Skip to main content

เขียนโดย อ้อ

 

 

ในช่วงเริ่มต้นของงานวิจัยพิพิธภัณฑ์สันติภาพที่ญี่ปุ่น ฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพยายาม ‘อ่าน’ เนื้อหาและสารทางการเมืองในนิทรรศการและวัตถุที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดง การได้ใช้เวลาทั้งวันในพิพิธภัณฑ์เป็นโมงยามที่แสนรื่นรมย์ นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทำงานภาคสนาม แต่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในแง่การเรียนรู้ ฉันมีคำถามต่อบทบาทการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ทางสังคมการเมืองของพิพิธภัณฑ์สันติภาพมากขึ้นเมื่อเริ่มต้นงานวิจัยภาคสนามที่ฟิลิปปินส์

พิพิธภัณฑ์สันติภาพบางแห่งแยกตัวโดดเดี่ยวออกจากชุมชนแต่ขณะเดียวกันมีบทบาทสูงในแวดวงพิพิธภัณฑ์ด้วยกัน แต่การมีอยู่ของ Iloilo Peace Museum นั้นรางเลือนไม่ว่าความสัมพันธ์กับชุมชนในพื้นที่หรือในแวดวงพิพิธภัณฑ์สันติภาพนานาชาติ ต้องขอบคุณกูเกิลที่ช่วยให้ฉันค้นพบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ขณะค้นหาข้อมูลพิพิธภัณฑ์สันติภาพทั่วภูมิภาคอาเซียน ข่าวเล็กๆ ในเว็บข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งก็ปรากฏชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา ในข่าวรายงานถึงอดีตนายทหารญี่ปุ่นผู้เคยประจำการในจังหวัดอิโลอิโลช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเดินทางมาเปิดพิพิธภัณฑ์ที่เขาสนับสนุนเงินด้วยตัวเองแม้อยู่ในวัย 92 ปี นี่เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในฟิลิปปินส์ที่เรียกตัวเองว่า พิพิธภัณฑ์สันติภาพ (ตอนแรกๆ ฉันมีอาการลุ่มหลงตัวเองและภูมิใจมากที่ค้นพบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ขณะที่อาจารย์และนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ในฟิลิปปินส์หรือในแวดวงพิพิธภัณฑ์สันติภาพนานาชาติไม่เคยได้ยินชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาก่อน แต่ในที่สุด ฉันก็เรียนรู้ไปเองว่า อาการเหล่านี้เหลวไหลสิ้นดี) 

 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซ่อนตัวเงียบเชียบในย่านที่อยู่อาศัยของอำเภอฮาโร จังหวัดอิโลอิโลซึ่งตั้งอยู่บนเกาะพานายในภูมิภาควิซายัสตะวันตก แทบไม่มีคนท้องถิ่นคนไหนรู้ถึงการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์  ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2012 ขณะที่ฉันกำลังยืนหน้าประตูรั้วเพื่อรอให้ผู้ดูแลมาเปิดประตูให้นั้น คำถามแรกที่จู่โจมเข้ามาก็คือ นี่ฉันอุตสาห์มาไกลถึงนี่เพื่อมาเจอบ้านหลังเล็กในรั้วบ้านใครก็ไม่รู้หรอกหรือ

คุณโทชิมิ คูไม (Toshimi Kumai) เป็นผู้สร้างพิพิธภัณฑ์ Iloilo Peace Museum อดีตนายทหารญี่ปุ่นผู้นี้ก็เหมือนนายทหารญี่ปุ่นทั่วไป พวกเขาพยายามแสนสาหัสที่จะลืมช่วงเวลาสงคราม หากแต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ การใช้ชีวิตกับช่วงเวลาหลังสงคราม สำหรับคุณโทชิมิ เขาต้องใช้เวลาไปอีกแปดปีนับจากสงครามสงบกับการเป็นผู้ต้องหาอาชญากรสงคราม และเมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ช่วงคริสต์มาสในปี ค.ศ. 1972 สมาชิกครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่เคยอาศัยในจังหวัดอิโลอิโลช่วงสงครามโลกครั้งที่สองติดต่อมา เพื่อสอบถามว่า เธอจะไปยังที่ที่คนญี่ปุ่นบนเกาะพานาย อันรวมถึงครอบครัวของเธอด้วยฆ่าตัวตายหมู่หลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศแพ้สงครามได้อย่างไร คำถามของสตรีผู้นั้นพาคุณโทชิมิเดินทางกลับมาอิโลอิโลอีกครั้งเพื่อค้นหาสถานที่ดังกล่าวบนภูเขาที่อยู่ห่างตัวเมืองอิโลอิโลไปกว่า 50 กิโลเมตร ในปี ค.ศ. 1973 อนุสรณ์สถานเล็กๆ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่พบร่างของพวกเขาเหล่านั้น และในปี ค.ศ. 2009  Iloilo Peace Museum ก็เปิดทำการ   

กลไกทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งไม่อนุญาตให้เจ้าตัวได้เสียใจหรือรู้สึกผิด เพราะนั่นหมายถึงการจมอยู่กับอดีตและความขมขื่น การรู้สึกผิดตลอดเวลาและไม่สามารถแก้ไขอะไรได้นั้นคือนรกดีๆ นี่เอง คนส่วนใหญ่จึงปล่อยให้ตัวเองได้ก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคต โดยไม่หวนทบทวนสิ่งที่เคยกระทำไว้หรือไม่ก็มีข้ออ้างนานาประการเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกผิด ทหารญี่ปุ่นกับพิพิธภัณฑ์สันติภาพที่บอกเล่าประสบการณ์สงครามโลกครั้งที่สองในฟิลิปปินส์จึงเป็นการจับคู่ที่ย้อนแย้งและน่าสนใจว่า พิพิธภัณฑ์จะบอกเล่าอะไร

ภายในห้องเล็กๆ ของพิพิธภัณฑ์ไม่มีอะไรมากไปกว่าป้ายไวนิลที่มีแต่ตัวหนังสือและรูปภาพนิดหน่อยหกป้าย ชั้นหนังสือหนึ่งชั้น โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่และมาลัยที่ร้อยด้วยนกกระดาษอันเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ หากฉันเป็นเด็กที่ถูกโรงเรียนเกณฑ์มาดูพิพิธภัณฑ์ ฉันคงถอนหายใจเบื่อหน่ายกับภาพที่เห็นตรงหน้าและวิ่งแจ้นไปเล่นที่สนามแทน ความเรียบง่ายแบบตามมีตามเกิดไม่ได้ชักชวนให้เข้าไปอ่านเนื้อหา แต่ในฐานะนักวิจัย ฉันต้องอ่านข้อความที่มีอยู่บนแผ่นไวนิลนั้น เพราะห้องทั้งห้องที่อยู่ตรงหน้าคือสิ่งที่อดีตนายทหารผู้หนึ่งที่ตระหนักว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อชีวิตพลเรือนที่สูญเสียไปนั้นอยากเล่า 

เรื่องเล่าของคุณโทชิมิประกอบด้วยประสบการณ์ของผู้คนต่างภูมิหลัง เขาให้พื้นที่กับผู้หญิงญี่ปุ่นที่เผชิญประสบการณ์สูญเสียจากสงครามพอๆ กับประสบการณ์ของทหาร และควบคู่ไปกับการเล่าเหตุการณ์ฆ่าตัวตายหมู่ที่มีเด็กรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์หกคน เขาก็เล่าถึงการสะท้อนในช่วงเวลาสุดท้ายของนายทหารที่ถูกตัดสินรับโทษประหารชีวิตด้วยความผิดฐานอาชญากรสงครามผ่านจดหมายฉบับสุดท้ายที่เขียนถึงครอบครัว เรื่องทั้งหมดนี้ถูกเล่าผ่านตัวหนังสือและภาพถ่ายอีกสามสี่รูปเท่านั้น ในส่วนนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์มีเพียงเท่านี้จริงๆ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แทบไม่มีอะไรเทียบได้กับความพร้อมและการจัดวางอย่างพิถีพิถันของพิพิธภัณฑ์สันติภาพในญี่ปุ่นที่ฉันใช้เวลาอยู่ด้วยนับปี เรื่องเล่าและวัตถุจัดแสดงที่มีอยู่แทบไม่มีอะไรให้ตีความหรือถกเถียง สิ่งที่อยู่ตรงหน้าตรงไปตรงมา บอกให้รู้ว่าเสียใจ บอกให้รู้ว่าเจ็บปวด บอกให้รู้ถึงความอ่อนแอและไร้พลังที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตอันเปราะบาง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากเล่าต่อเพื่อให้เป็นที่จดจำและเรียนรู้ว่า อย่าให้มันเกิดซ้ำ

พิพิธภัณฑ์ที่นิยามตัวเองว่าเป็นพิพิธภัณฑ์สันติภาพส่วนใหญ่มักจะเล่าเรื่องจากมุมมองของเหยื่อ แน่นอนว่า ความสูญเสีย การถูกล่วงละเมิด การก้าวพ้นของผู้เสียหายจะนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งการเรียนรู้เช่นนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจยิ่งขึ้นว่า สันติภาพคืออะไร แต่คำถามต่อไปนั้นคือ เราจะยังสามารถเข้าใจ “สันติภาพ” ได้อย่างลึกซึ้งหรือไม่ หากปราศจากการทำความรู้จักกับความรุนแรงและผู้กระทำ ซึ่งเรื่องเล่าจากฟากนายทหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนึกแห่งความรับผิดชอบเช่นนี้แทบไม่มีปรากฏให้เห็นในพิพิธภัณฑ์สันติภาพในญี่ปุ่น

แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องเล่าจากนายทหารญี่ปุ่นและความจริงอีกชุดหนึ่งกลับถูกซ่อนเร้นเหมือนว่ามันไม่มีอยู่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ปิดตายเกือบตลอดปีและรับแขกเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่แนะนำต่อกันมาจากที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น นานๆ ครั้งจะมีกลุ่มนักเรียนมาจากโรงเรียนใกล้เคียงมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้าง ซึ่งหมายความว่า การมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะต้องนัดหมายก่อนล่วงหน้า และจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ พิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีแผนการชัดเจนที่จะประชาสัมพันธ์หรือทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในอิโลอิโล

แน่นอนว่า พิพิธภัณฑ์มีสิทธิที่จะดำเนินการเช่นนั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า Iloilo Peace Museum วางตำแหน่งแห่งหนของตัวเองอยู่ในสถานะอะไร- การเป็นพื้นที่การเรียนรู้ทางสังคมการเมือง หรือต้องการเป็นเพียงอนุสรณ์ส่วนบุคคล น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ว่า ความทรงจำร่วมของชาวอิโลอิโลที่มีต่อสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีแต่การรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นและการความสูญเสียของชาวฟิลิปปินส์เท่านั้น พิพิธภัณฑ์ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับพลเรือนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในอิโลอิโลซึ่งเป็นผู้เสียหายจากสงครามเช่นกัน อันจะทำให้พื้นที่ความทรงจำร่วมของเมืองอิโลอิโลนั้นมีความหลากหลายยิ่งขึ้น และชุมชนอิโลอิโลเข้าใจเหตุการณ์อันเป็นผลจากสงครามด้วยมุมมองที่ครอบคลุมมากขึ้น

ไม่ว่าความทรงจำและเรื่องเล่าที่เงียบงันภายใน Iloilo Peace Museum จะมาจากการจัดการที่ล้มเหลวหรือจากการวางตำแหน่งของพิพิธภัณฑ์เองก็ตาม ความเงียบและการโดดเดี่ยวตัวเองออกจากชุมชนรอบข้างทำให้ฉันต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในแง่พื้นที่การเรียนรู้ทางสังคมการเมืองมากยิ่งขึ้น- และตั้งคำถามต่อไปว่า เราควรจะแลกเปลี่ยนถกเถียงอะไรกัน หากผู้คนในแวดวงพิพิธภัณฑ์สันติภาพพูดถึงพิพิธภัณฑ์สันติภาพ แน่นอนว่า นิทรรศการและการจัดแสดงที่แหลมคมและจับใจเป็นเรื่องน่ายกย่อง- แต่การบอกเล่าจะมีประโยชน์อะไรหากเสียงนั้นไปไม่ถึงคนฟัง และการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่อยู่: Iloilo Peace Museum is located at Lot 17, Block 7 of the Banker's Village IV Subdivision, at Tabuc Suba, Jaro, Iloilo City โทรศัพท์ : (033) 300- 0861 ผู้ประสานงาน: Mr. Eric Yotoko และ Ms. Josie Yotoko-Hernia

Email: injki@bayanmail.net.ph

แม้สงครามโลกครั้งที่สองจะผ่านพ้นไปเกือบเจ็ดสิบปี แต่ร่องรอยของสงครามโลกยังปรากฏให้เห็นผ่านอาคารสถานที่เคยเป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นหรือโรงเรียน รวมทั้งสุสานหรือชาวเมืองที่เป็นลูกหลานชาวญี่ปุ่นที่อพยพมายังอิโลอิโลตั้งแต่ก่อนสงคราม สามารถเดินทางมายังอิโลอิโลโดยเที่ยวบินจากมนิลาหรือจากสนามบินหลักอื่นๆ ทั่วฟิลิปปินส์ หรือสามารถโดยสารเฟอร์รี่ได้เช่นกัน   

บล็อกของ อ้อ