใช้นามสกุล ... ตามน้าสาวอยู่ระยะหนึ่งเมื่อตอนเด็กเนื่องจากเป็นลูกกำพร้า ต้องไปอยู่กับครอบครัวน้าสาวที่จังหวัดสงขลา ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น ...เชื้อสายทางปู่ของป้าขจีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โดยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นพ่อของทวดผู้หญิง แต่งงานกับทวดผู้ชายซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ รับราชการอยู่วังหลัง ตำแหน่งพระคลังข้างที่ ส่วนปู่รับราชการในตำแหน่ง ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ไปทำงานอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้พบเข้ากับย่าของป้าขจี เป็นเจ้านางไทใหญ่ ขณะนั้นเป็นม่ายสามีเสียชีวิต พ่อของป้าขจีจึงเกิดที่แม่ฮ่องสอน ป้าขจีจึงมีชื่อเป็นภาษาไทใหญ่ที่ย่าตั้งให้ว่า จิ่งเมี๊ยะ (แปลว่า เพชรมรกต)

เลือดเนื้อและสำนึกของป้าขจีจึงประกอบขึ้นมาจากความหลากลาย ทั้ง พราหมณ์ มอญ ลาว จีน ไทใหญ่ ไทยภาคกลาง และไทยปักษ์ใต้

ป้าขจีเป็นสมาชิกของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ เป็นสมาชิกสมาคมไทยรามัญ และเป็นสมาชิกวารสารเสียงรามัญ เข้าอกเข้าใจคนมอญที่ต้องอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย แต่กลับติดใจสงสัยชาวโรฮิงยาที่ลี้ภัยเข้าเมืองไทยล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ที่สำคัญพยายามซ่อนความเป็นลาวและจีนภายในสายเลือดของตนเอง ลูกหลานของป้าขจีหลายคนได้ดิบได้ดีในหลายศาสตร์หลากแขนง แต่ป้าขจีเลือกที่จะภาคภูมิใจในตัวหลานสาวคนที่ได้เป็นนางสงกรานต์มอญพระประแดง ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมป้าขจีเลือกที่จะนำเสนอความเป็นมอญมากกว่าสิ่งอื่น เพราะหากเทียบกันแล้ว ยังมีเรื่องราวในสายเลือดตามแง่มุมต่างๆ ให้ป้าขจีได้ภาคภูมิใจ

ป้าขจีก็คงเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งทั่วไป เป็นคนไทยแท้... คนไทยแท้เป็นอย่างนี้เอง

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…