Skip to main content

การเมืองประเด็นใหญ่ช่วงปลายปี 2016 ที่ชาวโลกจับตามองเห็นจะไม่พ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และการทยอยประกาศรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ 

บ็อบ ดีแลน ได้โนเบล แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตำแหน่งประธานาธิบดี

นี่คือ 2 เรื่องที่ช็อคคนทั้งโลกไปไม่น้อย แม้กระทั่งเจ้าตัวเองยังตะลึงไม่หาย ดีแลนออกมาชี้แจงหลังเงียบไม่พูดอะไรหลังได้รางวัลถึง 2 สัปดาห์โดยบอกว่า ยังอึ้งและตั้งตัวไม่ทันว่าจะมีปฏิกิริยาเรื่องนี้อย่างไรในฐานะนักดนตรี มิใช่นักเขียนตามขนบการมอบรางวัลสาขาวรรณกรรม   ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากการประกาศชื่อ ไมค์ เพนซ์ เป็นรองประธานาธิบดีแล้ว ก็ไม่ได้วางตัวใครในตำแหน่งรัฐมนตรี หรือคณะบริหารงาน เลย จนเพิ่งมีข่าวว่ามอบหมายให้ทีมลอบบี้ยิสต์ของบรรษัทชื่อดังสหรัฐให้หาคนมารับตำแหน่งต่างๆ หลังจากชนะเลือกตั้งแล้ว

สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ รางวัลที่ ทรัมป์ และ ดีแลน ได้รับต่างมีนัยยะทางการเมืองทั้งคู่ กล่าวคือ แน่นอนว่าทรัมป์ได้ชนะทางการเมืองจากคะแนนเสียงพลเมืองอเมริกัน แบบการเลือกตั้งโดยมหาชน   แต่การมอบรางวัลโนเบลให้ดีแลน เป็นการเมืองของชนชั้นนำในยุโรปที่เลือกคนและประเด็นว่าจะให้ใครเพื่อสะท้อน “ประเด็น” อะไร

บ็อบ ดีแลน เป็นนักคิดที่มีอิทธิพลทางการเมืองและการเคลื่อนไหวสังคมผ่าน “เนื้อเพลง” ที่สื่อสารผ่านท่วงทำนองดนตรีบอกเล่าถึงการต่อสู้ สันติภาพ และสภาพชีวิตพลเมืองอเมริกันและคนร่วมสมัย ในยุคที่เต็มไปด้วยความผันผวนทางการเมือง ทั้งการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง และการเมืองระหว่างประเทศ

คณะกรรมการโนเบลให้เหตุผลอย่างเป็นทางการที่ให้รางวัลว่า “เพื่อเป็นเกียรติแก่การรังสรรค์กวีนิพนธ์รูปแบบใหม่ที่แสดงออกทางผ่านขนบดนตรีอเมริกันอันยิ่งใหญ่”  แปลให้เข้าใจง่ายๆ คือ ดีแลน ใช้รูปดนตรีโพลค์คันทรี่ที่ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น ตามไสตลส์พื้นบ้านของอเมริกัน ที่สามารถแสดงที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้เพราะใช้ทุนต่ำ แต่สอด “เนื้อหา” ผ่านคำร้องที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกจับใจผู้คนจนกลายเป็นเพลงฮิต

บทเพลงของดีแลน กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องสันติภาพ และความเป็นธรรมในสังคม ที่ผู้คนนำมาร้องต่อๆกันไปทั่วโลก  แถมเนื้อหาเหล่านั้นยังมีผู้นำมาใช้เป็นบทเพลงเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคม นำมาสู่ความเข้าใจอันดี ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่รางวัลโนเบลตอกย้ำเสมอมา โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงอีกรางวัลทางสังคม ก็คือ โนเบลสันติภาพ

บุคคลสำคัญที่ได้รางวัลโนเบลสันติภาพ ในสมัยที่ บ็อบ ดีแลน โลดแล่นผ่านเสียงเพลง คือ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้ถูกจารึกชื่อไว้เป็นตำนานแห่งสังคมอเมริกัน และขบวนการต่อต้านเหยียดเชื้อชาติสีผิวทั่วโลก  เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี ค.ศ.1964 ที่ ดร.คิง ได้รับรางวัลจากยุโรป สหรัฐยังมีกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้มีการแบ่งแยกสีผิวในหลายพื้นที่ หลายประเด็นอยู่   ดังนั้นการให้รางวัลพลเมืองอเมริกันที่ต่อต้านนโยบายรัฐบาลสหรัฐ จึงเป็นเกมส์การเมืองผ่านรางวัลอย่างชัดเจน

การมอบรางวัลให้กับ “ใคร” เพื่อเป็นการสนับสนุน “ผลงาน” หรือ “การกระทำใด”  จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  เช่นเดียวกับ สหประชาชาติมอบรางวัล “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ให้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นต้น  และ องค์การอนามัยโลกมอบรางวัลให้กับโครงการ “ประกันหลักสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่เราต้องมาวิเคราะห์ คือ ทำไมคณะกรรมการจึงเลือกมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมให้ ดีแลน ในปี ค.ศ. 2016 ปีที่มีวิกฤตสันติภาพในหลายพื้นที่ทั่วโลก (ระดับโลกน่าจะหนักที่สุดหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ระดับประเทศสหรัฐก็ขัดแย้งมากนับจากยุคหลังสงครามเวียดนาม)   และกำลังจะมีเหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองคือเลือกตั้งประธานาธิบดี   ก็ต้องลองย้อนกลับไปดูการมอบรางวัลให้นักการเมืองอเมริกันอีกคนในช่วงก่อนหน้านี้ ก็คือ บารัค โอบาม่า

บารัค โอบาม่า ได้โนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ.2009 เพียงไม่ถึงปี หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี แทบจะเรียกได้ว่า ยังไม่ได้ทำอะไรให้ “โลก” เป็นชิ้นเป็นอันก็ได้รับรางวัลไปแล้ว    โนเบลให้เหตุผลว่า “เป็นเกียรติแก่ความอุตสาหะในการสร้างความเข้มแข็งของการทูตระหว่างประเทศ (ไม่ใช่การทหาร) และความร่วมมือระหว่างประชาชน (หลากหลายกลุ่ม)”   เราคงเข้าใจวัฒนธรรม “ปรบมือกดดัน” กันใช่ไหมครั่บ เวลาเราอยากเรียกร้องให้ใครขึ้นเวที หรือแสดงออก หรือทำอะไร แล้วใช้การชื่นชมยินดีด้วยการปรบมือให้เขา “ลงมือกระทำ” อย่างเสียมิได้

การเลือก บ็อบ ดีแลน มาเป็นตัวแทนแห่งการ “แสดงออกทางสุนทรียะเพื่อสันติภาพ” ท่ามกลางสงคราม “ผรุสวาท” ของผู้ลงสมัครเลือกตั้งทั้งสองของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นการเมืองของการบอกแก่คนทั่วโลกว่า เราสามารถเลือกที่จะให้รางวัลกับ พลเมืองอเมริกันที่รังสรรค์สิ่งงดงามให้กับโลกได้ เพื่อเป็น “สาสน์ส่งความจริง” แบบที่ธำนุความดีงามในสังคมให้อยู่สืบต่อไปบนพื้นฐานแห่ง “สันติภาพ”

มิใช่การหลงไปกับดราม่าการหาเสียงเลือกตั้ง แบบเน้นความดุดัน เดือดดาล รุนแรง ตามวิถีแห่งการตลาดการเมืองเรื่องแข่งขันของธุรกิจโฆษณาอเมริกัน ที่โหดร้ายรุนแรงมุ่งเอาชนะคะคานกันจน ละเลยความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ ของผู้คนจากหลายที่มาอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้อยู่ชื่อว่า “สร้างชาติจากผู้อพยพ”

นโยบายแข็งกร้าวจำนวนมาก ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้หาเสียงเพื่อเรียกคะแนนเลือกตั้งจากผู้คนที่เดือดดาลจากการสูญเสียงาน และสิ้นหวัง  ไม่ควรจะเป็นพลังเดียวในการกำหนดทิศทางโลก   ดังคำที่นักวิจารณ์การเมืองอัฟริกันอเมริกันท่านหนึ่งกล่าวว่า

“ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานของท่านให้ดี เพราะสี่ปีต่อจากนี้จะต้องฟัง โดนัลด์ ทรัมป์ พูดผ่านสื่อทุกวัน”

 

 

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องแรกที่ต้องนำมาพูดกันก่อนเลยเห็นจะไม่พ้นว่า กฎหมายคืออะไร เพราะไม่งั้นคงไปต่อไม่ได้ และที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นปัญหามากในความเป็นจริง  เนื่องจากหลายครั้งเรามีปัญหากับคนอื่น หรือสังคมมีความขัดแย้งเถียงกันไม่จบไม่สิ้นก็ไม่รู้ว่า เรื่องนี้ควรจะจบลงอย่างไร ชีวิตจะเดินต่อไปแบบไหน   ซ
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องแรกนี่เกิดขึ้นกับผู้คนมากมายครับ เนื่องจากมันเป็นชีวิตของเพื่อนผมเองที่บ้านเกิดอยู่ต่างจังหวัดแต่เค้าเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ แล้วเช่าหอพักอยู่รอบนอกกรุงเทพฯเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากที่ทำงานอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ถ้าไปเช่าหออยู่ใกล้ๆ สงสัยจะไม่เหลืออะไรให้เก็บให้ใช้เลย จนเธอต้องมาบ่นให้ฟังเรื่
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อกฎหมายเข้ามาใกล้ชีวิตคนธรรมดาอย่างเรามากขึ้น จึงเป็นการยากที่จะไม่สนใจอีกต่อไป   พอเกิดปัญหาขึ้นมากับตัวเอง ทางหนึ่งที่คนส่วนใหญ่พอจะทำได้ คือ ปรึกษากับคนใกล้ตัวที่ร่ำเรียนมาทางกฎหมาย เพราะจะให้ไปปรึกษากับทนาย หรือนักกฎหมายที่ไหนก็ยังไม่กล้า เพราะกลัวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย ไหนควา