Skip to main content

สุกัญญา เบาเนิด (นัด)

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ” ยังเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผ่านสำนึกทางชาติพันธุ์ให้ผู้คนกลุ่มอื่นได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของคนมอญ ถึงแม้จะ ”ไร้รัฐแต่ไม่ไร้ราก” แม้จะ “สิ้นแผ่นดินแต่ไม่สิ้นชาติ !!!

ความเป็นมา

งานวันชาติมอญเริ่มจัดขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมา หลังจากที่พม่าเมืองได้รับเอกราชอังกฤษ และจากการที่รัฐบาลพม่าไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงปางโหลง ทำให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ พยายามแยกตัวออกมาเป็นอิสระและจับอาวุธขึ้นต่อต้านกับพม่า ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มก็มีวันสำคัญนี้ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นชนชาติและอิสระในการปกครองตนเอง

วันชาติมอญถูกกำหนดให้ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ (หรือหลังวันมาฆะบูชา ๑ วัน) เนื่องจากมีความสำคัญเป็นวันแรกสร้างเมืองหงสาวดีของมอญ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๑๑๑๖ โดย กษัตริย์สองพี่น้องคือ พระเจ้าสมละ และ วิมละ  นานมาแล้วก่อนที่ยังไม่มีวันชาติมอญ ในช่วงนี้จะมีวันสำคัญทางศาสนาคือวันมาฆะบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ เมื่อทำบุญตักบาตรแล้วในวันรุ่งขึ้นคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ชาวมอญก็จะมีการทำบุญบรรพบุรุษที่ล่วงลับอยู่แล้วโดยจะนำข้าวปลาอาหารไปที่สุสาน ซึ่งชาวมอญในเมืองมอญจะยึดถือปฏิบัติแบบนี้จนกระทั่งมากำหนดให้มี งานวันชาติ ความหมายของงานก็ยังเหลือเค้าเดิมคือการระลึกถึงบรรพบุรุษมอญผู้ล่วงลับ ระลึกถึงบุญคุณของพระเจ้าสมละและวิมละที่สร้างเมืองหงสาวดี ระลึกถึงอดีตกษัตริย์และทหารผู้ซึ่งเสียสละเลือดเนื้อให้กับชนชาติมอญ

คนมอญนั้นเรียกงานวันชาติว่า “ตะงัวแกะกาวโม่น” แปลตรงๆ ว่า วันชนชาติมอญ หรือเรียกว่า “มาก์จมั่วจะเวี่ยก” แปลว่า แรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ วันชาติมอญครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่เมืองเกาะฮะมาง (ซองซอน) จังหวัดมะละแหม่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ และจัดต่อเนื่องมาทุกปี  เมื่อถึงวันสำคัญนี้คนมอญในทุกพื้นที่จะพร้อมใจกันจัดงาน ใหญ่บ้างเล็กบ้างขึ้นอยู่กับสถานที่  ถ้าจัดในเขตรัฐมอญเช่นจังหวัดมะละแหม่ง จังหวัดสะเทิม หรือพื้นที่ควบคุมของพรรคมอญใหม่ เช่นชายแดนไทย-พม่า ณ บ้านเจดีย์สามองค์ก็จะจัดใหญ่ได้และสามารถแสดงออกด้านสัญลักษณ์ คำพูดหรือแสดงเกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้อย่างเต็มที่ โดยมีองค์ประกอบดังนี้  ๑) การจัดริ้วขบวนแห่ของประชาชน ๒) การร้องเพลงชาติมอญ ๓) การเชิญธงชาติมอญขึ้นสู่ยอดเสา ๓) การกล่าวสดุดีบรรพบุรุษมอญ ๔) การสวนสนามของกองทหาร ๕) การกล่าวปราศรัยของพระและผู้นำ ๖) การอ่านแถลงการณ์ ๗) การละเล่น ศิลปการแสดง เพื่อการเฉลิมฉลอง

แต่การจัดงานวันชาตินอกเขตรัฐมอญ เช่น พะโค ทวาย ตะนาวศรี มัณฑะเลย์  และเมืองย่างกุ้งทางการพม่าก็จะคุมเข้ม ไม่สามารถทำกิจกรรมในวันชาติอย่างครบถ้วนได้ เช่น ไม่สามารถนำเหล่าทหารมาสวนสนาม และ ห้ามการแสดงสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น รูปธงชาติมอญที่มีรูปหงส์กำลังบินนั้นก็จะถูกทางการพม่าจับทันที (๑) จึงเน้นแสดงออกก็จะเน้นไปการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ   สำหรับหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีการจัดงานเมื่อถึงวันนี้ในแต่ละบ้านก็จะมีการทำพิธีบูชา “เสาผี” ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ ในเมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองหลวงของพม่าก็มีการจัดงานวันชาติมอญโดยกลุ่มนักศึกษามอญ เพราะเมืองย่างกุ้งมีคนมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เหตุที่เมืองย่างกุ้งสามารถจัดงานวันชาติมอญได้นั้นเพราะเป็นการลดความกดดัน ทางการพม่าจึงอนุญาตให้ทำได้แต่ก็ต้องคุมเข้ม

“..อย่างที่ย่างกุ้งบางปีถ้าจัดงานพม่าก็ก่อกวน รู้ว่ามอญมากันเยอะก็พยายามจะกลั่นแกล้ง บางปีคนมอญเตรียมไว้พร้อมแล้ว เตรียมไว้อย่างใหญ่ก็ห้ามจัด ก็ก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะเสียค่าใช้จ่ายอะไรไปเรียบร้อยแล้ว...” (๒)

ในประเทศไทยมีการจัดงานวันชาติครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญที่รวมตัวกันในนามชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ (๓) ที่เคยเดินทางไปร่วมงานวันชาติมอญที่บ้านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า วันชาติมอญครั้งแรกจัดในกรุงเทพมหานคร ใช้โรงแรมเป็นสถานที่จัดงาน ลักษณะของงานเป็นการเลี้ยงพบปะสังสรรค์ และพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องมอญ และต่อมาเปลี่ยนมามีการจัดนอกสถานที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัด เริ่มแรกที่วัดชนะสงคราม บางลำพู ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่ยังไม่มีการใช้ชื่อ “งานวันชาติมอญ” เป็นการทำบุญบำเพ็ญกุศลให้บรรพชนมอญ และมีแสดงศิลปวัฒนธรรมมอญ จากนั้นก็มีการจัดต่อมาทุกปีตามวัดมอญ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด (๔)

“....ครั้งแรกนั้นจัดที่โรงแรมอินทราประตูน้ำ และก็จัดต่อกันมาทุกปี ย้ายไปจัดโรงแรมเวียงใต้ โรงแรมรัตนโกสินทร์บ้าง ตอนแรกๆก็อยู่ตามโรงแรม ก่อนที่จะย้ายไปต่างจังหวัด บางปีไปจัดที่บ้านโป่ง ราชบุรี จัดเป็นงานวัฒนธรรมไปด้วย...ในงานที่จัดก็จะเชิญคนไทยเชื้อสายมอญออกมาพูด เที่ยงก็กินข้าว แล้วก็มีมอญรำมาขัดตาทับและตอนบ่ายก็พูดกันอีก ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์...” (๕)

หลังจากเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่าวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๑ หรือ เหตุการณ์ ๘๘๘๘  ทำให้กลุ่มนักศึกษาต้องลี้ภัยทางการเมืองออกจากพม่าเป็นจำนวนมาก  ในจำนวนนี้มีกลุ่มนักศึกษามอญอพยพเข้ามาและพำนักอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเล (Overseas Mon National Student Organization) ได้ริเริ่มจัดงานวันชาติมอญในมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และในนำรูปแบบการจัดงานวันชาติมอญแบบมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ที่เน้นเรื่องอุดมการณ์ชาตินิยม จากนั้นได้ขยายออกไปจัดตามวัดเช่น วัดเจดีย์หอย จังหวัดปทุมธานี และวัดบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งช่วงเวลานี้สอดคล้องกับการเข้ามาของแรงงานมอญย้ายถิ่นในจังหวัดสมุทรสาคร

ในช่วงแรกๆ นั้นงานวันชาติมอญที่จัดขึ้นในประเทศไทยจะแยกกันจัดระหว่างกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเล และกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญซึ่งจัดในนามชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ รูปแบบการจัดงานมีความแตกต่างกันคือกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเลจะเน้นเรื่องอุดมการณ์ชาตินิยม ส่วนชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯเน้นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ การแสดงศิลปวัฒนธรรม  ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ  ได้ดึงกลุ่มแกนนำนักศึกษามอญเข้าร่วมกิจกรรมในงานวันชาติ และมีการปรับรูปแบบของงานให้เป็นทั้งอุดมการณ์ชาตินิยมมอญและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน

“...ทำงานร่วมกันทั้งสองเมือง เขาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นเขาก็เริ่มเห็นแบบอย่างพยายามปรับซึ่งของมอญเมืองไทยอาจจะดูจืดสำหรับเขา เพื่อให้มีรสชาติขึ้น เช่นมีการอ่านแถลงการณ์เพิ่มสีสัน กล่าวเป็นภาษามอญมากขึ้น การแสดงดนตรี การรำ ก็พยายามดึงทางเมืองโน้น อย่างน้อยก็อย่างละครึ่งๆ เพราะดูแล้วจะเป็นการร่วมกันระหว่างมอญสองเมือง  .. (๖)

ต่อมาชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้ร่วมกับชุมชนมอญต่างๆ ทั่วประเทศ จัดงานวันชาติมอญโดยหมุนเวียนกันไปในแต่ละปี เช่นวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๖ พ.ศ. ๒๕๔๖ วัดสามัคคิยาราม จังหวัดปทุมธานี วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๗ พ.ศ. ๒๕๔๗ วัดทองบ่อ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๘ พ.ศ. ๒๕๔๘ วัดศรัทธาธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๙ พ.ศ. ๒๕๔๙ วัดบึงลาดสวาย จังหวัดนครปฐม วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๐ พ.ศ. ๒๕๕๐ วัดอัมพวัน จังหวัดลพบุรี และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ จะมีการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

สำหรับในต่างประเทศที่มีนักศึกษามอญโพ้นทะเลไปอาศัยอยู่มีการรวมตัวจัดงานวันชาติมอญ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย นอร์เว ศรีลังกา เป็นต้น

วันรำลึกบรรพบุรุษมอญที่สมุทรสาคร

เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีแรงงานมอญย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในจังหวัดสมุทรสาครเป็นจำนวนมาก จึงมีการรวมตัวการจัดงานวันชาติขึ้น อาจกล่าวได้ว่างานวันชาติมอญที่สมุทรสาครนี้ มีคนมอญเข้ามาร่วมงานมากที่สุดในประเทศไทย ในกรณีของการจัดงานวันชาติของคนมอญซึ่งอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยของประเทศพม่า คำว่า ”งานวันชาติ” อาจจะฟังดูแข็ง และสื่อไปในทางการเมืองจนทำให้เกิดความวิตกว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ด้วยแรงงานเหล่านั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ พูดภาษามอญ และมีวัฒนธรรมประเพณีมอญ จึงได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญในเมืองไทยให้มีการจัดงานวันชาติขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนสำนึกทางพันธุ์ระหว่างคนมอญย้ายถิ่นและคนไทยเชื้อสายมอญต่อการมีบรรพบุรุษร่วมกัน  ดังนั้นงานวันชาติมอญในสมุทรสาครจึงมีชื่องานว่า “วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  ณ วัดศิริมงคล ตำบลบ้านเกาะ และวัดบางหญ้าแพรก ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  

ภายใต้บริบทของสังคมไทย การจัดงานวันชาติของแรงงานมอญย้ายถิ่น มีการลดทอนสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ชาตินิยมและการเมือง เช่น การปรับชื่องานจากวันชาติมอญ เป็นวันรำลึกบรรพบุรุษมอญ  ไม่มีการสวนสนามของทหารมอญ ไม่มีการเชิญธงชาติมอญ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือ การแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมประเพณีมอญ เช่น การแสดงนาฏศิลป์ การแสดงดนตรีสากล การแข่งขันกีฬา ตะกร้อ ฟุตบอล มีการออกร้านจำหน่ายสินค้า เช่น เสื้อยืดสกรีนลายสัญลักษณ์ของงานวันชาติ ชุดประจำชาติ  สร้อยไข่มุก เข็มกลัดรูปหงส์ สายรัดข้อมือ หนังสือและสิ่งพิมพ์ภาษามอญ ซีดีเพลงคาราโอเกะศิลปินเพลงมอญ เป็นต้น

สิ่งที่พบเห็นได้ในงานวันชาติมอญเสมอคือ แรงงานมอญย้ายถิ่นที่มาร่วมงานจะพร้อมใจกันแต่งชุดประจำชาติ เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้มีความแตกต่างจากพม่า ซึ่งในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า มอญกับพม่าเป็นชนชาติเดียวกัน เพราะเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ชนชาติพม่าได้ทำสงครามและมีชัยเหนือชนชาติมอญก็ได้รับเอาอารยธรรมมอญในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรมประเพณีมาหลอมรวมกลายเป็นวัฒนธรรมพม่ามาจวบจนปัจจุบัน ประกอบกับพม่าก็ดำเนินนโยบายกลืนชาติมอญมาโดยตลอด พยายามแสดงออกว่าพม่ากับมอญเป็นชนชาติเดียวกัน จนมอญแทบจะไม่เหลือความเป็นเอกลักษณ์ของตนอีกต่อไป โดยเฉพาะการแต่งกาย ศิลปะ การแสดง พม่ากับมอญนั้นคล้ายคลึงกันมากยากที่คนทั่วไปจะแยกแยะได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนมอญได้ตระหนักว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเอกลักษณ์ของมอญก็คงจะสูญสิ้นจากการรับรู้ของคนทั่วไป

ดังนั้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ คนมอญจึงคิดค้น “ชุดประจำชาติ” โดย ชมรมนิสิตนักศึกษามอญในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งนำโดยนายอองมาน (๗) นักศึกษาแพทย์ขณะนั้นได้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ค้นหาเอกลักษณ์ของเครื่องแต่งกายมอญขึ้นมาใหม่ ในการนี้ตัวแทนนักศึกษาได้กระจายกันลงพื้นที่สำรวจลวดลายผ้ามอญพื้นบ้าน ส่วนใหญ่เป็นลายที่เลิกทอกันไปแล้วบ้าง ไม่ค่อยได้รับความนิยมบ้าง รวมทั้งผ้าในหีบห่อผ้าผี ซึ่งสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพชนไม่เปลี่ยนแปลง  เมื่อได้ข้อมูลและตัวอย่างผ้ามอญโบราณมาแล้ว กลุ่มนักศึกษาได้ประมวลเอาลายและสีที่ใช้กันมากที่สุด นำมาปรับปรุงเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยให้เป็นชุดมอญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (๘) คือ ผู้ชายต้องใส่ “โสร่งแดง” เป็นโสร่งพื้นแดงลายตารางคล้ายคันนา มีแถบขาวคาดที่กลางผืน เดิมแถบสีเกิดจากการนำผ้าสองชิ้นเย็บริมต่อกัน เนื่องจาก “กี่” ทอผ้าของมอญจะมีขนาดเล็กทำให้ได้ผ้าทอมีลักษณะเป็นผ้าหน้าแคบ แต่ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีการทอด้วยเครื่องจักรให้ได้ขนาดความกว้างของผืนผ้าโสร่งก็ตามแต่ก็ยังคงแถบสีขาวไว้เหมือนเดิม ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ทำให้โสร่งมอญแตกต่างจากโสร่งของพม่า ส่วนเสื้อมีลักษณะเป็นสีขาวพื้น หรืออาจจะมีลายตารางสีแดงบนพื้นขาว คอกลมแขนยาวผ่าหน้าผูกเชือก  

1

สำหรับผู้หญิงต้องนุ่ง “ผ้าถุงแดง” ลายดอกบนพื้นแดงมีเชิง ผ้าถุงนั้นจะมีลักษณะการตัดเย็บแบบพิเศษต่างกับผ้าถุงของหญิงไทย คือจะมีการเย็บตีเกร็ดหลังคล้ายกับตีเกร็ดกระโปรงหรือผ้าถุงสำเร็จ และใช้แถบผ้าฝ้ายสีดำมีความกว้างประมาณ ๓ นิ้ว เย็บต่อที่ขอบเอวผ้าถุง เพราะเมื่อเวลาสวมใส่ผ้าถุงจะเข้ารูปสะโพกพอดี ส่วนเสื้อมีลักษณะเป็นเสื้อสีขาว หรือ สีชมพูอ่อนแขนยาว คอกลมผ่าหน้าผูกเชือก ชายเสื้อค่อนข้างยาวปิดสะโพกเพื่อให้แตกต่างจากเสื้อผู้หญิงพม่าที่มีลักษณะชายเสื้อสั้นแบบเอวลอย

นอกจากนี้ยังมี “เสื้อลายมอญ” มีข้อความเขียนด้วยภาษามอญ และลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวตำนาน ประวัติศาสตร์ และสัญลักษณ์รูปหงส์ เสื้อลักษณะนี้ใช้สัญลักษณ์ประจำกลุ่ม และเสื้อวันชาติ ชุดประจำชาติยังสามารถใช้ในโอกาสอื่นๆอีกเช่น เทศกาลงานบุญ วันสำคัญทางศาสนา งานแต่งงาน สวมใส่ไปทำงานและอยู่ในที่พัก นายอองซอนโม่น อายุ ๒๕ ปีคนมอญจากหมู่บ้านกวักเต่ เมืองมุเดิง จังหวัดมะละแหม่ง เช่าห้องอยู่แถบมหาชัยนิเวศน์ และเข้ามาเป็นแรงงานในสมุทรสาครประมาณ ๙ ปีกล่าวถึงชุดประจำชาติมอญและเสื้อลายมอญให้ฟังว่า

“....เรารู้จักมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว เขาก็ทำกันอยู่ เราก็รับรู้ โสร่งแดง เสื้อขาว ชุดประจำชาติเราก็รู้...ความหมายโสร่งคือ สีแดงหมายถึง สีเลือด แสดงว่ารักชาติ ส่วนสีขาวหมายถึงศาสนาและ จิตใจที่ใสสะอาด ส่วนที่พม่าไม่มีเสื้อที่สกรีนลายหรอกเป็นเสื้อขาวเฉยๆ ตราแบบนี้ไม่มีหรอก ทำไม่ได้หรอกเขาไม่ให้ทำ เขาไม่ให้โอกาส ประเทศไทยนั้นทำได้...” (๙)

คนมอญเชื่อว่าการแต่งกายด้วยชุดประจำชาติมอญนั้นเป็นการแสดงถึงความรักชาติ และแยกตัวออกจากความเป็นพม่า มิอู อายุ ๒๕ ปี คนมอญหมู่บ้านฮะปลาง จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า ทำงานที่สมุทรสาครประมาณ ๑๒ ปี กล่าวว่า  “....ถ้ามอญแต่งชุดมอญแสดงว่ารักชาติ ถ้าไม่แต่งชุดแบบนี้เขาก็ดูไม่ออก อันไหนมอญอันไหนพม่า....” (๑๐)

นอกจากชุดประจำชาติแล้ว ยังสามารถพบเห็นสัญลักษณ์อื่นในงานวันชาติอีกด้วยเช่น  หงส์ จะปรากฏอยู่ตาม เสื้อยืด เข็มกลัด ภาพโปสเตอร์ติดตามห้องเช่า ตราสัญลักษณ์ของกลุ่มทำบุญทำทาน กลุ่มหมู่บ้าน ตราชมรมฯและสมาคมของคนมอญทั้งในเมืองไทยและเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ศูนย์การเรียนรู้มอญ หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ของคนมอญ และการแสดงนาฏศิลป์ (ระบำหงส์ทอง)  

ส่วนธงชาติมอญ มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการเคารพธงในงานวันชาติ  แต่ด้วยข้อจำกัดของการอยู่ในสังคมไทย การนำธงชาติมาแสดงในที่สาธารณะอาจจะขัดต่อความรู้สึกของคนไทย ดังนั้น ธงชาติมอญจึงไปปรากฏอยู่ตามเอกสาร สิ่งพิมพ์ เสื้อยืด หรือติดไว้ภายในห้องพักและไม่เคยนำมาแสดงในที่สาธารณะเลย

บรรยากาศของงานวันชาติมอญเป็นที่ครึกครื้นและสนุกสนานอย่างมาก เป็นช่วงเวลาและโอกาสที่แรงงานมอญจะได้พบปะสังสรรค์กัน เช่น พบปะคนในหมู่บ้าน รู้จักเพื่อนใหม่  ผู้ที่มาร่วมงานส่วนหนึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มมีลักษณะเป็น “กลุ่มทำบุญทำทาน” เป็นการรวมกลุ่มของคนหนุ่มสาวเพื่อทำกิจกรรมต่างๆในงานบุญประเพณี การร่วมกลุ่มลักษณะนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทำอยู่แล้วในสังคมมอญที่ประเทศพม่า ความสำคัญของงานวันชาติมอญมีความสำคัญต่อคนมอญในประเทศพม่าเป็นอย่างมาก รวมทั้งแรงงานมอญในประเทศไทยก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การมาร่วมงานวันชาติของคนมอญเป็นการแสดงออกถึงการรักชาติ ซึ่งความรักชาติในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ถึงแม้ว่าอุดมการณ์รักชาติของคนมอญรุ่นใหม่ จะถูกผลิตขึ้นจากอิทธิพลปัญหาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยเมื่อหกสิบปีก่อนซึ่งเริ่มต้นด้วยการจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อกู้ชาติมอญ จนกระทั่งมีการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า การเรียกร้องสิทธิ์ในการปกครองตนเองของมอญก็ยังคงอยู่เรื่อยมา คนมอญในประเทศพม่าทุกคนถูกปลูกฝังเรื่องการรักชาติ และในปัจจุบันอุดมการณ์รักชาติได้ถูกอธิบายใหม่ว่าการรักชาติคือการรักษาไว้ซึ่งภาษาและวัฒนธรรมมอญ หากสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ ชาติก็จะคงอยู่ด้วย งานวันชาติจึงเป็นโอกาสที่คนมอญทั้งหลายได้แสดงออกถึงการรักชาติ รำลึกถึงผู้ที่เสียสละทำงานเกี่ยวกับชนชาติ ผ่านการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมประเพณีและศิลปการแสดง

2

3

แต่ในทุกวันนี้การจัดงานวันชาติมอญ หรือ วันรำลึกบรรพบุรุษมอญในจังหวัดสมุทรสาคร กลับถูกบิดเบือนความหมายไปในเชิงลบ ว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อระดมทุนต่อต้านรัฐบาลพม่า ซึ่งจะเป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่าต่อไปพม่ากับไทยจะโกรธกันเพราะไทยให้แรงงานมอญจัดงานวันชาติมอญในเมืองไทย หรือ การนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์ความสงบในพม่าที่ผ่านมาเช่นการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลพม่าของเหล่าพระสงฆ์และประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากความคิดจาก “คนนอก” ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดมาตลอด ในขณะที่ “คนใน” ซึ่งหมายถึงคนไทยเชื้อสายมอญกลับไม่ได้รู้สึกอะไร ทั้งวัดและชุมชนมอญก็ยินดีให้มีการจัดงานวันชาติมอญ หรือ วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ เพราะทราบดีว่าวันชาติมอญนั้นคือวันที่คนมอญทั้งหลายรำลึกถึงรากเหง้า บรรพบุรุษ วัฒนธรรมประเพณีของตนเองทั้งสิ้น และตระหนักดีว่าเจตนารมณ์ของงานวันชาติมอญนั้นก็เพียงต้องการให้คนมอญไม่ลืมตัว ไม่ลืมความเป็นมอญ ซึ่งไม่ได้รวมตัวเพื่อต่อต้านพม่าอย่างที่เข้าใจ

คนไทยเชื้อสายมอญเอง ก็มีสิทธิที่จะแสดงวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กล่าวไว้ในหมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๑๒ สิทธิชุมชน  มาตราที่ ๖๖  “บุคคลซึ่งร่วมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” จึงไม่แปลกอะไรว่า งานวันชาติมอญ หรือ วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างแรงงานมอญจากประเทศพม่ากับคนไทยเชื้อสายมอญให้รำลึกถึงความเป็นมอญที่มีร่วมกัน...แม้ว่าจะต่างสัญชาติแต่ชาติพันธุ์นั้นไม่แตกต่าง...

 

รายการอ้างอิง
(๑) พิสัณห์ ปลัดสิงห์,  มอญ ชนชาติไร้แผ่นดิน, (กรุงเทพฯ: พิมพ์ที่จตุจักรการพิมพ์, ๒๕๒๕), หน้า  ๘๔.
(๒) สัมภาษณ์  นายสุนทร ศรีปานเงิน,  รองประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและประธานพรรคสันนิบาตชนชาติมอญ ( Mon Unity League : MUL ),  ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙.
(๓) ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ (Mon Youth Communty : MYC) ก่อตั้งโดยคนไทยเชื้อสายมอญในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๙ ปัจจุบันตั้งอยู่ ๗๗/๒ ถนนจักรพงษ์ บางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีจิตสำนึกว่าชนชาติมอญอาจจะต้องสูญเผ่าพันธุ์ไปจากโลกนี้ ทั้งภาษา หนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ดังนั้นบุคคลเชื้อสายมอญควรจะต้องรักษาและสืบทอดต่อไป
(๔) สัมภาษณ์  นายพิศาล บุญผูก,  คนไทยเชื้อสายมอญ เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อดีตประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯคนที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๔๑), ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐.
(๕) สัมภาษณ์  นายพิสัณห์ ปลัดสิงห์,  คนไทยเชื้อสายมอญ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี,  ๑๕ มกราคม ๒๕๔๙.
(๖) สัมภาษณ์  นายองค์ บรรจุน, คนไทยเชื้อสายมอญ จังหวัดสมุทรสาคร และ ประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ,  ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙.
(๗) สัมภาษณ์  นายสุนทร ศรีปานเงิน,  รองประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ และประธานพรรคสันนิบาติชนชาติมอญ ( Mon Unity League : MUL ),  ๘  พฤศจิกายน ๒๕๔๙.
(๘) องค์ บรรจุน,  ต้นทางจากมะละแหม่ง, (กรุงเทพมหานคร: อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ป, ๒๕๔๙), หน้า ๒๒๕.
(๙) สัมภาษณ์  นายอองซอนโม่น,  คนมอญจากเมืองมอญ ประเทศพม่า,  ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙.
(๑๐) สัมภาษณ์  มิอู,  คนมอญจากหมู่บ้านฮะปลาง จังหวัดมะละแหม่ง เมืองมอญ ประเทศพม่า,  ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙.

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…