Skip to main content

เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองสองสามวันมานี้ทั้งที่อยู่ในและนอกสภาและทั้งที่มาจากศาลรัฐธรรมนูญทำให้ผมนึกถึงประเพณี “แปลกๆ” สองสามอย่างในสภาสหราชอาณาจักร (อังกฤษ ฯลฯ)*จะขอเล่าให้ฟังคราวๆดังนี้ครับ

๑ ว่าด้วยเรื่องการกระชากลากดึงประธานสภาผู้แทนฯ (Speaker of the House of Common)

โปรดดูตัวอย่างการ "ลากจูง" ครั้งล่าสุดที่ http://www.youtube.com/watch?v=HtlvyeNGzFM โดยเฉพาะหลังนาทีที่ 2.00

อย่าคิดไปเชียวนะครับว่าไอ้การกระทำ “เชิงสัญลักษณ์” (ขออนุญาตยืมคำพูดหมอวรงค์... ฮา) มันมีอยู่แต่ในบ้านเรา   จริงๆสภาผู้ดีเค้าก็ประพฤติประฏิบัติ “คล้ายๆ” แบบนี้เหมือนกัน คือว่าทุกครั้งที่สภาเลือกประธานคนใหม่ ก็จะมีพิธีกรรมเล็กๆน้อยกล่าวคือจะต้องมีเพื่อนผู้แทนสองสามคนทำท่าทำทางกระชากลากดึงผู้ได้รับเลือกเป็นประธานให้เดินขึ้นมาบนบันลังก์และประธานคนใหม่นี้ก็ต้องทำท่าฝืนและไม่เต็มใจที่จะเดินไปรับตำแหน่ง

ประเพณีประหลาดอันนี้ก็มีต้นตอมาจากประวัติศาสตร์ของหน้าที่ของประธานสภากับกษัตริย์อังกฤษสมัยก่อนครับ คือในสมัยโบราณกาล อำนาจในการบริหารประเทศนั้นไม่ได้เป็นของสภาผู้แทนและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนเช่นในยุคปัจจุบันนี้ แต่อำนาจอยู่กับกษัตริย์เป็นส่วนมากโดยมีสภาคอยควบคุมหลวมๆเท่านั้นในเรื่องหลักๆ เช่นการเก็บภาษี เป็นต้น อย่างไรก็ตามสภาอังกฤษมักจะมีความเห็นที่ต่างไปจากพระเจ้าแผ่นดินอยู่เรื่อยๆ (สภาไม่ต้องการให้กษัตริย์เก็บภาษีสูงเกินไป ฯลฯ ) และคนที่จะต้องคอยนำความทูลเกล้าก็คือประธานสภานั้นเอง นี้จึงเป็นเหตุให้กษัตริย์ทรงกริ้วประธานสภาบ่อยๆ และให้นำไปสู่การประหารชีวิตของประธานสภานั้นเอง ทั้งนี้มีประธานถูกตัดหัวไปเจ็ดคนในระหว่างปีคศ.1394 ถึง คศ1535 (พ.ศ. 1937-2078)** เพราะเช่นนี้เองจึงเป็นเหตุให้ไม่ค่อยมีคนอยากจะเป็นประธานสภาและมักจะมีท่าทางลังเลใจที่จะรับตำแหน่งดังที่ปรากฏในประเพณีนี้

ถ้าหากว่าการกระทำเชิงสัญลักษณ์ของ ส.. พรรค ปชป. (ไม่ว่าจะเป็นการลากเก้าอี้ประธานสภา, การไปฉุดลากประธาน,การเขวี้ยงแฟ้มเอกสารและกระดาษขึ้นไปใส่ประธานบนบันลังก์, หรือการบีบคอเพื่อนสมาชิก)จะทำไปเพื่อดึงดูดความสนใจของสื่อให้มาใส่ใจ พรบ.ดังกล่าวให้มากกว่าข่าวการมาเยือนของนางซูจีตามที่คุณหมอวรงค์กล่าว** ผมคิดว่าสภาล่างเมืองผู้ดีเค้าก็ตั้งใจจะใช้พิธีกรรมลากจูงประธานสภาเพื่อดึงความสนใจของผู้คนเหมือนกันนะครับ แต่เป็นการดึงให้ไปสนใจในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งและการต่อสู้อันยาวนานระหว่างฝ่ายสภาผู้แทนกับฝ่ายพระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าความหมายหลักๆที่สื่อออกมาก็คือว่า กว่าที่สภาล่างจะได้อำนาจมานั้นก็ไม่ใช่ว่าจะง่าย ต้องผ่านการต่อสู้อันยาวนาน เลือดตกยางออกกันอย่างมากมาย

๒ ว่าด้วยเรื่องสิทธิที่จะอภิปรายโดยไม่ถูกขัดขวางจากตัวแทนพระมหากษัตริย์

หลังการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งจะต้องมีการเลือกตั้งประธานสภานะครับ แต่ด้วยความที่เค้าถือกันว่าประธานนั้นเป็นกลางทางการเมือง ประธานคนเก่าก็มักจะได้รับการเลือกให้เป็นประธานต่อไปเสมอๆ และเนื่องจากประเพณีข้างบนนั้นใช้กับประธานหน้าใหม่เท่านั้น ดังนั้นนานๆจึงจะมีประเพณีนี้ให้เห็นนะครับ อย่างไรก็ตามมีอีกประเพณีหนึ่งครับที่ผมคิดว่าน่าสนใจและเค้าปฏิบัติกันทุกปีเรียกว่าการเปิดประชุมรัฐสภา (State Opening of Parliament) ครับ

ประเพณีนี้ทำกันมาสืบเนื่องตั้งแต่ยุคคริสตศรรตวรรษที่สิบหกแล้วแต่ว่ารูปแบบปัจจุบันนี้นับถือกันตามระเบียบหลังปี 1852 หรือ พ.ศ. 2395*** ซึ่งเป็นปีที่อาคารรัฐสภาปัจจุบันที่เราเห็นๆกันอยู่ทุกวันนี้เปิดใช้เป็นครั้งแรก(อาคารนี้เป็นชุดเดียวกันกับหอนาฬิกาบิ๊กเบน)  กล่าวย่อๆคือพระมหากษัตริย์ (หรือพระราชินี)ของสหราชอาณาจักรจะเดินทางมาเปิดประชุมสภาทุกๆปี หรือมากกว่าหนึ่งครั้งถ้าปีนั้นมีการเลือกตั้งสองครั้ง พระองค์จะทรงประทับอยู่ที่สภาขุนนาง(House of Lords) และอ่าน “พระราชดำรัส” (King’s/Queen’s Speech) ซึ่งบรรจุรายการกฏหมายและนโยบายที่จะพิจารณาในปีนั้นๆ ซึ่งอันนี้น่าสังเกตอยู่อย่างว่า “พระราชดำรัส” นี้เขียนขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีนะครับ พระองค์ท่านอ่านเฉยๆ จะว่าเป็นสัญลักษณ์ก็ได้ว่าอำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ที่รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนและพระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงข้องเกี่ยวกับการเมือง

ผมคิดว่านอกจากสาระหลักๆอันนี้แล้วยังมีเกร็ดพิธีกรรมที่น่าสนใจอีกสองประการคือ หนึ่งจะสังเกตว่าพระมหากษัตริย์ของอังกฤษนี้จะเข้าไปในสภาล่างไม่ได้ อันนี้ประวัติของมันมีอยู่ว่าในปี ค.ศ.1642 (พ.ศ.2185) ในรัชสมัยของพระเจ้าชาวส์ที่หนึ่ง พระองค์ท่านบุกเข้าไปจับตัว สส. โทษฐานเป็นกบฏ แต่ว่าสส.ห้าคนนี้หนีไปได้เสียก่อน (ถ้าไม่งั้นก็อาจจะถูกประหารได้) หลังจากนั้นมามีสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับฝ่ายสภาซึ่งในที่สุดฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป นับตั้งแต่นั้นสภาล่างของอังกฤษก็เลยไม่อนุญาตให้พระมหากษัตรย์ย่างกรายเข้าไปในสภาได้อีก นี้ก็เลยเป็นเหตุให้การเปิดประชุมสภานั้นต้องทำในห้องสภาขุนนางแทน  

เกร็ดพิธีที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือเวลาที่พระมหากษัตริย์หรือราชินีทรงประทับบนบันลังก์เรียบร้อยแล้วท่านจะส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่แบล็กร็อด (Gentleman Usher of the Black Rod หรือ Black Rod) ไปทำการเรียกพวก สส.มายืนฟังในห้องประชุมขุนนางนี้ แบล็กร็อดก็จะเดินไปที่ห้องสภาล่างแต่ขณะที่เค้าเดินไปถึงประตูสภาล่างนั้น ประตูห้องก็จะถูกปิดอย่างแรง (กระแทกใส่หน้าแบล็กร็อด) หลังจากแบล็กร็อดเคาะประตูแรงๆด้วยไม้ตะพดถึงสามครั้งแล้วนั้นประตูจึงจะเปิด เพื่อให้แบล็กร็อดเข้าไปในห้องเพื่อกล่าวเชิญพวก สส.ไปห้องสภาขุนนาง

ความหมายของการปิดประตูใส่หน้าแบล็กร็อดก็คือว่าสภาผู้แทนต้องการที่จะแสดงสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระที่จะอภิปรายข้อราชการแผ่นดินโดยปราศจากการยุ่มยามวุ่นวายของตัวแทนของพระมหากษัตริย์นั่นเอง เป็นที่น่าสงสัยว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาผู้แทนไทยกำลังถูกสั่งให้หยุดการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตุลาการภิวัฒน์นั้น  (โปรดอ่าน พนัส, ปิยบุตร และ วีรพัฒน์) สภาจะกล้าปิดประตูแรงๆใส่หน้าเหล่าตุลาการทั้งหลายเพื่อเป็นการรักษาอำนาจของประชาชนไว้หรือไม่

โปรดดูพิธีกรรมดังกล่าวได้ที่นี้ http://www.youtube.com/watch?v=h1bJ8nY2pcc

๓ ข้อสังเกตในภาพรวมของการกระทำเชิงสัญลักษณ์ทั้งหลายในสภาสหราชอาณาจักร

มีเพื่อนชาวเอเชียคนหนึ่งเคยพูดกับผมว่ามีแต่ประเทศอังกฤษเท่านั้นเหล่ะที่จะประกอบพิธีกรรมตลกๆจำพวกนี้ จริงๆผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้เท่าไรเพราะว่าใน “ประเทศอื่น” ผมก็เห็นพิธีกรรมแปลกๆ(แบบไม่เข้าท่าเสียด้วย)มามากเช่นกัน แต่อันนี้ไม่ใช่ประเด็นหรอกครับ ที่ผมอยากจะลองเสนอให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาก็คือว่าทำไมหนอ ประเทศนี้ถึงได้ตั้งหน้าตั้งตาอนุรักษ์ประเพณีเชิงสัญลักษณ์พวกนี้เอาไว้ จะว่าเพื่อสร้างความสรวลเสเหฮาเพื่อดึงดูดความสนใจ(ตรรกะพรรคประชาธิปัตย์ ...ฮา) ก็ไม่น่าจะใช่เพราะไปหาดูในรายการตลกในโทรทัศน์ก็น่าจะดีกว่า จะว่าเค้าไม่มีความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนพิธีกรรมได้(หมายความว่าทำแล้วต้องทำต่อไปเรื่อยๆ)ก็ไม่น่าจะใช่อีก เพราะพิธีการหลายๆอย่างเค้าก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยส่วนตัวผมอยากจะเสนอว่าพิธีกรรมทางสัญลักษณ์พวกนี้ถูกอนุรักษ์โดยเจตนา (deliberately preserved) เพราะมันเป็นเครื่องเตื่อนความจำของเรื่องที่ยิ่งใหญ่ไงละครับ เหตุการณ์การรุมถล่มรัฐบาลในสองสามวันนี้ทั้งจากในและนอกสภาและจากตุลาการภิวัฒน์ทำให้ผมมองพิธีกรรมพวกนี้ต่างไปนะครับ คือว่าของที่ดูตลกๆพวกนี้เอาเข้าจริงๆอาจมีหน้าที่สำคัญมากก็ได้ กล่าวคือเป็นการส่งต่อจิตวิญญานสู่รุ่นลูกหลานให้หวนคิดถึงวันที่เผด็จการของคนส่วนน้อยครองเมืองนั่นเอง อีกประการหนึ่งคือว่าพระมหากษัตริย์กับสภาอังกฤษนั้นปรองดองกันมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่ว่าการอนุรักษ์พิธีกรรมเหล่ามันแสดงให้เห็นชัดเจนนะครับว่าการปรองดองไม่ได้แปลว่าต้องพยายามลืมอดีตไปด้วย เค้าอาจจะคิดเสียด้วยซ้ำว่าถ้าจะให้ไม่เกิดความกระทบกระทั่งกันขึ้นมาอีกก็จะต้องพยายามไม่ให้ผู้คนลืมว่าเคยมีความรุนแรงเกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นได้อีก     น่าคิดนะครับว่าคนไทยเราจะประดิษฐ์วิธี/พิธีการใดบ้างที่จะทำให้การต่อสู้ในหลายๆปีที่ผ่านมา(และที่จะผ่านเข้ามา)ไม่จางหายไปกับสายลม

หมายเหตุ

*ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์บางประการทำให้การเรืยกชื่อประเทศนี้ค่อนข้างวุ่นวายไปบ้าง ในที่นี้ผมใช้คำว่าอังกฤษและสหราชอาณาจักรแล้วแต่บริบท

**http://www.parliament.uk/business/commons/the-speaker/the-role-of-the-speaker/history-of-the-speakership/

***หมอวรงค์กล่าวในรายการคมชัดลึก http://www.parliament.uk/business/commons/the-speaker/the-role-of-the-speaker/history-of-the-speakership/

****http://www.parliament.uk/business/publications/parliamentary-archives/archives-highlights/archives-state-opening/

บล็อกของ สุดซอย แสนสุข

สุดซอย แสนสุข
เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองสองสามวันมานี้ทั้งที่อยู่ในและนอกสภาและทั้งที่มาจากศาลรัฐธรรมนูญทำให้ผมนึกถึงประเพณี “แปลกๆ” สองสามอย่างในสภาสหราชอาณาจักร (อังกฤษ ฯลฯ)*จะขอเล่าให้ฟังคราวๆดังนี้ครับ
สุดซอย แสนสุข
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวที่มีความคล้ายคลึงกับกรณีอากง จะขอเล่าให้ฟังย่อๆดังนี้ครับ...
สุดซอย แสนสุข
“ให้นำคนผิดมาลงโทษ พอเถอะคะ ขอให้จบในยุคของพวกเรา ลูกหลานพวกเราจะได้ไม่ [ถูก] รักแก” เจียม ทองมาก พูดถึงกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมปี ๒๕๕๓