Skip to main content

หากได้รับตั๋วเครื่องบินไป-กลับยุโรป พร้อมเงินติดกระเป๋าไปเที่ยวฟรีๆ 10 วัน เป็นใครย่อมไม่รอช้า ทั้งพร้อมจะเลื่อน – ลา – หยุด ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไป มันคงเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตที่น้อยคนจะมีโอกาส แต่ด้วยเงื่อนไขเดียวกันนี้ หากเปลี่ยนจากไปเที่ยวยุโรป 10 วัน เป็นการไป ‘วิปัสสนา’ 10 วันแทน หลายคนคงต้องคิดหนัก

เราหมายใจจะท่องเที่ยวไปให้ทั่วประเทศ ทั่วทวีป ทั่วโลก จากทะเลลึกถึงภูเขาที่สูงที่สุด จากมหานครสู่ป่าดิบ จากกลางตลาดที่คราคร่ำด้วยผู้คนสู่ทะเลทรายเวิ้งว้าง แต่เรากลับไม่สนใจที่จะท่องเที่ยวสำรวจ ‘จิต’ ของเราเอง ... แปลกมั้ย ?

ในฐานะชาวพุทธ ไม่ว่าจะกล่าวด้วยความภาคภูมิ หรืออ้างไปก่อนขณะที่ยังไม่เปลี่ยนศาสนาเป็นอื่น น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายว่า วิปัสสนา หมายถึงอะไร และน้อยลงไปอีกที่ต้องการจะรับรู้ประสบการณ์วิปัสสนา ทั้งที่อาจจะกล่าวได้ว่าสิ่งนี้ คือหนทางแห่งปัญญา อันเป็นคำสอนสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูผู้ยิ่งใหญ่ และศาสดาของศาสนาพุทธ

แน่ละ ผมเองก็เป็นคนหมู่มาก ที่บอกได้ว่าเป็นชาวพุทธตั้งแต่เกิด แต่ไม่เคยรู้เรื่องวิปัสสนาแม้แต่น้อย จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเข้าอบรมการวิปัสสนาที่ศูนย์ธรรมอาภา1 จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิที่นา พร้อมกับเพื่อนอีกสี่คน

ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเวลาสิบวันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอบรมใดๆ เลย หากแต่ต้องยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ว่าด้วยความเงียบอย่างเคร่งครัด ทั้งการไม่พูดคุยกันแม้แต่คำเดียวตลอดสิบวัน ทั้งการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือโดยเด็ดขาด ทั้งการห้ามอ่าน-ห้ามเขียน ฯลฯ ที่ล้วนแต่สามารถทรมานกิเลสคนเมืองได้ทั้งสิ้น เพราะแต่ละคนได้ผูกติดตนเองไว้กับสังคมอย่างแน่นหนาเสียแล้ว ครอบครัว คนรัก เพื่อน ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ เวลาเกือบสองสัปดาห์สำหรับคนที่เคยชินกับการพุ่งความสนใจออกไปนอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันไม่ง่ายเลย

วิปัสสนา แปลว่า ทำให้เห็นความจริง ความจริงของโลก ความจริงของชีวิต ความจริงของตัวเรา ผ่านเครื่องมือที่ง่ายที่สุดคือ ลมหายใจของเราซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เมื่อผมหันความสนใจจากที่เคยมุ่งสู่ภายนอกให้กลับมาดูที่ลมหายใจของตัวเองผมก็ได้เห็น โลกภายในที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน

สามวันแรกของการปฏิบัติ การปรับตัวให้เข้ากับตาราง การตื่นแต่เช้ามืดเพื่อนั่งสมาธิ สถานที่ใหม่ อาหารมังสวิรัติ กฎแห่งความเงียบ หลายสิ่งหลายอย่างทำให้ผมอึดอัด ฟุ้งซ่าน ห่วงงาน ห่วงครอบครัว จนอดคิดไม่ได้ว่าจะอยู่จนครบสิบวันได้หรือไม่ แต่อาจเพราะความสนใจใคร่รู้จากการฟังธรรมะบรรยายในช่วงเย็นของทุกวันที่บอกว่า ‘...การฝึกอานาปานสติ ดูลมหายใจนี้คือการลับมีดให้คมเพื่อผ่าตัดจิตใจ...’ ทำให้ผมอยากจะลองดูสักตั้งว่า ตลอดทั้งสิบวันนี้ หากผมปฏิบัติอย่างจริงจัง มันจะทำให้ผมดาวดิ้นลงไปได้หรือเปล่า ดังนั้น แม้จะร้อนรนเหลือเกินและคิดห่วงไปสารพัดอย่าง แต่ผมก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ จนกระทั่งลมหายใจเริ่มละเอียดลงเรื่อยๆ และสามารถสัมผัสได้ถึงความเย็นจากลมหายใจที่เหนือริมฝีปาก

แล้วในวันที่สี่ วันที่ได้เริ่มฝึกวิปัสสนา เมื่อเริ่มเคลื่อนสติมาจดจ่อที่กลางกระหม่อมผมก็รู้สึกได้ว่า มีดแห่งสติที่ผมเพียรลับมาตลอดสามวันนั้น มันช่างคมกริบเหลือเกิน มันผ่าเอาเวทนาผมผุดพลุ่งออกมาราวกับน้ำพุ หนังหัวของผมเหมือนมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ใบหน้าเหมือนมีตัวอะไรวิ่งอยู่ใต้ผิวหนัง ไหล่ขวาหนักราวกับหินทับ กล้ามเนื้อตามร่างกายกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้

บางครั้งก็ร้อนผ่าวไปทั้งตัว บางครั้งก็รู้สึกเบาเหมือนจะลอยได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุปาทาน แต่เกิดขึ้นจริงๆ ประจักษ์ด้วยตนเองจริงๆ แม้แต่ความเจ็บปวดตามร่างกายอันเกิดจากการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ผมก็ได้เห็นด้วยตนเองว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะขณะเข้าวิปัสสนา มันปวดเหมือนกับจะทนไม่ได้ แต่มันก็หายไปแทบจะทันทีที่ออกจากสมาธิ หรือนี่จะเป็นอาการที่เรียกว่า กิเลสกำลังถูกเผา...?

ผมฝันร้ายในคืนที่สี่นั้น เป็นฝันร้ายที่มาเป็นชุดๆ มากเสียจนจำรายละเอียดและจำนวนเรื่องที่ฝันไม่ได้ รู้แต่ว่ามันช่างน่ากลัวเหลือเกิน ผมไม่เคยรู้เลยว่า ในหัวสมองของผมจะมีจินตนาการที่เลวร้ายซ่อนเร้นอยู่มากมายขนาดนี้ ผมสะดุ้งตื่นหลายครั้งและรู้สึกว่าตัวเองหายใจเบาและเร็วมาก

ผมไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนเลย เช้าวันนั้น ธรรมบริกร ผู้คอยดูแลผู้เข้าอบรม มาบอกผมว่า เมื่อคืนผมนอนกรนเสียงดัง เขาไปเคาะประตูห้องแล้วแต่ผมไม่ตื่น ผมไม่รู้ตัวเลยว่าได้หลับลึกไปขนาดไหน หรือนอนหลับไม่สนิทขนาดไหน

ในวันต่อๆ มา ผมรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างที่ดำมืดในตัวค่อยๆ ถูกชำระล้างออกไป ผมเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ความฟุ้งซ่านในใจเหมือนถูกกวนจนฟุ้งกระจายไปทั่วแล้วจางหายไปเรื่อยๆ ความขุ่นเคืองที่หมักหมมคล้ายตะกอนนอนก้นอยู่ ค่อยๆ ถูกระบายออกไปจนเกือบหมด

ธรรมบรรยายได้ย้ำเตือนอยู่หลายครั้งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎบนร่างกายล้วนเป็นผลมาจากการหลุดร่อนของสังขารที่ทับถมกันอยู่ภายในมาตลอดชีวิต ตามหลักที่ว่า เมื่อหยุดการปรุงแต่ง การปรุงแต่ง(สังขาร)เดิมก็หลุดร่อนออกมา แล้วผลแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสนานาประการในใจ ก็ผุดโผล่ออกมาบนผิวกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งอาการที่น่าพอใจ ทั้งอาการที่ไม่น่าพอใจ ไม่มีอะไรคงทนสักอย่าง แม้แต่ความเจ็บปวดจนแทบทนไม่ไหวมันก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

จากการปฏิบัติติดต่อกันหลายวัน ผมพบว่าร่างกายกับจิตใจมันสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกจริงๆ ขณะที่จิตใจปั่นป่วนร่างกายก็ปั่นป่วน มันต่อต้านการหยุดนิ่ง มันเคยชินกับการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มันต่อสู้เพื่อจะสร้าง เพื่อจะปรุงแต่งต่อทุกความรู้สึกทางกายทางใจ แล้วเมื่อจิตใจสงบร่างกายก็สงบลงไปพร้อมๆ กัน

ถึงวันที่แปด ผมนั่งวิปัสสนาติดต่อกันได้นานกว่าสองชั่วโมง แม้อาการเมื่อยล้า เจ็บปวดขาจะยังมีอยู่ แต่ผมรู้ว่ามันจะหายไปในเวลาไม่นาน มันมาแล้วมันก็ไป เช่นเดียวกับความฟุ้งซ่านของจิตที่ยังกระโดดไปมาระหว่างอดีตกับอนาคต มันก็ยังเป็นของมันอยู่ แต่ผมก็รู้แล้วว่า เมื่อมันมาเดี๋ยวมันก็ต้องไป แค่ตามดู รู้ทัน วางเฉยเสียมันก็ไม่อาจไปไหนได้ไกล

หลังสิบโมงเช้าของวันสุดท้าย ทุกคนได้รับอนุญาตให้พูดคุยกันได้ ใช้โทรศัพท์ได้ ซึ่งธรรมบรรยายอธิบายว่านี่คือวิธีสมานแผล หลังจากการผ่าตัดจิตใจแล้ว ผมคิดว่า วิธีนี้จะมีประโยชน์มากจริงๆ ในกรณีที่เราไปกันเป็นกลุ่ม เพราะเมื่อเราสามารถพูดคุยกันได้ เราก็ย่อมจะเปิดใจพูดคุยกันได้มากกว่าคนที่มาลำพัง (แต่นี่ก็อาจเป็นข้อเสียเพราะมันอาจทำให้เราอดคุยกันไม่ได้ระหว่างที่รักษาความเงียบ) ดังนั้น ในช่วงพัก ชายหนุ่มทั้งห้าจากมูลนิธิที่นา จึงตั้งหน้าตั้งตาคุยกันชนิดไม่สนใจคนอื่น

เมื่อถึงวันที่ต้องกล่าวอำลา สิบวันที่ยาวนานเหมือนสิบสัปดาห์ในตอนแรก กลับดูสั้นกว่าเดิม ประสบการณ์ตลอดสิบวันแห่งการสำรวจจิตตัวเอง อาจมากพอที่จะเขียนบรรยายเป็นหนังสือได้หลายเล่ม แต่สิ่งที่ทรงคุณค่าที่แท้จริงนั้นกลับยากที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษร อาจเพราะมันไม่ต้องการคำอธิบาย หรืออาจเพราะไม่มีคำอธิบายใดจะบอกได้อย่างครบถ้วน ผมรู้เพียงว่า ผลลัพธ์ของมันช่างมหัศจรรย์ หลายสิ่งหลายอย่างในตัวผมเปลี่ยนแปลงไป ผมรู้สึกถึงการ ‘เลือก’ อย่างมีสติมากขึ้น เข้าใจมากกว่าเพียงแค่พูดว่า อนิจจัง-ทุกข์ขัง-อนัตตา อย่างที่เคยได้ยินมาตลอดชีวิต

‘…ภูเขาก็เป็นภูเขา. น้ำก็เป็นน้ำ. บรรพชิตก็เป็นบรรพชิต.ชาวบ้านก็เป็นชาวบ้าน.แต่ว่าภูเขาเหล่านี้ แม่น้ำเหล่านี้ โลกเองทั้งหมด พร้อมทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลาย, ทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ตั้งอยู่ภายนอกจิตของเธอ! สากลโลกธาตุอันไพศาล ก็ตั้งอยู่แต่ภายในใจเธอเท่านั้น,เมื่อเป็นดังนั้น จะมีที่อื่นที่ไหนอีกเล่า ที่จะหาพบสิ่งต่างๆ ที่มีปรากฎการณ์นานาชนิด. ภายนอกของจิตไม่มีอะไรเลย. ...’2

ธาตุดั้งเดิมของมนุษย์ ก็ไม่ต่างจากธาตุดั้งเดิมที่ประกอบอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มี
ชีวิต ทั้งที่เป็นรูป และเป็นนาม หากเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเรา ก็ย่อมจะเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนอกตัวเรา หากประจักษ์ถึงสัจจะในตัวเรา ก็ย่อมประจักษ์ถึงสัจจะนอกตัวเรา เมื่อเห็นความจริงของสรรพสิ่ง อัตตาก็ถูกสลายไปเรื่อยๆ

มนุษย์แต่ละคนย่อมสามารถเข้าถึงความจริงที่เขาพร้อมจะรับ แต่หากปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงก็เท่ากับขีดวงล้อมให้ตัวเองแคบเข้าไปเรื่อยๆ ความทุกข์ก็รุมล้อมมาจากทุกด้าน คล้ายกับว่า เมื่อต่อต้านมัน มันจึงคงอยู่ แต่เมื่อมองดูมันกลับสลายไป

สิบวันแห่งการสำรวจจิตใจตนเอง คือประสบการณ์ล้ำค่าที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตหรือชาวนา ‘ธรรม’ นั้นย่อมเป็นของกลางสำหรับทุกคน นับแต่ขจัดทุกข์ กำจัดกิเลศ ไปจนถึงพบกับความจริงสูงสุด แต่ที่ไม่มีใครต้องการจะไป อาจเป็นเพราะกิเลสมันได้ยึดครองจิตใจไปเสียหมดแล้ว และมันกลัวที่จะต้องถูกกำจัดจึงหลีกเลี่ยงทุกวิถีทางที่จะไป เราได้ปล่อยให้กิเลสมันเป็นนายเหนือเรามาตลอด

สุตตะมยปัญญา ได้จากการฟัง การอ่าน การรับรู้ทุกชนิด จินตามยปัญญา ได้จากการคิดใคร่ครวญ และ ภาวนามยปัญญา ได้จากประสบการณ์ จึงมีคำพูดที่ว่า อ่านหนังสือพันเล่ม ไม่เท่าออกเดินทางไกล การประจักษ์แจ้งในตน ย่อมไม่อาจได้จากการอ่านหรือการคิดเอาเอง หากแต่ต้องปฏิบัติให้รู้เห็นด้วยตนเองเท่านั้น การวิปัสสนานั้น แม้จะอ่านหนังสือสักเท่าไร ก็ไร้ประโยชน์หากไม่ได้ผ่านประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง

ภาวะของการเป็น ที่ได้รับจากประสบการณ์เท่านั้น ที่จะทำให้แต่ละคนได้ประจักษ์ และซาบซึ้งถึงคุณค่าของชีวิต รู้สึกอยากจะขอบคุณทุกๆ คน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้นำพาให้ตนเองได้มาถึงจุดนี้ เหตุผลที่เราทุกคนควรจะมีโอกาสไปวิปัสสนาสักครั้งหนึ่งในชีวิตนั้น อาจกล่าวได้มากมาย แต่ถึงที่สุดแล้วอาจมีแค่ข้อเดียว

เพราะภาวะแห่งการ ‘เป็น’ นี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรา ‘เป็น’ ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
และเมื่อเราได้รู้จักตนเองแล้ว เราจึงพร้อมจะช่วยให้ผู้อื่นได้รู้จักตนเองด้วย

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…