Skip to main content

เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
\\/--break--\>

ดังนั้น เขา(ใครก็ไม่รู้)ก็เลยให้เรียกใหม่เสียเป็นไข้หวัด ๒๐๐๙ ซึ่งก็คงจะหมายถึงไข้หวัดตัวล่าสุดแห่งปีสองพันเก้านี้(ไม่ใช่ไข้หวัดตัวที่สองพันเก้าร้อย) และก็คงจะหมายความว่า มันเป็นไข้หวัดประจำปีสองพันเก้าด้วย เพราะก็คงจะคิดไตร่ตรองกันถี่ถ้วนแล้วว่าภายในปี้นี้คงจะไม่มีไข้หวัดชนิดอื่นอื่นที่ระบาดร้ายแรงเท่านี้อีกแล้ว หรือถ้าหากมี มันก็ต้องกลายเป็น ไข้หวัด ๒๐๐๙/๑ หรือ ไข้หวัด ๒๐๐๙/๒ กันไปตามแต่จะกำหนด ซึ่งถ้าหากปีหน้ามีไข้หวัดตัวใหม่ใหม่ที่ไม่ใช่ตัวนี้เกิดขึ้นอีก มันก็คงต้องถูกเีรียกชื่อเป็นไข้หวัด ๒๐๑๐ ไข้หวัด ๒๐๑๑ ไข้หวัด ๒๐๑๒ ต่อต่อไปแน่แน่ (อันที่จริง ประเทศไทยเรานับเลขปีตามพุทธศักราช ดังนั้นน่าจะชื่อ ไข้หวัดสองพันห้าร้อยห้าสิบสองน่าจะถูกต้องกว่า)

อันว่าโรคไข้หวัด ๒๐๐๙ นี้ ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาธรรมดาเหมือนอย่างไข้หวัดที่เป็นแล้วกินพาราเซตตามอลหรือกินยาลดไข้อื่นอื่นหรือกินยาชุดจากร้านหมอตี๋แล้วก็หาย เพราะหลายหลายคนที่เขาทำอย่างนั้นนอกจากจะไม่หายจากโรคแล้ว ก็ยังเลิกหายใจไปด้วย ตอนที่มันระบาดไปทั่วโลก คนที่เป็นก็ทยอยตายกันไปเป็นสิบเป็นร้อย เหมือนกับกาฬโรคในยุโรปสมัยก่อน หรือเหมือนกับโรคห่าในสมัยรัชกาลที่สี่ หรือไม่ก็เหมือนกับโรคเอดส์เมือสักยี่สิบกว่าปีมาแล้ว รวมทั้งอาจจะเหมือนกับโรคไข้หวัดนกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือตายกันเยอะเพราะยังไม่รู้วิธีป้องกันรักษา หรืออาจจะตายไม่เยอะเท่าไร แต่ด้วยความที่เป็นโรคใหม่ทันสมัยล่าสุดแ่ห่งยุคโลภาภิวัตน์(โลภ+อภิวัตน์)ซึ่งชาวประชาชอบตื่นตูมกันมากกว่าตั้งสติ สื่อมวลชนสำนักข่าวต่างต่างก็พลอยตีฆ้องร้องป่าว แล้วก็เกิดเป็นเหตุตื่นตระหนกกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง แต่พอเวลาผ่านไป เทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาขึ้น รู้สาเหตุ รู้วิธีป้องกันแ้ก้ไขแล้ว การระบาดก็น้อยลง คนเสียชีวิตก็น้อยลง สื่อมวลชนก็เลิกสนใจใยดี คนก็ไม่กลัวอีกต่อไป แล้วไปไปมามาพอโรคไม่ค่อยจะระบาด ก็พลอยจะลืมชื่อโรคระบาดที่เคยร้ายแรงพวกนี้เอาเสียด้วยซ้ำ

ถ้าเป็นในทำนองอย่างว่า ไข้หวัด ๒๐๐๙ ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทุกวันทุกวัน เีพียงแค่ปีหน้ามันก็จะถูกลืมแล้ว มันจะชื่อเอชไฟว์เอ็นวัน เอชวันเอ็นไฟว์ เอชวันเอ็นวัน หรือ เอชอะไรเอ็นอะไรก็ตามแต่ คนก็จะพูดถึงชื่อของมันอยู่แค่ปีนี้เท่านั้นเอง ฟังดูน่าสงสาร แต่มันเป็นแค่เชื้่อโรค และไม่รับรู้หรอกว่า ใครจะตั้งชื่อมันว่าอย่างไร หน้าที่ของมันก็คือทำให้คนเป็นโรคเท่านั้น

อาการของโรคก็คล้ายไข้หวัดธรรมดาธรรมดา มีอาการหวัดคัดจมูกมีน้ำมูก มึนหัว ปวดหัว ตัวร้อน ตาลาย ไ้ข้ขึ้น เพียงแต่ว่าหากมีอาการหนักหนักเข้าก็อาจจะได้ไปเฝ้าเง็กฮ่วงไต่ตี่ พูดง่ายง่ายว่ามันก็คือไข้หวัดตัวหนึ่งแต่มีอันตรายถึงตาย ที่น่ากลัวคือมันติดกันได้ง่ายง่าย ไม่ต้องถึงกับจามใส่หน้า ขากเสลดรดหัว หรือ ถุยน้ำลายใส่น้ำให้กันกินอย่างกระสือ เพียงแค่อยู่ใกล้ใกล้หายใจเอาอากาศเดียวกันเข้าไป แค่นี้ก็ติดโรคได้แล้ว ฉะนั้น ใครต่อใครเขาถึงหวาดกลัวกันนักหนา ออกจากบ้านไปไหนก็ต้องใส่ผ้าคาดปิดปากปิดจมูก เกรงจะสูดเอาลมหายใจของคนเป็นไข้หวัด ๒๐๐๙ เข้าไปด้วย นอกจากนี้ยังต้องล้างมือกันบ่อยบ่อย ล้างแล้วล้างอีก ล้างจนนิ้วเหี่ยวก็ยังไม่เลิก

ความจริงประการแรกก็คือ เจ้าเชื้อไข้หวัดมันมีขนาดเล็กกว่าผ้าตั้งไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนเท่า หากมันอยากจะเข้าไปก็คงไม่ลำบากนัก ไม่ต้องกดออดหรือเคาะประตูมันก็เดินทื่อทื่อเข้าไปจนได้ ประการต่อมา หากเป็นไปตามเหตุผลข้างต้น มันก็ต้องมีคนที่ติดไข้หวัด ๒๐๐๙ ทั้งทั้งที่ยังใส่ผ้าคาดปากอยู่ แต่ใครมันจะกล้าไปป่าวประกาศว่า ผ้าคาดปากป้องกันไข้หวัดไม่ได้ หรือถึงจะไปป่าวประกาศ ก็คงไม่มีใครเชื่อ ก็ใครต่อใครเขาใส่กันทั้งนั้น นายกรัฐมนตรีท่านยังใส่ให้ช่างภาพถ่ายภาพลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งโก้ไปเลย ขืนไปตะโกนบอกว่าผ้าคาดปากป้องกันอะไรไม่ได้หรอก เป็นได้โดนอะไรแข็งแข็งทิ่มปากแน่

และประการสุดท้าย คนที่ควรจะใช้ผ้าคาดปากคือคนที่ไม่สบาย ไม่ใช่คนที่สบายดี แต่ตอนนี้ใครต่อใครก็ใส่กันหมดเลยดูไม่ออกแล้วว่าใครเป็นใครไม่เป็น

จะว่าทุกคนเขากลัวก็ใช่ที่ เพราะคนที่ยอมเจ็บหูเพราะยางยืดของผ้าคาดปากมันรัดหู ดูดูไปก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าคนที่ไม่ใส่ ซึ่งที่จริงแล้วคนที่กลัวแต่ไม่ใส่ก็คงจะมี และคนที่ไม่กลัวแต่ต้องใส่ก็คงจะมีเหมือนกัน บางคนอาจจะงงว่ามีด้วยหรือ มีสิครับ ที่ว่ากลัวแต่ไม่ใส่ก็เป็นเพราะยางยืดมันรัดหูจนเจ็บหูไง ลองคาดกันดูสิ ชั่วโมงเดียวเท่านั้นแหละ เจ็บเสียจนไม่อยากเอาหูไปห้อยอะไรอีกเลย ส่วนที่ว่าคนที่ไม่กลัวแต่ต้องใส่ ก็อย่างเช่นเด็กนักเรียนที่โดนผู้ปกครองบังคับ สามีที่โดนภรรยาบังคับ หรือ พนักงานที่โดนนายจ้างบังคับ อะไรพวกนั้น เพราะฉะนั้นจะเอาปริมาณการใช้ผ้าคาดปากไปชี้วัดการตื่นตัวของคนไทยต่อการป้องกันโรคไข้หวัด ๒๐๐๙ ท่าจะไม่เหมาะ

เดี๋ยวนี้เวลาขึ้นรถเมล์ เรือด่วน รถไฟฟ้ายิ่งเห็นได้ชัดว่า คนที่กลัวกับคนที่ไม่กลัวแสดงพฤติกรรมต่างกันเยอะเลยเชียว เพราะเดือนกรกฎาคมปีนี้ฝนตกแทบทุกวัน บ้างตกเช้าบ้างตกเย็น บ้างตกทั้งเช้าทั้งเย็นแถมตกกลางคืนอีกต่างหาก พอแดดจะร้อนพ่อเจ้าประคุณก็ว่าซะร้อนเปรี้ยง อยู่ในห้องแอร์เย็นเย็นออกไปเจอแดดร้อนร้อนเข้าหน้ามืดตาเหลือกไปเลยก็มี ใครต่อใครเลยเป็นหวัดคัดจมูก บ้างก็สูดน้ำมูกกันฟืดฟืดฟาดฟาด บ้างก็ไอกันค้อกค้อกแค้กแค้ก พอคนที่มีอาการเหล่านี้มาขึ้นรถเมล์ เรือด่วน หรือรถไฟฟ้า ก็จะกลายเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจในฉับพลัน ถ้ามีที่นั่งว่างก็ไม่มีใครอยากให้นั่งด้วย ถ้ามีที่ยืนว่างก็ไม่มีใครอยากยืนใกล้ใกล้ ถึงแม้จะเป็นแค่หวัดธรรมดาก็เถิด นี่ถ้าเกิดมีใครไอจนตัวโยนหรือน้ำมูกไหลย้อยเป็นเต้าส่วน จะโดนเชิญลงด้วยข้อหาตัวแพร่เชื้อหรือเปล่าก็ไม่ทราบ

จนถึงเวลานี้ ก็ไม่แน่ใจว่าชาวสยามประเทศจะเป็นโรคไข้หวัด ๒๐๐๙ กันสักเท่าไรกันแน่ เพราะบ้านเรามันมีอะไรแปลกแปลก ตัวเลขเจ็บป่วยเท่านั้นเท่านี้ชอบปิดกันนักกลัวคนจะแตกตื่น แต่พอนักท่องเที่ยวเข้ามาเท่านั้นเท่านี้พวกบวกเพิ่มไปอีกสิบเท่า แต่ก็แว่วแว่วมาว่ายอดผู้ป่วยกำลังไต่อันดับขึ้นสูงสูงในระดับโลก ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎีประเทศสารขัณฑ์กำลังพัฒนาที่ชอบทำอะไรอะไรให้โด่งดังในระดับโลกไว้ก่อนทั้งที่ตั้งใจจะให้ดังและไม่ได้ตั้งใจจะให้ดัง ยิ่งถ้ากินเนสบุ๊ค รับประทานเนสบุ๊ค เอาไปลงบันทึกอย่างนู้นอย่างนี้ด้วยแล้วก็ยิ่งชอบใจกันยกใหญ่ จะว่าไป ตัวเลขผู้ป่วยมันก็ไม่น่าชอบใจเท่าไรนัก แต่คงจะติดนิสัยสร้างสถิติจนเลิกยากเสียแล้ว หนังสือพิมพ์หัวสีก็ถือเป็นหน้าที่ ต้องพาดหัวข่าวตัวเป้งเป้งใส่สำนวนให้มันมันทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้พาดหัวข่าวเรื่องคนเจ็บคนตายประเทศไทยเป็นอันดับที่เท่าไรของโลก ย่อมผิดวิสัยข่าวร้ายแจกฟรี ข่าวดีต้องจ้าง

แต่ที่แน่แน่คือตอนนี้ ชาวประชาหน้าแห้งทั้งหลายไม่ว่าจะสบายดีหรือไม่สบายหรือกำลังจะสบายหรือกำลังจะไม่สบาย ต่างก็กำลังเป็นไข้หวาดกันทั่วหน้า นอกจากจะหวาดผวาว่าน้ำมันจะแพง ข้าวแกงจะขึ้นราคา สามจีไม่ยอมเข้ามา รถไฟฟ้าไม่ยอมมาถึงแล้ว ก็ยังต้องหวาดผวาว่าวันไม่ดีคืนไม่ดีเจ้าไวรัสไข้หวัด ๒๐๐๙ ที่แสนจะเก๋ไก๋ทันสมัยเป็นไข้หวัดแห่งปีมันจะพิศวาสปรี่เข้ามาเพาะเชื้อในตัวเราหรือเปล่า ทั้งทั้งที่รู้ว่า ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าเกิดมาแล้วก็ต้องตาย แถมยังไม่รู้ว่าจะแก่ตายหรือเปล่า หรือจะตายเพราะมะเร็งในสมองเนื่องจากคุยโทรศัพท์มือถือวันละสิบชั่วโมง หรือจะเป็นลมตายหน้าจอคอมพิวเตอร์เพราะไม่ยอมหลับยอมนอนติดกันสามวันสี่คืน ฯลฯ กระนั้นก็ยังขอปฏิเสธ ไม่อยากจะเป็นไข้หวัดตาย เพราะมันดูไม่สมาร์ทไม่โก้ไม่โลกาภิวัตน์ไม่วายเลสไม่ไวไฟ

ผู้สันทัดกรณี :

ลุงอืด คนขายยาดอง อดีตคนเก็บของป่า ดูดยาเส้นมวนเบ้อเริ่มพ่นควันขโมง ให้ความเห็นว่า ไข้หวัด ๒๐๐๙ มันก็เหมือนไข้ป่าหรือมาเลเรียนั่นแหละ สมัยก่อนเป็นแล้วรอดยาก ต้องตายสถานเดียว ชาวบ้านกลัวกันนักหนา แต่คราวนี้ความหวาดผวามันย้ายจากป่ามาอยู่ในเมือง คนกรุงก็เลยต้องเป็นประสาทเพราะกลัวไข้หวัด ๒๐๐๙ ส่วนคนบ้านนอกไม่ได้ไปดูแฮรี่พอตเตอร์ ไม่ได้ไปดูคอนเสิร์ตดงบังชินกิ ไม่ได้ขึ้นรถไฟฟ้า ไม่ได้เดินห้างสรรพสินค้า วันวันอยู่แต่ท้องไร่ท้องนาก็เลยไม่มีความจำเป็นจะต้องไปกลัว

“...
แล้วลุงอยากตายแบบไหนล่ะ?...” ผมถามเหมือนเป็นยมทูต เพราะรู้ว่าแกหยอกแรงแรงได้
...เมาตายสิครับ พี่น้องครับ...” แกยักคิ้วหนึ่งหนตามประสาคนอารมณ์ดี ก่อนจะหันไปเปิดเพลงของบุปผา สายชล

“...คนจน คนรวย ไม่ช้าก็ม้วยมรณา
คนดี คนบ้า ไม่ช้าทุกคน ก็ตาย
ตายเน่าเหม็น ใครเห็นก็เมินหน้าหน่าย
หมดความหมาย สุดท้ายก็ตายเหมือนกัน...”

 

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…