Skip to main content

20080128 ภาพประกอบเรื่องเล่าเล็กๆ จากกระท่อมทุ่งเสี้ยว

เมื่อคนสองคน
หรือผู้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ได้เกิดความขัดแย้งกัน  ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็แล้วแต่ แล้วต่อมา ความขัดแย้งนี้ได้ลุกลามถึงขั้น โกรธ เกลียด และแตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย แล้วต่างฝ่ายต่างก็ตั้งหน้าตั้งตา ดุด่า ใส่ร้ายป้ายสี ทะเลาะวิวาทกัน  เพื่อเอาชนะคะคานกัน เพื่อทำลายกันให้พินาศไปข้างหนึ่ง

เมื่อปรากฏการณ์ที่เลวร้ายนี้ได้เกิดขึ้น แทนการยุยงส่งเสริม หรือเข้าไปร่วมถือหางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างที่พวกเรามักจะเป็นกันเพราะมีอคติ รักหรือว่าชอบ-คนนั้นพวกนั้น  ผิด ถูก ชั่ว ดี อย่างไร ก็ขอเข้าข้างกันเอาไว้ก่อน

แต่เรื่องนี้ ท่านอาจารย์ รวี ภาวิไล กลับแสดงความเห็นเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่ง ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า “ความสงัด” เอาไว้ว่า ในฐานะชาวพุทธ เราไม่ควรจะทำอย่างนั้น แต่ควรพยายามช่วยกันระงับการทะเลาะวิวาทกัน ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะวิวาทกันระหว่างปัจเจกชนกับปัจเจกชน หรือระหว่างสังคมกับสังคม ถ้าเราสามารถทำได้

แต่เมื่อพยายามแล้ว
ก็ยังไม่สามารถทำให้การทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นเบาบางลง ก็ไม่ควรเกี่ยวข้องด้วย ควรหลีกไปเสียให้พ้น ดังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไประงับเหตุทะเลาะวิวาทของหมู่ภิกษุที่โฆสิตาราม  เมืองโกสัมพีว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ! พอที! พวกเธอทั้งหลายอย่าหยามกันเลย อย่าทะเลาะกันเลย อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย”
พระองค์ทรงตรัสดังนี้ ถึงสามครั้ง เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ก็มีภิกษุบางรูปทูลขึ้นว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นธรรมสามี ! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิดพระเจ้าข้า! พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะวิวาทกัน อันนี้เอง”

ดังนี้ ณ กาลนั้นแล ในยามรุ่งอรุณ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองจีวรถือบาตร แล้วทรงเสด็จผ่านภิกษุภิกษุเหล่านั้นเข้าไปสู่ตัวเมืองโกสัมพี เพื่อบิณฑบาต ครั้นทรงเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพีแล้ว ภายหลังภัตตกาล กลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บบริขารขึ้นมาถือไว้ แล้วประทับยืนตรัสคาถานี้ว่า
“คนไพร่  ๆ ด้วยกัน ส่งเสียงเอ็ดตะโร แต่หามีคนไหนสำคัญตัวว่าเป็นพาลไม่ เมื่อหมู่แตกกัน ก็หาได้มีใครรู้สึกเป็นอย่างอื่นให้ดีขึ้นไปกว่านั้นได้ไม่”
“พวกบัณฑิตลืมตัว สมัครที่จะพูดตามทางที่ตนปรารถนา จะพูดอย่างไรก็พูดพล่ามไปอย่างนั้น หาได้นำพาถึงกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการทะเลาะไม่”


“พวกใด ยังผูกใจเจ็บอยู่ว่า ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา เวรของพวกนั้นย่อมไม่ระงับได้”
“ในยุคไหนก็ตาม  เวรทั้งหลายไม่เคยระงับได้ด้วยการผูกเวรเลย แต่ระงับได้ด้วยการไม่ผูกเวร ธรรมนี้เป็นของเก่าที่ใช้ได้ตลอดกาล”

“คนพวกอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเราจะแหลกลาญก็เพราะเหตุนี้ พวกใดสำนึกได้ในเหตุที่มีนั้น ความมุ่งร้ายกัน ย่อมระงับได้เพราะความรู้สึกนั้น”
“ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการทำตามกิเลส ยังมีได้แม้แก่คนกักขฬะเหล่านั้น ที่ปล้นเมือง หักแข้งขาชาวบ้าน ฆ่าฟันผู้คน แล้วต้อนม้า โค และขนเอาทรัพย์ไป แล้วทำไมจะมีแก่พวกเธอไม่ได้เล่า”

“ถ้าหากไม่ได้สหายที่พาตัวรอด เป็นปราชญ์ ที่มีความเป็นอยู่ดี เป็นเพื่อนร่วมทางแล้วไซร้ ก็จงทำตัวให้เหมือนพระราชาที่ละแว่นแคว้นซึ่งพิชิตได้แล้วไปเสีย แล้วเที่ยวไปคนเดียว ดุจช้างมาตังคะ เที่ยวไปในป่าตัวเดียว ฉะนั้น”
“การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันได้กับคนพาล พึ่งเที่ยวไปคนเดียว และไม่ทำบาป เป็นคนมักน้อย ดุจช้างมาตังคะเป็นสัตว์มักน้อย เที่ยวไปในป่าฉะนั้น”


ดังนี้แล้ว ได้เสด็จไปยังพาลกโสณการคาม
สาธุ!
                                                                                 
23 มกราคม 2551
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่    

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…