Skip to main content


เจ้านกเชื่องถูกขังอยู่ในกรง ส่วนเจ้านกอิสระนั้นเป็นนกป่า

ทั้งคู่มาพบกันเข้า เพราะบุพเพสันนิวาสชักนำ

เจ้านกอิสระร้องว่า "โอ้ ที่รักของข้า ขอให้เราบินไปสู่ไพรพนาด้วยกันเถิด"

นกซึ่งถูกขังในกรงกระซิบว่า "เข้ามาใกล้ๆข้าอีกสิ ขอให้เราได้อยู่ร่วมกันในกรงนี้เถิด"

นกป่าพูดว่า "เราจะมีที่กว้างพอเหยียดปีกได้อย่างไรเล่าในกรงขังนั้น"

"อนิจจา" นกที่ถูกขังพูด "ข้าก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในท้องฟ้านั้น จะหาคอนเกาะได้ที่ไหน"

นกป่าร้องว่า "ที่รัก ไปเถิด เราจะได้ขับขานบทเพลงแห่งราวป่ากัน"

นกที่ถูกขังบอกว่า "มาเกาะข้างๆข้าสิ ข้าจะสอนบทเพลงของมนุษย์ผู้ทรงความรู้ให้เจ้าฟัง"

นกป่าร้องว่า "ไม่ได้ ไม่ได้หรอกเจ้า บทเพลงมิใช่สิ่งที่จะสอนกันได้"

นกที่ถูกขังก็พูดว่า "อนิจจา ข้าก็ไม่เคยรู้บทเพลงแห่งราวป่าเลย"

ความรักของทั้งคู่เร่าร้อนด้วยความปรารถนา แต่มันก็ไม่เคยมีโอกาสบินเคียงคู่กันได้เลย

มันต่างจ้องมองกันและกันผ่านซี่ลูกกรง แต่ความต้องการที่จะรู้จักกันให้มากกว่านั้นล้มเหลว

มันต่างกระพือปีกอย่างเร่าร้อน

และต่างร้องบทเพลงบอกแก่กันว่า

"เข้ามาใกล้ๆอีกสิ ที่รัก"

นกป่าร้องว่า "ข้าเข้าไปไม่ได้หรอก ข้ากลัวประตูกรงที่ปิดนั้น"

นกที่ถูกขังก็ร้องแผ่วเบาว่า "อนิจจา ปีกของข้าก็แข็งทื่อและไร้พลัง"

 

 

หมายเหตุ ; นี่เป็นงานเขียนที่วิเศษบทหนึ่ง จากรวมบทกวีที่ชื่อว่า คนสวน (THE GARDENER ) ของรพินทรนาถ ฐากูร นักเขียนอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลคนแรกของเอเชีย ที่ได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 1913 แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง พิมพ์ครั้งที่สอง เดือนมิถุนายน 2532 โดยสำนักพิมพ์ สู่ฝัน ของ พิบูลศักดิ์ ละครพล

 

ที่หน้าปกเขาระบุว่า บทกวีรางวัลโนเบล ถ้าข้อมูลไม่ผิด ก็คือหนังสือเล็กๆเล่มนี้เองที่ได้รับรางวัล วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ และผมก็ไม่นึกแปลกใจ เพราะโดยส่วนตัวผมแล้ว บทกวีทุกบทที่เรียงร้อยอยู่ในหนังสือเล่มนี้ มันเป็นงานที่วิเศษสำหรับผมทุกชิ้น ถึงแม้ผู้แปลจะถ่อมตัวว่า ตนเองไม่คู่ควร แต่เขาก็ชื่นชอบในความงดงามของคนสวน จนห้ามใจมิให้แปลมิได้ และผมก็ชอบที่เขาแปล

 

หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง นอกเหนือจากเจ้าชายน้อย ของแซงเต็กซูเปรี เมตามอร์โฟซิส ของฟรันซ์ คาฟคา และอีกหลายเล่ม ฯลฯ ที่บอกแก่ผมว่า ความยิ่งใหญ่ของงานเขียนวรรณกรรม ไม่ได้อยู่ที่จำนวนถ้อยคำและขนาดหนาบางของหนังสือ แต่อยู่ที่คุณภาพอันยอดเยี่ยมทางศิลปะและเนื้อหาที่กินใจ และก่อให้เกิดความสะเทือนใจ แล้วนำเราสู่การคิดตระหนักใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งประการใดประการหนึ่ง - เกี่ยวกับโลกและชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องเอาหลักวิชาการอันแข็งทื่อใดๆมาข่มขู่สั่งสอนอธิบาย หรือโฆษณาชวนเชื่อ เพราะงานศิลปะที่บรรลุถึงพรมแดนแห่งศิลปะ มันจะทำหน้าที่อันทรงพลังของมันเอง บทกวี นกป่า ของผมที่นำมาเสนอเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ถ้าจำได้ไม่ผิด ผมได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนชิ้นนี้แหละครับ สวัสดี ฤดูฝนอันหม่นมัว.

 

9 มิถุนายน 2552

กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…