Skip to main content

ขนิษฐา คันธะวิชัย

ข้าพเจ้าทราบข่าวว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ได้เกิดพายุไซโคลนนาร์กีส จากอ่าวเบ็งกอร์  อันที่ได้สร้างความเสียหายทางด้านชีวิต และทรัพย์สินแก่ประชาชนชาวพม่า ที่อาศัยอยู่ในเขตตอนล่างของประเทศจีน จนถึงกลุ่มชนมอญ กระเหรี่ยง เป็นจำนวนมาก

โดยเป็นตัวแทนรัฐบาล ประชาชน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจ และเห็นใจมายังท่าน และประชาชนชาวพม่า จะสามารถฟื้นฟูเขตที่เกิดความเสียหายจากภัยพิบัติในครั้งนี้

ด้วยความเคารพและนับถืออย่างสูง

นครหลวงเวียงจันทน์ วันที่ 5 พฤษภาคม 2551

 

ข้างต้นนี้เป็นสาส์นแสดงความเสียใจที่ฯพณฯท่านบัวสอน บุบผานุวง นายกรัฐมนตรีแห่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวส่งถึงนายพลเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพพม่า ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ผู้เขียนมีโอกาสอ่านข้อความในสาส์นแสดงความเสียใจ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ ก็รู้สึกซึ้งใจที่รัฐบาลลาวไม่ได้มองข้ามการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพื้นที่ที่ประสบภัย

จากการที่รายงานข่าวว่า “พายุไซโคลนถล่มพม่า” ทำให้คนทั่วไปมักจะนึกถึงชาวพม่าโดยรวมๆ แต่อันที่จริง ลึกลงไปในคำว่า “พม่า” ก็ยังมี มอญ กะเหรี่ยง และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวกับผู้เขียนว่า พื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติมากที่สุดคือบริเวณ Delta (ปากแม่น้ำ) ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่ของชาวมอญ โดยมากหัวเมืองมอญจะอยู่ริมทะเล แต่ภายหลังพื้นที่ในบริเวณนั้นมีชาวกะเหรี่ยงเข้าไปอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก นั่นก็เป็นไปได้ว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ก็จะมีทั้งพม่า มอญ กะเหรี่ยง ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ในพื้นที่ นอกจากนี้ผู้เขียนได้ดูแผนที่ของบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากพายุ ก็พบว่าบริเวณตอนเหนือของรัฐมอญก็ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้เขียนแทบจะนั่งไม่ติดเก้าอี้ คิดแต่ว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือชาวมอญในพม่าที่อาจจะโดนละเลยในการส่งความช่วยเหลือเพราะว่าเป็นคนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาล (อย่าหาว่าลำเอียงห่วงแต่มอญเลย ก็เพราะเราเป็นสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพนี่นา)

ong_20080615-225654.jpg
แผนที่ประเทศพม่า แสดงพื้นที่บริเวณปากน้ำอิรวดี (Delta) ด้านซ้ายและรัญมอญด้านขวา

เรื่องนี้ อ.พรพิมล ตรีโชติ นักวิจัยที่เชี่ยวชาญเรื่องพม่าประจำสถาบันเอเชียศึกษาได้ให้ความเห็นกับผู้เขียนว่า ไม่ใช่เพียงชาวมอญหรือกะเหรี่ยงเท่านั้นที่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ ชาวพม่าก็ไม่น่าจะได้รับความช่วยเหลือด้วย เพราะทหารพม่าถูกฝึกให้ควบคุมประชาชน ไม่ได้ถูกฝึกให้มาบริการประชาชน โดยเฉพาะในระยะหลังพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ของกองกำลังกระเหรี่ยงเคเอ็นยู มีหรือที่รัฐบาลทหารพม่าจะรีบตัดสินใจเปิดรับการช่วยเหลือจากต่างชาติ หรือรีบส่งความช่วยเหลือไป

เมื่อได้ยินดังนั้นผู้เขียนจึงกุมขมับอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะลงมือตรวจสอบข้อมูลความเสียหายในรัฐมอญตามศักยภาพอันน้อยนิดที่ผู้เขียนมี แต่ก็ไม่สามารถติดต่อคนเหล่านั้นได้ เนื่องจากช่วงนั้นใกล้วันลงประชามติในพม่า คนที่ผู้เขียนรู้จักก็คงจะเดินทางเข้าไปในพม่ากันหมดตั้งแต่ก่อนพายุแล้ว

ในช่วงที่พยายามติดตามข่าวเรื่องภัยพิบัติไซโคลนในพม่าอยู่นั้น ไม่มีสื่อใดให้รายงานความเสียหายที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับ โดยมักจะรายงานถึง “พม่า” โดยรวม อาจมีการพูดถึงมอญและกะเหรี่ยง บ้าง แต่ก็น้อยมาก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่านั่นไม่ใช่ความผิดของสื่อแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าการดูข่าวของสำนักข่าวต่างๆ นั้น ไม่สามารถตอบคำถามของคนมอญในไทยหรือคนที่สนใจกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าไม่ได้ ว่า
“แล้วสถานการณ์ของคนมอญคนกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบด้วยนั้นเป็นอย่างไร”

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ ก็มีหน้าที่เผยแพร่เรื่องราวของชาวมอญให้สังคมได้รับรู้ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องของมอญไทย หรือมอญในประเทศพม่า ซึ่งรัฐมอญก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้ใจจริงผู้เขียนก็อยากจะรู้ถึงสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในเขตเดลต้าเหลือเกิน แต่นั่นก็เกินศักยภาพของผู้เขียนที่จะหาข่าวได้ ดังนั้นสิ่งที่จะรายงานต่อไปนี้จะเป็นสถานการณ์ในรัฐมอญที่อยู่ห่างออกมาจากเดลต้า

ผู้เขียนติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์ Independent Mon News Agency ว่ารัฐมอญได้รับความเสียหายน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายในเขตเดลต้า โดยในรัฐมอญก็มีรายงานความเสียหายคือหมู่บ้านประมงหายไป คนจำนวนสิบกว่าคนไร้ที่อยู่ และมีต้นไม้ล้ม หลังคาปลิว นี่คือข้อมูลทั้งหมดที่ผู้เขียนได้รับ ซึ่งก็ไม่ได้บอกถึงสถานการณ์ของคนเหล่านั้นว่ามีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร แต่ก็อนุมานเอาว่าคงจะได้รับความลำบากเช่นกัน

 

ong_20080615-225703.jpg
ภาพถ่ายทางอากาศบริเวญปากน้ำอิรวดีภายหลังพายุไซโคลนนาร์กีสกระหน่ำ

 

เมื่อรัฐมอญได้รับความเสียหายบ้างแต่น้อยกว่าทางเดลต้า ผู้ที่เสียหายน้อยกว่าก็ต้องช่วยเหลือผู้ที่เสียหายมากกว่า จนถึงวันนี้ เหตุการณ์ผ่านมา 1 เดือนแล้ว รัฐบาลพม่ายอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติมากขึ้น แต่ความเสียหายนั้นก็ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องตามปกติของการเกิดภัยพิบัติ และผู้ที่มีชีวิตรอดก็ต้องลำบากและอยู่กับความเศร้าความน่าสะเทือนใจกันต่อไป ในกรณีของชาวมอญที่อยู่ในรัฐมอญนั้น ข่าวใน Independent  Mon News Agency รายงานว่าหมู่บ้านมอญที่อยู่ริมทะเลได้รับคำสั่งให้เผาหรือฝังศพที่ลอยน้ำมา โดยมีการเรียกเก็บเงินบ้านละ 1,000 จ๊าด เพื่อนำมาใช้จ่ายในการจัดการศพที่ลอยมาติดชายหาดในเมืองเยซึ่งมีมาทุกวัน

ผู้เขียนจำได้ว่าช่วงที่เกิดพายุเกย์ในชุมพร ปี 2532 นั้น ผู้คนไม่ยอมรับประทานกุ้ง เนื่องจากกุ้งมักเกาะตามซากศพของผู้ประสบภัย ซึ่งเหตุการณ์พายุนาร์กีซนี้ก็เช่นกัน ราคาปลาในประเทศพม่าตกลงถึงร้อยละ 40 ในขณะที่ราคาเนื้อหมูและไก่ก็สูงขึ้น ในข่าวยังรายงานด้วยว่า มีศพอย่างน้อย 300 ศพที่ลอยมาถึงรัฐมอญทางใต้และก็ได้รับการฝังหรือเผาไปแล้ว บางศพไร้ขา บางศพไร้มือ หลายศพติดมากับแหอวนของชาวประมงและนั่นก็ทำให้ผู้คนไม่กล้ารับประทานอาหารทะเล  นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการบังคับให้ชาวมอญในมะละแหม่งและเมืองอื่นๆ บริจาคให้ผู้ประสบภัยครอบครัวละ 3,000 จ๊าด หรือหากบ้านไหนที่มีมีมอร์เตอร์ไซค์ และเครื่องเล่นวีดีโอ ก็จะโดนให้บริจาคเพิ่มมากชึ้น

เมื่อพื้นที่อิระวดี ย่างกุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ เป็นแหล่งปลูกข้าวส่งออกและเลี้ยงคนในประเทศได้รับความเสียหาย กลับกลายเป็นแหล่งโรคระบาด งูชุกชุม ไม่สามารถอาศัยอยู่หรือทำมาหากิน ผู้คนที่รอดชีวิตก็ต้องอพยพจากพื้นที่ด้วยถูกภัยธรรมชาติบังคับ ในตอนนี้ผู้คนในแถบปากแม่น้ำอิระวดีได้พากันลงมายังตอนใต้ ซึ่งก็คือเมืองเยในรัฐมอญซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อย มีรายงานว่ามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) เข้ามาในเมืองเยเป็นจำนวนถึง 400-500 คนต่อวันเลยทีเดียว

ในส่วนของการเตือนภัยหากจะมีพายุครั้งต่อไปนั้น ผู้คนในรัฐมอญบางส่วนก็ได้รับคำเตือนจากทหารพม่าว่าอาจมีพายุอีกลูกในกลางเดือนนี้ ขอให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ในที่สูงและสังเกตสัญญาณธงให้ดี หากเป็นธงแดงให้รีบหนีภัยโดยด่วน และเพื่อป้องกันภัยหากเกิดพายุขึ้นจริงๆ ชาวบ้านในรัฐมอญได้ตัดต้นไม้เก่าๆ ภายในบริเวณบ้านและตามท้องถนนออก มิให้ต้นไม้เก่าโค่นล้มทับตัวบ้านหรือกีดขวางถนนและเป็นอันตรายต่อผู้คน

และนี่ก็คือสถานการณ์คร่าวๆ ในรัฐมอญหลังพายุไซโคลนนาร์กีซ

ปล. หากผู้อ่านท่านใดสงสัยว่า แล้วทางการลาวได้ให้ความช่วยเหลือแก่พม่าอย่าใดบ้างหรือไม่ จากข่าวในหนังสือพิมพ์เวียงจันใหม่ วันที่ 4 มิถุนายน 2551 รายงานว่า ลาวได้ส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือพม่าเป็นจำนวน 21 คน และได้มอบยาและอุปกรณ์การแพทย์ ไฟฟ้าสำรอง 2 เครื่อง และเครื่องอุปโภคให้แก่สาธารณสุขเมืองจาวตัน  รวมมูลค่ามูลค่า 69,992 ดอลลาร์สหรัฐ (อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา http://www.isc-gspa.org/News_isc/view1.asp?id=432 )

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…