Skip to main content


ความตายของอากง หรือคุณอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ล้วนเกิดขณะถูกจองจำในเรือนจำ ทั้งสองถูกกักขังด้วยความผิดคดีทางการเมือง 

วันชัยเป็นผู้เข้าชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19 พฤษภาคม 2010 ในวันที่สถานที่ราชการของจังหวัดอุดรธานีถูกเผา ขณะที่อากง ถูกตัดสินให้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

ทั้งสองคนนี่ก็เสียชีวิต และได้อิสรภาพโดยไม่ต้องอุทธรณ์ร้องขอความเมตตาต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้แล้ว

แต่คุณรู้ไหม ประเทศเมียนมาร์ หรือพม่าที่เราชิงชังรังเกียจว่าเป็นเผด็จการ เป็นศัตรูคู่แค้นมาแต่อดีตกาลยันปัจจุบันนั้น เขาได้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองแล้ว (อ่านในนี้สิhttp://prachatai3.info/journal/2011/11/37961) ส่วนประเทศแสนดีนี้ ยังมีนักโทษการเมืองอีกจำนวนมาก

วันนี้ (2 มกราคม 2013) ร่างของวันชัย รักสงวนศิลป์ ถูกย่อยสลายเป็นดินสู่ดิน น้ำสู่น้ำ ลมสู่ลม ไฟสู่ำไฟไปแล้วที่บ้านเกิดของเขา แต่เงื่อนไขที่จะเอาผิดผู้คนที่แสดงออกทางการเมืองของประเทศนี้ยังคงอยู่ เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงที่คอยขวางกั้นไม่ให้เราสามารถก้าวไปสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตยได้

วันชัยตายในขณะที่เป็นนักโทษการเมือง ตายขณะถูกจองจำ 

ความตายของเขา ทำให้ผมประหวัดถึงนักโทษการเมืองที่เหลือที่ผมพอได้มีส่วนรู้ความเป็นมาของพวกเขามาอยู่บ้าง ห่วงว่า ต่อจากนี้พวกเขาจะมีชะตากรรมอย่างไร - จะอยู่เพื่อรอสวรรค์เมตตา รอฟ้ามาโปรด หรือรอจนหมดลมหายใจภายในกรงขังและโซ่ตรวนของประเทศที่อบอวลด้วยรักนี้ 

ความตายของเขาทำให้ผมไปกลับรื้อคนคำสัมภาษณ์ของตัวแทนคณาจารย์จาก "คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร" (นิติศาสตร์ที่อื่นเขาเพื่ออะไรนะ?) ผมจึงคัดลอกคำสัมภาษณ์บางตอนของ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" หนึ่งในคณะนิติราษฎร์มาให้มิตรสหายได้อ่านกัน มันคือแนวทางนิรโทษกรรมที่มีเหตุผลและคิดตามได้ ...

"... หนึ่ง การกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการทั้งหลาย จะไม่มีการนิรโทษกรรม จะต้องมีการสืบสวนข้อเท็จจริงกันต่อไปว่าใครเป็นคนสั่ง ใครกระทำความผิด ซึ่งจากข้อเสนอนี้ก็มีข้อโต้แย้งว่า "ดูเจ้าคิดเจ้าแค้นมากเกินไป เจ้าหน้าที่ผู้น้อยที่ทำตามคำสั่งของผู้บัญชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จะทำอย่างไร ทำไมถึงไม่ปล่อยเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย" อยากเรียนว่า ตามกฎหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา17เขียนไว้ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการไปโดยสมควรแก่เหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ ทำตามอำนาจของตุลาการ เจ้าหน้าที่ก็จะพ้นผิดโดยอัตโนมัติ หมายความว่า หากไม่กระทำเกินกว่าเหตุ เช่น เจตนาไปยิงคนตายด้วยสไนเปอร์ เลือกปฏิบัติ เจตนาฆ่า ก็จะพ้นผิดตามกฎหมายโดยไม่ต้องใช้การนิรโทษกรรม

สอง กลุ่มผู้ชุมนุมหรือบรรดาประชาชนทั้งหลาย ซึ่งเราตั้งคำถามไว้ว่า คนที่ถูกกล่าวหา หรือมีความผิดละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือกฎหมายความมั่นคง และคดีอาญาที่ลหุโทษ มีความผิดเล็กๆน้อยๆ พวกนี้เสนอให้นิรโทษทันที

สาม คือกลุ่มที่ไม่เข้ากลุ่มที่หนึ่งและสอง คือ ประชาชนทั่วไปที่มีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งการเมือง มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองที่เชื่อมโยงมาตั้งแต่ 19 กันยาฯ เราไม่นิรโทษกรรมทันที แต่ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่าเกี่ยวกับรัฐประหาร 19 กันยาฯหรือไม่ ถ้าเกี่ยวกับ 19 กันยาฯ นิรโทษ ไม่เกี่ยวกับ 19 กันยา ไม่นิรโทษต้องดำเนินคดีต่อ ในระหว่างที่กรรมการชุดนี้กำลังวินิจฉัยชี้ขาดว่าเกี่ยวกับความขัดแย้ง 19 กันยาฯหรือไม่ คนที่ถูกจับกุมคุมขังให้มีการปล่อยไปก่อน แล้วค่อยพิจารณาโทษ

สี่ กลุ่มที่โดนคำพิพากษาตัดสินให้จำคุกหรือยังมีคดีติดตัว ที่เป็นคดีที่ริเริ่มมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เสนอให้ (ตามข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร) เริ่มต้นคดีใหม่ทั้งหมด เช่น คดีทักษิณก็ให้เริ่มต้นใหม่คดีใหม่ แต่ไม่นิรโทษกรรมคุณทักษิณ

ฉะนั้นจะเห็นว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ใช่ การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ..."

(อ่านรายละเอียดได้ในนี่http://prachatai3.info/journal/2012/05/40609)

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยว่าไว้ว่า ประเทศนี้เป็น a sick man of asean และประเทศที่ความรักกำเริบนี้ได้เป็นผู้ป่วยที่อาการเพียบซะจนเกินเยียวยาเสียแล้ว

ไม่เชื่อลองคำคีงตั้งแต่ตีนไปฮอดหัวทุกตนทุกตัวดูถัวะ 
จะได้รู้ว่า บ่ตายกะคางเหลือง ปัวกะตาย บ่ปัวกะตาย

ประชาชนจงเจริญ
ธีร์ อันมัย

 

 

 

บล็อกของ Redfam Fund

Redfam Fund
สวัสดีครับอาจารย์ธีระพล
Redfam Fund
เสียงที่รอดเร้นจากลูกกรงแดนตารางของ"สมศักดิ์ ประสานทรัพย์"นักสู้เพื่อประชาธิปไตยจากเมืองดอกบัวที่บ่งบอกถึงสภาพจิตใจ ความรู้สึกหลังถูกจำขังโดยไม่ได้ประกันตัวนานกว่าสองปี
Redfam Fund
 ธีร์ อันมัย บอกเล่าถึงชะตากรรมกว่าสองปีทีซัดเซและพัดเพของพวกเขานักโทษการเมืองแห่งเมืองอุบล