Skip to main content


 

เป็นที่ทราบกันดีว่า
กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่สร้างความทุกข์สาหัสให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” มามากมายหลายคน เพราะกฎหมายนี้ถูกตราขึ้นมาอย่างกว้างๆไม่ระบุขอบข่ายความผิดให้ชัดเจน รวมทั้งกระบวนการจับกุม สอบสวน ดำเนินคดี ก็มิได้เป็นไปตามปกติทั่วไป มิหนำซ้ำการตีความบังคับใช้มาตรานี้ ว่ากันว่า เจ้าหน้าที่สามารถตีความใช้ได้อย่างกว้างขวาง และนักการเมืองมักจะใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอยู่เสมอ และผู้ต้องคดีนี้นอกจากจะติดคุกติดตะรางแล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากสังคมที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างรุนแรง  
 
นี่ เป็นกฎหมายที่น่ากลัวจริงๆ
เพราะเมื่อไม่นานมานี้ เพียงแค่...มีกลุ่มนักคิด นักเขียน และนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ชักชวนกันลงชื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่หละหลวมมาตรานี้ ทันทีที่แถลงการณ์ออกไป ผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบัน ต่างก็พากันออกมาประณามผู้ที่เรียกร้องกันยกใหญ่ ทั้งๆที่ประเด็นปัญหาอยู่ที่ตัวกฎหมายมิได้อยู่ที่สถาบัน แต่กลับไปกล่าวหาผู้ที่เรียกร้องในทำนองว่า เป็นพวกที่อยากล้มสถาบัน เป็นพวกที่ไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
 
โดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์ ว่ากันว่า บางเว็บไซต์ ที่คิดไปในทางเดียวกัน ถึงกับประกาศบอกกันและกัน มิให้อ่านงานของนักเขียนหลายคนที่ลงชื่อเรียกร้องกันในครั้งนั้น บางคนเล่นแรงถึงขนาดแนะนำว่า ถ้าใครมีหนังสือของนักเขียนพวกนี้ก็ให้ทำลายทิ้งเสีย...
 
ผมน่าจะโชคดีที่ไม่ได้ลงชื่อร่วมกับเขา รวมทั้งงานที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ส่งไปให้นิตยสารรายสัปดาห์เกี่ยวกับการเมืองฉบับหนึ่งในช่วงเวลานั้น ก็ไม่ผ่านการพิจารณาของบก. เออ ใช่ ผมโชคดีจริงๆ นั่นแหละ...   
 
จากนั้นมา
ผมก็เลิกคิดที่จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมาไตร่ตรองดูความรู้ทางการเมืองเท่าขี้เล็บของตัวเองดูแล้ว จึงสรุปได้ว่า ขืนไปแตะเรื่อง ม. 112 คงจะได้แต่เรื่องเดือดแก่ตัวเองเหมือนไฟไหม้บ้านเป็นแน่แท้   แต่ก็เฝ้ารอดู ว่าจะมีใครสักคนหนึ่งบ้างไหมที่จะกล้าหาญลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีเหตุมีผลที่น่าเชื่อถือ และเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย จนกระทั่งผมได้อ่านบทความที่ชื่อว่า “ความคลุมเครือ - ที่มาของอำนาจนอกระบบ” โดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2554 ในกรอบกลางหน้า 6 ผมอ่านแล้วบอกแก่ตัวเองว่า ใช่เลย แถมยังมีอะไรให้ผมได้เรียนรู้มากกว่าที่ผมคาดหวังเอาไว้ตั้งหลายเท่า ผมจึงขอนำบทความดีๆนี้มาสื่อสารที่อีกครั้งหนึ่ง ดังต่อไปนี้
 
ความคลุมเครือ - ที่มาของอำนาจนอกระบบ
นิธิ เอียวศรีวงศ์
 
คำอภิปราย ของฝ่ายค้านและตอบโต้ของรัฐบาลในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดูจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างอะไรสองอย่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางการเมืองของไทย ว่าได้เดินมาถึงแพร่งสำคัญที่ต้องเลือกว่าจะเดินไปทางใด โดยเฉพาะการอภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ม.112 ในกฎหมายอาญา
 
ผู้ฟังหลายคนคงผิดหวังเหมือนผม ที่ฝ่ายรัฐบาลเลือกที่จะเล่นการเกมเมืองเก่า คือยืนยันความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสถาบันกษัตริย์ที่ไม่ชัดเจนดังเดิม ด้วยประกาศความจงรักภักดีอย่างท่วมท้นของตัวเอง และอย่างที่ฝ่ายค้านวางเส้นทางให้เดิน คือไม่คิดจะทบทวน ม.112 ไม่ว่าในแง่เนื้อหาหรือในแง่ปฏิบัติ
 
ยิ่งไปกว่านั้น รองนายกฯเฉลิม อยู่บำรุง และรมต.ไอซีที ยังแสดงบทบาทไม่ต่างจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่จะบังคับใช้กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น
 
ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่า การบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไร และบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อปราบปรามศัตรูทางการเมืองอย่างเมามันอย่างไร (ถ้าเมามันเท่ากันเช่นนี้ ยังมีน้ำหน้าจะไปปลดคนนั้นคนนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือปลดคนโน้นคนนี้อย่างเมามันได้อย่างไร)
 
แต่อะไรกับอะไร ที่ต่อสู้กันในรัฐสภาในวันแถลงนโยบาย
 
ผมพยายามหาวิธีอธิบายเรื่องนี้อยู่หลายวัน และคิดว่าอธิบายได้ แต่เพิ่งมาอ่านพบบทความของ นายรอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ลงในเว็บไซต์นิวมัณฑละ ตรงกับความคิดของผมพอดี แต่อธิบายได้กระจ่างชัดกว่า จึงขอนำมาสรุปดังนี้ (จมูกของหลายคนคงย่นเมื่อได้ยินชื่อนี้ แต่เราตัดสินอะไรที่เนื้อหาไม่ดีกว่าที่ผู้ผู้พูดหรอกหรือครับ)
 
เขายกทฤษฎีของนักวิชากานของเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Emst Fraenkel ซึ่งศึกษาเยอรมันใต้นาซี ออกมาเป็นทฤษฎีที่อาจเอาไปใช้ในกรณีอื่นๆได้ด้วย
 
เขาเสนอว่ารัฐมีสามประเภทแบบกว้างๆ
ประเภทหนึ่งคือ นิติรัฐ ทุกอย่างดำเนินไปตามกฎเกณฑ์กติกาหรือกฎหมาย
อีกประเภทหนึ่งซึ่งอยู่สุดโต่งอีกข้างคือ รัฐอภิสิทธิ์ อันหมายถึงรัฐที่มีบุคคลหรือบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งถืออภิสิทธ์บางอย่าง ย่อมเป็นไปตามประสงค์ของอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้
รัฐประเภทที่สามคือ รัฐซ้อน อันได้แก่รัฐ เช่น ประเทศไทย
 
กล่าวคือมีสถาบัน องค์กร และการจัดการที่เป็นไปตามกฎหมายอยู่ แต่ในการบริหารจัดการจริง ก็ยังขึ้นอยู่กับความประสงค์ของกลุ่มอภิสิทธ์ชน นั่นเอง
 
ที่รัฐเหล่านี้ต้องมีระเบียบแบบแผนระดับหนึ่ง ก็เพราะระเบียบแบบแผนเอื้อต่อ ทุนนิยม จำเป็นต้องมีระบบตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง พอจะตัดสินกรณีพิพาททางธุรกิจและหนี้สินได้ แต่ในเรื่องอำนาจทางการเมือง กลุ่มอภิชนก็ยังหวงไว้ตามเดิม แต่ก็หวงเอาไว้ภายใต้ความคลุมเครือในรูปแบบของนิติรัฐ ไม่ได้ประกาศออกมาโจ้งๆตลอดไป กฎหมายเป็นรองความประสงค์ของฉันเท่านั้น
 
ฉะนั้น ถ้าอธิบายตามทฤษฎีของนาย Ernst FraenKel อะไรที่ต่อสู้กันในสภาวันนั้น ที่จริงคือการต่อสู้ระหว่างนิติรัฐ และรัฐอภิสิทธินั่นเอง
 
นิติรัฐ ของไทย กำลังผลักดันตัวเองไปสู่ระเบียบที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเหลือความคลุมเครือของอำนาจน้อยลง ในขณะที่รัฐอภิสิทธิ์พยายามจะรักษาส่วนที่ไม่เสรีและไม่ประชาธิปไตยเอาไว้ภายใต้ความคลุมเครือ เพื่อจรรโลงอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มต่อไป
 
และด้วยเหตุดังนั้น จึงกดดันให้รัฐบาลใหม่ต้องยอมรับว่า จะไม่เข้าไปสถาปนาความชัดเจนในความคลุมเครือที่จำเป็นต้องดำรงอยู่
 
และอย่างที่กล่าวในตอนแรกนะครับ รัฐบาล พท. ก็พร้อมจะรักษาความคลุมเครือนั้นไว้ดังเดิม ผมยังพยายามมองในแง่ดีว่า เพราะพรรค พท.คิดว่าเป็นวิธีเดียวที่จะประคองตัวให้รอดพ้นจากการถูกทำลายลงด้วยอำนาจของรัฐอภิสิทธิ์
 
แต่นี่น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะสถานการณ์ของไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว พรรค พท.มีแต้มต่อหลายอย่างที่ควรกล้าเดิมพันมากกว่าขออยู่ในตำแหน่งนานๆเพียงเท่านั้น ถึงอยู่ได้นานเดี๋ยวก็กลับมาอีก
 
ผล การเลือกตั้งที่ พท.ชนะอย่างท่วมท้น ทำให้เห็นว่าการต่อสู้ของนิติรัฐได้เข้ามาอยู่ในสภาแล้ว หลังจากได้อยู่ในท้องถนนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 แต่นั่นไม่ได้หมาความว่า จะไม่มีการต่อสู้ตามท้อถนนอีกเลย หากรัฐอภิสิทธิ์พยายามสถาปนารัฐของตนขึ้นใหม่ (โดยการรัฐประหาร, คำพิพากษา, หรือการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารก็ตาม) การต่อสู้ตามท้องถนนก็อาจกลับมาอีก
 
นอกจากนี้รัฐอภิสิทธิ์ยังอาจหนุนให้เครือข่ายของตนใช้ท้องถนนเพื่อบ่อนทำลายอำนาจรัฐประชาธิปไตยในสภาได้ หากสถานการณ์อำนวย แต่แนวหน้าของการต่อสู้ตามถนนได้เคลื่อนเข้ามาสู่สภาแล้ว
 
ดังนั้น
หากรัฐบาล พท.ไม่ยอมรุกคืบหน้าในการขยายพื้นที่ของนิติรัฐ ทุกอย่างจะชะงักงันอยู่อย่างเก่าและพรรค พท.ต้องไม่ลืมว่า ในสถานการณ์ชะงักงันที่พื้นที่นิติรัฐมีอยู่นิดเดียว ในขณะที่พื้นที่ของรัฐอภิสิทธิ์มีอยู่อย่างกว้างขวาง พรรค พท.ก็จะถูกเขี่ยกระเด็นไปได้ง่ายๆ
 
การต่อสู้ผลักดันเพื่อขยายพื้นที่ในรัฐสภา จึงเป็นไปเพื่อความมั่นคงของพรรคเพื่อไทยเองด้วยซ้ำ จะเป็นความมั่นคงมากเสียยิ่งกว่าพยายามจรรโลงความคลุมเครือให้ดำรงอยู่ เพื่อการยอมรับของรัฐอภิสิทธ์เสียอีก
 
ส.ส.ของพรรค พท.แต่ละคนจะมีพันธะกรณีกับประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใดไม่ทราบได้ แต่พรรค พท.เองจะอยู่รอดได้ ก็บนพื้นที่นิติรัฐหรือประชาธิปไตยต้องขยายกว้างขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาล พท.จะล้มก็ด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น
 
พรรค พท.จึงควรอธิบายให้ชัดเจนว่า ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้ที่จริงคือความจงรักภักดีต่ออธิปไตยของปวงชนชาวไทยนั่นเอง
 
เพราะพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย (ตามรัฐธรรมนูญ) คนที่ไม่จงรกภักดีคือ คนที่ละเมิดอธิปไตยของปวงชนชาวไทย
 
ในส่วนของ ม.112 นั้น พรรค พท.ต้องกล้าพูดความจริงว่า เป็นกฎหมายที่มีปัญหาแน่นอนไม่ในในเนื้อหาก็ในการบังคับใช้ หรือทั้งสองอย่าง จากการที่มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงปีละไม่ถึง 10 ราย กลายเป็นมีผู้ต้องหานับร้อยในทุกปี
 
การสร้างภาพความจงรักภักดีอย่างอย่างสูงสุดแก่ตนเอง ดังที่นักการเมืองได้สืบเนื่องกันมาหลายปีแล้วนี้ เป็นสิ่งที่พรรค พท.จะไม่ทำตามอันขาด การป้องกันพระมหากษัตริย์ในโลกปัจจุบัน ต้องคำนึงถึงสติปัญญาและคำนึงถึงความละเอียดอ่อน
 
ฉะนั้น หากยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อไป กฎหมายนั้นต้องชัดเจนว่า กระทำการอย่างใดถึงจะละเมิดกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่ผู้ที่ฟ้องร้องตามอำเภอใจ และเพราะกฎหมายนี้ถูกนำมากลั่นแกล้งกัน ทั้งในเชิงบุคคลและในเชิงการเมืองอยู่เสมอ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการกลั่นกรองการฟ้องร้องที่ละเอียดรอบคอบและโปร่งใส
 
การประกาศว่าจะทบทวน ม.112 จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ตรงกันข้าม การขจัดความคลุมเครือในเรื่องนี้เสียอีก ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบัน เพราะในความคลุมเครือของรัฐอภิสิทธิ์นั้น ย่อมไม่มีความมั่นคงแก่สถาบันใดๆทั้งสิ้น
 
และเพราะพรรค พท.มองการณ์ไกลว่า พรรค พท.จึงจะแสดงความจงรักภักดีด้วยการทบทวน ม.112 ทั้งๆที่พรรค พท.น่าจะรู้ดีแล้วว่า การทบทวนจะก่อให้เกิดศัตรูมากขึ้น แต่ต้องแยกแยะศัตรูเหล่านี้ให้ดี ส่วนที่จริงใจเพราะเกรงว่าสถาบันฯจะไม่ได้รับการปกป้อง พรรค พท.ย่อมสามารถแลกเปลี่ยนแสดงเหตุผลเพื่อให้เขามาสนับสนุนได้
 
แต่ส่วนไม่จริงใจ และใช้การปกป้องสถาบันฯเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อห่อำนาจทางการเมือง สู้กับ “มัน” สิครับ.
.....................
.....................
 
หมายเหตุ ; หลังจากผมอ่านบทความนี้จบแล้ว ผมก็พลันนึกถึงบทให้สัมภาษณ์ของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ online 9 ก.ค. 54 หลังชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคไทย ในบทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่า อ่านเกมเกี้ยเซียะ “อำนาจเก่า + อำนาจพิเศษ” ต่อคำถามในตอนหนึ่งว่า
ผู้สัมภาษณ์ ; รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเหมือนยุค “สมัคร - สมชาย” ที่มีตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจบริหารหรือไม่
อ.ชาญวิทย์ ; รัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงพยายามอย่างยิ่งที่จะ “เกี้ยเซียะ” กับ “อำนาจเก่า” กับ “อำนาจพิเศษ” ผมวิตกว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะทำอะไรหลายๆอย่าง เช่น เธอต้อง “เกี้ยเซียะ” กับทหาร ไม่แตะทหาร ไม่ยุ่งกับทหาร ไม่จัดการกับทหารให้เป็นประชาธิปไตย
 
ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็วิตกว่ารัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ก็คงจะไม่เข้าไปแตะต้องเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลนี่อาจจะยอม “เกี้ยเซียะ” ด้วยการไม่ปฏิรูปหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตรา 112 อย่างที่มีการเรียกร้องกัน
 
ผมคิดว่าเพื่อการอยู่รอดของเธอ เพื่อที่การจะจัดตั้งรัฐบาลได้สะดวก เธอก็อาจจะต้อง “เกี้ยเซียะ” สองประเด็นหลัก คือหนึ่ง ไม่แก้กฎหมายหมิ่นฯ ไม่ปฏิรูปเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และสอง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการสถาบันทหาร ซึ่งผมคิดว่าอันนี้อาจจะเป็นจุดบอดจุดลบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
................
................
 
ครับ
ระหว่างการช่วยชี้ทางของ อ.นิธิ และความวิตกของ อ.ชาญวิทย์ ที่มีต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ท่ามกลางภาพลวงและภาพจริงทางการเมืองที่ยากจะแยกแยะ ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ แต่ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น เมื่อวานนี้และวันนี้ ( 7 - 8 ก.ย. 54) โดยไม่มีสัญญาณใดๆบ่งบอกให้รู้ล่วงหน้า เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาโดยไม่มีพายุและเมฆฝน
 
นั่นคือ
จู่ๆก็มีข่าวรองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง ออกมาประกาศแก่สังคมว่า จะทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแก่ คุณทักษิณ ด้วยน้ำเสียงและวาทะที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นเกินร้อย โดยไม่ต้องรอการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามความคาดหมายของสังคมให้เสียเวลา และไม่สะดุ้งสะเทือนต่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆทั้งสิ้น นี่กระมังที่คนโบราณเขาเรียกกันว่า “ตีเหล็กในขณะที่กำลังร้อน” จึงจะได้ผลตามความต้องการ ในทางการเมืองแปลว่า บางสิ่งทำด้วยอำนาจเท่านั้น เมื่อมีอำนาจแล้วอยากทำ ต้องรีบทำก่อนจะสิ้นอำนาจ
 
โอ้ - ผมว่าปรากฏการณ์นี้ คือปรากฏการณ์ที่กำลังบอกแก่เราอย่างจริงแท้แน่ชัดว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ตัดสินใจเลือกเดินไปตามเส้นทางที่เป็น ความวิตก ของอ.ชาญวิทย์เรียบร้อยแล้ว น่าเห็นใจ น่าเห็นใจ ท่านนายกฯ คนสวยของเรา โถ...ก็หนูตัวใดเล่า ที่มิใช่หนูในโลกของหนังการ์ตูน จะกล้าเอากระพรวนไปผูกคอแมว...
 
น่าเสียดาย ความปรารถนาดีของ อ.นิธิ แต่ก็ยังดีที่สังคมเรายังมีผู้ใหญ่ที่ความรู้อย่างกว้างขวาง กล้าหาญออกมาแสดงความคิดดีๆเช่นนี้ อย่างน้อยก็ถือกันเสียว่า เป็นงานความคิดเชิงสร้างสรรค์ที่เผื่อเอาไว้ในวันหนึ่งข้างหน้า ถึงแม้ว่าจะเนิ่นนานนับเป็น 100 ปี ก็ไม่เห็นจะเป็นไร เพราะคนไทยเราชาชินกันจนเป็นเรื่องธรรมดา และบางทีต่างก็ลืมกันไปเสียแล้ว ว่าเรากำลังรออะไรกันอยู่
ครับ
ถ้าหากการมองโลกในแง่ร้ายของผมผิดพลาด
ผมก็ขออภัยล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้
สวัสดี.
 
8 กันยายน 2554
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่  
 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…