Skip to main content

 

สองสามวันก่อน

ผมได้รับเมลจาก ขจรฤทธิ์ รักษา บรรณาธิการสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ แจ้งข่าวการจัดงาน “33 ปี นักเขียนเรื่องป่า 60 ปี วัธนา บุญยัง นักเขียนเรื่องป่าเชิงอนุรักษ์ที่โด่งดังที่สุดในยุคปัจจุบัน ณ บ้านเขาชะเมา เขาชะเมาชาเลต์ (เฮลรีสอร์ต) อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ระหว่างวันที่ 28 - 29 สิงหาคม 2553

โดยงานนี้ เขามิได้เชื้อเชิญและต้อนรับเฉพาะนักเขียน นักอ่าน นักเดินป่า เท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างเชื้อเชิญให้คนภายนอกโดยเฉพาะผู้ที่รักธรรมชาติเข้าไปร่วมงานด้วย ผมจึงขอนำรายละเอียดกำหนดการของงานมาเผยแพร่ เผื่อท่านที่สนใจงานนี้อยากจะไปร่วมงาน ดังนี้

 

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม

ภาคบ่าย

15.00 น.

- เซ็นสมุดอวยพร แสดงมุทิตาจิต

- แจกหนังสือ 33 ปี นักเขียนเรื่องป่า 60 ปี วัธนา บุญยัง

- ขจรฤทธิ์ รักษา บรรณาธิการสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน นักอ่าน นักเขียน นักเดินป่า และแขกผู้มีเกียรติ

16.00 น.

- สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2548 กล่าวถึงเส้นทางบนถนนวรรณกรรมของ วัธนา บุญยัง

- ยงค์ ยโสธร .ในนามนักเขียนภาคตะวันออก กล่าวถึงการทำงานวรรณกรรมของกล่มนักเขียนภาคตะวันออก

- พระครูปลัด วีรธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมสุข อ.นายายอาม กล่าวถึงงานของ วัธนา บุญยัง

- ศิษย์เก่าจากดัดดรุณี กล่าวถึงอาจารย์วัธนา บุญยัง

17.00 น.

เชิญแขก ประกอบด้วยเพื่อน นักเขียนรุ่นน้อง นักอ่าน และนักเดินป่า กล่าวอวยพร

17.30 น.

วัธนา บุญยัง กล่าวถึงเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่ 26 สิงหาคม 2493 จนถึงปัจจุบัน พร้อมขอบคุณผู้มาร่วมงาน

18.00 น.

รับประทานอาหารร่วมกัน

 

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม

ภาคเช้า

7.30 น.

อาหารเช้า กาแฟและข้าวต้ม

8.30 น.

เดินป่าชมธาร และเล่นน้ำตก

11.30 น.

- รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก่อนจะแยกย้ายจากกัน

 

หมายเหตุ ; งานนี้ เจ้าภาพมีอาหารบริการสามมื้อ มีบ้านสองหลัง เต็นท์ 10 หลัง และลานกางเต็นท์ขึงเปลนอนได้ตามอัธยาศัย หรือท่านใดต้องการนอนในห้องพักรีสอร์ตเชิญติดต่อได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ 02 - 5802- 978, 08 - 1940 - 7806

ครับ ขอให้งานนี้จงลุล่วงไปด้วยความอบอุ่น และขออวยพรล่วงหน้าให้คุณวัธนา บุญยัง จงมีพลังในการทำงานเขียนเรื่องป่าดีๆและสนุกสนานอย่างสม่ำเสมออีกต่อไป ตราบนานเท่านาน.

 

ครับ ก่อนจากกันอาทิตย์นี้

ผมขอนำเรื่องจากหนังสือ นิทานปรัชญาเต๋า ของ เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต เรื่อง โรคอรหันต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมชอบมากอีกเรื่องหนึ่งนอกจากเรื่องรัฐ ที่ผมนำมาเสนอในคราวที่แล้ว เพราะคำว่า อรหันต์ หรือ พระอรหันต์ นี่ เป็นคำที่ผมหรือใครๆที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของพุทธศาสนา ต่างก็ได้ยินกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นพุทธแท้ พุทธเทียม พุทธผี พุทธพราห์ม ฯลฯ

 

แต่ก็ไม่เคยมีใคร มาชี้ให้เราเห็นเป็นรูปธรรมที่เข้าใจได้ง่ายว่าบุคลที่บรรลุอรหันต์นั้นมีลักษณะและคุณสมบัติเช่นไร ผมเองก็ไม่เคยติดใจสงสัย ใครเขาว่า ฆราวาสคนโน้นคนนี้ พระองค์โน้นองค์นี้เป็นอรหันต์ เห็นเขาปฏิบัติดูดี เทศนาธรรมน่าเลื่อมใส ก็มักจะเชื่อตามๆเขาไป เพราะวัฒนธรรมทางบ้านเรา ไม่เอื้ออำนวยให้เราไปพิสูจน์ว่าใครเป็นอรหันต์ จริงหรือไม่จริง

 

เพราะอะไรๆที่คนไทยเราได้ปักใจเชื่อไปแล้ว ขืนใครสุ่มสี่สุ่มหาเข้าไปแตะต้อง เป็นต้องถูกศิษยานุศิษย์ของท่านรุมกินโต๊ะเอาจนเละนั่นแหละครับท่าน (ฮา) เพราะสังคมไทย ว่ากันว่า ยังไงๆก็ยังเป็นสังคมของความเชื่อ มากกว่าข้อเท็จจริงและเหตุผล ไม่ว่าจะเจริญทางเทคโนโลยีขนาดไหน แถมยังเป็นความเชื่อที่ไม่ต้องการให้ใครมาพิสูจน์ และบางทีงมงายถึงขนาดพระบางองค์หิ้วสีกามานอน เอาเด็กไปข่มขืนไม่รู้กี่คน จนถูกจับเข้าคุก ก็ยังอุตส่าห์มีศิษยานุศิษย์ติดตามไปฟังท่านเทศน์ และบริจาคเงินเป็นล้านๆถึงในเรือนจำ ดังที่เคยเป็นข่าวกันมาแล้ว...

 

แต่เมื่อได้อ่านเรื่องนี้แล้ว โดยไม่สงสัย โดยไม่เคยคิดจะตั้งคำถามมาก่อน ผมก็ได้แต่บอกแก่ตัวเองว่า เออ คนที่เป็นอรหันต์ น่าจะเป็นอย่างนี้แหละว่ะ โดยเฉพาะเมื่อผ่านการกลั่นกรองจากท่านอาจารย์เสถียรพงษ์ ราชบัณฑิตย์ ผู้ที่รอบรู้เชี่ยวชาญทางพุทธศาสนาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ถือกันว่า เป็นแหล่งความรู้ทางพุทธศาสนาที่ถูกต้องและดีที่สุดในโลก ย่อมเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง เชิญท่านอ่านเรื่องโรคอรหันต์ เพื่อเก็บไปเป็นข้อคิดดีๆให้แก่ชีวิตกันได้เลยนะครับ

 

โรคอรหันต์

เสถียรพงษ์ วรรณปก

 

หลุงชู พูดกับหมอ เหวินฉี ว่า

ผมรู้สึกไม่ค่อยสบาย คุณช่วยรักษาให้หน่อย

ได้ ไหนบอกมาซิมีอาการอย่างไร

ผมไม่รู้ว่าเป็นอะไร เวลาได้ยินคนอื่นเขาสรรเสริญเยิรยอ ไม่รู้สึกดีใจหรือเป็นเกียรติแต่อย่างใด เวลาได้ยินเขาติฉินนินทาก็ไม่รู้สึกเสียใจ ผมมองชีวิตเหมือนความตาย ความรวยเหมือนความจน คนเหมือนหมู มองตัวเองเหมือนคนอื่น รู้สึกว่าบ้านของผมเหมือนโรงเตี๊ยมที่เช่าเขาอยู่ มองออกไปข้างนอกบ้าน เห็นบ้านข้างเคียงแปลกหูแปลกตาไปหมด ยศเสื่อมยศ ลาภเสื่อมลาภ ความเจริญ ความเสื่อม คุณ โทษ สุข ทุกข์ ไม่มีอิทธิพลเหนือจิตใจผม ตั้งแต่ผมป่วยเป็นโรคประหลาดนี้ ผมไม่สามารถทำหน้าที่ทางโลกได้เหมือนคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นงานราชการรับใช้เจ้านาย ปฏิบัติตนต่อเพื่อนและญาติพี่น้อง แม้กระทั่งลูกเมียและคนใช้ โรคของผมมีทางรักษาหายไหม

 

หมอเหวินฉี

บอกให้หลุงชีหันหลังให้แสงสว่าง เขาถอยหลังไปสองสามก้าว ยืนเพ่งอยู่พักหนึ่งแล้วกล่าวว่า

ผมมองเห็นหัวใจของคุณแล้ว เนื้อที่ประมาณตะรางนิ้วหนึ่งนี้ว่างเปล่า ในหัวใจของคุณมีรูอยู่ 6 รูทะลุถึงกัน แต่รูหนึ่งอุดตัน อาจเป็นเพราะอย่างนี้ก็ได้ คุณสมบัติของการเป็นอรหันต์ที่คุณมี คุณกลับเข้าใจว่าเป็นความป่วยไข้ วิชาแพทย์อันคับแคบของผมไม่สามรถรักษาได้หรอก

 

21 กรกฎาคม 2553

กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่    

 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…