นึกถึงอำเภอ
ที่เคยทำงาน มีเหตุใดให้ระทึก น่าจดจำ มองไปที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ก่อนแห่งอื่น ดินแดนแห่งสวนส้มสายน้ำผึ้ง ที่ลือชื่อระดับประเทศ เข้าตัวอำเภอมองไปทางทิศตะวันตก จะเห็นสวนส้มปลูกเป็นแถวเขียวไปทั้งดอย สวนส้มที่มีมากบอกถึงปริมาณยาที่ต้องใช้ฉีด พื้นที่อยู่ใกล้เคียงสวนส้ม เช่น โรงเรียน บ้านที่อยู่อาศัย คงต้องระมัดระวัง อำเภอฝางมีร้านอาหาร สถานบันเทิงมากมาย พื้นที่กว้างขวาง ประชากรมาก แต่ยังคงเป็นอำเภอ ไม่ได้เป็นจังหวัดจนบัดนี้ มีแม่น้ำฝางไหลขึ้นทิศเหนือ ผิดแผกแม่น้ำทั่วไปที่ไหลล่องใต้ แม่น้ำฝางไหลไปพบกับแม่น้ำกก
อำเภอเชียงดาว
ผมย้ายมาทำงานในปี พ.ศ. 2533 จนถึง พ.ศ. 2546 รวมมาทำงานในอำเภอนี้ถึง 13 ปี เช้าวันหนึ่ง ผมขับรถยนต์ไปทำงานที่อำเภอเชียงดาว รถวิ่งผ่านหน่วยอุทยานแห่งชาติศรีลานนา หรืออุทยานห้วยกุ่ม กิโลเมตรที่ 65 ด้านฝั่งตะวันออกถนนเชียงใหม่-ฝาง มีรถยนต์กระบะจอด 2-3 คัน ผู้โดยสารยืนมองไปที่ริมตลิ่งฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก ผมขับรถผ่านไป ตอนเย็นขับรถกลับ ก็เห็นคนจอดรถดูอีก คนมากกว่าตอนเช้า จุดนี้จะห่างจากสะพานแขวนข้ามแม่น้ำปิง ไปอีกฝั่งของอุทยานฯ ราว 10 เมตรเท่านั้น
วันที่สองที่สามขับรถผ่าน มีรถจอดดูเพิ่มขึ้น รถตู้นักทัศนาจร รถโดยสารสีส้มฝาง-ท่าตอน รถกระบะจอดแถวยาวขึ้น ผู้คนยืนดูเป็นแถวยาวเช่นกัน นักทัศนาจรถ่ายรูป ผมอยากรู้อยากดูขึ้นมาทันที น่าเสียดายผมตัดสินใจช้า รถวิ่งผ่านไปแล้ว จะกลับรถก็กลับยากด้วยทางแคบและเป็นทางโค้ง เช้ารุ่งขึ้นอีกวันต้องแวะมาดูใหม่ ถามบุคคลในที่ทำงาน เขาบอกว่า ผู้คนพูดกันว่างูกัดกัน และผู้เล่ายังบรรยายถึงเรื่องราว ที่ชวนติดตาม ค้นหา เป็นการจุดเชื้อความกระหายอยากรู้ของผมมากขึ้น
เช้ารุ่งขึ้น
ผมเหยียบรถออกบ้านพุ่งเร็วกว่าทุกวัน ถึงที่หมายต้องจอดรถ ห่างจากจุดเกิดเหตุราว 20 เมตรที่เดียว ข้ามถนนแล้วเดินชิดรั้วที่โค้งไปตามถนน เกรงรถสวนไปมาจะเบียด ถนนแคบมากกว่าเดิมเพราะมีรถมาจอดสองข้างทาง เห็นแล้วตรงตลิ่ง มีงูกองกอดก่ายไปมา งูเหลือมตัวใหญ่นอนโค้งตัว หางหัวมองไม่เห็น งูเล็กๆ จับคู่งับปากกัน บางตัวเลื้อยเข้าไปใต้ต้นไม้ริมฝั่ง ตัวที่ตายเริ่มส่งกลิ่น มีร่องรอยกิ่งไม้ราบล้ม ผู้คนส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันขรม
“ไม่เคยพบเคยเห็น เกิดจากท้องป้อท้องแม่มา งูขบกั๋น” หญิงชราพูดขึ้น
“ทำไมมันกัดกัน หรือมันหิว?” ผู้โดยสารจากรถทัศนาจรออกความเห็น
“ตุ๊เจ้าวัดป่า ใกล้ตี้หนี้ เปิ้นว่า บ้านเมืองจะฮ้อนจะฮ้าย” ผู้ชายกลางคนบ้านใกล้อุทยานห้วยกุ่ม พูดหน้าตาขึงขัง
ผมมองดู
งูมันกัดกันจริง เสียงวิจารณ์ไม่ได้ตอบข้อสงสัยของผมได้หมด สักครู่ผมก็ขับรถไปทำงานอย่างครุ่นคิด กระแสข่าวงูกัดกันขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ทางอำเภอต้องรายงานเรื่องต่อจังหวัดโดยด่วน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลงข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง ข่าวล่าสุดที่ลงหน้าหนึ่ง
“ ...ฟาร์มงูแห่งหนึ่งในอำเภอ...ได้รับผลกระทบจากรายได้การแสดง ผู้ชมลดลง ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย จึงได้นำงูส่วนหนึ่งมาปล่อยที่ริมแม่น้ำปิง ณ อุทยานห้วยกุ่ม ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์ป่ากล่าวว่า ที่งูกัดกันนั้น เป็นเพราะหิวอดอยากอาหารมานาน อีกประการหนึ่ง เป็นการกัดกันระหว่างงูในท้องถิ่น ที่ต่อสู้กับงูที่นำมาปล่อย เพราะไม่ต้องการให้งูต่างถิ่น เข้ามาแย่งอาหารในถิ่นที่อยู่ของตน...”