Skip to main content

 

 

คราวที่แล้ว
ผมนำเรื่อง “คนดีของคนเมือง และ คนดีของชนบท” ที่แตกต่างกัน จากบทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่า “ความคาดหวังและความจริงของประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม 2543 ผมคิดว่าจะหยุดเพียงแค่นั้น แต่ก็หยุดไม่ได้ เพราะพบว่ายังมีประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านอีกสองประเด็น ที่ยังเป็นเรื่องราวที่ยังดำรงอยู่ในปี 2544 และต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ก็คงไม่มีใครรู้ เพราะมันเป็นรื่องของอนาคต

 
นั่นคือ
ทำไมสังคมไทยจึงมีความคิดที่สุดขั้ว และแบ่งแยกกันเป็นฝักฝ่าย อย่างที่เราเห็นๆกัน เป็นเหลือง เป็นแดง เป็นเขียว เป็นขาว ฯลฯ และอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ ทำไมชาวบ้านเป็นคนเลือกตั้งรัฐบาล แล้วทำไมคนชั้นกลางจึงล้มล้าง ประเด็นหลังนี่ ถือว่าเป็นการให้รายละเอียดส่วนใหญ่ นอกเหนือจากทัศนะเกี่ยวกับ คนดีของคนเมืองและคนชนบทที่ต่างกัน ที่ผมนำมาลงคราวที่แล้ว ดังต่อไปนี้
 
สารคดี; ทำไมช่วงหลังสังคมไทยมีความคิดที่สุดขั้วมากขึ้น แบ่งเป็นฝ่ายกันชัดเจน จนหาทางออกไม่ได้
ดร.เอนก ; เดิมความคิดของคนไทยไม่สุดขั้ว คนไทยไม่เชื่อเรื่องการต่อสู้กันในทางความคิด การต่อสู้ที่จะเอาแพ้เอาชนะ ชี้ว่าอะไรสะอาดบริสุทธิ์ อะไรมีมลทิน คนไทยเราเน้นประสานความคิดต่างๆให้เข้าด้วยกัน เป็นวิธีคิดแบบฮินดูแบบพุทธนั่นเอง คุณจะเห็นว่า พอฮินดูหรือพราห์มเข้ามาในสุวรรณภูมิ ก็ไม่ได้ทำลายพวกนับถือผีนับถือเจ้า พอพุทธเข้ามาพุทธก็ไม่ได้ทำลายพราห์ม ไม่ได้ทำลายผีและเจ้า มันอยู่ด้วยกันได้
 
นี่เป็นรากฐานเดิมของคนไทย ในขณะที่ฝรั่ง ยิว คริสเตียน เชื่อเรื่องการต่อสู้ระหว่างความคิดที่ผิดกับถูก การชำระความคิดที่ผิดด้วยความคิดที่ถูก ถ้าจะเชื่อความคิดอะไร ก็เชื่อความคิดนั้นทั้งระบบ
แต่คนไทยจะมีลักษณะเชื่อไอ้นั่นนิด เชื่อไอ้นี่หน่อย เอามาจากทุกความคิด คือประนีประนอมนั่นเอง เอาของที่ไม่ควรจะประสานกันได้ ก็มาประสานกันได้ เดิมสังคมไทยเราเป็นแบบนี้
 
ครั้นเราไปศึกษาจากตะวันตก ก็ซึมซับวิธีคิดแบบตะวันตก ซึ่งมีพื้นฐานมาจากศาสนายิว คริสเตียน เป็นสายธารความคิดที่ว่ามีพระเจ้าองค์เดียว
 
ผมเคยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสต์ เคยสงสัยว่า ทำไมเขาต้องมาบอกว่าพระเจ้ามีองค์เดียวเท่านั้น ผมเข้าใจว่า เขาคงหมายความว่า พระเจ้าองค์อื่นๆผิดทั้งนั้น หรือถึงถูกก็ถูกไม่จริงเท่าพระเจ้าของเรา ครูคริสต์บางคนจะมาไหว้พระสงฆ์ จะไม่สนับสนุนให้นักเรียนเคารพวิญญาณบรรพบุรุษ เพราะสิ่งเหล่านั้นนั่นมิใช่พระเจ้าที่แท้จริง
 
นี่เป็นปรัชญา เป็นวิธีคิดที่แฝงอยู่ในวิชาการตะวันตก นักศึกษาไทยที่ไปเรียนเมืองนอก หรือเรียนวิชาการสมัยใหม่ ก็เริ่มเกิดความคิด ผิด ถูก อะไรมากขึ้น การคิดแบบประนีประนอม แบบประสานประโยชน์น้อยลง พากันดูถูกว่าเป็นการคิดที่ไม่เป็นระบบ ไม่จริงจัง เอาเรื่องต่างๆมาปะปนกัน ขณะเดียวกันก็พยายามไปหาความรู้อันเป็นแก่นแท้ที่เราคิดว่าถูกต้องที่สุด เรามักตามหาความรู้ที่ถูกต้องที่สุดมาตลอด เริ่มจากความคิดรัฐสวัสดิการ เห็นว่ามันสู้รัฐสังคมประชาธิปไตยไม่ได้ สู้รัฐสังคมนิยมแบบที่รัฐเป็นผู้นำอย่างสิ้นเชิงไม่ได้ บางคนมาถึงขั้นที่เหวี่ยงไปมาสุดขั้ว อะไรก็สู้อนาธิปไตยไม่ได้ นั่น ไม่ต้องมีรัฐเลย อะไรแบบนี้ มันเป็นความคิดแบบแข่งขัน ต่อสู้กันระหว่างความคิดที่ถูกกับไม่ถูก...
 
สารคดี; ชาวบ้านเป็นคนเลือกตั้งรัฐบาล ชนชั้นกลางล้มรัฐบาล อันนี้มีนัยยะว่าอะไร
ดร.เอนก ; การเมืองของเราอำนาจไม่ได้อยู่ที่คะแนนเสียงอย่างเดียว อำนาจอยู่ที่
1. ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ก็คือประชาชนในชนบท ตอนที่เลือกผู้ปกครอง เลือกรัฐบาล เสียงของชาวบ้านชี้ขาด ชาวบ้านเป็นคนส่วนใหญ่ จะบอกว่าชาวบ้านไทยไม่มี impact ก็ไม่ใช่
2. อำนาจนี้อยู่ที่คนชั้นกลาง คนในเมืองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อ นักคิด นักวิชาการ เห็นได้ว่า ถ้านักคิด นักวิชาการ คนชั้นกลาง หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ไม่เอารัฐบาล รัฐบาลก็ขาดเสถียรภาพ ทำไมรัฐบาลขาดเสถียรภาพ ก็เพราะรัฐบาลที่ดูระส่ำระสายอาจถูกทหารยึดอำนาจได้ หรือถ้าคนชั้นกลางก่อม็อบหรือชุมนุมประท้วง รัฐบาลจะใช้ทหาร ตำรวจเข้าปราบ เรื่องก็จะไม่ยุติหรือลงเอยง่ายๆ
 
เพราะคนไทยยังไม่ยอมรับว่า ถ้าจะชุมนุมประท้วง ก็ต้องชุมนุมประท้วงให้มันถูกหลัก ถูกวิธีการ ในอเมริกา คุณเดินขบวนได้ แต่ห้ามกีดขวางทางจราจร อย่างที่คนไทยเกรียงไปยึดถนนพิษณุโลกไว้หนึ่งเลน ถ้าเป็นอเมริกาเขาจะถูกจับทั้งหมด คนทั่วไปก็จะไม่โวยวายว่ารัฐบาลทารุณ เขาเข้าใจกันดีว่า นี่..เป็นหลักกฎหมาย ถ้ารัฐบาลไม่ให้เขาชุมนุมรัฐบาลก็ผิด ถ้าเขาชุมนุมโดยวิธีการไม่ถูกต้องเขาก็ผิด ชัดเจนแบบนี้
 
รัฐบาลอเมริกาจึงไม่กลัวม็อบหรือหนังสือพิมพ์สักเท่าไหร่ ตราบใดที่ผู้ลงคะแนนเสียงยังสนับสนุนเขาอยู่ แต่นักการเมืองจะกลัวอะไรที่สุด เขากลัวประชาชนไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีมากๆ ที่กลัวก็เพราะว่า ถ้าคราวหน้ามีการเลือกตั้งใหม่ พรรคของเขาจะแพ้ อำนาจการเมืองของอเมริกาอยู่ที่ผู้เลือกตั้งชัดเจน
 
แต่ของไทยมันยังไม่ชัด ยังแบ่งกันถือด้วยผู้เลือกตั้ง สื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เหมือนนักกายกรรม ต้องรักษาตัวเองบนเส้นลวดให้ดี ถ้าไม่ฟังเสียงคนชั้นกลาง ไม่ฟังเสียงประชาชนเลยก็ลำบาก รัฐบาลก็ปั่นป่วน ทหารจะเข้ามาเว้นวรรคเมื่อไหร่ก็ได้.
 
ครับ
ผมคงไม่มีความเห็นอะไร เพราะอาจารย์ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่สองในบ้านเมืองเรา ที่แตกต่างจากอเมริกา ที่กลัวคนที่ให้คะแนนเสียงมากกว่าคนชั้นกลาง ที่หมายถึง นักคิด นักวิชาการ และสื่อต่างๆ ที่นักการเมืองบ้านเราหวาดกลัวกันเหลือเกิน โดยเฉพาะสื่อที่เป็นกระแสหลัก
 
บางส่วนจากบทสัมภาษณ์ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิชย์ พรรคประชาธิปัตย์ ชื่อ กัลยา โสภณพานิชย์ ส่งคำถามถึงคนรากหญ้า ‘ทำไมเขาไม่คิดถึงเรา’ ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 หน้า 10 ที่สัมภาษณ์โดย ศักดา เสมอภพ และ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ พอจะสะท้อนให้เห็นอำนาจของสื่อในบ้านเราที่มีต่อนักการเมือง จากคำถามและคำตอบ ดังนี้
 
ผู้สัมภาษณ์ ; ทำไมสิ่งดีๆที่ ปชป.ทำถึงมัดใจคนไม่ได้
คุณหญิงกัลยา ; พูดแล้วมันน่าเจ็บใจ พวกคุณเป็นสื่อทำไมคุณไม่เห็นรัฐบาล ปชป.ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีที่สุดในโลก ทำไมพวกคุณไม่เห็นทำให้คนว่างงาน 1 ล้านคน เหลือไม่ถึง 1 แสนคน ไม่มีใครพูดถึงเลย เราพูดก็ไม่มีใครได้ยิน มันเป็นข้อเท็จจริงท่ามกลางการประโคมข่าว โอ๊ย...เชียร์กันใหญ่ มันสู้กระแสไม่ได้ เราคิดดี ทำดีให้กับทุกคน แล้วเป็นรูปธรรม เกษตรกรได้ประโยชน์ แต่พอเลือกตั้ง เขาเอาเงินมาให้หนึ่งพันก็ไปแล้ว มีคนมาเล่าให้ฟังว่า ต้องกลับบ้านเพราะมีคนเอาเงินมาให้สามพัน อยู่กทม.ก็ต้องกลับ เพราะเขาให้ค่าน้ำมันมาหนึ่งพัน เพื่อไปเลือกเขา
“สิ่งที่เราทำแล้ว แต่ไม่ใกล้ชิด มันเป็นข้อบกพร่องของเรา อย่าว่าแต่ซาบซึ้ง ขอบคุณหรือผูกพันเลย... เขาอยู่มาหกปี เคยให้คนแก่สักบาทไหม แต่พอเลือกตั้งมาให้หนึ่งพันให้ไปเลือกเขา มันบ้าไหม”
 
ผู้สัมภาษณ์ ; จึงฝ่ากระแสไพร่ - อำมาตย์ไม่ได้
คุณหญิงกัลยา ; (ตอบทันควัน) เขาทำมากี่ปี เขาอยากเป็นอำมาตย์มิใช่หรือ เขามีแก้ว 3 ดวง คือ พรรค เสื้อแดง และกองกำลังติดอาวุธ แล้วสื่อก็ช่วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อช่วยเขาโหมกันใหญ่ ก็คอยดู พวกคุณต้องรับผิดชอบด้วยที่ไปเชียร์เขาเป็นบ้าเป็นหลัง โดยกฎหมายคุณไม่ผิด แต่โดยความรู้สึก อย่าปฏิเสธเลย เพราะมันเห็นอยู่กับตา ก็ไม่เป็นไร เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาอย่างนี้ เราก็ยอมรับ และย้อนกลับมาดูตัวเองว่าทำไม ก็ต้องค้นหาความจริง ว่าเราทำแล้ว ทุกคนก็ฮือฮาว่านโยบายดี แต่เสร็จแล้วเขาให้เงิน ก็ไปเลือกเขา มันเป็นธุรกิจการเมืองขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งน่าเสียดาย
 
ผู้สัมภาษณ์ ; ต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะแก้ไขสิ่งเหล่านั้น
คุณหญิงกัลยา ; สื่อต้องช่วยเรา ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ถ้ายึดประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง...
 
ครับ
นี่คืออำนาจอิทธิพลของสื่อในบ้านเรา จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกที่คนจะกลัวสื่อ โดยเฉพาะพวกดารา ข้าราชการประจำ และนักการเมือง  ถ้าทำอะไรไม่ดี แล้วสื่อเข้าไปขุดคุ้ย...ก็มักจะย่อยยับ หรือถ้าทำอะไรดีๆ อยากให้ชาวบ้านชาวเมืองรู้กันทั้งประเทศ เพื่อหวังจะได้รับความนิยมจากประชาชนและเจ้านาย
 
แต่ถ้าสื่อเขาทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่พูดถึง ไม่เชียร์ ไม่ยกย่อง ทำไปจนตายก็เปล่าประโยชน์ เพราะไม่มีใครรู้ ว่ากูเป็นคนดี และทำดีจนจะรากเลือด แต่กลับเสือกไม่ได้ดี เพราะไม่มีคนเห็น เพราะสื่อไม่ช่วยป่าวประกาศให้ชาวบ้านชาวเมืองรับรู้ นั่นเอง
 
โอ สื่อมวลชนบ้านเรานี่ น่ากลัวจริงๆ ยังไงๆคุณยิ่งลักษณ์คนสวย ก็อย่าพยายามทำให้เขาเกลียดนะครับ เพราะเพียงแค่ส.ส.ฝ่ายค้านท่านหนึ่งออกมาพูดว่า คุณยิ่งลักษณ์จะอยู่ได้ไม่เกินหกเดือน ผมก็ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับมาเกือบสองอาทิตย์แล้ว ยิ่งถ้าคุณยิ่งลักษณ์เผลอไปทำให้สื่อเขาเกลียด แล้วถูกรุมกินโต๊ะ เหมือนฝูงมดคันไฟรุมกัดกิ้งกือ
ผมคงอกแตกตายแน่ๆ
เพราะทนเห็นคุณถูกทำร้ายไม่ไหว !
 
3 สิงหาคม 2554
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่    
 
 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…