เสาวนีย์ อเลกซานเดอร์
ในนามกลุ่มอาสาสมัครเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 เราขอตั้งข้อสังเกตต่อรายงาน “ฉบับสมบูรณ์”ของ คอป. จากมุมมองของคนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยย่อดังต่อไปนี้
"ค้นหาความจริง"
รายงานฉบับนี้มุ่งเน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะความพยายามนำเสนอภาพการประท้วงคู่ขนานที่ถึงจุดรุนแรงในต่างจังหวัดแต่กลับให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะกลุ่มผู้ถูกตั้งข้อหาจับกุมหรือผู้เดือดร้อนจากเหตุการณ์นี้น้อยมาก ในความเป็นจริงเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีในเบื้องต้นมีการออกหมายจับ 418 หมาย และอยู่ในความควบคุมจำนวน 88 คน [1] ตั้งแต่เริ่มจับกุมจนวันพิพากษามีผู้ต้องหาจำนวน 21 คนไม่ได้รับประกันตัว ด้วยเหตุผลที่ว่าศาลเกรงว่าจะหลบหนีเพราะโทษสูง ครอบครัวของปัจเจกเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายในวัยทำงานและมีครอบครัวที่ต้องดูแลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่แรกจับในช่วงเดือนพฤษภาคมแต่กว่าคอป.จะลงพื้นที่ก็กินเวลาไปหลายเดือน ในรายงานทั้งฉบับมีการกล่าวถึงจังหวัดอุบลราชธานีรวมทั้งสิ้น 11 ครั้งซึ่ง มีเพียง 4 ครั้งเป็นการประกอบการกล่าวถึงเหตุการณ์ชุมนุมหรือการเผาศาลากลางซึ่งเป็นการอ้างถึงเท่านั้นโดยไม่มีรายละเอียด ไม่มีระบุแม้แต่กรณีศึกษาหรือตัวอย่างของบุคคลที่คอป. เรียกว่า “เหยื่อ”ที่ปรากฏในหน้า 33 เป็นที่น่าสังเกตว่าคอป.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการย่อยหลายชุดโดยแต่ละชุดมีหน้าที่ “ตรวจสอบและค้นหาความจริง”[2] แต่ละชุดรับผิดชอบกรณีจังหวัดต่างๆโดยกรณีศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีนั้นอยู่ในความดูแลของคณะอนุกรรมการชุดที่ 5 ซึ่งรับผิดชอบในการค้นหาความจริงในรายละเอียด ทั้งที่คอป.มีทรัพยากรบุคคลและงบประมาณในการดำเนินการเพื่อเก็บข้อมูลในการศึกษาและเผยแพร่รายละเอียดต่อสาธารณชนเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ แต่ทว่ารายงานฉบับสมบูรณ์ของคอป. จากการเก็บข้อมูล 2 ปี คือเขียนแค่บทสรุปในหลักการที่เราท่านต่างหาอ่านได้ในตำราหรือบทความเชิงทฤษฎี สิ่งที่ขาดหายไปคือการบันทึกและรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์และหลังเหตุการณ์รวมทั้งผลกระทบต่างๆที่ตามมาในลักษณะที่มีความน่าเชื่อถือเป็นวิชาการมากกว่าการกล่าวอ้างลอยๆไร้หลักฐานประกอบ
"เพื่อการปรองดอง "
การทำให้เป็นบุคคลนิรนาม
รายงานคอป.ไม่ตอบสนองต่อจิตวิญญาณของคำว่า “ค้นหาความจริง”แต่มุ่งเน้นข้อมูล “เพื่อการปรองดอง”ที่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะปรองดองกับใคร ข้อเสนอแนะต่างๆของคอป.ที่ปรากฏในรายงานตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ให้ความสำคัญกับการแสวงหาความจริงให้ประจักษ์ในทุกด้านอย่างครอบคลุมในเบื้องต้นก่อนเพื่อเป็นฐานคิดของการสร้างกระบวนการ ที่เห็นได้ชัดคือการงดเว้นที่จะกล่าวถึงกรณีศึกษาที่ระบุชื่อปัจเจก ถึงแม้จะพิจารณาได้ว่าอาจเป็นการเลี่ยงไม่ให้เกิดการบาดหมางมากไปกว่านี้แต่การไม่กล่าวถึงเขาเหล่านั้นทำให้พวกเขาเป็นเพียงฉากหลังของเหตุการณ์ ในขณะที่คำว่า เผาศาลากลาง อยู่เบื้องหน้าเป็นสาระหลัก การที่ปัจเจกเหล่านี้ถูกทำให้เป็นคนนิรนามทำให้บุคคลทั่วไปไม่รู้จักผู้ได้รับผลกระทบฝ่ายพลเรือน ยกตัวอย่างเช่นนายธนูศิลป์ ธนูทอง นายคำพลอย นะมี นายอุบล แสนทวีสุข นางสาวสิณีนาฏ ชมภูษาเพศ และเรื่องราวของพวกเขาจากมุมมองของคอป. โดยขอยกตัวอย่างบางส่วนของรายงานที่ยกมาข้างล่างนี้
เห็นได้ว่าแม้เนื้อความในรายงานจะมีลักษณะกำกวมไม่ชัดเจนว่าใครคือผู้เผาศาลากลางแต่ลักษณะการวางประโยคทำให้ผู้อ่านอาจเข้าใจว่าผู้ชุมนุมคือผู้เผาศาลากลาง หากรายงานใส่ใจที่กับรายละเอียดสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้อ่านจะได้เห็นภาพอื่นที่มากไปกว่าเปลวเพลิงที่ลุกไหม้อาคารของทางการที่กระทบกระเทือนจิตใจสาธารณชนที่ไม่ทราบที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ผู้อ่านจะได้ทราบว่าในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายนายคำพลอยถูกถ่ายภาพที่ทางการอ้างว่ากำลังอยู่ในระหว่างการมีส่วนสั่งเผาศาลากลาง ส่วนนายธนูศิลป์ซึ่งถูกจับกุมหลังวันเกิดเหตุ แต่ในขณะที่เกิดเหตุกำลังทำงานในไร่มันสำปะหลังกับภรรยาต่างอำเภอ โดยภายหลังได้ให้การต่อศาลครั้งแล้วครั้งเล่าว่าขณะเกิดเหตุเขาอยู่ที่บ้านไร่ห่างจากตัวจังหวัดอุบลฯถึงกว่า 100 กิโลเมตร ส่วนน.ส.สิณีนาฏถูกยิงมาจากทิศทางชั้นสองของอาคารศาลากลาง
ปัจจุบันทั้งสี่คนได้รับอิสรภาพโดยน.ส.สิณีนาฏมีแผลเป็นที่ขาจากเหตูการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศาลากลางที่จะได้กล่าวถึงต่อไป และความทรงจำในเรือนจำกลางอุบลในขณะที่ลูกเล็กของเธอต้องอยู่กับญาติ เงินชดเชยจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์จากการที่เธอถูกยิง ไม่ได้ทำให้เธอลืมเหตุการณ์นั้น ส่วนนายคำพลอยตาบอดถาวรและอัมพาตจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตกในขณะถูกคุมขังโดยไม่ได้รับประกันตัวทั้งที่ยื่นขอมากกว่าหนึ่งครั้งเพื่อออกมารักษาอาการป่วย นายธนูศิลป์ท้ายที่สุดได้รับการยกฟ้องหลังจากที่ถูกคุมขังปีกว่าแต่ยังไม่มีผู้รับผิดชอบต่อเวลาและช่วงชีวิตที่หายไปในเรือนจำ นายอุบลต้องรับประทานยารักษาอาการทางจิตเวชที่เคยมีมาก่อนและทวีความรุนแรงมากขึ้นภายหลังที่ถูกคุมขังและปัจจุบันไม่สามารถประกอบการชีพได้เป็นปกติเช่นบุคคลทั่วไป บุคคลเหล่านี้เป็นเพียงจำนวนหนึ่งของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว การกล่าวลอยๆแบบเหวี่ยงหว่านแหในรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะมีส่วนผิดแต่ละเลยที่จะพิสูจน์ความจริงและละเลยที่จะเผยแพร่ผลกระทบที่เกิดกับเหยื่อ ไม่เพียงแต่เป็นการตอกย้ำความฉายฉวยของข้อกล่าวหาที่มีต่อประชาชนแต่ยังเป็นการสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของตัวรายงานเองในฐานะที่มีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเพื่อการปรองดองหรือไม่ก็ตาม
การละเว้นที่จะกล่าวถึงบทบาทของภาครัฐ
เมื่อพิจารณาข้อความในรายงานที่ยกมาข้างต้นเกี่ยวกับการชุมนุมกับการเผาศาลากลางจังหวัด ปัญหาที่เห็นขัดอีกประการคือการขาดข้อมูลที่เป็นการตรวจสอบบทบาทของภาครัฐในระดับท้องถิ่นในจังหวัดในเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นได้จากการขาดการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานขององคาพยพต่างๆของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ปกครองที่ทำต่อประชาชนที่เกี่ยวข้อง คอป.ไม่ได้รายงานว่ามีการยิงปืนเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมในศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีจากตัวอาคารที่ทำการที่ขณะนั้นยังไม่ถูกเผาเป็นเหตุให้น.ส.สิณีนาฏ ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนที่ขา โดยเธอถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อที่จะถูกตำรวจตามไปจับกุมดำเนินคดีต่อไปทั้งที่อาการยังไม่หายดี มีประเด็นมากมายที่ยังคงเป็นคำถามที่สังคมควรรับทราบ เช่น เพราะเหตุใดจึงไม่มีรถดับเพลิงของทางการเข้าไปดับเพลิงที่ลุกไหม้ที่ศาลากลาง ตัวแทนของรัฐที่เกี่ยวข้องอยู่แห่งใดหลังจากที่เพลิงเริ่มลุกไหม้ซึ่งช่างเป็นภาพที่ขัดแย้งกับกับภาพทหารในกรุงเทพมหานครกำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมดังปรากฏในภาพเคลื่อนไหวที่เผยแพร่ทั่วไปทั้งภายในและนอกประเทศ
รายงานฉบับนี้ไม่กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐสิ่งเกิดขึ้นหลังต่อเนื่องจากเหตุการณ์ ไม่มีการกล่าวถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องเผชิญ ทั้งในเชิงหลักการและในทางปฏิบัติ ตัวรายงานทำเสมือนว่าเหตุการณ์ชุมนุมหรือแม้แต่เพลิงไหม้ศาลากลางนั้นจบสิ้นในตัวของมันเองไม่มีผลกระทบตามมา
บทสรุป: ค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง
ณ วันนี้ 23 กันยายน 2555 จากจำนวนผู้ต้องหาคดีร่วมกันวางเพลิงศาลากลางจังหวัดอุบล ทั้งหมด 21 ราย มีนักโทษ 4 คน ประกอบด้วยน.ส.ปัทมา มูลมิล นายสนอง เกตุสุวรรณ์ นายธีรวัฒน์ สัจจสุวรรณ และนายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ กำลังถูกจองจำด้วยโทษ 33 ปี 12 เดือนในข้อหาร่วมกันเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี 9 คนได้รับอิสรภาพไปล่วงหน้าแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เพราะศาลพิพากษายกฟ้องแต่หลายคนยังไม่สามารถตั้งหลักในชีวิตได้ บางคนได้ยังต้องต่อสู้ข้อหาอื่นๆอยู่ถึงไม่ว่าในที่สุดจะได้รับการประกันตัวหลังจากที่ทั้ง 21 คนได้ยื่นประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่า สองคำถามที่ค้างคาอยู่คือ หนึ่ง รายงานฉบับนี้ตอบคำถามหรือแม้แต่แสดงความพยายามในการตอบคำถามเรื่องความจริงในกรณีเผาศาลากลางอุบลราชธานีหรือไม่? และสอง รายงานนี้สนับสนุนแนวทางการปรองดองอย่างไรในเมื่อประชาชนที่เป็นคู่กรณีนั้นบ้างก็ถูกทำให้เป็นคนนิรนาม บ้างก็ถูกตอกย้ำภาพผู้กระทำผิด...
[1] สรุปผลการสืบสวนสอบสวน ออกหมายจับ และจับกุม ห้วงวันที่ 14 พค - 24 สค 53
[2] ตามที่ระบุในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี ที่ ๗/๒๕๕๓
[3]รายงานคอป.ฉบับสมบูรณ์หน้า 156