Skip to main content

 

 

 

ผมไม่แน่ใจว่า
ก่อนที่คุณยิ่งลักษณ์ ว่าที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ คนสวย และกลุ่มมันสมองของพรรคเพื่อไทยจะชูนโยบายประชานิยม เพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำให้กรรมกรผู้ใช้แรงงานจาก 221 บาท เป็น 300 บาท และเพิ่มเงินเดือนให้แก่ผู้จบปริญญาตรีที่เริ่มเข้าบรรจุงานจาก 11,028 บาท เป็น 15,000 บาท

พวกท่านจะทราบหรือไม่ว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดค่าจ้างหรือเงินเดือนใดๆให้แก่ผู้ว่าจ้างที่เป็นทุนเอกชน หรืออาจจะรู้อยู่เต็มอก แต่มั่นใจว่าทำได้ ทั้งๆที่รู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ยากแสนยากที่จะทำได้ โดยเฉพาะการเพิ่มค่าแรงงานเป็น 300 บาท ดังนี้
 
ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโสฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และสังคม สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย ได้ชี้แจงเอาไว้ในสกู๊ปหน้า 1ของไทยรัฐ ฉบับ 13 ก.ค. 54 ที่ชื่อว่า “ใต้ภูเขาแรงงาน 300 ยังมีวิกฤตแรงงาน”ว่า
 
“เรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ จะว่าไปแล้วรัฐไม่มีหน้าที่โดยตรง มีกฎหมาย (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551) กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง และ ตัวแทนฝ่ายรัฐ
 
โดยมีมาตรา 79 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่3) พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานผีมือ และมาตรา 87 กำหนดว่า “...ให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม...”
 
เมื่อได้ศึกษา ข้อมูลและพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ใหัคณะกรรมการค่าจ้างประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
 
ซึ่งในทางปฏิบัติ แม้จะมีคนของรัฐคือปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง แต่กระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยพื้นฐานแล้ว เป็นเรื่องของการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยมีตัวแทนของรัฐทำหน้าที่เป็นคนกลางเท่านั้น
 
ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้น
เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เคยตั้งเป้าค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท แต่คณะกรรมการค่าจ้างกลางไม่เห็นด้วย ท้ายที่สุด ค่าจ้างที่ประกาศออกมา เมื่อเดือนมกรา 2554 คือ 221 บาท สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล
 
ดร.สราวุธ บอกว่าจริงๆแล้ว การกำหนดเป้าหมายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 25 เปอร์เซ็นต์ ในเวลา 2 ปี พอจะมีความเป็นไปได้ เพราะเพิ่มจาก 221 บาท เป็น 276 บาท แต่ที่ยากกว่าคือการจะเพิ่มจาก 221 บาท เป็น 300 บาท เพราะเท่ากับเพิ่มถึง 35.7 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะได้เมื่อไหร่
 
เมื่อพิจารณา
การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมา
ระหว่างปี 2541 - 2554 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยไม่เคยเพิ่มถึง 10 เปอร์เซ็นต์
มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 เปอร์เซ็นเท่านั้น
ที่เคยเพิ่มสูงสุดเกิดขึ้นในปี 2550 - 2551 อยู่ที่ 9.1 เปอร์เซ็นต์
และรองลงมา 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2553 - 2554
 
ครับ
นี่คือเงื่อนไขที่ไม่ง่ายเลยที่รัฐบาลในอนาคตจะเนรมิตให้แก่ผู้ขายแรงงาน ส่วนผลกระทบที่จะติดตามมา ทั้งจากการเพิ่มค่าแรงดังกล่าว รวมทั้งการปรับเงินเดือนคนจบปริญญาตรีจาก 11,028 บาท เป็น 15,000 บาท มีความเห็นจากผู้ประกอบการภาคเอกชนและนักวิชาการหลายท่าน ที่ มติชน รายวัน ฉบับ 13 ก.ค. 54 นำมาลงในหน้า 2 โดยพาดหัวว่า
“เสียงเตือนกระหึ่ม ! นโยบายยิ่งลักษณ์ ปรับค่าแรง 300 - ป.ตรี 1.5 หมื่น”
ด้วยความเห็น และการชี้ทางออกไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งผู้ประกอบการและนักวิชาการ
 
ผมขอนำ เอาเฉพาะความเห็นที่เป็นรูปธรรมที่มองเห็นเป็นจริงและจับต้องได้ง่าย จาก คุณธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย มานำเสนอ ดังนี้
“หากค่าแรงงานปรับเพิ่ม ทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แต่ภาคอหังสาฯ จะหนักสุด เพราะโดนสองเด้ง ทั้งจากราคารับเหมาและจากวัสดุก่อสร้างที่ปรับขึ้นจากค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้นสามสมาคมอหิงสาฯ ทั้งสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอหังสาริมทรัพย์ไทย จะหารือกัน เพื่อทำหนังสือหรือออกเป็นแถลงการณ์ถึงรัฐบาลให้ชะลอการปรับขึ้น หรือค่อยๆปรับขึ้นภายในสองปี เอกชนรับได้ แต่อย่าปรับครั้งเดียว เพราะหากปรับครั้งเดียว ผู้ประกอบการ ก็จะผลักภาระไปที่ผู้บริโภคทั้งหมด
 
อุตสาหกรรมก่อสร้างนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้แรงงานต่างด้าว ก็จะมีสาวนรับเงินตรงนี้ไปด้วย แม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าท่ายกรัฐมนตรี จะระบุให้แรงงานไทยเท่านั้น แต่ในข้อเท็จจริงนั้นมิได้เป็นอย่างนั้น
 
ขณะนี้ยังไม่เหมาะที่จะปรับค่าแรงไปถึง 300 บาท เพราะเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีนัก เพราะไม่เพียงแต่ค่าแรงขั้นต่ำ แต่ยังลามไปถึงมนุษย์เงินเดือนด้วย เพราะมีการระบุว่าหากจบปริญญาตรีใหม่ได้เงิน 15,000 บาท ต่อเดือน ทั้งที่ยังไม่มีฝีมืออะไรเลย
 
ดังนั้น คนที่ทำงานมานานแล้ว มีเงินเดือนสูงกว่านักศึกษาจบใหม่ไม่มากนัก ก็จะต้องขอปรับค่าแรงหรือเงินเดือนขึ้นด้วยเหมือนกัน ดังนั้นภาคแรงงานต้องมีความปั่นป่วนแน่นอน สุดท้ายจะต้องมีการปลดคนออก
 
ครับ
นี่คือ เหตุปัจจัยของความเป็นไปได้ที่ยากแสนยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย ที่ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลที่น่าเชื่อถือ ถ้าหากผู้ใช้แรงงานและผู้ที่เพิ่งจบปริญญาตรี จะคาดคั้นเอากันทีเดียวให้ได้ ตามที่ท่านนายกฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ ได้โปรยยาหอมเอาไว้ตอนเลือกตั้ง
 
 แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไรนักหนา เพราะผู้ที่กำหนดค่าแรงงานและเงินเดือนที่แท้จริง เขาก็ประนีประนอมเสนอทางออกที่เป็นไปได้แบบค่อยๆเป็นไป ตามเงื่อนไขที่เป็นไปได้แก่คุณยิ่งลักษณ์ดังกล่าวแล้ว
 
และผมเชื่อว่า ถึงอย่างไรคุณยิ่งลักษณ์คงไม่อยากเห็นใครๆที่เบื่อแสนจะเบื่อ...คนรูปหล่อที่เพิ่งจากไป มาชูป้ายดิสเครดิตแบบ คนอกหักซ้ำซาก แก่ตัวคุณยิ่งลักษณ์ว่า
“หล่อลากดิน...ก็แค่นั้น สวยชวนฝัน...ก็แค่นี้ เพราะดีแต่พูด...เหมือนกันอีกแล้ว !”
 
13 กรกฎาคม 2554
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่ 
 
 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…