Skip to main content

บทความนี้จะทำการทบทวนข้อกฎหมายทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงสำรวจความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว่างบุคคลทั้งหลายให้เกิดความเป็นธรรมหรือไม่

จากคำถามวิจัยว่า
1) ข้อมูลเป็นทรัพย์สินหรือไม่
2) ใครเป็นเจ้าของข้อมูล และ
3) ใครมีสิทธินำข้อมูลไปแสวงหาผลกำไร

เมื่อสำรวจกฎหมาย เอกสารคำแนะนำ และแนวนโยบายทั้งในระดับระหว่างประเทศและในระดับประเทศของประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่าอาจนำมาแยกแยะออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
1) กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว (เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา) ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่านำมาปรับใช้กับข้อมูลได้หรือไม่ อย่างไรบ้าง และยังรวมถึงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับหลักที่เกี่ยวกับสิทธิในข้อมูล
2) การริเริ่มเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบใหม่ ๆ ธรรมาภิบาลข้อมูล และรวมถึงกฎหมายและแนวนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูล ในขณะที่ก็ยังคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิในความเป็นส่วนตัวในเวลาเดียวกัน

กฎหมายระดับระหว่างประเทศ

1) United Nations Commission on International Trade Law (UNCITRAL)
The United Nations Commission on International Trade Law (UNCITRAL) หรือคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เป็นองค์กรของสหประชาชาติที่แต่งตั้งขึ้นโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1966 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเอกภาพให้แก่กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดอุปสรรคในการค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากกฎหมายการค้าของแต่ละประเทศ
ผลงานที่สำคัญของ UNCITRAL ได้แก่การตราอนุสัญญาและกฎหมายแม่แบบ (model laws) ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยที่ควรนำมาใช้พิจารณาเนื่องจากอาจเกี่ยวข้องกับ “ข้อมูล” ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ (The United Nations Convention on Contracts for the International Sale of Goods) (CISG)
และนอกจากนี้ UNCITRAL ยังจัด Commission Sessions ขึ้นในทุก ๆ ปี โดยมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่นเพื่อสรุปและประกาศใช้เอกสารต่าง ๆ ที่ถูกร่างขึ้นโดยคณะทำงานย่อย (working groups) พิจารณาความก้าวหน้าของงานที่คณะทำงานย่อยกำลังเตรียมขึ้น รวมถึงการเลือกหัวข้อสำหรับการค้นคว้าและวิจัยในอนาคตต่อไป ซึ่งปรากฏว่าที่ผ่านมา คณะทำงานได้ร่างเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลอยู่หลายฉบับ เช่น ในปี 2022 มีการประกาศเอกสารเรื่อง Legal issues related to digital economy – proposal for future work on data transactions หรือในปี 2021 มีการประกาศเอกสาร Revised draft legal taxonomy – revised section on data transactions และ Revised draft legal taxonomy – revised section on online platforms ส่วนในปี 2020 เรื่อง Legal issues related to the digital economy - data transactions เป็นต้น โดยเอกสารเหล่านี้มีการวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจและการค้าในปัจจุบันในการที่จะนำมาปรับใช้กับข้อมูลและเศรษฐกิจดิจิทัล และรวมถึงเสนอการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าว และการเสนอประเด็นที่จะต้องทำการศึกษาค้นคว้าต่อไปด้วย

2) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ (CISG)
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ หรือ CISG เป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบกฎหมายสำหรับสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่เป็นเอกภาพ ทันสมัย และเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม CISG นั้นปรับใช้ได้กับเฉพาะกับกรณีที่เป็นการซื้อขายที่สถานประกอบธุรกิจของคู่สัญญาอยู่ต่างรัฐกัน และต้องเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจเท่านั้น ไม่สามารถปรับใช้ได้กับกรณีที่เป็นการซื้อขายสินค้าสำหรับการใช้งานส่วนตัวหรือภายในครอบครัว  ดังนั้นหากต้องการจะนำ CISG มาปรับใช้ ก็จะปรับใช้ได้เฉพาะกับสัญญาระหว่างแพลตฟอร์มกับผู้ใช้งานที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ไม่สามารถนำมาปรับใช้กับสัญญาระหว่างแพลตฟอร์มกับผู้ใช้งานซึ่งเป็น end users ได้ ส่วนจะนำมาปรับใช้กับสัญญาหรือธุรกรรมเกี่ยวกับข้อมูลได้หรือไม่ จะอธิบายในลำดับต่อไป

CISG สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกรรมเกี่ยวกับข้อมูล (data transactions) ได้หรือไม่
โดยปกติแล้ว CISG ปรับใช้ได้กับสัญญาซื้อขายสินค้า (contract of “sale” of “goods”) เท่านั้น จึงมีประเด็นปัญหาว่า CISG สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกรรมเกี่ยวกับข้อมูล (data transactions) ได้หรือไม่ ในประเด็นนี้ UNCITRAL ไม่ได้ตอบไว้โดยชัดเจน แต่ได้ยกข้อถกเถียงเกี่ยวกับซอฟต์แวร์มาเทียบเคียง โดยอธิบายว่า UNCITRAL Secretariat เคยระบุว่า CISG นั้นน่าจะใช้ได้เฉพาะกับ “สินค้า” ซึ่งเป็นวัตถุจับต้องได้เท่านั้น กล่าวคือในสัญญาซื้อขายซอฟต์แวร์ CISG จะปรับใช้ได้กับตัวดิสก์หรือวัตถุที่เป็นสื่อกลางซึ่งบรรจุข้อมูลคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ไม่สามารถปรับใช้ได้กับโค้ดคอมพิวเตอร์ กล่าวคือ secretariat อาจกำลังสื่อว่า CISG นั้นไม่สามารถปรับใช้กับข้อมูลที่ไม่ใช่วัตถุจับต้องได้
อีกประเด็นหนึ่งคือ สัญญาซื้อขายซอฟต์แวร์ ถือเป็นสัญญา “ซื้อขาย” (contract of sale) หรือไม่ the Secretariat เคยอธิบายไว้ว่า การซื้อขายตาม CISG จะต้องมีองค์ประกอบของการส่งมอบสินค้า (transfer of property) อย่างไรก็ตามการซื้อขายหรือส่งมอบซอฟต์แวร์ไม่ได้มีองค์ประกอบของการ “ส่งมอบ” (transfer) ข้อมูล เพียงแต่เป็นการทำซ้ำ (copy) ข้อมูล จึงเข้าข่ายเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ (licence) และไม่ใช่การซื้อขาย (อย่างไรก็ตาม ศาลในประเทศเนเธอร์แลนด์เคยตัดสินไว้ในคดี Corporate Web Solutions v. Dutch company and Vendorlink B.V. ในปี 2015 ว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้ซอฟต์แวร์มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายตาม CISG เนื่องจากในสัญญาไม่ได้ระบุระยะเวลาในการใช้ที่จำกัด และการโอนหรือส่งมอบก็เป็นผลมาจากการจ่ายเงินครั้งเดียว ไม่ได้จ่ายเป็นรายเดือน
นอกจากนี้ UNCITRAL ยังอธิบายต่อว่า ถึงแม้ว่าจะปรับใช้ CISG กับข้อมูลได้ แต่ก็จะมีความไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น CISG ข้อ 38 และ 39 เกี่ยวกับระยะเวลาในการตรวจสอบสินค้า ซึ่งหากนำมาปรับใช้กับธุรกรรมเกี่ยวกับข้อมูลก็จะไม่สมเหตุสมผล หรือข้อ 85 และ 86 เกี่ยวกับการเก็บรักษาสินค้า ซึ่งมุ่งหมายให้ใช้กับสินค้าที่เป็นวัตถุจับต้องได้มากกว่าและไม่น่าจะปรับใช้ได้กับข้อมูล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม UNCITRAL ก็เห็นว่า CISG อาจนำมาใช้เป็นตัวแบบในการพัฒนาระบบกฎหมายในเรื่องนี้ได้
กล่าวโดยสรุป secretariat ไม่ได้ตอบชัดเจนว่า CISG สามารถปรับใช้กับข้อมูลได้หรือไม่ แต่ยกแนวคิดว่า CISG ปรับใช้กับสัญญาซื้อขายซอฟต์แวร์ไม่ได้มาเทียบเคียงแทน ซึ่งอาจเป็นการพยายามอธิบายว่า CISG อาจนำมาปรับใช้กับการซื้อขายข้อมูลไม่ได้ และอธิบายอีกว่าสัญญาซื้อขายซอฟต์แวร์ แท้จริงแล้วมีองค์ประกอบของสัญญาอนุญาตให้ใช้หรือ licensing agreement มากกว่า อีกทั้งหากจะปรับใช้ CISG กับธุรกรรมเกี่ยวกับข้อมูลแล้วก็จะก่อให้เกิดความไม่เหมาะสมหลายประการ จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาระบบกฎหมายสำหรับธุรกรรมเกี่ยวกับข้อมูลต่อไป
แผนการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิในข้อมูลในอนาคต
UNCITRAL มีแผนที่จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูล เช่น อาจมีการสั่งให้ secretariat ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิในข้อมูล (data rights) โดยมุ่งศึกษาการริเริ่มเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในข้อมูลในรูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้เล่นฝ่ายต่าง ๆ ที่มีสิทธิในข้อมูล (classes of rightholders) และเนื้อหาของสิทธิในข้อมูลที่กฎหมายรับรอง และนอกจากนี้ก็ยังเริ่มที่จะศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับ co-generated data หรือข้อมูลที่ร่วมกันสร้างขึ้นด้วย ซึ่งการค้นคว้าเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนากฎหมายแม่แบบเกี่ยวกับสิทธิในข้อมูลต่อไป


ดังนั้น สำหรับคำถามว่า 1) ข้อมูลเป็นทรัพย์สินหรือไม่ secretariat ไม่ได้ตอบไว้ชัดเจนว่าข้อมูลเป็นทรัพย์สินที่จะนำ CISG มาปรับใช้ได้หรือไม่ แต่ระบุไว้อย่างระมัดระวังว่าไม่น่าจะปรับใช้ได้ ส่วน 2) ใครเป็นเจ้าของข้อมูล และ 3) ใครมีสิทธินำข้อมูลไปแสวงหาผลกำไร UNCITRAL ยังไม่ได้ตอบไว้ แต่ระบุว่าจะศึกษาเรื่องสิทธิในข้อมูล (data rights) ในอนาคต ซึ่งเมื่อมีการศึกษาเรื่อง data rights แล้วอาจตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


2. องค์การการค้าโลก
องค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization (WTO) ได้ตราขึ้นซึ่งสนธิสัญญาหลายฉบับ หนึ่งในนั้นได้แก่ ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services: GATS) ซึ่งกำกับเกี่ยวกับบริการที่ทำขึ้นระหว่างรัฐภาคี โดย Part II ซึ่งเป็นเรื่องหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐภาคี ข้อที่สำคัญ เช่น เรื่องการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-favored nation treatment – MFN) หรือเรื่องการบัญญัติกฎระเบียบภายในประเทศที่ต้องไม่ขัดแย้งกับเสรีทางการค้าบริการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อ 14 ของ Part II เรื่องหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐภาคีนี้ กำหนดเกี่ยวข้อยกเว้นให้รัฐภาคีไม่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ต่าง ๆ ได้ หากเป็นไปเพื่อเหตุผลประการต่าง ๆ ตามที่ข้อ 14 กำหนดไว้ ซึ่งรวมถึง ความจำเป็นเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย (ซึ่งต้องไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติต่าง ๆ ของ GATS) เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลและการส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อมูล และการคุ้มครองความลับของข้อมูลส่วนบุคคล
กล่าวโดยสรุป GATS มีการระบุเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ไม่ได้ระบุว่าข้อมูลเป็นทรัพย์สินหรือไม่ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล และใครมีสิทธิในการนำข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์


อ้างอิง
United Nations, Convention on Contracts for the International Sale of Goods, (1988).
United Nations, General Assembly (United Nations Commission on International Trade Law Fifty-third session).
Legal issues related to the digital economy – data transactions, A/CN.9/1012/Add.2 (Accessed 12 May 2022).

*ปรับปรุงจากบทวิเคราะห์ทางกฎหมาย โดย วัชรพล ศิริ ใน วิจัย โครงการสังเคราะห์องค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนการแบ่งปันผลประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลอย่างเป็นธรรม, 2565. โดย สถาบันพระปกเกล้า.

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องแรกที่ต้องนำมาพูดกันก่อนเลยเห็นจะไม่พ้นว่า กฎหมายคืออะไร เพราะไม่งั้นคงไปต่อไม่ได้ และที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นปัญหามากในความเป็นจริง  เนื่องจากหลายครั้งเรามีปัญหากับคนอื่น หรือสังคมมีความขัดแย้งเถียงกันไม่จบไม่สิ้นก็ไม่รู้ว่า เรื่องนี้ควรจะจบลงอย่างไร ชีวิตจะเดินต่อไปแบบไหน   ซ
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องแรกนี่เกิดขึ้นกับผู้คนมากมายครับ เนื่องจากมันเป็นชีวิตของเพื่อนผมเองที่บ้านเกิดอยู่ต่างจังหวัดแต่เค้าเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ แล้วเช่าหอพักอยู่รอบนอกกรุงเทพฯเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากที่ทำงานอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ถ้าไปเช่าหออยู่ใกล้ๆ สงสัยจะไม่เหลืออะไรให้เก็บให้ใช้เลย จนเธอต้องมาบ่นให้ฟังเรื่
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อกฎหมายเข้ามาใกล้ชีวิตคนธรรมดาอย่างเรามากขึ้น จึงเป็นการยากที่จะไม่สนใจอีกต่อไป   พอเกิดปัญหาขึ้นมากับตัวเอง ทางหนึ่งที่คนส่วนใหญ่พอจะทำได้ คือ ปรึกษากับคนใกล้ตัวที่ร่ำเรียนมาทางกฎหมาย เพราะจะให้ไปปรึกษากับทนาย หรือนักกฎหมายที่ไหนก็ยังไม่กล้า เพราะกลัวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย ไหนควา