Skip to main content

20080209 ภาพต้นไม้สีเขียวในป่า

บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์
นามนี้เป็นที่รู้จักกันมานาน และยังเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการสื่อมวลชนภาคเหนือตอนบน ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอาวุโสของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้จักเขามานาน ก่อนที่เขาจะเป็นนักหนังสือพิมพ์เสียอีก

นั่นคือ รู้จักเขาตั้งแต่เขายังเป็นเด็กหนุ่มเอวบางร่างน้อย จากดินแดนแห่งขุนเขาและม่านหมอกอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่เดินทางจากบ้านเกิดหน้าที่ว่าการอำเภอ ไปบวชเรียนเป็นเณรอยู่ที่วัดธรรมมงคล ถนนสุขุมวิท ต.บางจาก อ.พระโขนง กรุงเทพฯ ภายใต้ร่มเงาพุทธธรรมของท่านอาจารย์วิริยังค์ ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติชื่อเสียงโด่งดัง สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์สายอรัญญวาสี

ซึ่งวัดนี้ เป็นวัดที่ผมมักจะวนเวียนเข้า ๆ ออก ๆ ไปอาศัยซุกหัวนอนและกินข้าวอยู่กับพระที่มาจากจังหวัดเชียงใหม่ หลายกุฏิและหลายองค์ เวลาผมตกงาน ในช่วงวัยหนุ่มที่ผมร่อนเร่พเนจรจากภาคเหนือ ไปแสวงหาความหมายของชีวิตในเมืองหลวงของประเทศในขณะนั้น และเขาเป็นพระเณรองค์หนึ่งที่ผมสนิทสนมด้วย

โอ้ ความหลัง
แม้วันเวลาจะผ่านไปนานแสนนาน เมื่อหวนคิดคะนึงถึง ผมยังจำตัวตนของเขาในขณะนั้นได้อย่างแจ่มชัด สมัยที่เขาเป็นเณรอยู่ที่วัดธรรมมงคล นอกจากเขาจะเป็นคนที่แลดูเอาจริงเอาจังในการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว เขายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหนึ่งในการทำหนังสือวารสารของวัด และเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์แบบติดงอมแงม เพราะเขาเป็นคนที่สนใจติดตามอ่านข่าวสารเกี่ยวกับการบ้านการเมือง ถึงขั้นสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปต่าง ๆ ให้มิตรสหายรับฟังได้  และเก่งกล้าถึงขนาดเคยเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไปให้หนังสือเกี่ยวกับการเมืองทื่ค่อนข้างใหญ่โตฉบับหนึ่ง และได้รับการตีพิมพ์หลายชิ้น ในขณะที่ยังครองผ้าเหลืองอยู่

ซึ่งเรื่องนี้ เขาได้เล่าให้ผมฟังด้วยความภาคภูมิใจและนึกขำตัวเองในภายหลังว่า หลังจากเขียนไปได้พักหนึ่ง เขาก็นุ่งห่มจีวรเรียบร้อยไปแสดงตัวกับบก.ถึงสำนักงาน และตั้งแต่นั้นมา พอส่งงานไปก็ไม่ได้ลงอีก เพราะบก.คงจะคาดไม่ถึงและยอมรับไม่ได้ ที่พระหน้าตาเด็ก ๆ องค์หนึ่ง ออกมาเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในขณะนั้น

ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจ
เมื่อเขาบวชเรียนจบตามหลักสูตร และเลือกสิกขาบทกลับบ้านมาต่อสู้ชีวิตทางโลก เพื่อดูแลแม่และส่งเสียน้องสาวที่กำลังเรียนไล่กันมา เขาจึงไม่ลังเลใจที่จะเดินทางเป็นเส้นตรงจากบ้านเกิด อ.จอมทอง มุ่งตรงเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อสมัครงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่หลายฉบับในเชียงใหม่ และไม่เคยเปลี่ยนงานหนังสือพิมพ์ไปเป็นอย่างอื่น

พูดได้เลยว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทุกฉบับในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ยุคที่เขาเริ่มต้นเข้าไปทำงานเป็นนักข่าว ตราบจนเท่าทุกวันนี้ แทบไม่มีฉบับใด ที่ไม่มีเขาเข้าไปร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนข่าวสารในท้องถิ่น  นับตั้งแต่ ถิ่นไทย ซึ่งเป็นก้าวแรกของเขา และติดตามมาด้วย นครพิงค์ เชียงใหม่เดลี่ ข่าวสยาม ระมิงค์ ประชากร ไทยนิวส์ ธุรกิจภาคเหนือ ฯลฯ

เขาเริ่มต้น และผ่านมาหมดทุกตำแหน่งงานของคนหนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งในฐานะที่เป็นเจ้าของ เขาก็เป็นมาแล้ว นั่นคือหนังสือ “เม็งราย”รายปักษ์ ที่เขาทำควบคู่กับการเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์รายวัน ก่อนจะปิดตัว เม็งราย หลังจากทำมานานได้สิบกว่าปี คงเหลือไว้แต่โรงพิมพ์บุณย์ศิริ ที่ยังรับงานพิมพ์อยู่จนถึงปัจจุบันที่ ต. หนองหอย อ.เมือง

แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักรู้จัก บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ และอีกนามหนึ่งที่เป็นนามปากกา นั่นคือ บุณย์ มหาฤทธิ์ จากคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์รายวัน ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่คอยจับตาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการทำงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์สุขของประชาชนในท้องถิ่น ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน และเข้าใจระบบราชการอันซับซ้อนพร้อมด้วยข้อมูลที่แม่นยำ และเป็นปากเสียงให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง...

โดยส่วนตัวผมแล้ว
ผมเชื่อว่า ภาพบทบาทของนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาพนี้ของเขา เป็นภาพที่เป็นรูปธรรมที่แจ่มชัดและโดดเด่นที่สุด ทั้งในสายตาของผมและคนทั่ว ๆ ไปในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเขายืนหยัดทำหน้าที่นี้ให้กับสังคมมานานเกินกว่า 20 ปี และผมคิดว่าเขาคงไม่เปลี่ยนไปเป็นอื่น...

แต่แล้วเขาก็ทำให้ผมแปลกใจ เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว.ใน 2544 วันหนึ่ง จู่ ๆ เขาก็ฝากข่าวกับน้องชายของผมที่เป็นนายดาบตำรวจมาบอกว่า เลือกตั้ง ส.ว.คราวนี้เขาลงสมัครด้วยนะ และหลังจากตรวจสอบข่าวด้วยตัวเองจนแน่ใจ ผมก็บอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าเขาจะเอ่ยปากให้ช่วยเหลือหรือไม่ ผมก็ยินดีที่จะสนับสนุนเขาตามอัตภาพ และไม่รู้สึกกระดากใจที่จะให้เครดิตเขากับสังคมอย่างเปิดเผย

แต่เขาก็ไม่ผ่าน อย่างที่ผมแอบคาดหมายเอาไว้ เพราะการเมืองในท้องถิ่นที่ระบบสังคมแบบอุปถัมภ์ยังแข็งแกร่งอยู่ มันยากแสนยากที่จะเปิดช่องทางให้คนใหม่ ๆ ที่ขาดอำนาจเงิน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ในโลกนี้ ผ่านเข้าไปได้...

ผมรู้ผลแล้ว ก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า บุญญฤทธิ์ ไม่ได้ก็ดีเหมือนกัน เพราะภาพของคนที่เป็นนักหนังสือพิมพ์อันยาวนานของเขา เป็นภาพที่ได้รับความเชื่อถือและงดงามอยู่แล้ว บางที...ความโชคดีทางการเมือง ถ้าหากเขาได้รับ มันอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อความสูญเสียชื่อเสียง และเกียรติภูมิของนักหนังสือพิมพ์ ที่เขาสั่งสมมาตลอดชีวิตในภายหลังก็ได้

และผมคิดว่าเขาคงเลิกสนใจมันแล้ว...
    
ผ่านมาจนกระทั่งถึงปี 2551 ปีนี้
หลังการเลือกตั้ง ส.ส และการจัดตั้งรัฐบาลที่เราต้องทำใจยอมรับ ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว และถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ส.ว.อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 2 มีนาคม ที่กำลังจะมาถึงภายในไม่กี่อาทิตย์ เมื่อวานนี้ ขณะผมกำลังอยู่เพียงลำพังในกระท่อมทุ่งเสี้ยว น้องชายของผมที่เคยมาบอกข่าวการลง ส.ว.ของเขาเมื่อปี 2544 ก็ขับรถเข้ามาตะโกนบอกผมว่า

“พี่ ๆ บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ มิตรสหายของพี่ลง ส.ว.อีกแล้ว”
ก่อนจะลงจากรถ นำใบปลิวหาเสียงแผ่นขนาดฝ่ามือผู้ใหญ่ ซึ่งมีรูปครึ่งตัวของเขาใส่สูทและผูกเน็คไทร์เรียบร้อย พร้อมหมายเลขเบอร์ที่เขาลงสมัครพิมพ์อยู่ด้านหน้า และด้านหลังเป็นประวัติย่อ ยื่นให้ผมปึกหนึ่ง

ครับ เมื่อเขายังยืนยันที่จะเดินไปบนวิถีทางนี้ ผมจึงยังย่อมควรเอาใจช่วยเขา ถึงแม้โดยใจจริงของผมแล้ว ผมอยากจะเห็นภาพของ บุญญฤทธิ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์อย่างที่เขาเป็นตลอดไปจนชั่วชีวิต แต่เมื่อหันหลังกลับไปมองจากมุมมองของส่วนรวม ผมก็ได้คิดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าสังคมในท้องถิ่นของเรา ไม่ว่าจะเป็นที่นี่...หรือ ณ ที่แห่งใดในประเทศนี้ ได้นักการเมืองสักคนหนึ่งจากนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง ที่ทำงานด้วยจิตสำนึกเพื่อสาธารณะชนมาโดยตลอด ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งกว่ามิใช่หรือ

ถ้าหากสังคมในวันนี้ ยังพอจะมีช่องทาง เปิดโอกาสให้คนที่เหมาะสมอย่างยิ่งคนหนึ่งเช่นเขา     ก้าวเข้าไปพิสูจน์ตัวเองสักครั้ง     

พื่ขอเอาใจช่วย บุญญฤทธิ์ คนดี.
            
7 กุมภาพันธ์ 2551
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…