"นางแบบภาพประกอบ สุธาทิพย์ โมราลาย คอลัมนิสต์วรรณกรรมกุลสตรี ถ่ายโดยผู้เขียน"
เงินตรา
ย่อมเป็นวัตถุที่ก่อความชื่นชมแก่มนุษย์โดยทั่วหน้า
เป็นศุภนิมิตอันดีเลิศแก่วัฒนธรรมในสากลโลก
เป็นหลักประกันแก่สังคม
แก่จิตใจมนุษย์ชาติ
วัตถุ ที่สำคัญที่สุดในโลกคือเงินตรา
ความมั่งมีศรีสุข
บ่งบอกถึงความเข้มแข็ง
มีพลังกาย เมตตา สัจจะ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หมดจดงดงาม
ส่วนความยากจนข้นแค้น
บ่งบอกถึงความอ่อนแอ
เจ็บไข้ได้ป่วย อัปยศอดสู ขี้ริ้วขี้เหร่
มันเป็นหลักธรรมชาติอันแท้จริง
ซึ่งไม่มีคำกล่าวอ้างใดลบล้างได้
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ
เงินตราก่อให้คนชั้นต่ำสิ้นเนื้อประดาตัว
คนชั้นสูงจิตใจคึกคัก
ถ้ายุคไหนคนกลุ่มหนึ่งมีความพยายาม
แต่ควานหามัน (เงิน) ไม่เจอ
แต่อีกกลุ่มมีใช้อย่างฟุ่มเฟือย
โดยไม่ต้องควานหา
นั่นก็หมายถึง
สังคมเข้าสู่ยุคเงินตรา
เงินตราเป็นบ่อเกิดของความชั่วร้าย
เมื่อใดระบบสังคม
ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ชีวิตย่อมหมายถึงความชั่วช้า
เงินตราก็เป็นวัตถุชั่วช้าเช่นกัน - เมื่อเงินตราบ่งถึงชีวิต
ธนบัตรใช้หมุนเวียนในสังคม - เพื่อปันส่วนชีวิต
ภาระเบื้องต้นของสาธารณะชน
คือหวังได้มาซึ่งเงินที่หามาโดยง่าย
แต่เมื่อถึงคราวสู่ยุคที่จ่ายค่าตอบแทนแรงงาน 5 คน
คนหนึ่งได้รับค่าแรงงาน 10 - 12 ชั่วโมง ต่อจำนวนเงิน 3 ชิลลิ่ง
อีกคนหนึ่งไม่ต้องทำอะไรเลย
ได้เงินเป็นจำนวน 1 พันปอนด์
การหวังได้มาซึ่งเงินที่หามาได้ง่าย
ย่อมไม่บรรลุผล...
ยอดปรารถนาของมนุษย์
ไม่ใช่ปรับปรุงขนบประเพณี
ขนมปังถูกๆ การออมทรัพย์
อิสระ วิวัฒนาการด้านวิทยาการ
สงเคราะห์หญิงนครโสเภณี
ปลุกใจเยาวชน
และก็ไม่ใช่ - รับส่วนบุญจากหลักศาสนาเยซู
แต่เงินตราสิ่งเดียวเท่านั้น
เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์
สิ่งที่มนุษย์พึงล้มล้าง...
ไม่ใช่บาปโทษ ความเจ็บปวด คอรัปชั่น
บาทหลวง กษัตริย์ ประชาธิปไตย อภิสิทธิ์ชน
เหล้าชั้นดี สงคราม โลกระบาด
และก็ไม่ใช่วัตถุที่เสียสละจากนักปฏิวัติสังคม
สิ่งที่มนุษย์พึงล้มล้าง คือ ความจน...
หมายเหตุ ; นี่คือวาทะตอนหนึ่งจากคำนำบทละคร เรื่อง “Major Barbara” ของ ยอร์ช เบอร์นาร์ด ชอว์ นักเขียนชาวอังกฤษ ที่ผมชอบมากๆ เคยอ่านท่อนสั้นๆที่พูดถึงยอดปรารถนาของมนุษย์ จากหนังสือเกี่ยวกับวาทะบุคลสำคัญ ต่อมา พยายามค้นหาอย่างไรๆ ก็ไม่พบ เพราะจำชื่อหนังสือไม่ได้ แล้วก็มาบังเอิญได้พบ มากกว่าที่เคยได้อ่าน โดยไม่ได้ตั้งใจจาก “โลกหนังสือ” ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 มกราคม 2521 หน้าปกรูปคุณ คำพูน บุญทวี นักเขียนชื่อดังจากภาคอีสานที่ล่วงลับไปแล้ว
โดยส่วนตัวผม ยังรู้สึกว่า วาทะเสียดสีสังคม และทิ่มแทงใจดำมนุษย์นี้ ยังทันสมัย และสะท้อนยุคสมัยปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตพี่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบก.โลกหนังสือ และปัจจุบันบก.ช่อการะเกด ยุค เวียง วัชระ และ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นประการใด ว่ากันมาตามสบายเลยนะครับ
ต้องขออภัยคุณ น้ำลัด (และทุกท่าน) ด้วยครับ ตอนนี้ ผมไม่สามารถโพสท์เข้ามาสนทนากับคุณได้ ที่มีน้องคนหนึ่งสอนให้ตอนแกมาเยี่ยมผม และใช้ได้อย่างราบรื่นในคราวก่อน ปรากฏว่าวิธีนั้นใช้ไม่ได้แล้วในตอนนี้ ผมพยายามมั่วกดนั่นกดนี่...อย่างไรๆก็ไม่ได้ผล มิหนำซ้ำ...บางครั้งยังทำให้ข้อความที่คุณโพสท์เข้ามาหายไปหมด (ฮา) มือระดับโปรแกมเมอร์ 2 คนที่อยู่ในบ้านก็ช่วยไม่ได้ คงต้องรอการจัดเว็บจากประชาไทให้เข้าระบบเดิม ปัญหานี้คงจะหายไป
ขอบคุณ สำหรับความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆจากคุณน้ำลัด เรื่องคนรู้หรือไม่รู้ธรรมะ ที่คุณตั้งคำถามมา ผมว่าคนรู้จักธรรมะมีน้อย และรู้แล้วปฏิบัติได้...ยิ่งน้อยลงไปอีก (รวมทั้งตัวผมด้วย ฮา ) แต่คนใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์มีเยอะครับ ถ้าอยากรู้ ก็คงต้องค่อยๆดูกันไปเฉพาะราย.
29 กรกฎาคม 2553
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…